สองปีนี้ ความเปลี่ยนแปลงของ dtac ที่สำคัญสุด คือการแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด เรื้อรังที่สุด นั่นคือ ”คุณภาพของเครือข่าย” ผลงานของอดีต CEO หญิง คุณอเล็กซานดร้า ที่สามารถดึงศรัทธาด้านคุณภาพเครือข่าย dtac จนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความพึงพอใจลูกค้าที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เบื้องหลังของพัฒนาการกำจัดจุดอ่อนของ dtac ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ คือพระเอกของเนื้อหาที่อ่านนี่ละครับ
และคนที่อยู่เบื้องหลังนี้จริง ๆ นั่นคือ คุณสมัคร สิมพา หัวหน้าสายงานพัฒนาโครงข่าย dtac ที่ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในการวางแผน สร้างเครือข่ายให้ dtac ในตอนนี้ โดยคุณสมัคร คือหนึ่งในเบื้องหลังสำคัญที่แก้ปัญหาเรื่องเครือข่ายในยุคคุณอเล็กซ์ซานดร้า จนสามารถดึงความพึงพอใจของลูกค้าให้ดีขึ้นได้ชัดเจน และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
และที่จะได้อ่านกันต่อไปนี้ คือสิ่งที่คุณสมัครทำทั้งหมด เพื่อ “กำจัดจุดอ่อน” ของ dtac ออกอย่างสิ้นเชิง
แผนกำจัดจุดอ่อน
ก่อนจะเข้าเรื่องว่า dtac แก้ปัญหาอย่างไร มันก็ต้องเริ่มจากการค้นหาปัญหาก่อน และค้นไปค้นมา dtac เลยได้รู้ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของ dtac มาโดยตลอด คือเรื่อง “เครือข่าย” และ “เครือข่าย” ฉะนั้นเกมกำจัดจุดอ่อนของ dtac ก็เป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้ นอกจากการวางเครือข่ายแบบบ้าคลั่งของ dtac ในรอบสองปีที่ผ่านมา
ที่ต้องย้อน 2 ปี เพราะนั่นรวมถึงการวางเครือข่าย 900 MHz ที่ dtac ชนะประมูลเมื่อปี 2561 เพื่อทดแทนคลื่น 850 MHz เดิม รวมถึงคลื่น 2300 MHz ของ TOT ที่ dtac ประกาศเข้าร่วมพัฒนาคลื่นในปีเดียวกัน ฉะนั้นสองงานนี้จึงสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้เลยโดยไม่ต้องนับ 0 ใหม่ และเมื่อประกอบกับ Virtual Network Core ที่ dtac อัพเกรดระบบให้รองรับ 5G ไว้อยู่แล้ว จึงทำให้สามารถขยายเครือข่ายได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการขยายโครงข่ายของคลื่น 2300 MHz แบบบ้าคลั่งเพื่อทำให้ลูกค้า dtac สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น ผลงานนี้มีการการันตีชัดเจนด้วยผลการทดสอบของ OpenSignal ที่การันตีว่า dtac เป็นเครือข่ายที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงที่สุด และมอบประสบการณ์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีที่สุด จนลูกค้าเองก็รู้สึกได้ว่า 4G ของ dtac ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ส่วนคลื่นเจ้ากรรมอย่าง 900 MHz แม้ปัจจุบัน dtac ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 10% ของแผน แต่ก็ไม่สามารถเปิดใช้งานคลื่นได้เนื่องจากมีคลื่นของ TrueMove H (850 MHz) มากวนกัน ซึ่งเรื่องนี้ dtac ได้แจ้งไปยัง CAT ที่เป็นเจ้าของสัมปทาน และ TrueMove H เจ้าของเครือข่าย ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการกวนสัญญาณเรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผน
จุดอ่อนหาย ถึงเวลาสร้างจุดแข็ง
หลังจากที่ dtac สามารถกำจัดจุดอ่อนตลอดกาลของตัวเองได้สำเร็จ สิ่งที่ dtac ต้องทำต่อไปนั่นก็คือการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินหน้าเก็บคลื่นอย่างต่อเนื่อง ทั่งคลื่น 700 MHz ที่ได้มาเมื่อปีที่แล้ว และคลื่น 26 GHz ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประมูลกันไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เรื่องแผนการใช้งานคลื่นและแผนงานในยุค 5G น่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า dtac จะทำอะไร แต่วันนี้ dtac บอกสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า dtac จะเอาคลื่นที่ได้มาทั้งก้อนไปทำอะไร
ถ้าดูจากพอร์ตคลื่นความถี่ของ dtac จะเห็นว่า นอกจาก 900/1800/2100/2300 ที่ใช้งานในปัจจุบัน dtac จะมีคลื่นใหม่อีกสองชุดที่ยังไม่นำออกมาใช้งาน นั่นคือ 700 MHz และ 26 GHz โดยทั้งสองคลื่น คุณชารัด ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นคลื่นที่สำคัญสุดในยุค 5G ของ dtac โดยคลื่น 700 MHz จะถูกนำมาใช้ในการปูพรมทั่วประเทศ หรือการวางเครือข่ายเพื่อเอาพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่ dtac ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เราจะเห็นสิ่งที่ดีขึ้นทั้งบน 4G และ 5G จากคลื่น 700 MHz ของ dtac
แต่ข้อเสียของคลื่น 700 MHz คือไม่สามารถทำความเร็วได้ดีพอ อย่างเก่งก็เป็น 4G ในร่าง 5G ฉะนั้น dtac จึงต้องเก็บคลื่น 26 GHz เข้าพอร์ตอีกหนึ่งชุด เพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีการใช้งานอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม / สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ / มหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ / หอพัก / คอนโดมิเนียม และอาคารสูงต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งาน 5G ที่ดีขึ้นจากความเร็วที่ทำได้สูงสุดถึง 1 Gbps
พูดมาขนาดนี้ คำถามที่คาใจก็คงเหลือคำถามเดียว คือทำไมประมูลมาแค่นี้ คำตอบก็คือ dtac ไม่ได้มองปัจจุบัน แต่มองเรื่องอนาคตเป็นหลัก เพราะคลื่นที่ กสทช. นำออกประมูล คือ 26 GHz (n258) มันมีส่วนที่ทับซ้อนกับคลื่น 28 GHz (n257) ที่ กสทช. ยังไม่ได้นำออกมาประมูล ถึง 500 MHz ฉะนั้น dtac จึงเลือกเอาคลื่นที่อยู่ขวาสุดของก้อน เพื่อสองประเด็น คือ เปลี่ยนคลื่นก้อนที่ประมูลมานี้เป็น 28 GHz และเปิดให้บริการภายใต้ย่านความถี่ 28 GHz (n257) ที่มีอุปกรณ์รองรับเยอะกว่าแทน และรองรับต่อการขยายความถี่จากการประมูลคลื่น 28 GHz ในอนาคต แม้อาจจะดูแย่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่นี่คือเกมที่ dtac วางหมากเอาไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว
เพราะอะไร เพราะคลื่น 26 GHz แม้เป็น mmWave เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่คลื่นกลางที่ทั่วโลกเขาเลือกใช้กัน อุปกรณ์ที่รองรับก็มีน้อยถึงน้อยมาก แม้ในอนาคตจะมีการวางแผนให้ใช้คลื่น 26 GHz เป็นหลัก แต่ในประเทศกลุ่มที่เปิด 5G ไปแล้ว ก็คงจะยอมปรับมาใช้ด้วยกันได้ยาก ฉะนั้น dtac จึงเลือกที่จะเปิดคลื่นนี้ภายใต้ย่านความถี่ 28 GHz แทน เพื่อหวังผลจากอุปกรณ์ที่รองรับมากกว่า
แต่การจะก้าวขึ้นไป 5G ได้เต็มตัว สิ่งที่ dtac จะต้องทำก่อนในวันนี้ คือการวางรากฐานใหม่ทั้งหมดของเครือข่าย นั่นคือการวางเครือข่ายแบบ “Massive MIMO” ซึ่งเป็นเทคนิคการวางเครือข่ายแบบและการส่งสัญญาณแบบหนึ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น จากเทคนิคการส่งสัญญาณแบบ Beam-forming จากเสาสัญญาณมาที่ตัวเครื่องโดยตรง ผลที่ได้ก็คือแม้ผู้ใช้จะอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ ก็จะสามารถรับสัญญาณได้ดีเท่า ๆ กัน ซึ่ง dtac เริ่มทำแล้วตั้งแต่วันนี้ และผู้ใช้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นถึง 3 เท่าตัว
ไม่กดเยอะไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เรามองโลกในระยะยาว
คำถามสุดท้ายและท้ายสุดที่ dtac ถูกถามมามากในรอบ 2-3 ปีนี้ นั่นคือ “คลื่นพอใช้หรือไม่” คำตอบก็คือ ด้วยเทคนิคการวางเครือข่ายและการใช้งานคลื่นความถี่ในปัจจุบัน ตลอดจนเทคโนโลยีที่เลือกใช้ ในวันนี้กล้าพูดแบบชัดเจนว่า dtac ถือว่ามีคลื่นสะสมในมือเพียงพอ
dtac ยอมรับว่าเมื่อก่อน เราเป็นเจ้าที่มีคลื่นในมือเยอะที่สุด แต่ด้วยความที่มีคลื่นเยอะแต่ใช้ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ dtac กลับมาเน้นการใช้คลื่นความถี่ในมือให้คุ้มค่ามากกว่าเก็บให้เยอะที่สุด การไม่เอา 1800 MHz เพิ่ม สาเหตุก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าคลื่นแพงไปสำหรับอุตสาหกรรม ประกอบกับในรอบ 2-3 ปี กสทช. เน้นประมูลแต่คลื่น Mid-band มากกว่าคลื่น Low-band ที่มีจำกัด และ High-band ที่ไม่มีความชัดเจน ในเมื่อก่อนการประมูลรอบที่ผ่านมา dtac มีคลื่น Mid-band ในมือเยอะที่สุด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ dtac ไม่ลงเอาคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 2600 MHz โดยเฉพาะ 2600 MHz ที่ใกล้กับคลื่น Wi-Fi และ 2300 MHz ที่ dtac มีอยู่ ก็แทบจะไม่มีความจำเป็นในการเข้าประมูลเลยแม้แต่น้อย
อนาคต dtac ยังตั้งเป้าที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ในการให้บริการให้เหมาะสม โดยเป้าหมายที่ dtac ต้องการคือ คลื่น 3500 MHz ที่เป็นย่านความถี่ที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุด และมีอุปกรณ์รองรับเป็นจำนวนมาก กับคลื่น 28 GHz ที่ประเทศกลุ่มแรกของโลกเลือกใช้งาน แม้ 26 GHz ที่ กสทช. นำออกประมูลจะมีคนใช้งานมากกว่า แต่ในแง่ของอุปกรณ์กลับรองรับคลื่น 28 GHz มากกว่า 26 GHz ที่อาจจะต้องใช้เวลากันอีกระยะหนึ่ง ถึงจะเริ่มมีอุปกรณ์ออกมาใช้งาน แต่ปัญหาของเป้าหมายนี้ก็คือ คลื่น 3500 MHz ยังเป็นสัมปทานของไทยคมซึ่งใช้ในกิจการดาวเทียมอยู่ จะหมดอายุในช่วงสิ้นปีหน้า และคลื่น 28 GHz ก็ยังสุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะส่วนหนึ่งใช้กับดาวเทียมเช่นกัน ฉะนั้นคลื่นทั้งสองก้อนจึงยังมีความสุ่มเสี่ยงในการเอาออกมาใช้งานอยู่มาก โดยเฉพาะในกรณีที่ กสทช. กำลังจะเปลี่ยนชุดใหม่ และเรายิ่งไม่รู้ด้วยว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร
แต่ที่แน่ ๆ คือ ถ้าไม่มี กสทช. ชุดใหม่ ไม่มีการประมูล และคลื่น 2300 MHz dtac ยังยืนยันกับเราว่ามีแผนจัดการคลื่นความถี่ในระยะยาวรอไว้อยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ dtac "ไม่หยุดที่จะดีขึ้น"
ตลอดเวลา 1 ชั่วโมงที่ได้นั่งฟัง ประกอบกับภาพของ dtac ที่ทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนแบบชัดเจน ทำให้ผมมั่นใจแล้วว่า dtac เดินมาถูกทาง และน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับตัว dtac ในตอนนี้ ฟังดูอาจจะอวยไปหน่อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรง การที่จะเลือกเกมที่จะเดินต่อไป ก็ต้องเลือกกันแบบรอบคอบ แม้ฝั่ง AIS และ TrueMove H จะเลือกเดินเก็บคลื่นเป็นจำนวนมาก แต่เกมการใช้คลื่นอย่างเต็มที่ของ dtac ก็เป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับ dtac ที่ต้องการใช้คลื่นความถี่ทุกคลื่นที่มีอย่างเต็มที่ในวันนี้เช่นกัน
เกม 5G กำลังจะเริ่มขึ้น ฝั่ง AIS/TrueMove H ก็เริ่มยิงไม้ 5G กันมาแล้วคนละไม้สองไม้ แต่ 5G ในมือ dtac จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะคุ้มค่ากับการรอคอยหรือไม่ เรื่องนี้ขอให้ผู้ใช้เป็นคนตัดสินดีกว่า และเชื่อว่าคุณสมัครจะไม่ทำให้เราผิดหวังแน่นอนครับ 😀