ติสท์อยากเขียน

เราจะไม่หยุด! dtac ลั่นกลองรบ แนวทางพร้อม ของพร้อม น้องงงงพร้อม เดินหน้าเข้า 5G เต็มตัว

หลังจบงานใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ ก็ตามธรรมเนียมครับ หลังคำศักดิ์สิทธิ์ของ กสทช. อย่าง “Silent Period” หมดอายุ ทั้ง 5 ผู้ชนะก็เริ่มเปิดเผยรายละเอียดการนำคลื่นชุดใหม่ไปใช้งานกันทันที เริ่มกันที่ “น้องงงงงงง” เล็กของวงการอย่าง dtac ที่วันนี้ นอกจากประกาศแนวทางของบริษัทในปี 2563 แล้ว ยังเป็นการพา CEO คนใหม่ล่าสุด “คุณชารัด เมห์โรทา” มาร่วมการันตีแนวทางของ dtac ในปีนี้ด้วย

ปีนี้ dtac จะติดสปีดไปในทางไหน แล้วคลื่นจะทำอะไรต่อ ติดตามกันต่อไปเลยครับ

เดินหน้าสู่ "Ultra Highspeed Network"

ฟังดูเหมือน “ห๊ะ” แต่นี่คือคำมั่นสัญญาของจริงจาก dtac ครับ

คุณชารัดเพิ่งจะเริ่มงานได้ 2 อาทิตย์ แต่ก็ต้องเจองานใหญ่เลยคือการประมูลคลื่น 700/2600 MHz และ 26 GHz เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ dtac อาจจะทำผลงานไม่ค่อยเข้าตากองเชียร์กันสักเท่าไหร่กับการกดใบอนุญาตคลื่น 26 GHz มาเพียง 2 ชุด รวม 200 MHz ซึ่งจำนวนใบอนุญาตถือว่าน้อยกว่าหน้าใหม่อย่าง TOT ด้วยซ้ำ แต่คุณชารัดย้ำชัดเจนว่า “นี่คือเกมที่ dtac วางไว้ตั้งแต่แรกแล้ว”

ต้องกล่าวย้อนกันก่อนว่า ณ วันนี้ เป้าหมายที่ dtac ต้องการ คือการ “สร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ดี” มากกว่า “การกลับสู่การเป็นที่สองของประเทศ” คือยังไง dtac รู้ตัวดีว่า วันนี้การกลับเป็นที่ 2 ก็ยากพอตัว เพราะเบอร์ 2 ที่แซงไปได้ คงยากที่จะปล่อยตำแหน่งนี้กลับคืน ฉะนั้นเมื่อ dtac รู้สถานะตัวเองดี จึงเลือกแนวทางในการรักษาลูกค้าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ค้นหาว่าลูกค้าต้องการอะไรจาก dtac และ dtac จะสนองกลับไปได้อย่างไร จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ dtac ลงทุนอย่างหนักในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดี และเมื่อทุกอย่างคงที่ dtac จึงวางแผนการทำงานตลอดปี 63 เพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากการใช้งานที่ดีที่สุด

คุณชารัด เมห์โรทา CEO dtac คนใหม่

เมื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีได้แล้ว สิ่งที่ dtac ต้องสร้างต่อไป คือโครงข่ายที่แข็งแกร่ง และต้องเป็น “Ultra Highspeed Network” ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งการประมูลคลื่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Ultra Highspeed Network ของ dtac แม้อาจทำให้กองเชียร์ไม่พอใจเล็กน้อย แต่สำหรับ dtac เองถือว่าบริษัทมา “ถูกทาง” หลังจากหลงทางอยู่พักใหญ่ในคราวการประมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2556

แต่การจะไปถึงจุดนั้นให้ได้ dtac จึงต้องวางแผนใหม่นับตั้งแต่ 0 ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เราและลูกค้า dtac จะเจอตลอดปี 63 ก็จะมีดังนี้

ต่อจากนี้จะมีแต่คำว่า "Simply" & "Human"

เรื่องแรกที่ dtac จะทำเลยคือ การสร้างความเข้าถึงของแบรนด์ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เดิมทีเรารู้จักแบรนด์ dtac ด้วยคำว่า “feel good” ที่กลายเป็นปรัชญาหลักของบริษัทนับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้โลโก้ใบพัดเหมือน Telenor

แต่วันนี้ความ feel goood ของ dtac เริ่มเปลี่ยนไปเป็นความ “simply” หรือเรียบง่าย พ่วงด้วยทักษะความเป็นมนุษย์ หรือ “humanity” แทน เพื่อให้ภาพจำของ dtac ในยุค “Never Stop” เป็นภาพจำที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นกันเองมากขึ้น dtac จึงเริ่มปรับปรุงประสบการณ์ในการใช้งานของลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการออกโปรโมชันใหม่ เช่นโปร dtac GO! สำหรับลูกค้ารายเดือนที่เป็นการสมัครโปรตามปกติ แต่ได้เน็ตสำหรับ Roaming ให้ใช้งานเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการในการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หรือที่จะเห็นในอนาคตอย่างการออกโปรฯ ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งฝั่งองค์กร ที่ dtac มีการปรับแพ็คเกจเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ลูกค้าองค์กรได้ใช้งาน dtac จริง

เพื่อความชัดเจน dtac จึงได้เปลี่ยนวิธีการทำงานภายในองค์กรใหม่ทั้งหมด โดยการสร้างโครงการ dtac DNA ที่เป็นโครงการพัฒนาบุคลากรให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมตอบสนองต่อนโยบายของ dtac ในการมอบประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า รวมถึงเพิ่มความสามารถในการจ้างงานของบริษัท เพิ่มทักษะการทำงานของบุคลากร และการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งหมด ให้เป็นรูปแบบ Agile เพื่อสร้างความรวดเร็วในการเข้าถึงลูกค้าและ dtac ก็จะนำทุกสิ่งที่ได้กลับมาพัฒนาเป็นบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าต่อไป เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า จะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้บริการที่ dtac

และเพื่อให้ภาพจำของ dtac ในยุคใหม่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากการสร้างประสบการณ์ใหม่แล้ว dtac เลยมีสมาชิกใหม่เข้าบริษัทด้วย นั่นคือ…

น้องงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง

ง.งูไม่ได้ค้างนะครับ แต่คุณชารัดเรียกน้องว่า “คุณน้องงงงงงงงง” แบบนี้จริง ๆ

เชื่อว่าตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ใครที่ผ่านไปมาในห้างหรือร้านที่มีป้าย dtac reward หรือเข้าเว็บ dtac ก็น่าจะได้เห็นกับมาสคอตตัวสีฟ้าตัวนี้ผ่านตากันมาบ้างในหลากหลายอิริยาบถ แล้วไอเราก็ได้แต่สงสัยว่า เอ๊… น้องเป็นใคร มาจากไหน…???

และนั่นคือวิธีการสร้างภาพจำของน้องให้ลูกค้าได้เห็นก่อนผ่านช่องทางต่าง ๆ ครับ ไอเดียนี้เป็นไอเดียของคุณฮาว ริ เล็น CMO ของ dtac นั่นเอง โดยคุณฮาวเล่าให้เราฟังว่า เพื่อให้ภาพ “simply” และ “humanity” ของ dtac ชัดเจนมากขึ้น dtac จึงออกไอเดียพัฒนา “มาสคอต” ประจำบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

มาสคอตตัวนี้ คุณฮาวบอกว่าไม่ได้ตั้งใจทำออกมาให้เป็น “มาสคอต” แต่ให้ถือว่ามาสคอตตัวนี้คือ “ผู้บริหารคนใหม่ของ dtac” เพราะตำแหน่งของน้องก็คือ “Chief Happiness Officer” หรือ CHO (แปลเป็นไทยก็คือ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความสุข” ฮาา) หน้าที่หลักของน้องคือมอบความสุขให้ทุกคน ตามอุปนิสัยของน้องที่แสดงถึงความสนุกสนาน คอยมอบความสุขให้ลูกค้าทุกคน ดังเช่น dtac ที่มอบความสุขให้ลูกค้าผ่านประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งาน และความสุขจากสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ dtac reward มอบให้ และน้องก็มีอารมณ์เหมือนคนทั่ว ๆ ไปเลย มีความรู้สึก และสามารถรับรู้ได้จากสายตาหรือท่าทางของน้องในหลาย ๆ อิริยาบถที่จะได้เห็นต่อจากนี้

แต่ทว่า…. น้อง “ยังไม่มีชื่อ” ครับ แล้วจะใช้ชื่ออะไรดีละทีนี้??? dtac ก็เลยเปิดโอกาสผ่านแคมเปญเล็ก ๆ ให้ลูกค้าร่วมสนุกกับการเสนอชื่อให้น้องตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป และจะประกาศชื่อน้องอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดย dtac มีของรางวัลเล็ก ๆ ให้กับชื่อที่ชนะการคัดเลือกด้วยนะเออ

ประสบการณ์ที่ดี ต้องมากับ "โครงข่ายที่แข็งแกร่ง"

กลับเข้าเรื่องหลักในวันนี้ นั่นคือเรื่องของโครงข่ายและคลื่นความถี่ dtac เล่าให้ฟังว่านับตั้งแต่ dtac เปิดตัว dtac Turbo บนคลื่น 2300 MHz ร่วมกับ TOT ในปี 2561 ตลอดจนแผนการขยายเครือข่ายอย่างบ้าคลั่งของคุณอเล็กซานดร้า (CEO คนที่แล้ว) ผลที่ได้คือ เสียงของลูกค้าที่มีต่อ dtac ก็เริ่มเปลี่ยนไป คำก่นด่า หรือเสียงคอมเพลนต่าง ๆ หายไปถึง 50% และลูกค้าเริ่มได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ดีขึ้น เรื่องนี้ dtac ไม่ได้กล่าวกันลอย ๆ เพราะ dtac นำรายงานผลการทดสอบเครือข่ายประจำปี 2562 ของ OpenSignal ที่ยกให้ dtac เป็นเครือข่ายที่ให้บริการความเร็วในการดาวน์โหลดเร็วที่สุดในประเทศไทยมาเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จกันเลยทีเดียว

วันนี้ dtac ในมือ CEO คนใหม่อย่างคุณชารัด จึงขอสานต่อในสิ่งที่คุณอเล็กซานดร้าทำค้างไว้ นั่นคือคำปณิธานที่ว่า “สัญญาว่าจะไม่หยุด” ทั้งการพัฒนาเครือข่าย และการให้บริการ 5G ในอนาคต

สิ่งแรกที่ คุณชารัดทำเลยคือ การเข้าร่วมประมูลคลื่น 26 GHz เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้กองเชียร์จะไม่ค่อยถูกใจในผลงาน แต่คุณชารัดก็ยืนยันว่า “เราเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด” ของคลื่น mmWave ที่เป็นคลื่นสำหรับ 5G โดยตรง

การที่ dtac เลือกคลื่นที่อยู่ทางด้าน “ขวาสุด” ของ 26 GHz เพียง 200 MHz เหตุผลของ dtac เลยคือคลื่นชุดที่ กสทช. เอามาประมูล ยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับเลยแม้แต่ชิ้นเดียว รวมถึง Galaxy S20 Ultra 5G ที่จะวางขายในไทย ก็ใช้กับคลื่นนี้ไม่ได้ ประกอบกับการที่คลื่น mmWave ทั้ง 26 และ 28 GHz มันมีช่วงที่ Overlap กันอยู่ 1 GHz ฉะนั้น dtac เลยเลือกช่วงคลื่นที่ Overlap กันมาถือครองไว้ก่อน ด้วยการลงเงินในขั้นตอนการเลือกย่านความถี่สูงสุดถึง 20.4 ล้านบาท แล้วรอโอกาสจากการเข้าประมูลคลื่น 28 GHz ในอนาคตแทน เพื่อที่ dtac จะได้ Convert คลื่น 26 GHz ที่ถืออยู่ไปเป็นคลื่น 28 GHz และรวมกับของที่ประมูลใหม่ได้แทน ฉะนั้นในระยะยาว dtac ก็จะมีจำนวนคลื่นที่พอ ๆ กับผู้นำในตลาด แม้ช่วงแรกจะประมูลมาน้อยกว่า

ถ้าคำถามต่อไปคือแล้ว 200 MHz ที่มี พอไหม?? … คำตอบของ dtac คือ “พอใช้งานกับยูสเคสที่ dtac มีในตอนนี้” นั่นคือเน้นความเร็วในการรับส่งข้อมูล การให้บริการคอนเทนต์ดิจิทัลและแอปพลิเคชัน AR/VR การให้บริการโครงข่ายภายในส่วนองค์กร (Private Network) และการนำเอาไปทำบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Access: FWA) แทน เพียงแค่ 4 ยูสเคสนี้ คลื่น 26 GHz จำนวน 200 MHz รวมกับคลื่น 700 MHz อีก 2×10 MHz ก็ถือว่าเพียงพอในการใช้งานแล้ว

และเมื่อรวมกับ Spectrum Portfolio ของ dtac ก็เท่ากับว่า dtac มีคลื่นให้บริการครบทุกย่านความถี่แล้ว และเพียงพอต่อการใช้งานในระยะ 5 ปีนับจากนี้ตามการรายงานของ GSMA ที่เผยว่า 5G จะมีพื้นที่ให้บริการเพียงแค่ 15% ของเอเชีย นั่นคือคลื่น 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz (ร่วมกับ TOT) ที่ปัจจุบันใช้งานอยู่ทั้งบนเทคโนโลยี 2G/3G และ 4G และในอนาคต 5G จาก dtac จะมีบทบาทอย่างมากบนคลื่น 700 MHz และ 26 GHz

ได้คลื่นมาแล้ว ก็ถึงเวลากลับมาพิจารณาโครงข่ายกันต่อ โดย dtac ยืนยันว่าการขยายโครงข่าย (ที่ทำโดย Ericcson) ก็จะเป็นไปตามแผนเดิม คือปักเสา TDD (2300) เพิ่มเป็น 20,000 สถานีฐานในปี 2020 ภายใต้งบลงทุนกว่า 14,000 ล้านบาท พร้อมพ่วงด้วยการติดตั้งเทคโนโลยี Massive MIMO ลงในทุกสถานีฐาน เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับ 5G ในช่วงปลายปีนี้ และเมื่อรวมกับคลื่น 700 MHz และ 26 GHz สิ่งที่ลูกค้า dtac จะได้ก็คือประสิทธิภาพของเครือข่ายจะดีขึ้น การรับส่งข้อมูลเร็วขึ้น 3 เท่า และสามารถรองรับจำนวนลูกค้าเพิ่มได้อีกเป็นจำนวนมากจากการใช้คลื่นความถี่ทุกย่านอย่างเหมาะสม

ประสบการณ์ดี โครงข่ายดี ต้องมี "บริการที่ดีแถมด้วย"

เพื่อให้ความเป็น Ultra Highspeed Network ในอุดมคติของ dtac เป็นไปได้อย่างราบรื่น dtac จึงพัฒนา Usecase ออกมาใช้ในยุค 5G เพิ่มด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่

  1. บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Access) ในชื่อ dtac@HOME โดยบริการนี้ dtac มองว่าเป็นบริการที่จะช่วยให้บ้านที่ไม่สามารถลากสายไฟเบอร์เข้าไปได้ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกันหมด โดยปัจจุบัน dtac ทดลองให้บริการนี้บนคลื่น 2300 MHz อยู่ในบางพื้นที่ แต่เมื่อถึงยุคของ 5G dtac ก็จะนำคลื่น 26/28 GHz ออกมาให้บริการแทน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไฟเบอร์ได้โดยไม่ต้องลากสายเข้าบ้านแต่อย่างใด
  2. บริการเครือข่ายภายในส่วนองค์กร (Private Network) โดยบริการนี้ dtac จะพัฒนาโครงข่าย 5G สำหรับใช้งานภายในให้กับองค์กรที่ต้องการ ซึ่งบริการนี้จะครอบคลุมไปถึงบริการเสียงด้วย ไม่ใช่แค่บริิการอินเทอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียว
  3. บริการดิจิทัลจากแอปฯ dtac ในอนาคตแอปฯ dtac app จะเป็นมากกว่าแอปฯ เช็คค่าใช้บริการ และจะมีความสามารถที่มากกว่าปัจจุบันเป็นเท่าตัว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ dtac เพิ่งจะพัฒนาฟีเจอร์ในส่วนของ dtac reward ใหม่ทั้งหมด ให้ใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น แต่ความเร็วในการเข้าถึงก็ยังไม่ดีพอในปัจจุบัน ดังนั้นในยุค 5G dtac ก็จะมีการพัฒนาแอปฯ ให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และอาจถึงขั้นใช้งานแทนช็อปได้เลย
  4. บริการดิจิทัล คอนเทนต์ และแอปฯ ต่าง ๆ และไม่ใช่แค่ dtac app เท่านั้น ในอนาคต dtac จะนำเอาความเป็น 5G และดิจิทัล ผสานเข้ากับบริการต่าง ๆ ของพาร์ทเนอร์ เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์สามารถส่งต่อคอนเทนต์ให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว กรณีนี้ยังรวมถึงเทคโนโลยี IoT ที่ใช้ในโครงการต่าง ๆ ด้วย เช่นโครงการ Smart Farmer ที่ dtac นำเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้กับการสร้างสวนผลไม้อัจฉริยะ ซึ่งในอนาคตเราจะได้เห็นโครงการในลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก จากความสามารถของเครือข่าย 5G ที่ dtac จะสร้างขึ้น

สรุป "เราจะไม่หยุด เพื่อลูกค้าทุกคน"

ผมต้องขอยอมรับ ณ ตรงนี้ว่าก่อนเข้าไปฟังแถลงจากคุณชารัดในวันนี้ ภาพ dtac หลังออกจากห้องประมูลของผมเป็นลบมาก และค่อนข้างเป็นกังวลมากว่าอนาคต dtac จะเดินหน้าไปในทางไหน และไม่ใช่แค่ผม ความกังวลนี้ยังสะท้อนไปถึงเหล่าเม่านักลงทุนที่เป็นกังวลต่ออนาคตของ dtac เช่นกัน ผ่านมูลค่าหุ้นของ dtac ในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ทำ 52W Lowest ที่ 39.75 บาท แต่จากที่ได้ฟังแล้ว ก็พอจะเข้าใจเหตุผลได้ดีขึ้น และทำให้ความเป็นลบค่อย ๆ กลับมาอยู่ในจุดที่เป็นบวก เช่นเดียวกับความกังวลในตลาดทุนที่คลายลงจนทำให้มูลค่าของบริษัทกลับไปอยู่ในจุดก่อนการประมูล (41.00-42.25) แม้จะยังไม่ 100% แต่ก็ถือได้ว่าผมและหลาย ๆ คนพอจะมองออกแล้วว่า ณ วันนี้ dtac ต้องการอะไร และอยากให้ลูกค้ามอง dtac ไปในทางไหน

จริงอยู่ที่ภาพ dtac กับการลงทุนเครือข่ายเมื่อสองถึงสามปีก่อน กลายเป็น “แผลในใจ” ของผู้ใช้ dtac ส่วนใหญ่ เพราะ dtac อยู่ในสภาพที่ใช้คำว่า ไม่กดด้วยความเกรงใจก็เป็นเสือหมอบกลางห้องประมูล แต่ส่วนน้อยก็ยังคงเชื่อว่า dtac จะตั้งตัวและกลับมายืนในตลาดได้อย่างภาคภูมิ จากการแถลงในวันนี้ผมค่อนข้างเชื่อแล้วว่า dtac เริ่มกลับมาถูกทาง และผู้ใช้ก็น่าจะได้ประโยชน์จากความเป็น dtac ในรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะนี่ก็ถือเป็นเรื่องที่ dtac ก็กลับมาทำได้อย่างถูกต้องและควรจะเป็น นั่นคือการใช้เงินในการลงทุนโครงข่ายอย่างรอบคอบ

แม้วันนี้ เราอาจจะยังไม่เห็น dtac ประกาศวันเปิด 5G เต็มตัวเหมือนฝั่ง AIS และ TrueMove H แต่ก็เชื่อได้ว่า dtac น่าจะทำให้เราไม่ผิดหวังเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่นี้ก็เหลือเพียงแค่ว่า ลูกค้าจะกลับมาเชื่อมั่น dtac มากหรือน้อยขนาดไหน หน้าที่นี่ผมคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องยกให้ “น้อง” เอาไปจัดการต่อนั่นแหละครับ : D

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)