ติสท์อยากเขียน

จับเข่าคุย “สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” กับการประมูลคลื่นครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ช่วงนี้ผมหนีน้องทีมงานไปเที่ยวครับ แต่คนที่พาผมหนีเที่ยวก็ไม่ใช่ใครหรอก เค้าเป็นหนึ่งในพี่ชายที่แสนดีที่ผมรู้จัก นั่นคือพี่เล็กสมชัย เลิศสุทธิวงศ์บิ๊กบอสใหญ่แห่ง AIS นั่นเอง สองวันนี้ผมได้มาเที่ยวพัทยาเป็นการพิเศษ และได้มานั่งจับเข่าคุยกับพี่เล็กถึงมหาสงครามที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ ใช่ครับ มหาสงครามที่ผมกำลังพูดถึง คือการประมูลคลื่นบิ๊กล็อตจำนวน 8 ใบ ในวันที่ 4 มีนาคม พ.. 2561[1] ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz ที่ dtac จะหมดสัมปทานลงในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ภาพรวมต่อการประมูลรอบนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นไปในแนวทางไหน วันนี้ผมมีบทสัมภาษณ์ง่ายๆ กึ่งไม่เป็นทางการ มาฝากผู้อ่านทุกคนกัน ก่อนที่ตัวพี่เล็กและทุกเครือข่ายจะเข้าสู่ช่วง Silent Period ที่โดน กสทช. สั่งห้ามพูด แถลงข่าว แถลงผู้ถือหุ้น หรือให้ข่าวเรื่องทำนองนี้ครับ

โทรคมนาคมไทยวันนี้ “เครือข่ายรายที่ 4 ไม่น่าเกิดได้”

เมื่อครั้งการประมูลคลื่น 900 MHz ที่กินเวลายาวกว่า 4 วัน เมื่อ พ.. 2558 สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลการประมูลมีผู้ชนะรายที่ 4 อย่าง JAS Mobile ปรากฏขึ้น ณ วันนั้น ทุกคนพากันตื่นเต้นมากว่าในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จะมีรายใหม่มาร่วมเล่นชิงส่วนแบ่งการตลาดกันเสียที บางคนถึงขั้นเตรียมหมายเลขโทรศัพท์สวยๆ เพื่อย้ายเข้าไปใช้ในค่ายใหม่กัน แต่สามเดือนหลังจากนั้น เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของโลกก็เกิดขึ้น เมื่อ JAS Mobile ตัดสินใจทิ้งใบอนุญาตลงด้วยเหตุผลคือไม่สามารถหาเงินและหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงค์การันตี) มาให้ กสทช.​ ได้ทันตามกำหนด เหตุการณ์นี้ส่งผลลบต่อภาพรวมของตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอย่างรุนแรง และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของ กสทช. สถาบันการเงิน รวมถึงตัว JAS อย่างหนัก จนเป็นสาเหตุให้ AIS ตัดสินใจเข้ารับใบอนุญาตแทนด้วยราคาที่แพงกว่าราคาที่ JAS เสนอไว้ 1 เคาะในเดือนมิถุนายน พ.. 2559 และทำให้ JAS โดนปรับค่าเสียโอกาส และค่าจัดการประมูลรอบใหม่ และอาจจะโดนขึ้นบัญชีดำ กสทช. ไปแล้วก็ได้

การประมูลที่จะเกิดขึ้นในรอบนี้ พี่เล็กเชื่ออย่างหนักว่าน่าจะเป็นการแข่งขันอย่างหนักของสามเครือข่ายหลักในไทยมากกว่าการเกิดขึ้นของรายที่ 4 ในไทย ด้วยปัจเจกปัจจัยเช่นเดียวกับที่ JAS เจอ นั่นคือสถาบันการเงินไม่ออกหนังสือรับรองทางการเงิน อันเป็นหนังสือที่ธนาคารรับรองว่าบริษัทฯ จะหาเงินจำนวนนี้มาคืนหรือเตรียมไว้ในธนาคารได้ตามกำหนดให้ ประกอบกับต้นทุนในการวางโครงข่าย การจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการต่าง ๆ ในธุรกิจนี้ที่ต้องตามแผนของ กสทช. และรายใหญ่ (ตัวอย่างเช่นการวางเครือข่าย 4G อย่างบ้าคลั่งกว่า 90% ของพื้นที่ในเวลาเพียง 4 เดือนของ AIS) ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นถ้าตลาดจะเกิดรายใหม่จากการประมูลคลื่น น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดและปัจจัยทางธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่เอื้อต่อการเกิดรายใหม่ในไทย เว้นเสียแต่ว่าถ้าผู้เล่นคนนั้น มีแบ็ค หรือมีทุนหนาจากเมืองนอกเข้ามาแทน

แต่ถ้าเกิดว่ารอบนี้มีชื่อ JAS โผล่ขึ้นมาอีก นอกจากสังคมจะสงสัย ผู้เล่นทุกคน ประชาชน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องยิงคำถามไปที่ กสทช. กันชุดใหญ่ว่าเหมาะสมแล้วหรือ

รอบนี้หนักสำหรับ dtac “เพราะเค้าคือ เรา เมื่อสองปีก่อน”

พี่เล็กเล่าว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการประมูลรอบนี้ คงเป็นสถานการณ์อันหนักหน่วงของ dtac ที่ต้องยอมแลกทุกอย่างในการดึงใบอนุญาตกลับมาอย่างน้อยหนึ่งถึงสองใบ เพราะว่าในปีหน้าสภาพของ dtac จะไม่ต่างจาก AIS เมื่อสองปีก่อน นั่นคือทั้งบริษัทเหลือแต่คลื่น 2100 MHz ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้ากว่า 23.1 ล้านเลขหมาย (ข้อมูลจากไตรมาสที่ 3/2560 ของ dtac) และแนวเกมจะบังคับให้ dtac ต้องสู้กันแบบหลังชนฝา ชนิดยอมจ่ายเงินออกไปหลักหมื่น ๆ ล้าน เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าที่เหลืออยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าทั้งฝั่ง 2G หรือ 4G ของตัวเองก็ตาม เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่ได้อะไรเลย มันร้ายแรงกว่าเงินเพียงไม่กี่ล้านที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับใบอนุญาตใบนี้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ dtac นั้นจะผิดกันกับ AIS และ TrueMove H ที่รอบนี้จะลงเล่นกันแบบสบาย ๆ คือกันรายที่ 4 เกิดขึ้นในตลาดและเปิดทางให้ dtac คว้าใบอนุญาตไป ส่วนใบอนุญาตถ้าได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่เสียอะไร เพราะทั้ง AIS และ TrueMove H มีคลื่นในมือกันคนละ 55 MHz[2][3] คลื่นจำนวนนี้เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าในระยะยาวหลักสิบปีแบบสบาย ๆ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้น ก็จะมีคลื่นใหม่ ๆ มาให้ได้เลือกสรรกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตอย่าง 5G อาจจะต้องใช้คลื่นเป็นจำนวนมากในการเปิดให้บริการ คลื่นที่มีในมือทั้งหมดของทั้งสองบริษัทถือว่าพร้อมต่อการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีในอนาคตเรียบร้อยแล้ว

และอีกปัจจัยหนึ่งที่การแข่งขันรอบนี้ไม่น่าจะดุเดือดเท่าสองปีที่แล้ว คือในอีก 1-2 ปีนับจากนี้ ทั้งสองบริษัทต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่จากการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เข้ารัฐฯ กว่า 80,000 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งก้อนนี้จะเป็นเงินประมูลก้อนสุดท้ายที่ต้องจ่ายรวบยอดทั้งหมด นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พี่เล็กเองก็ยังยอมรับว่าราคาคลื่น 900 MHz นั้นแพงเกินไปสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจริง ๆ แต่ AIS ก็ยินดีรับภาระเพื่อไม่ให้เสียลูกค้า 2G ที่เหลืออยู่ในระบบออกไป

อนาคต “ดิจิตอลและคอนเวอร์เจนซ์ สำคัญที่สุด”

ผมคงต้องยอมรับว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่เน็ตมือถือเสถียรสุดและแรงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต้องเทียบอื่นไกล จากการไปสิงคโปร์ของผมและทีมงานที่ผ่านมา น้องในทีมงานประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ หรือใช้ฟังก์ชันบางอย่างของเครือข่ายผ่านเน็ตที่นั่นไม่ได้ อันนี้ต้องชื่นชมการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยเองที่เมื่อสองปีก่อน เราได้เห็นการแข่งขันที่เน้นกันที่ความเสถียรและความแรงของอินเทอร์เน็ตกันเป็นหลัก จนตอนนี้ความแรงมาถึงขีดจำกัดตามคลื่นที่ตัวเองมีกันเรียบร้อยแล้ว

คำถามที่ผมสงสัยคือ แล้วหลังจากนี้เราจะแข่งที่อะไร ผมได้คำตอบจากพี่เล็กว่า หลังจากนี้เราจะแข่งกันที่เรื่องดิจิตอลและคอนเวอร์เจนซ์กันเป็นหลัก ปัจจุบันตลาดนี้เป็นการแข่งขันกันเองระหว่าง AIS และ True ที่ทั้งสองฝ่ายมีบริการที่เหมือนกันทั้งหมด สภาพตลาดจะบีบบังคับให้ผู้เล่นเน้นการทำตลาดเชิงรวม หรือก็คือการรวมทุกบริการที่มีเอาไว้หนึ่งเดียวโดยมีมือถือเป็นจุดศูนย์กลาง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ dtac ต้องหันมาพัฒนาบริการแนวเดียวกันในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการมาทีหลังของ dtac ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าตัวเองจะต้องรอดไปจากสงครามนี้ให้ได้

สรุป : บทหนักของมหาสงครามนี้ ก็ dtac เองนั่นแหละ

ให้พูดกันตามตรง สิ่งที่พี่เล็กกล่าวมาทั้งหมด กับสภาพปัจจุบันของตลาด ผมก็เชื่อตามพี่เล็กว่าบทหนักของการประมูลรอบนี้คงเป็น dtac ที่ต้องสู้ยิบตา เพราะการเหลือแต่ 2100 MHz และหวังเอา 2300 MHz ของ TOT ที่ยังไม่รู้อนาคตที่แน่นอนมาให้บริการ ย่อมสร้างผลเสียหนักกว่าการคว้าเอาคลื่นที่มีอยู่ตรงหน้ากลับไปด้วยเงินเพียงไม่กี่ล้าน ส่วนตัวผมเองก็เชื่อว่าการเสีย 1800 MHz ไป เปรียบเสมือนว่า dtac เสียหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงบริษัทลง และนั่นอาจทำให้บริษัทใหญ่อย่าง dtac ล้มลงอย่างไม่ทันตั้งตัวได้

แม้ว่าการประมูลนี้ไม่ส่งผลเสียอะไรต่อ AIS ถ้าไม่ได้ของ แต่การไปคว้าของอีกใบผมก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ในยุคที่ทุกคลื่นมีค่าเหมือนกันหมด การมีคลื่นในมือเยอะไว้ก่อนย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเทคโนโลยีในอนาคต เราก็ไม่รู้ว่าต้องใช้คลื่นเยอะขนาดไหน ถึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ แม้ว่า GSMA จะเกริ่น ๆ มาแล้วว่าต้องมีอย่างน้อยคนละ 50 MHz ถึงจะเปิดได้ แต่ในมุมมองของฝั่งผู้ให้บริการเองนั้น 50 MHz ก็เป็นเรื่องที่ลำบากในการวิ่งหาคลื่นมาเตรียมให้บริการกันแล้ว

ดังนั้นการประมูลคลื่นครั้งนี้ผมก็หวังว่า dtac คงไม่เป็นเสือหมอบอย่างที่เคยเป็นเมื่อรอบที่แล้ว ตามที่ผม พี่เล็ก และผู้อ่านทุกคนหวังไว้เช่นกัน

หมายเหตุ

[1] การประมูลคลื่นในวันที่ 4 มีนาคม พ.. 2561 จะประมูลใบอนุญาตฯ ทั้งสิ้น 8 ใบอนุญาต ประกอบด้วย คลื่น 850 MHz ความกว้าง 10 MHz (คลื่น dtac 3G ในปัจจุบัน) จำนวน 1 ใบอนุญาต คลื่น 1800 MHz ความกว้าง 15 MHz (คลื่น dtac 2G และ 4G 1800 MHz ในปัจจุบัน) จำนวน 3 ใบอนุญาต และคลื่น 2600 MHz ความกว้าง 20 MHz (ของ อสมท. เดิม) จำนวน 4 ใบอนุญาต รวมทั้งสิ้น 8 ใบอนุญาต – โพสต์ทูเดย์

[2] คลื่น 2100 MHz ของ AIS-T จะหมดลงใน .. 2568 ตามใบอนุญาตของ TOT ทำให้ AIS เหลือคลื่นในมือเพียง 40 MHz ได้แก่คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz / คลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz

[3] คลื่น 850 MHz ของ TrueMove H จะหมดลงใน .. 2568 ตามใบอนุญาตของ CAT ทำให้ TrueMove H เหลือคลื่นในมือเพียง 40 MHz ได้แก่คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz / คลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz เท่ากับ AIS

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^