เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจพอสมควร เมื่อวันนี้คือวันสุดท้ายที่ กสทช. กำหนดเป็นวันยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมการประมูล และเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะต้องมายื่นเอกสารเพื่อแจ้งว่า “เข้า” ร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz ก้อนสุดท้าย ซึ่งก้อนนี้เดิมเป็นของ dtac ที่ได้สัมปทานจาก CAT เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่ง dtac หรือในตอนนั้นคือ TAC ได้เอามาให้บริการโทรศัพท์ 2G และใกล้จะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายนปีนี้
เวลาที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนโฉมไปด้วย ในยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ที่เราใช้คุยโทรศัพท์แค่เท่าที่จำเป็น แต่ไปเน้นใช้งาน data ผ่านอากาศแทน เทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องอาศัยปริมาณคลื่นที่มากพอ ถึงจะทำให้การใช้งานออกมาดีได้ ทำให้ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจาก 2G มา 3G ซึ่งประเทศไทยขยับตัวสายกว่าโลกไปมาก คาบเกี่ยวกับเทคโนโลยี 4G พอดี มหกรรมประมูลคลื่นความถี่และทรานฟอร์มอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใบอนุญาตก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ที่เป็นครั้งแรกกับการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่น 2100MHz พ.ศ. 2558 กับ 1800MHz (TrueMove ไม่ H กับ GSM1800 โดย AIS) และ 900MHz ของ AIS เดิม
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การถือครองคลื่นไว้ในมือเยอะ ๆ คือคำตอบที่ง่ายที่สุดของการทำให้เครือข่ายมือถือใช้งานได้ดี ซึ่งเรื่องนี้ AIS กับ TrueMove H ดูจะมองตรงกัน ต่างกับ dtac ที่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เลือกทางใช้ของที่มีให้ครบเวลาก่อน แล้วค่อยว่ากันเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้จริง ๆ แต่พอถึงเวลาที่ต้องใช้จริง ๆ ถ้าตัวผมเองในตอนนี้ ย้อนเวลากลับไปบอกตัวผมเมื่อ 2558 ว่า
“คลื่น 1800MHz ของ dtac อะ ไม่มีใครซื้อแน่นอน ขนาด dtac ยังไม่เอาเลย”
ถ้าผมได้ยินแบบนี้ ผมคงคิดว่ากำลังนอนฝันแน่ ๆ แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นจริงไปแล้ว อะไรละ ที่ทำให้ทุกเครือข่าย พร้อมใจกันไม่เข้าประมูลทรัพยากรที่สำคัญต่อธุรกิจตัวเองแบบนี้ พวกเราพอจะสรุปให้ฟังได้ตามนี้ครับ
ความเดิมตอนที่แล้ว...
เมื่อครั้งการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อสามปีก่อน เราได้ผู้ชนะคือ AIS และ TrueMove H สองเครือข่ายหลักของไทย ทั้งคู่ได้ใบอนุญาตและคลื่นความถี่ไปครองในมือที่เท่ากันคือคนละ 25 MHz ประกอบด้วยคลื่น 1800 MHz 15 MHz และคลื่น 900 MHz 10 MHz การได้ใบอนุญาตทั้งสองใบนี้ ทำให้ทั้งสองเครือข่ายพ้นสภาวะที่ทั้งคู่ถือคลื่นความถี่ในมือไม่พอ ที่ทำให้ทั้งสองต้องสู้กันแบบหลังชนฝาเพื่อดึงเอาคลื่นความถี่ในมือกลับมาให้เยอะที่สุด
หลังจากนั้นไม่นานนัก หวยก็ตกมาที่ AIS เมื่อ TOT แจ้งผลการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในคลื่น 2100 MHz หรือที่เรารู้จักกันเล่น ๆ ว่า “สัมปทานจำแลง” ว่า AIS ได้รับเลือกเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเข้ามาดีที่สุด ทำให้ AIS ขึ้นมามีคลื่นในมือเยอะที่สุดเท่ากับ TrueMove H เป็นระยะเวลาหนึ่ง
ส่วนอีกเจ้าอย่าง dtac เรียกว่าอยู่ในสภาพที่แทบจะไม่ต่างจาก AIS คือคลื่นในมือกำลังจะหมดสัมปทาน แล้ว 2100 MHz ที่มีก็ไม่พอต่อการให้บริการอีก ทางรอดสุดท้ายของ dtac คือรอการประมูลในครั้งนี้เพื่อดึงใบอนุญาตกลับมา แต่แล้วสวรรค์ก็เข้าข้าง เมื่อ TOT แจ้งผลสัมปทานจำแลงของคลื่น 2300 MHz ว่า dtac เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเข้ามาดีที่สุด ทำให้ dtac รอดจากภาวะคลื่นไม่เพียงพอไปได้อีกระยะหนึ่ง
ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คงเป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะพร้อมใจกันถามว่า “แล้วเราจะประมูลคลื่นกันอีกทำไม?”
มีคลื่นเยอะก็ดี แต่ตอนนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว
ท้าวความกันเล็กน้อยว่า เทคโนโลยี 4G นั้น ถ้าทำบนคลื่นความถี่เดียวกันเป็นก้อนเดียวกัน ทำได้สูงสุดที่ 20MHz ต่อหนึ่ง Carrier เท่านั้น แล้วพอย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. 2558 ที่ AIS กับ TrueMove H เข้าไปกด 1800 MHz มาได้คนละใบ ใบละ 15 MHz ทุกวันนี้ AIS ก็เอาคลื่นก้อนนี้มาทำ 4G ทั้งหมด ส่วน TrueMove H เอามาทำ 4G 10 MHz และรักษาลูกค้า 2G ที่เหลืออีก 5 MHz แล้วถ้าเข้าประมูล 1800MHz รอบนี้อีก แต่เผอิญว่า กสทช. บังคับขายใบละ 15 MHz เท่ากัน นั่นเท่ากับว่า AIS กับ TrueMove H ถ้าเข้าไปเอามา จะมีคลื่น 1800 MHz อย่างเดียวในมือสูงถึง 30 MHz “แต่” มันก็ใช้จริงได้แค่ 5-10 MHz เท่านั้น…. (รวมแล้วก็ 20 MHz) แล้วที่เหลือ…ก็สูญเปล่า
ถ้าคำถามต่อจากนี้คือ ส่วนที่เหลือเอาไปทำ 2G กับ 3G ก็ได้ไม่ใช่เหรอ? หรือไม่ก็ทำ 5G เกร๋ ๆ เลยซิ ลองนึกสภาพตามว่า เอาคลื่น 10 MHz ที่เหลือ ไปให้บริการ 2G ที่หากำไรแทบไม่ได้ หรือถ้าจะบริการ 3G ก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องรองรับ…. แล้วกำไรอยู่ตรงไหน เมื่อในเมืองใช้ data เยอะจนต้องยืนพื้น 4G เป็นหลัก ส่วนต่างจังหวัด ด้วยความสั้นของคลื่น 1800 MHz จะให้วางเสาถี่ ๆ ก็สิ้นเปลื้องต้นทุนโดยใช่เหตุ
นี่ยังไม่นับเรื่องทางเทคนิคของ TrueMove H ที่ช่องคลื่นที่ประมูลมาเมื่อ พ.ศ. 2558 ดันมี AIS คั่นกลางไว้กับช่องที่กำลังจะปล่อยประมูล ซึ่งถ้า TrueMove H จะเอา แล้วเอาไปใช้ได้ ก็ต้องวางเครือข่ายใหม่ทั้งหมด!! หรือ อัญเชิญ AIS ไปอยู่ช่องอื่นแทน แน่นอนว่า AIS ที่ประมูลมาด้วยมูลค่าที่สูงกว่า เลือกที่เองกับมือก่อน แต่ต้องโดนสั่งให้ย้ายตามคำขอนั้น… ไม่มีทางยอมแน่นอน!!!!
กลับมาดูที่ dtac การยืนพื้นทำ 3G บนคลื่น 2100 MHz จำนวน 10 MHz แล้วตัดมา 5 MHz เพื่อทำ 4G การได้เช่าคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz จาก TOT มาใช้ถึง 7 ปี (หมดอายุ พ.ศ. 2568) แล้วทำ 4G บนเทคโนโลยี TDD-LTE ซึ่งสามารถใช้คลื่นได้เต็ม ๆ 60 MHz โดย dtac ต้องแตกคลื่นนี้ให้กลายเป็น 3 ก้อน ก้อนละ 20 MHz ตามข้อจำกัดของเทคโนโลยี 4G แล้วเอาทั้ง 3 ก้อนนี้มาเชื่อมเข้าหากัน ทำให้ใช้พร้อมกันได้สุด ๆ ถึง 60 MHz ด้วยความใหญ่ของคลื่นชุดนี้ เหลือเพียงแค่ dtac ขยันปักเสาให้แน่นจริง ก็จะแก้ปัญหาสุดคลากสิคตลอดกาลที่ว่า “เครือข่ายไม่ครอบคลุม” ได้แบบถาวรซะที
มาถึงตรงนี้ เราได้เห็นความไม่ตอบโจทย์และไม่จำเป็นของ 1800MHz ที่จะเปิดให้ประมูลรอบใหม่อีกต่อไป ซึ่งทุกเครือข่ายเองก็เห็นพ้องตรงกันเป็นดังนี้
AIS
สถาณการณ์ที่ AIS ต้องซื้อคลื่น 2100MHz มาแพง แล้วต้องลงเสาเยอะมากอย่างบ้าคลั่ง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ AIS มี 3G ให้บริการกับเขาซักที เพราะ 3G 900 MHz ที่ทำอยู่เดิม เรียกว่าแทบจะใช้งานไม่ได้ การได้ 2100 MHz กลับมาเครือข่ายกลับมาใช้ได้ตามปกติ บวกกับแคมเปญการตลาดที่สื่อว่าเป็น “3G ใหม่ มาตรฐานโลก” เป็นต้นทุนที่หนักมาก พอมาถึงงวด 1800 MHz ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากยุค 3G 2100 MHz เลย นั่นคือ AIS ซื้อมา เพื่อให้มี 4G ให้บริการทัดเทียมกับคู่แข่งในวันที่ 3G 2100 MHz รับภาระเต็มที่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นหนังก็กลับไปหนังม้วนเดิมเมื่อครั้ง 2100 MHz นั่นคือ “ต้องจ่าย” แล้วก็ต้องลงเสาเยอะมากไม่แพ้ 2100 MHz ตามความเป็นคลื่นสั้น ดังนั้นในวันนี้ AIS จึงเลือกที่จะบอกกับทุกคนว่า “เหนื่อยแล้ว” ที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ยังคืนทุนไม่หมดเลย
TrueMove H
สถาณการณ์กลุ่ม True อยู่กับคลื่นที่น้อยกว่าเพื่อนมาตลอดในยุค 2G แถมยังต้องสร้างเนื้อสร้างตัวอีก กำไรเอาไปลงทุนยิ่งไม่ต้องพูดถึง การคว้า 850 MHz จาก Hutch มาแปลงร่าง CDMA เป็น 3G GSM แทน เพื่อทำให้บริษัทเด่นกว่าในเวลานั้น กลุ่ม True จึงกวาดคลื่นเข้ามือให้เต็มที่ เพื่อให้ตัวเองโดดเด่นกว่าให้ได้ ซึ่งการกวาดทั้ง 2100 / 1800 / 900 ในราคาที่ค่อนข้างเต็มที่ติดกันสามใบแบบนี้ สถานะทางการเงินบริษัทที่พอเลี้ยงตัวได้ คงไม่ดีแน่ ๆ ถ้าจะหาหนี้เพิ่มกับ 1800 MHz ใบใหม่ที่เอาไปใช้ต่อ ก็ต้องทะเลาะกับเพื่อนร่วมวงการไปด้วย
dtac
สถาณการณ์ dtac มีทรัพยากรครบมาตลอด แต่วิธีทำธุรกิจของ dtac สะท้อนเรื่อง “ความคุ้มค่า” มาตลอด ทำให้ช่วงไหนที่คิดว่า “พอ” ก็จะหยุดพัฒนาไป ในยุคที่กำลังทำ 3G คลื่น 850 MHz ก็เข้าไปเคาะ 2100MHz มาในราคาน้อยสุด รอบประมูล 1800 MHz ก็หมอบราคาเคาะแค่ไม่กี่หมื่นล้าน เพราะราคาที่เอามา เทียบกับที่มีอยู่แล้ว ดูไม่คุ้มเท่ากับรอให้หมดจริง ๆ ก่อน เรื่องเดียวที่ดูน่าจะสู้ที่สุดของสามครั้งที่ผ่านมา คือ 900 MHz ที่เคาะเพื่อเอาคลื่นยาวมาเสริมกับทรัพยากรบริษัทที่มีแต่คลื่นสั้น และการเช่า 2300 MHz มา ค่าใช้จ่ายทุกมิติ ดูคุ้มกับการเป็นตัวแทน 1800 MHz แล้วไปรอซื้อคลื่นยาวมาเสริมตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกดีกว่า
ธุรกิจ คือเรื่องของ “การเมือง” และ “กำไร”
ปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งสามค่ายตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล 1800 MHz คือ “ราคาคลื่นเริ่มต้นแพงเกินความจำเป็นของตลาดไปมาก” แม้ว่าแพงไม่สุด เป็นรองแค่ประเทศอินเดีย แต่ราคาคลื่นก้อนนี้ก็ส่งผลกระทบให้ทั้ง AIS และ TrueMove H อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “อ่วมอรทัย” กันไปนานพอสมควร จนกระทั่งได้ ม.44 มาช่วยแก้ปัญหาให้มีการพักชำระค่าใบอนุญาตถึงทำให้ทั้งสองเครือข่ายลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้พอสมควรในช่วงนี้
AIS สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนด้วยราคาแพ็คเกจที่คงมาตรฐานเท่าเดิม เพิ่มเติมคือ Benefits น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นแพ็คเกจ 4G Maxspeed ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน เดิม AIS เขียนแพ็คเกจนี้ในวันที่เปิดตัว AIS 4G Advanced อย่างเป็นทางการ เพื่อชูราคาแพ็คเกจต่ำที่สุดในตลาด แต่แลกกับการที่ไม่มี FUP ให้เราเล่นได้ต่อเนื่อง ผ่านมาแค่สองปี AIS แสดงให้เห็นถึงต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยการยกเอาแพ็คเกจ 4G Maxspeed Unlimited ขึ้นมาขายแทน 4G Maxspeed (แต่เรียกชื่อการตลาดเหมือนเดิมว่า 4G Maxspeed) ยกเลิกแพ็คเกจ 4G Maxspeed Unlimit 899 มาเริ่มต้นที่ 1,099 ยกเลิกแพ็คเกจ iEntertainment ที่ให้จำนวนอินเทอร์เน็ตเยอะกว่าและเงื่อนไข FUP ดีกว่า รวมถึง(แอบ)ลดจำนวนร้านค้าที่ร่วมโครงการ AIS 360 ลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด (แม้ฝั่ง AIS จะบอกว่าเท่าเดิมก็ตาม) เรียกได้เต็มปากว่าเราได้เห็น “AIS ตัวจริง” กลับมาในสนามอีกครั้ง
ฝั่ง TrueMove H ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจาก AIS เช่นกัน นั่นคือลด Benefits ของแพ็คเกจรายเดือน ขายเครื่องพ่วงแพ็คเกจในราคาที่โหดมากขึ้น (จ่ายล่วงหน้าเป็นหมื่น!!!!) เน้นหา Gadgets มาขายแบบผูกสัญญามากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อให้เห็นว่าต้นทุนการทำเครือข่ายให้มีคุณภาพนั่นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และลูกค้าก็ต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะผู้ใช้ด้วยเช่นกัน
ทั้งสองกรณีข้างต้นนี้ เกิดขึ้นจากตัวป่วนสนามที่ชื่อว่า JAS ที่มีส่วนทำให้ราคาคลื่นกระโดดขึ้นไปไกลเกินค่ามัธยฐานของราคาคลื่นทั่วโลกมาก ดังนั้นเมื่อ กสทช. ยังยืนคำเดิมว่า “ราคาจะไม่ถูกลง” จึงทำให้ทั้งสามค่ายต้องมาประชุมกันหนักว่าจะเอายังไงต่อเมื่อ กสทช. แสดงที่ท่าว่าไม่ลดแบบนี้ ผลจึงออกมาว่า “ไม่เข้าร่วมการประมูลทั้งหมด” นั่นเอง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ได้ออกบทความพิเศษทำนองเดียวกัน นั่นคือราคาคลื่นแพงไปเมื่อเทียบกับราคากลางของโลก (NERA ที่ dtac จ้างมาก็พูด…) ทำให้เอกชนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งก็เป็นไปตามภาพที่เห็นกันในวันนี้ ดังนั้นเมื่อไม่มีเอกชนเข้ามาประมูล เจ้าของคลื่นเดิมคือ dtac-CAT จะได้ใช้คลื่นก้อนนี้ไปอีกหนึ่งปี และคลื่นนี้ก็จะมีค่าเสื่อมราคาเข้ามา ทำให้ราคาคลื่นถูกลง แต่จะถูกลงมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจัดประมูลรอบใหม่แล้วว่า จะได้เกิดขึ้นเมื่อไหร่?
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ไม้ร้อนที่ทั้งสามเครือข่ายถืออยู่ ได้โยนกลับไปหา กสทช. เต็มตัวแล้วพร้อมกับคำถามที่ว่า “แล้วจะเอายังไงต่อ” ทางเลือกของ กสทช. จึงมีไม่มาก นอกจากนำคลื่นชุดนี้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาตามข้อกำหนดเดิมที่ได้วางแผนไว้ แล้วรอบอร์ด กสทช. ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแทน ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้ผลสรุป หรือ เร่งการจัดการประมูลใหม่ให้เกิดขึ้นในอีกไม่กี่อาทิตย์หลังจากนี้ ซึ่งถ้าอิงตามที่ กสทช. ฐากร ได้แถลงเมื่อตอนบ่าย คงจะเอนเอียงไปที่ตัวเลือกที่สองค่อนข้างแน่นอน
ส่วนฝั่ง dtac คงไม่มีอะไรมาก เพราะลอยตัวเหนือปัญหาเรียบร้อยแล้ว แถมเป็นการลอยตัวที่คุ้มเงินมาก อย่าหาว่าอวยเลยนะครับ เพราะนี่คือเรื่องของธุรกิจ และ dtac ฉลาดมากที่เลือกไปลงทุนกับคลื่น 2300 MHz มากกว่า ไปกดเอาใบอนุญาตในราคาที่แพงกว่า
พวกเราใช้ไปตามสบาย ถ้ามันดับ เราก็มีทางไปเอง
หัวข้อนี้อยากบอกกับผู้อ่านทุกท่านว่า โดยธรรมชาติของธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่เหมือนเป็นพันธะสัญญาที่ต้องทำตลอดไป ต่อให้ไปถึงจุดที่กำไรไม่กี่สตางค์ ก็ต้องทำต่อ เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะมีคู่แข่ง หรือนายทุนที่มองเห็นช่องมารับต่อไปเอง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นภายในข้ามคืนแน่ๆ ฉะนั้นแล้วในกรณีที่ดูน่ากังวลสุดในสายตาลูกค้า ก็คือ dtac ซึ่งในมือจะมีแค่คลื่น 2300 MHz ที่เอามาล่าสุด หมดอายุปี 2568 กับ 2100 MHz หมดอายุปี 2570 เท่านั้น ส่วน 850 MHz กับ 1800 MHz ต้องส่งคืนในปีนี้
แต่ในความเป็นจริง ระหว่างทาง 8-9 ปีนับจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ต้องโผล่มาให้ใช้ เอาใกล้ๆ ตัว เร็ว ๆ นี้ก็เทคโนโลยี 5G ที่กำลังเริ่มตั้งไข่เป็นรูปร่างแล้ว dtac เองก็คาดว่าน่าจะทันใช้จริงในระหว่างนี้ เมื่อมองถึงคลื่นที่ว่างในประเทศไทย ไม่ว่าจะ 700 MHz ที่กำลังจะทวงคืนจากทีวีดิจิทัลมาให้ประมูลใน พ.ศ. 2563 หรือ 850 MHz ของ dtac ที่ถ้าใน 1 ปีหลังจากส่งคืนแล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มาเอาไปใช้คลื่นก้อนนี้ก็จะกลับมาให้ทุกเครือข่ายประมูลกันอีกครั้ง
ฉะนั้นแล้ว ผู้อ่านใช้เครือข่ายไหนแล้วโอเคกับมัน ก็ใช้ต่อไป หรือเจาะจงกว่านั้น ลูกค้า dtac ตัวจริงทั้งหมด หรือที่ย้ายมาเพราะอยากได้ราคาถูกจริง ไม่ต้องกลัวอนาคตครับ ยังไงแล้ว 8 ปีจากนี้ ลูกค้า dtac อยู่กันสบาย ๆ แน่นอน แม้ว่าจะไม่มี 2G แต่ dtac ยืนยันแล้วว่ากำลังคุยกับ AIS เพื่อเข้าไปโรมมิ่งใช้ 2G บนคลื่น 900 MHz ต่อไป
สุดท้ายนี้ ผมอยากเห็นอนาคตในอีก 2 ปีจากนี้แล้วว่า คลื่นสั้นที่ทุกเครือข่ายอยากได้ จะมีให้ซื้อไหม? ถ้ามี จะเป็นคลื่นไหน? ถ้าไม่มีขึ้นมา แต่การใช้งานเกิดถล่มยิ่งกว่าที่เป็นอยู่จนเครือข่ายพัง 1800 MHz ที่ทุกเครือข่ายไม่เอาในวันนี้ จะทำให้วันนั้นบ่นเสียดายที่ไม่ซื้อกันไหม?
เดินทางไปให้ถึงเวลานั้น แล้วมาดูกันอีกทีนะครับ : )