ติสท์อยากเขียน

dtac x TOT เปิดตัว dtac-T แก้ปัญหาเฉพาะหน้าพร้อมปูทางสู่ 5G เตรียมเปิดให้ลูกค้าได้ใช้จริงมิถุนายนนี้

วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของ TOT และ dtac ก็ว่าได้ ทั้งคู่ได้ประกาศความร่วมมือในการเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz บนเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด 4G LTE-TDD (Time Division Duplex) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายนนี้ภายใต้ชื่อเครือข่ายร่วมกันว่า “dtac-T”

 

ที่มาของ 2300 MHz ในมือ TOT

แต่เดิมตั้งแต่สมัยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในสมัยนั้นยังไม่ได้ก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมยังไม่เคยเข้าถึง องค์การโทรศัพท์ฯ จึงได้นำคลื่นความถี่ 2300 MHz ออกมาให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบททั้งโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์สาธารณะ ด้วยเทคโนโลยี TDMA (Time Division Multiple Access) แต่ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายถึงพื้นที่ชนบทอย่างรวดเร็ว ทำให้ TOT ตัดสินใจเลิกใช้งานเทคโนโลยี TDMA ลง และนำคลื่นมาเก็บไว้เพื่อพัฒนาเป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคต

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2559 กสทช. ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ กทค. ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายในการวางรากฐานที่สำคัญของประเทศ และสนับสนุนให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล จึงมีมติให้ TOT นำคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz ออกมาพัฒนาเป็นบริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์แบบไร้สาย (Wireless Broadband) ซึ่งต่อมา TOT ได้ประกาศหาพันธมิตรเข้าร่วมพัฒนาโครงข่ายร่วมกัน จนในที่สุดก็เป็น dtac ที่ยื่นข้อเสนอในการพัฒนาโครงข่ายที่ดีที่สุด และกลายมาเป็นเครือข่าย “dtac-T” ในวันนี้

 

4G LTE-TDD ดีกว่า 4G LTE-FDD อย่างไร

เทคโนโลยีที่ dtac เลือกใช้สำหรับคลื่น 2300 MHz ก็คือ 4G LTE-TDD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ช่องสัญญาณที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคลื่น 2300 MHz เป็นคลื่นที่ถูกนำไปใช้ในลักษณะของการไม่ถูกจับคู่เสียมากกว่า ซึ่งเทคโนโลยี FDD เดิมที่เราใช้งานกันอยู่ คลื่นที่นำมาใช้งานจะต้องเป็นคลื่นที่จับเป็นคู่กัน แต่สำหรับเทคโนโลยี TDD จะใช้การแบ่งช่วงเวลาที่เราใช้งานจริงและปรับเทคนิคการส่งสัญญาณตามช่วงเวลาที่กำหนดได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถบริหารจำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จากเดิมที่เรามีข้อจำกัดว่าคลื่นทั้งส่วน Downlink และ Uplink ต้องมีจำนวนที่เท่ากัน แม้ว่าคลื่นฝั่ง Uplink จะไม่ค่อยถูกใช้งานก็ตาม

รายละเอียดทางเทคนิค คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี dtac กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดของ LTE ตัวคลื่น 2300 MHz จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 เครือข่ายภายใต้รหัสเดียวกันคือ 52 047 (dtac-T) แต่จะใช้เทคนิคการทำ Carrier Aggregation ในการผูกคลื่นทั้งหมดให้เป็นก้อนเดียวกัน แต่ละเครือข่ายจะแบ่งสัดส่วนของ Downlink และ Uplink ออกเป็นสัดส่วน 75:25 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมแก่การให้บริการ

นอกจากนี้ dtac ยังได้นำเอาเทคโนโลยี Massive MIMO (4*4 MIMO) มาใช้งานร่วมกับโครงข่าย 2300 MHz นี้เป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น ลื่นขึ้น ไม่มีสะดุดในทุกการเชื่อมต่อ แม้จะเป็นการเชื่อมต่อเพียงแค่เล็กๆ หรือการสตรีมภาพยนตร์มารับชมก็ตาม

ด้วยทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะทำให้ dtac เป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ในมือเยอะที่สุด กว้างที่สุด และเทคโนโลยีพร้อมที่สุดที่ปฏิวัติวงการโทรคมนาคมไทยและอาเซียน และยังพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมยุค 5G ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ชนิดที่ว่าไม่น้อยหน้านานาประเทศแถวยุโรปแต่อย่างใดแม้แต่น้อย

 

ใช้งานจริงได้เมื่อไหร่.. และมือถือที่รองรับล่ะ?

ในด้านการจะใช้งาน ผู้ใช้งาน dtac ปัจจุบันสามารถขึ้นมาใช้งานได้ทันทีเมื่อเปิดให้บริการ โดย dtac บอกว่าปัจจุบัน 70% ของอุปกรณ์ทั้งหมดสามารถใช้งานได้ทันที ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ระดับ High-end อย่าง iPhone, Galaxy S, Galaxy Note ไปจนถึงรุ่นล่าง ๆ อย่าง Galaxy J เป็นต้น เพียงแค่รออัพเดทเฟิร์มแวร์จากผู้ผลิตเพื่อปลดล็อกฟังก์ชันเท่านั้น ใครที่ไม่แน่ใจว่ามือถือตัวเองจะใช้งานได้หรือไม่ สามารถตรวจสอบรายชื่อมือถือที่สามารถใช้งานได้จากที่นี่

ณ วันที่เผยแพร่บทความนี้ dtac-T เริ่มทดลองสัญญาณอย่างเป็นทางการใน 10 พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สุขุมวิท สีลม สยาม ราชประสงค์ สาทร พระราม 3 เจริญกรุง นางลิ้นจี่ เซ็นต์หลุยส์ สวนพลู และเย็นอากาศ และจะขยายไปทั่วกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่นับจากนี้ โดยที่ลูกค้า dtac และ LINE Mobile จะเริ่มใช้งานได้จริงในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ก่อนขยายไปจนครบ 37 จังหวัดภายในสิ้นปี 2561 และครบทั้ง 77 จังหวัดภายในสิ้นปี 2562 ที่จะถึงนี้

 

ได้ 2300 MHz แล้ว และการประมูลคลื่น 1800 MHz ล่ะ?

การมีคลื่น 2300 MHz ในมือ ณ ตอนนี้ ถือว่าเป็นการกู้สถานการณ์ของบริษัทที่คลื่นไม่เพียงพอต่อการให้บริการได้ส่วนหนึ่ง แต่ทว่าสถานการณ์จะกลับมาเหมือนก่อนหน้านี้ในอีก 7 ปีข้างหน้า คำถามคือ แล้วแผนในระยะยาว จะทำอย่างไรต่อไปดี?

ถ้านับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ก็คือการประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่ง dtac ได้เคยท้วงติงถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมการประมูลเอาไว้ก่อนหน้า รวมถึงปัญหาการเมืองภายในของอีกสองค่ายที่อาจจะส่งผลให้ กสทช. อาจจะต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง วันนี้ dtac ขอไม่ออกความเห็นถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะถ้า กสทช. ไม่ได้ปรับปรุงเงื่อนไขตามที่ dtac เสนอ อาจจะต้องมีการพิจารณาในระดับบอร์ดบริหารของบริษัทฯ ว่าจะเข้าร่วมประมูลดีหรือไม่? และถ้าประมูลมาได้ คลื่นจะเอาไปทำอะไรต่อดี?

แต่ที่สามารถยืนยันได้แน่ ๆ ในตอนนี้คือ ถ้าในช่วงสามเดือนนี้ dtac ยังไม่มีการประกาศแต่งตั้ง CEO คนใหม่ คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง อาจจะต้องเป็นแม่ทัพใหญ่เข้าร่วมประมูลคลื่นส่งท้ายตำแหน่งก่อนอำลาจากบริษัทฯ อย่างเป็นทางการก็ได้

 

ส่งท้าย

เรื่องใหญ่ของ dtac ที่ทำให้สถาณการณ์ไม่สู้ดีมาถึงทุกวันนี้ ก็คือเรื่องของเครือข่ายไม่ว่าการตลาดจะออกมารูปแบบไหน งัดอะไรมาใช้ ก็ไม่ช่วยให้อาการลูกค้าหนีออกที่ dtac เจออยู่ตอนนี้ดีขึ้นเลย การได้คลื่น 2300MHz จาก TOT มา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็น และเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มล้างภาพความไม่ประทับใจเรื่องเครือข่าย หากภายใน 6-12 เดือนจากนี้ dtac-T สามารถแสดงศักยภาพได้จริงเชื่อว่าลูกค้าจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นอัตราย้ายออกน่าจะน้อยลงและน่าจะเรียกลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ๆให้มั่นใจที่จะมาใช้ได้ไม่มากก็น้อย

เรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายเทคโนโลยี ของ dtac ล้วน ๆ ว่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้ปังหรือทำให้พังติดตามกันต่อไปยาวๆครับ

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)