เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม) อยู่ดีๆ ก็โดน dtac เรียกตัวไปปรับทัศนคติครับ ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมมหาสงครามการประมูลคลื่นครั้งใหม่ (แต่เป็นครั้งสุดท้ายของไตรภาค 900/1800) ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพราะว่าเมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการ กทค. ได้อนุมัติร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ออกมา dtac เลยว่าจ้างให้ NERA Economic Consulting ไปศึกษาสถานการณ์ วิเคราะห์ และวิจัยในส่วนของรายละเอียดออกมาทั้งหมดจนกลายเป็นความคืบหน้าจาก dtac ในครั้งนี้ NERA ให้คำวิจารณ์และข้อเสนอมาอย่างไร ลองอ่านตามและใช้วิจารณญาณประกอบได้ตามสะดวกครับ
***…โปรดทราบก่อนอ่านต่อ…***
บทวิเคราะห์นี้ เป็นบทวิเคราะห์จากการศึกษา วิจัย และสรุปผลโดย NERA Economic Consulting ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่ในการวิเคราะห์สถานการณ์การประมูลคลื่นในไทยจาก dtac เพื่อนำไปใช้ในการวางมาตรฐาน และแนวทางการดำเนินธุรกิจของ dtac หลังจากนี้ ซึ่งรายละเอียดตามบทวิเคราะห์ฉบับนี้จะถูกนำเสนอต่อ กสทช. อีกครั้งในการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ของร่างการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคมนี้
ย้อนความกันก่อน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่วงการโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก ด้วยสาเหตุคือผู้ให้บริการรายต่าง ๆ เริ่มหมดอายุสัมปทานที่ทำไว้กับคู่สัมปทาน เริ่มจากส่วนของ TrueMove (ไม่ H) และ GSM 1800 ที่หมดอายุลงใน พ.ศ. 2557 และของ AIS ที่หมดลงใน พ.ศ. 2558 ทั้งสามส่วนล้วนประสบปัญหาในการจัดสรรใหม่ทั้งสิ้น รอบ TrueMove กับ GSM 1800 บ้านเราเจอรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และมีคำสั่ง คสช. ออกมาให้ระงับการประมูลที่เกิดขึ้นทั้งหมดลง และลดบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการ 1 ปี ส่วนรอบ AIS ก็เจอปัญหาจัดการประมูลไม่ทัน ทำให้ทั้งสามเครือข่ายต้องใช้มาตรการชดเชยด้วยการไปเช่าคลื่นที่ไม่ได้ใช้มาให้บริการแทนจนกว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลรอบใหม่ พอปัญหาตรงนี้ผ่านพ้นไป คณะกรรมการ กทค. (กสทช. ฝ่ายโทรคมนาคม) ก็จัดการประชุมพิเศษเพื่อวางแผนรับมือกับคลื่นของ dtac ซึ่งเป็นคลื่นในระบบสัมปทานชุดสุดท้ายที่จะหมดสัมปทานลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ที่จะถึงนี้
และแผนที่ออกมานั่นก็คือ “การจัดประมูลก่อนวันหมดสัมปทาน” โดยสำนักงาน กสทช. จะเร่งให้เกิดการประมูลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 และออกใบอนุญาตประกอบการได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลสามารถดำเนินการได้ หรือถ้าเป็น dtac ก็สามารถให้บริการได้ต่อหลังหมดสัญญาสัมปทานในทันที
สำหรับคลื่นที่นำออกมาขายในรอบนี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ใบอนุญาต 2 ความถี่หลัก ดังต่อไปนี้ครับ
คลื่น 900 MHz (850 เดิม)
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่ dtac ให้บริการ 3G อยู่ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 10 MHz คลื่นก้อนนี้จะถูก Regrouping ให้เข้ามาอยู่ภายใต้หมวด 900 MHz ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลื่นชุดนี้ติดกับ 900 MHz ของ AIS ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคลื่นก้อนดังกล่าวจะถูกแบ่งจำนวนคลื่นความถี่ออกเป็นสองช่วงดังนี้
- ช่วงที่ 1 : 885 – 890 MHz/930 – 935 MHz
- ช่วงที่ 2 : 890 – 895 MHz/935 – 940 MHz
- ช่วง 895 – 915 MHz/940 – 960 MHz เป็นคลื่นของ AIS และ TrueMove H ในปัจจุบัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อหมดสัมปทานชุดความถี่ช่วงที่ 1 (885 – 890 MHz/930 – 935 MHz) จะตกเป็นทรัพย์สินของกระทรวงคมนาคมแทบจะทันที เพราะทางกระทรวงฯ ต้องนำคลื่นไปใช้งานร่วมกับระบบอาณัติสัญญาณของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ในอนาคต ดังนั้นคลื่นช่วงที่ 2 จึงเป็นช่วงที่สามารถนำมาจัดสรรให้กับกิจการโทรคมนาคมได้
อ้างอิงจาก ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สาหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890 – 895 MHz/935 – 940 MHz รายละเอียดปลีกย่อยของการประมูลโดยทั่วไปสามารถสรุปได้ดังนี้
- ใบอนุญาตฉบับนี้อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ 15 ปี
- ราคาตั้งต้นสำหรับคลื่นชุดนี้จะอยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยคิดตามมูลค่าของคลื่นความถี่ตามจริง ราคาจะเพิ่มรอบละ 76 ล้านบาท
- การจ่ายเงินค่าประมูลจะจ่ายทั้งหมด 4 งวด ดังนี้
- งวดแรก 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงค์การันตี)
- งวดที่ 2/3 2,010 ล้านบาท
- งวดที่ 4 (งวดสุดท้าย) จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด
- เนื่องจากใบอนุญาตมีเพียง 1 ใบ
- การประมูลครั้งนี้จะให้กับผู้ที่เสนอราคาสูงที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล
- ถ้ามีผู้ยื่นซองเข้าประมูลเพียง 1 ราย การเปิดรับซองจะขยายจากกำหนดการเดิมออกไปอีก 30 วัน เมื่อครบ 30 วันแล้วยังมีผู้ยื่นซองเข้าประมูลเพียง 1 ราย การประมูลจะเริ่มขึ้นและจบลงทันทีเมื่อผู้เข้าประมูลเคาะยืนยันราคา
คลื่น 1800 MHz
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ dtac ให้บริการ 2G และ 4G อยู่ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 25 MHz และมีอีก 20 MHz ที่ไม่ได้ใช้งาน คลื่น 1800 MHz จึงมีให้จัดสรรได้สูงถึง 45 MHz ในรอบนี้ ซึ่งคลื่นก้อนดังกล่าวจะถูกแบ่งจำนวนคลื่นความถี่ออกเป็นสามช่วงดังนี้
- ช่วง 1710 – 1740 MHz/1805 – 1835 MHz เป็นคลื่น 1800 MHz ของ TrueMove H และ AIS ในปัจจุบัน
- ช่วงที่ 1 : 1740 – 1755 MHz/1835 – 1850 MHz
- ช่วงที่ 2 : 1755 – 1770 MHz/1850 – 1865 MHz
- ช่วงที่ 3 : 1770 – 1785 MHz/1865 – 1880 MHz
คลื่นก้อนนี้ไม่ได้มีผลกระทบเรื่องการจัดสรรให้โครงการอื่นเหมือนกับ 900 MHz แต่ก็ถือเป็นคลื่นความหวังสุดท้ายของ dtac เพราะช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่ dtac ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และเป็นช่วงที่ dtac สามารถเปิดให้บริการต่อได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน
อ้างอิงจาก ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สาหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740 – 1785 MHz/1835 – 1880 MHz รายละเอียดปลีกย่อยของการประมูลโดยทั่วไปสามารถสรุปได้ดังนี้
- ใบอนุญาตรอบนี้มีอายุเพียง 15 ปี นับจากวันที่ออกใบอนุญาต ดังนั้นใน พ.ศ. 2576 คลื่น 1800 MHz จะหมดอายุพร้อมกันทั้ง 5 ใบอนุญาต เนื่องมาจากใบอนุญาตของ AWN และ THUC ได้มีการเผื่อเวลาเอาไว้ 3 ปีเพื่อรองรับการประมูลรอบนี้อยู่แล้ว
- ราคาตั้งต้นสำหรับคลื่นชุดนี้จะอยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยคิดตามมูลค่าของคลื่นความถี่ตามจริง ราคาจะเพิ่มรอบละ 75 ล้านบาท
- การจ่ายเงินค่าประมูลจะจ่ายทั้งหมด 3 งวด ดังนี้
- งวดแรกจ่าย 50% ของผู้เสนอราคาสูงสุด พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงค์การันตี)
- งวดที่ 2 จ่าย 25% ของผู้เสนอราคาสูงสุด
- งวดสุดท้ายจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด
- เนื่องจากใบอนุญาตมี 3 ใบ กฎ N-1 จะถูกบังคับใช้ในการประมูลครั้งนี้เป็นครั้งแรก นั่นก็คือ
- ถ้ามีผู้ยื่นซองเข้าประมูลมากกว่า 3 ราย จะเปิดประมูลคลื่นทั้งสามช่วง
- ถ้ามีผู้ยื่นซองมากกว่า 1 ราย แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ราย จะเปิดประมูลเฉพาะช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2
- ถ้ามีผู้ยื่นซอง 1 ราย จะขยายระยะเวลาการรับซองประมูลออกไปอีก 30 วัน เมื่อครบ 30 วันแล้วยังมีเพียง 1 ราย จะประมูลเฉพาะคลื่นช่วงที่ 1 โดยเริ่มต้นขึ้นและจบลงทันทีเมื่อผู้เข้าประมูลเคาะยืนยันราคา
- ผู้ยื่นซองแต่ละราย สามารถยื่นเสนอราคาได้ทุกช่วงคลื่น แต่จะสามารถชนะได้เพียง 1 ช่วงคลื่นความถี่เท่านั้น
คาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องประมูลก็น่าจะเป็นไปตามที่เราเคยรายงานไว้ก่อนหน้า ว่าแนวเกมการประมูลจะเป็นการช่วยเหลือและเปิดทางให้ dtac คว้าใบอนุญาตกลับไป ด้วยสถานการณ์ของ dtac ที่ทั้งบริษัทเหลือเพียงแค่ 2100 MHz สถานการณ์ของ dtac จึงแทบไม่ต่างจาก AIS เมื่อสองปีก่อนแบบไม่ผิดเพี้ยน
ในส่วนรายอื่น ๆ ความน่าสนใจคือ AIS ที่แจ้งกับผู้ถือหุ้นผ่านช่องทาง Investor Relation ไปแล้วนั้น คงร่วมประมูลและเน้นเอาช่วงที่ 1 ของคลื่น 1800 อย่างหนัก เนื่องจากช่วงคลื่นติดกันกับใบอนุญาตที่มีอยู่ เมื่อได้มาก็สามารถปรับจูนระบบเดิมและเปิดให้บริการได้ทันที ส่วน TrueMove H คงประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะร่วมประมูลดีหรือไม่ เพราะข้อเสียของคลื่น 1800 MHz ที่ตัวเองถืออยู่คือไม่สามารถขยายได้เนื่องจากติด Lower Bound การได้ใบอนุญาตมา เท่ากับว่าตัวเองต้องลงทุนในระบบเครือข่ายใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ 0 จึงต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการร่วมประมูลก่อน
ราคาคลื่นโดยรวม "แพงเกินไป"
กลับมาที่ผลการศึกษาของ NERA โดยประเด็นที่ NERA ให้ความกังวลเป็นลำดับแรกและเป็นหัวใจสำคัญของการพูดคุยในครั้งนี้คือ ราคาคลื่นความถี่ตั้งต้น แพงเกินไปเมื่อเทียบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งในฝั่งเอเชียและฝั่งยุโรป มุมที่ NERA มองว่าแพงคือราคาตั้งต้นที่ใช้ราคาสุดท้ายของการประมูลรอบที่แล้ว ซึ่งรอบที่แล้วมีประเด็นที่ไม่ใช่เหตุผลหลักในการตั้งราคาเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนั้นคือ ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากความปกติของการประมูลและไม่สามารถควบคุมได้อย่าง “กลุ่มจัสมิน” ที่ลงมาร่วมประมูล โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินของตัวเอง ปัจจัยนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาคลื่นความถี่ดีดขึ้นไปสูงกว่ามูลค่าจริงของคลื่น และซ้ำร้ายกลุ่มจัสมินยังสร้างเหตุการณ์ที่แทบเป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอย่างการทิ้งใบอนุญาต และทำให้ AIS ตัดสินใจรับภาระที่ตัวเองไม่ได้ก่ออย่างการเข้ามารับใบอนุญาตไปแทนในราคาที่แพงกว่าราคาเสนอของกลุ่มจัสมิน 1 เคาะ
จากรูปที่ 1 และ รูปที่ 2 NERA ชี้ให้เห็นว่าราคาตั้งต้นของการประมูลในรอบนี้แพงไปจากค่ามัธยฐานของราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมถึง 3 เท่า (1800 MHz) และ 6 เท่า (900 MHz) และแสดงให้เห็นว่าราคาคลื่นความถี่ของไทยมีราคาที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแถบเดียวกัน
NERA ยกตัวอย่างคลื่น 900 MHz ว่าในการประมูลมีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้อย่างกลุ่มจัสมินเข้ามาร่วมประมูลด้วย และประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ TrueMove H และ AIS อยู่ในสถานการณ์จำเป็นที่ต้องเอาใบอนุญาตนี้ (must-buy situation) เพื่อให้ตัวเองมีคลื่นความถี่ให้บริการ จึงทำให้ราคาที่ TrueMove H และ AIS ได้ไป ถือว่าแพงกว่ามูลค่าโดยรวมของตลาดมาก
ในส่วนของ 1800 MHz ก็เช่นกัน NERA ยกประเด็นว่าราคาสุดท้ายในรอบที่แล้ว ถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้แต่ยังคงแพงกว่าตลาด (mild outliers) ด้วยราคาที่สูง ก็ย่อมทำให้มีผลต่อการลงทุนในส่วนอื่น ๆ ตามมา
ราคาคลื่นที่แพง ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ
NERA ชี้ให้เห็นโดยอ้างอิงผลการศึกษาของ OpenSignal (รูปที่ 3) ว่า สัญญาณ 4G ในประเทศไทยนั้นครอบคลุมพื้นที่โดยเฉลี่ยที่ 77% ซึ่งมากกว่าประเทศในแถบเดียวกันอย่าง กัมพูชา หรือ มาเลเซีย แต่ทว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ต 4G ของเรานั้นกลับช้ากว่าประเทศข้างต้นที่ 9 Mbps ซึ่งเท่ากับอินโดนีเซีย และผลการศึกษานี้ยังสอดคล้องกับรายงานของ OOKLA ที่เพิ่งออกมาโดยระบุว่าความเร็วอินเทอร์เน็ต 4G ในประเทศไทยนั้นตกลงมาโดยเฉลี่ยที่ 13.3 Mbps เทียบปีต่อปีก็ตกลงมาสูงกว่า 19%
NERA ชี้แจงในจุดนี้ว่าทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการลดงบลงทุนโครงสร้างเครือข่ายซึ่งเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่จากการที่ราคาคลื่นความถี่นั้นสูงผิดปกติ รวมถึงเรายังมีแผนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ไม่ชัดเจนพอ
แพงไม่พอ เรายังใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า
เนื่องจากยุค 4G เป็นยุคที่คลื่นความที่ทุกคลื่นมีค่าเหมือนกันทั้งหมด ประเด็นนี้จึงเป็นอีกประเด็นที่ NERA ยกตัวอย่างออกมาให้ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยยังใช้งานทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างไม่คุ้มค่า กล่าวคือจากรูปที่ 4 เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยมีการนำคลื่นความถี่ออกมาใช้งานเพียง 320-380 MHz เท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศฝั่งยุโรปที่มีแพลนการใช้งานคลื่นความที่ชัดเจน
ปัญหาสำคัญของประเด็นนี้คือประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้ให้บริการต้องปรับการใช้งานคลื่น 2G ขึ้นมาให้บริการ 4G ด้วยสาเหตุคือคลื่นความถี่อื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน 4G นั้นอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น TOT หรือ อสมท. หรือหน่วยงานความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้ กสทช. นำคลื่นของตัวเองไปจัดสรรใหม่ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใช้วิธีการหาคลื่นใหม่ ๆ ที่ไม่มีมูลค่าในยุค 2G/3G มาให้บริการ 4G โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่นประเทศเยอรมนีที่มีคลื่นเฉพาะของ 4G คลื่นใหม่ ๆ สูงถึง 350 MHz แต่ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังมีแผนการใช้งานคลื่นที่ไม่ชัดเจนด้วยสถานการณ์ของทางฝั่งภาครัฐฯ ที่ไม่มีแผนการใช้งานที่ชัดเจนพอ
สิ่งที่ NERA เป็นห่วงก็คือเมื่อเข้าสู่ยุค 5G ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ปรับตัวได้ช้าเนื่องจากคลื่นความถี่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ช่องว่างของการพัฒนาด้านโทรคมนาคมของไทยกับประเทศฝั่งยุโรปที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วนั้นต้องห่างออกไปอีกไม่น้อย
N-1 สร้างการแข่งขัน แต่ก็ทำลายอุตสาหกรรมพร้อมกัน
N-1 เป็นกติกาใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบนี้ จุดประสงค์ก็คือเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ทว่า NERA ได้ตั้งคำถามที่น่าสงสัยและรอคอยคำตอบอยู่ นั่นคือ ถ้าเกิดว่าประมูลแค่ 2 ใบ แล้วที่เหลือหายไปไหน?
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ NERA เป็นห่วงไม่แพ้กับประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ และเรื่อง 5G ในไทย เพราะว่ากฎนี้จะทำให้คลื่นจัดสรรได้ไม่อย่างเต็มที่ และไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ตัวอย่างเช่นถ้าเกิดว่า AIS dtac และ TrueMove H ลงประมูลครบ 3 รายโดยไม่มีรายที่ 4 ปรากฎ กฎ N-1 จะถูกใช้ทันที ทำให้เหลือคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ถูกจัดสรรตกค้างอยู่ ซึ่ง ณ วันนี้ ในร่างการประมูลก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มากว่าคลื่นที่เหลือจะถูกนำไปจัดสรรต่ออย่างไร และนั่นจะทำให้คลื่นจำนวน 10% ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้งานในตลาด
และผลที่ตามมาอย่างแน่นอนก็คือราคาประมูลที่จำเป็นต้องสูงเนื่องมาจากการแย่งชิงคลื่น แม้ว่าภาพรวมอาจจะได้เห็นการที่ กสทช. จะได้รายได้จากการประมูลเพิ่มมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง ความเสียหายจากการที่คลื่นความถี่จำนวนหนึ่งต้องถูกเก็บไว้ด้วยกฎ N-1 ย่อมมีมากกว่ารายได้อย่างชัดเจน และสุดท้ายผลเสียทั้งหมดก็ต้องตกไปอยู่ที่ผู้ใช้บริการที่จะต้องเสียค่าบริการที่แพงขึ้น คำว่าแพงขึ้นของ NERA คือไม่ใช่การขึ้นค่าแพ็คเกจ แต่เป็น Benefits และรายละเอียดในแพ็คเกจต่างหากที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนที่ชัดเจน
ทางออกที่ดีที่สุด
แน่นอน คำว่า “ทุกปัญหามีทางออก” ย่อมใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่เว้นแม้แต่สถานการณ์ใหญ่เช่นนี้ ซึ่ง NERA ได้ให้คำแนะนำและแนวทางที่ควรจะเป็นมาทั้งหมด 4 ประเด็น ตามรูปที่ 5 ดังต่อไปนี้
แนวทางที่ 1 "ยกเลิกกฎ N-1"
ตามที่ NERA ได้อธิบายไว้ข้างต้น กฎ N-1 ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และยังบ่อนทำลายอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน แม้ว่าข้อดีของมันคือช่วยส่งเสริมการแข่งขันก็ตาม แต่การยกกเลิกกฎ N-1 จะทำให้ทุกกคลื่นความถี่สามารถจัดสรรได้อย่างคุ้มค่า และยังทำให้สามารถนำคลื่นความถี่ออกมาจัดสรรได้อีกมากมาย ทำให้คลื่นความถี่ในยุค 4G และ 5G นั้นเพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะ
แนวทางที่ 2 "ลดราคาตั้งต้นลงมาให้เหมาะสม"
เพราะตัวแปรที่กำหนดไม่ได้ทำให้ราคาตั้งต้นสูง NERA จึงเสนอให้ กสทช. ลดราคาตั้งต้นลงมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของคลื่นที่แท้จริง โดยใช้วิธีการประมาณการแบบดั้งเดิมของตลาดประกอบกับวิธีการประมูล NERA เชื่อว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ ย่อมให้ผลตอบแทนแก่รัฐฯ อย่างยุติธรรม ไม่ก่อให้เกิดราคาคลื่นความถี่ที่สูงจนเป็นผลกระทบต่อผู้ใช้งาน
แนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ในตอนนี้ ก็น่าจะเป็นการกำหนดราคาตั้งต้นใหม่โดยใช้ราคาที่น้อยกว่า เท่ากับ หรือไม่ให้สูงกว่าราคาตั้งต้นของการประมูลเมื่อครั้ง พ.ศ. 2558 มากเกินไปจะดีกว่าการกำหนดราคาตั้งต้นโดยใช้ราคาสุดท้ายของการประมูลเป็นราคาตั้งต้น
รูปที่ 6 เป็นผลการวิเคราะห์ของ NERA ที่นำเสนอต่อ GSMA ซึ่งชี้ให้ว่าระดับราคาที่เหมาะสมที่เป็น Best Practice ควรเป็นราคาที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของตลาด (ช่วงสีเขียวในกราฟ) เพราะราคาที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถกำหนดกรอบเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถรับผลประโยชน์จากผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
แต่ในช่วงอื่น ๆ อันได้แก่ช่วงสีแดง เป็นช่วงที่แสดงถึงราคาคลื่นความถี่ที่สูงเกินความจำเป็นไปมาก คลื่นที่มาพร้อมกับราคาในระดับนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้จะขอสละสิทธิ์เนื่องจากเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าแล้วพบว่ามันไม่คุ้ม เหมือนกับเอาเงินไป “จม” ที่ค่าคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ ขณะที่สีส้ม เป็นราคาที่สูงกว่าตลาดแบบไม่มากจนเกินไป แต่ราคาในระดับนี้ก็ย่อมสร้างความกังวลให้กับผู้ให้บริการไม่น้อย ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ สภาพคล่องทางการเงิน และค่าดำเนินการจิปาถะอื่น ๆ รวมถึงไม่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ และผลที่ได้จากการลงทุนเสียด้วยซ้ำ
แนวทางที่ 3 "แบ่งประมูลเป็นบล็อคเล็กดีกว่าบล็อคใหญ่"
การประมูลเป็นบล็อคใหญ่ แม้ผลดีคือสามารถกำหนดราคาได้แม่นยำกว่า แต่การประมูลเป็นบล็อคเล็ก ๆ ที่หาร 5 ลงตัว เช่น 2×5 MHz กรณีเป็นคู่ หรือ 5 MHz กรณีไม่ได้เป็นคู่ ร่วมกับการใช้กฎการครอบครองคลื่นความถี่หรือ Spectrum Cap เหมือนครั้งประมูลคลื่น 2100 MHz จะเป็นการดีกว่า เพราะผู้ประมูลจะสามารถเลือกซื้อเป็นบล็อคได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำคลื่นความถี่ที่ได้รับมาจัดเรียงให้เป็นช่วงเดียวกันได้ แถมยังกระตุ้นให้เกิดการซื้อคลื่นเก็บไว้เป็นจำนวนมาก และลดความเสี่ยงที่ผู้ให้บริการรายเดิมจะไม่ได้ใช้ช่วงความถี่เดิมในการให้บริการต่อไปด้วย
แนวทางที่ 4 "ออกแผนการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างชัดเจน"
แนวทางสุดท้ายก็เหมือนกับสิ่งที่สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเรียกร้องมา นั่นคือการออกแผนการจัดสรรหรือการใช้งานคลื่นความถี่ หรือ Spectrum Roadmap อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพราะว่าประเทศไทยยังมีความต้องการในการใช้งานคลื่นความถี่อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุค 4G อย่างเต็มตัวและยุค 5G ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ การมีแผนการจัดสรรหรือการใช้งานคลื่นความถี่อย่างชัดเจน จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถวางแผนการใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้สถาบันการเงินสามารถคาดการณ์และจัดเตรียมเงินค่าประมูลได้อย่างแม่นยำ และไม่มีความกลัวต่อการเป็นหนี้สูญแต่อย่างใด
สรุป : "แพงนัก ก็ไม่มีคนลงเล่น"
เชื่อว่าสิ่งที่ NERA ให้ความเป็นกังวลเสียส่วนใหญ่ คงเป็นเรื่องของราคาตั้งต้นที่ไม่มีความเหมาะสม และไม่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของตลาด ดังนั้นถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นว่า ราคาคลื่นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการประมูลหนึ่งครั้ง โดยไม่มีการปรับลงมาให้เหมาะสม ในอนาคต คลื่นความถี่ก็จะหมดค่าลงไปเพราะไม่คุ้มเสี่ยงต่อการลงทุน ดังเช่นในประเทศอินเดียที่เคยมีเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้ยื่นซองเข้าประมูลคลื่นเลยแม้แต่รายเดียวหลังเปิดเผยรายละเอียด ด้วยสาเหตุจากการที่ราคาคลื่นความถี่นั้นแพงกว่าความเป็นจริงของอุตสาหกรรมไปมาก และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เองก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดราคาลงมาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงทำให้ไม่มีผู้ยื่นซองเข้าประมูลแม้แต่รายเดียว ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ประเทศต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีคลื่นความถี่ย่านนั้นใช้งานจนหน่วยงานต้องยอมปรับราคาลงมาให้เหมาะสมต่อมูลค่าที่แท้จริงของตลาด ซึ่งถ้าประเทศไทยเดินตามแนวทางนี้ เราก็คงจะได้เห็นสภาพแบบเดียวกับประเทศอินเดียในไม่ช้า
ย้อนกลับมาที่ dtac ผมเองได้มีโอกาสในการพูดคุยกับคนใน dtac ในเรื่องนี้ dtac เองก็ยอมรับว่าคาดไม่ถึงเหมือนกันว่า กสทช. จะใช้ราคาเดิมเป็นราคาตั้งต้น แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าสถานะในตอนนี้ของ dtac คือ “หลังชนฝา ต้องยอมแลกทุกอย่าง” ดังนั้นต่อให้ราคากระโดดไปถึงหลัก 50,000 – 60,000 ล้านบาท ยังไง dtac ก็ต้องยอมจ่ายด้วยราคานั้นเพื่อแลกกับการที่บริษัทต้องเอาคลื่นกลับมาให้ได้ เพราะความเสียหายถ้าไม่ได้คลื่น มันร้ายแรงกว่าการเสียเงินเพียง 50,000 – 60,000 ล้านบาทไปมาก
ดังนั้นความหวังสุดท้ายที่เราจะได้เห็นว่า กสทช. จะยอมปรับราคาลงมาให้ต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมหรือไม่นั้น คงเป็นการประชาพิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ว่า กสทช. เองจะยอมรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายต่าง ๆ และประชาชนที่สนใจอย่างไร และจะมีแนวทางในการปฏิบัติ หรือการแก้ไขร่างหลักเกณฑ์อย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรม และเป็นภาระของผู้ใช้งานจนมากเกินควร
ผมเองในฐานะก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้ ก็คงคาดหวังไม่แพ้กับ dtac ว่า อยากให้ราคาคลื่นความถี่ตั้งต้นนั้น “ถูกกว่านี้จริง ๆ”
หมายเหตุ
NERA Economic Consulting เคยเป็นที่ปรึกษาด้านการประมูลในกิจการโทรคมนาคมให้กับ กสทช. เมื่อครั้งการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz โดยในครั้งนี้ dtac ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของการประมูล ได้ว่าจ้างให้ NERA เข้าไปทำการศึกษาสถานการณ์และภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง/ข้อมูลประกอบบทความ
- ความเสี่ยงจากการประมูลคลื่นความถี่ทำให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาการใช้งานดาต้าที่ช้า – Richard Marsden, Hans-Martin Ihle, NERA Economic Consultant
- การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนโดยทั่วไป ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890 – 895 MHz/935 – 940 MHz – สำนักงาน กสทช.
- การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนโดยทั่วไป ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740 – 1785 MHz/1835 – 1880 MHz – สำนักงาน กสทช.
- จับเข่าคุย “สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” กับการประมูลคลื่นครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง – zipboy, GadGuan.com
- บทวิเคราะห์การประมูลคลื่น 1800 MHz – Blognone.com
- บทวิเคราะห์การประมูลคลื่น 900 MHz – Blognone.com