
เมื่อวานนี้ถือเป็นวันแรกของการเปิดขายซอง IM หรือซองเชิญเข้าประมูลสำหรับการเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz รอบใหม่ ที่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวนสองรายเข้าไปซื้อซอง หลังจากเปิดขายซองมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมแล้วยังไม่มีคนสนใจ ซึ่งสองคนนั้นก็คือ dtac และ AIS (ส่วน True กำลังพิจารณา คาดว่าจะมาทีหลัง) แต่หลังจากซื้อซองเสร็จก็มีประเด็นใหญ่ผ่าลงกลางวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นเหตุการณ์ในระดับ Critical หรือร้ายแรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการโทรคมนาคมไทยกันเลยทีเดียว
คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น? แล้วเหตุการณ์นี้จะพาไปเดจาวูเหมือนรอบที่แล้วหรือไม่? เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้
เมื่อ "รถไฟ" ขอแจมคลื่น "โทรคมนาคม" การทะเลาะกันระหว่างหน่วยงานเลยบังเกิดขึ้น

สำหรับประเด็นหลักของเรื่องนี้ มาจาก หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ ที่อยู่ ๆ มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ข้อ 16, 17 และ 18 เข้ามา ซึ่งทั้งสองข้อแรกมีรายละเอียดโดยรวมคือผู้ชนะจะต้องวางระบบป้องกันการรบกวนการทำงานของคลื่นให้กับคลื่น 900 MHz อีกส่วนหนึ่งที่(อาจ)จะถูกนำไปใช้กับโครงการระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคม จำนวน 4 โครงการ คือ
- โครงการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (ดอนเมือง – พญาไท – สุวรรณภูมิ) ที่กำหนดให้เอกชนที่ประมูลโครงการรถไฟ EEC ชนะ ต้องทำการรื้อระบบอาณัติสัญญาณจากของเดิมคือ Siemens Trainguard LZB700M มาเป็นระบบ ETCS Level 2 (หนังสือเชิญชวน)
- โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายอีสาน (กรุงเทพฯ – หนองคาย)
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ท่าอากาศยานดอนเมือง – ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) หรือรถไฟความเร็วสูง EEC
- โครงการปรับระบบอาณัติสัญญาณระบบขนส่งมวลชนทางรางโดยการติดตั้งโครงข่ายระบบโทรคมนาคมระยะที่ 3 (ติดตั้งระบบ GSM-R)
โดยทั้ง 4 โครงการนี้มีความจำเป็นที่ต้องใช้งานร่วมกับคลื่น 900 MHz ตามมาตรฐานต้นฉบับของฝั่งยุโรป (วิกิพีเดีย) ดังนั้นกระทรวงคมนาคม หน่วยงานแม่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงดำเนินการเข้ามาขอให้ กสทช. จัดสรรคลื่น 900 MHz ส่วนหนึ่งเพื่อไปใช้กับโครงการดังกล่าว ดังนั้นคลื่น 900 MHz ส่วนนี้จึงถูกกำหนดให้เป็น Reserved Band จำนวน 1 ปี หรือจนกว่ากระทรวงคมนาคมจะเข้ามารับใบอนุญาตเพื่อนำคลื่นไปใช้งานต่อไป ซึ่ง กสทช. และกระทรวงคมนาคม มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และจะลงบันทึกความร่วมมือในการใช้งานคลื่นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2563
แต่… ความมึนๆ อึนๆ งงๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อ กสทช. ค้นพบว่าคลื่นที่คมนาคมต้องการ ดั๊นไปอยู่ใกล้ ๆ กันกับคลื่น 850 MHz ของ TrueMove H ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เมื่อเปลี่ยน 850 MHz ของ dtac ที่จะหมดสัญญาสัมปทานให้กลายเป็น 900 MHz ยังไงคลื่นของ TrueMove H ก็ต้องมารบกวนการทำงานของระบบรถไฟแน่นอน เพราะคลื่นต่ำกว่าและระยะส่งไกลกว่า ความมึนๆ ในครั้งนั้นจึงมีข้อตกลงเบื้องต้นว่าให้ กสท. โทรคมนาคม ผู้เป็นเจ้าของคลื่นดังกล่าว และ TrueMove H ที่เป็นผู้เช่าคลื่น ไปทำการศึกษาและติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณรบกวนเสีย (แต่ออกค่าระบบเองนะ)
เมื่อมีคำว่า “ออกเอง” เกิดขึ้น แผนการติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณรบกวนของฝั่ง กสท. โทรคมนาคม จึงไม่คืบหน้าตามแผน ยิ่งเวลากระชั้นชิดเข้ามา ก็ยิ่งมีคำถามหนักว่า “ใคร” จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่ (เรื่องเงินนั่นเอง..) ดังนั้นในการประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่แล้ว เลยมีข้อกังขาจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นที่ปรึกษาการประมูล และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งว่าการใช้งานคลื่น 900 MHz ช่วงนี้อาจจะเจอปัญหาการรบกวนกันระหว่างคลื่นจนทำให้ระบบรถไฟไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้น กสทช. จึงลงมติให้เลื่อนการประมูลคลื่น 900 MHz ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อนำกลับไปศึกษาและวางแผนการป้องกันการรบกวนการทำงานของคลื่นอย่างรัดกุมและให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาเมื่อเปิดดำเนินการ
การล้มประมูลคลื่น 1800 MHz รอบที่แล้ว จึงมีเสียงเรียกจาก dtac ว่าต้องการคลื่นต่ำเพื่อนำมาใช้งานในพื้นที่ห่างไกลที่ทำงานได้ดีกว่า กสทช. เลยนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม และได้ข้อสรุปว่าจะนำออกประมูล แต่สิ่งที่ กสทช. ไม่บอกทุกคนเพราะไม่ได้ทำประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์ฉบับนี้ นั่นคือ กสทช. มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz รอบนี้ ต้องรับผิดชอบในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณให้กับคลื่น 850 MHz และ 900 MHz ทุกช่วงที่มีการใช้งาน และต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการย้ายคลื่นความถี่ตลอดเวลาหากเกิดเหตุการณ์ระบบอาณัติสัญญาณของหนึ่งในสี่โครงการขัดข้องเนื่องมาจากการรบกวนสัญญาณกัน โดยมีงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ซึ่ง กสทช. ได้หักออกจากราคาเริ่มต้นการประมูลรอบนี้เรียบร้อยแล้ว
เมื่อ กสทช. โยนหินถามทาง "ผู้ให้บริการ" เลยสวนกลับให้

หินถามทางก้อนนี้ของ กสทช. ถือเป็นเหตุการณ์ในระดับ Critical ของวงการโทรคมนาคมไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่าหลักเกณฑ์มาแบบนี้ คนที่ได้อ่านก็ต้องมีหน้าดำคร่ำเครียดกันเอาการ ทาง dtac เลยขอเป็นตัวแทนที่โยน “หินร้อน” กลับไปยังซอยสายลมเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
ติดตั้งระบบกรองสัญญาณ งบ 2,000 ล้านไม่พอหรอก...

จุดที่ dtac (และ AIS อาจจะเห็นตรงกัน) มีทั้งหมดสองประเด็น ซึ่งมาจากทั้งสามข้อในหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นรอบนี้ หลักๆ คงเป็นเรื่องของการหาผู้รับผิดชอบในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณรบกวนที่ในหลักเกณฑ์กำหนดให้ “ผู้ชนะ” ต้องเป็นผู้รับผิดชอบรายเดียว ภาพรวมคงจะไม่มีปัญหาอะไรมาก เพราะผู้ชนะสามารถไปสอบถามจำนวนเสาสัญญาณของ TrueMove H และ AIS ที่เปิดใช้งานแล้วได้เลยว่ามีจำนวนเท่าไหร่แล้วเอาราคาของอุปกรณ์คูณตามจำนวนเสาสัญญาณที่มีทั้งหมดไป แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะปัญหาใหญ่ของประเด็นนี้มันอยู่ที่… “คลื่น GSM-R” ที่ตอนนี้ …. ทั้ง กสทช. คมนาคม การรถไฟฯ และผู้ให้บริการมือถือ ก็มองภาพกันไม่ออกเลยว่า จะต้องใช้เสากี่ต้น เสาเป็นรูปแบบใด และอุปกรณ์ที่เหมาะสมนั้นควรเป็นอย่างไร
ณ วันที่เขียนบทความนี้ มีการยืนยันจากหนึ่งใน 4 โครงการ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (สายอีสาน) เรียบร้อยแล้วว่า จำเป็นต้องใช้งานคลื่น 900 MHz ก้อนนี้ เพราะระบบอาณัติสัญญาณที่จะนำมาใช้ เป็นระบบ CTCS ซึ่งเป็นระบบเฉพาะของประเทศจีน มีเค้าโครงเดิมมาจากระบบอาณัติสัญญาณแบบ ETCS Level 2 ของฝั่งยุโรป แต่อีกสามโครงการคือ ARL/รถไฟ EEC และโครงการ GSM-R นั้น หวยจะออกมาในรูปแบบไหน ยิ่ง ARL กับรถไฟ EEC นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะในขอบเขตงานเปิดกว้างให้ผู้ชนะใช้งานระบบ “อะไรก็ได้” ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็น ETCS Level 2 ตามที่ กสทช. เขียนไว้ในหลักเกณฑ์ก็ได้ และถ้าเกิดว่าผู้ชนะ EEC เกิดไม่ใช้ GSM-R ขึ้นมาล่ะ จะทำกันยังไงดี?
ความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ คือจำนวนเสาสัญญาณของ GSM-R ว่ามันต้องมีทั้งหมดกี่ต้นกันแน่ แล้วจะต้องติดระบบกรองสัญญาณกี่ต้นกันแน่ ยิ่งในหลักเกณฑ์เขียนว่า “ต้องติดตั้งในระยะ 3 กิโลเมตรจากเส้นทางเดินรถของทุกโครงการ” ก็ยิ่งมองภาพกันไม่ออกกันไปใหญ่ ว่าอุปกรณ์ที่จะสั่งเข้ามา จะต้องมีจำนวนเท่าใดกันแน่
ย้อนกลับมาที่งบประมาณที่ กสทช. ตั้งไว้ (2,000 ล้านบาท) งบก้อนนี้เกิดจากการที่ กสทช. คำนวณราคาอุปกรณ์ที่มีราคาถูกสุด ตามจำนวนเสาสัญญาณ “ที่คาดว่า” จะติดตั้งได้ ซึ่งความเป็นจริงนั้น….. มันบานปลายจากงบที่ตั้งไว้มาก และประเด็นสำคัญคืออุปกรณ์กรองสัญญาณ ต้องเป็นอุปกรณ์ที่กำหนดคลื่นเฉพาะมาตั้งแต่สั่งซื้อ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทีหลังได้ ถ้าเกิด กสทช. มีมติตามหลักเกณฑ์ข้อ 17 ขึ้นมา นั่นหมายความว่าอุปกรณ์กรองสัญญาณที่มีอยู่ทั้งหมด “กลายเป็นขยะทันที” เพราะไม่สามารถตั้งคลื่นใหม่ได้แล้ว ดังนั้นหวยก็เลยออกไปที่คำว่า “ซื้อใหม่” เมื่อต้องซื้อใหม่ ก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ก็ต้องเสียงบประมาณสำหรับการติดตั้งระบบกรองสัญญาณกันใหม่ทั้งหมดอยู่ดี
นี่ยังไม่รวมปัญหาบ้าน ๆ อีกนะ .. เช่น เครือข่าย B ไม่เปิดบ้านให้เข้าไปติดตั้ง หรือติดตั้งแล้วทำอุปกรณ์เค้าพังขึ้นมาอีก ก็มีข้อพิพาทฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีก หรืออุปกรณ์หนักเกินไป เจ้าของเสาก็ต้องเสียค่าปรับปรุงให้แข็งแรงขึ้น หรือเมื่อจะเอาอุปกรณ์ไปติดตั้ง เจ้าของสถานที่ตั้งเสาก็เรียกค่าเช่าเพิ่มเติมอีก และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้กันแน่?
เพราะฉะนั้น 2,000 ล้านบาท ที่ กสทช. ลดไปกับราคาเริ่มต้น มันอาจเป็นแค่ “เศษเงินส่วนน้อย” ของงบที่ต้องใช้ในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณทั้งหมดด้วยซ้ำไป
"ย้ายคลื่น" ... พูดอะง่าย ... แต่ทำจริงมัน "ยากกกกกกกกกก"

อีกประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน ก็ดั๊นเป็นเรื่องใหญ่สุดที่ กสทช. พูดขำ ๆ และตบไหล่เบา ๆ ว่า “มันคงไม่เกิดขึ้นหรอก” คือ … “การย้ายคลื่นความถี่”
ในหลักเกณฑ์ข้อที่ 17 ระบุว่า หากการใช้งานระบบรถไฟเกิดปัญหาเนื่องจากคลื่นรบกวนกัน กสทช. มีสิทธิ์ที่จะขอสับเปลี่ยนช่วงคลื่นจากช่วงซ้ายมาเป็นช่วงขวา หรือถ้าจะเอาที่หนักกว่า ก็คือข้อ 18 ที่ระบุว่า หากการแก้ไขในข้อ 16 และ ข้อ 17 ไม่เกิดผล… กสทช. มีสิทธิที่จะให้ “ย้ายคลื่นความถี่” ไปยังคลื่นความถี่ใหม่ได้โดยผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามให้เร็วที่สุด
เรื่องนี้ผมเองก็ No Comment เลยครับ อย่าว่าแต่ผมเลย ผู้ให้บริการอย่าง dtac ก็ถึงขั้น Facepalm กันเป็นแถบ ๆ พูดมันง่ายก็จริง แต่ในความเป็นจริง การย้ายคลื่นความถี่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวงการโทรคมนาคม
ไม่ต้องอื่นไกล การประมูลคลื่น 1800 MHz รอบที่แล้ว ก่อนหน้านั้น 4 เดือน กสทช. มีมติให้ dtac ย้ายช่วงคลื่น 1800 MHz ที่ใช้งานทั้งหมดไปติดกัน แล้วเอาส่วนที่จะประมูลทั้งสองช่วงมาติดกัน มตินี้ทำเอา dtac ปวดหัวเกือบ 4 เดือน เพราะนอกจากต้องวางระบบสำหรับการเปิดใช้งาน 4G 1800 MHz บนคลื่น 2G เดิมแล้ว ยังต้องมาย้ายคลื่นความถี่ให้โดนลูกค้าด่ากันไปอีก
แต่สำหรับคลื่น 900 MHz นี่ เรื่อง 1800 MHz ข้างต้นถือเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลยทีเดียว เพราะในหลักเกณฑ์กำหนดว่า ถ้าคลื่นที่ใช้งานฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีปัญหา จะต้องทำการสลับช่วงคลื่นที่ใช้งานกันทันที และต้องวางระบบกรองสัญญาณกันใหม่ทั้งหมด ทั้งของตัวเอง TrueMove H รถไฟ และยังต้องไปวางให้ AIS ด้วย แต่ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก… กสทช. ก็จะสั่งให้ย้ายไปยังคลื่นความถี่ที่กำหนดไว้แทน
ข้อ 17 ว่าปวดหัวแล้ว ข้อ 18 นี่เรียกว่า “นรกแตก” กันเลยทีเดียว เพราะบอกไม่ได้เลยว่าปลายทางที่ กสทช. จะให้ย้ายไปคือคลื่นอะไร แล้วอุปกรณ์ลูกข่ายทั้งเสาสัญญาณและตัวมือถือจะเข้ากันได้หรือไม่
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว รู้สึกอยาก Facepalm กันบ้างหรือยังล่ะครับ?
ปล่อยวางกันบ้างดีไหม? แล้วหันมาตรงกลางกันเถอะ

ครับ เช่นเคยครับ ทุกปัญหาก็ต้องมีทางออกเสมอ มีตรงกลางที่หันมาเจอกันได้เสมอ เพราะปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ ยังไงก็มีตรงกลางที่ต้องหันมาเจอกัน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสองประเด็น ดังนี้
ต่างคนต่างรับผิดชอบดีกว่าไหม?
ละทิ้งซึ่งฐิติ แล้วหันมามองความเป็นจริง ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และถ้าเกิดปัญหา ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมดและหาว่าต้นเหตุมาจากใคร
ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่อันใดอื่น แต่เป็นประเด็นเรื่องของการติดตั้งให้เครือข่ายอื่นที่นอกเหนือจาก GSM-R ของระบบรถไฟ และเครือข่ายของผู้ชนะเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงอีกสองเครือข่ายที่เหลือคือ TrueMove H และ AIS รวมถึงผู้ดำเนินโครงการรถไฟ ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยกันทั้งหมด อย่างเช่นการติดตั้งระบบกรองสัญญาณของฝั่ง TrueMove H ก็ให้ TrueMove H และ กสท. โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ผู้ดำเนินโครงการรถไฟฯ (การรถไฟ และเอกชนผู้ชนะ EEC) ก็ดำเนินการติดตั้งระบบในส่วนของตัวเองไป ผู้ชนะการประมูลก็รับผิดชอบในการติดตั้งระบบของเครือข่ายตัวเองไป แต่ถ้าเกิดเหตุที่ต้องมีการโยกช่วงเครือข่าย ก็ต้องให้ AIS เป็นผู้รับผิดชอบในการติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณด้วยตนเองเช่นกัน แล้วนำค่าใช้จ่ายทั้งหมด มาเบิกที่กองทุน กทปส. (ซึ่งมีรายได้มาจากค่าปรับ และค่าดำเนินการเป็นรายปีของทั้งเครือข่ายมือถือและช่องทีวีดิจิทัล) และ/หรือ กระทรวงคมนาคมผู้เป็นเจ้าของโครงการก็ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ dtac เสนอ กสทช. ด้วยเหตุผลคือป้องกันข้อพิพาทระหว่างหน่วยงาน กรณีที่ไปติดตั้งอุปกรณ์แล้วเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครือข่ายนั้นขัดข้อง หรืออุปกรณ์ได้รับความเสียหาย และเป็นเรื่องที่แต่ละค่ายจะต้องรับผิดชอบกันเอง เนื่องจากแต่ละฝ่ายจะรู้สถานที่ตั้งเสาสัญญาณของตัวเองเป็นอย่างดี และสามารถติดต่อกับเจ้าของที่ได้ทันทีถ้าจำเป็นต้องเข้าไปติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเป็นต้น
เก็บไว้ก่อนจนกว่า TrueMove H หมดสัญญาดีกว่าไหม?
ข้อนี้เป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในกรณีที่ กสทช. ยังคงยึดมั่นแนวทางในการ Refarming คลื่น 850 MHz ให้กลายเป็น 900 MHz ทั้งหมด การเก็บคลื่นที่จะออกประมูลในครั้งนี้เอาไว้ก่อน รอจน TrueMove H หมดสัญญาเพื่อรวมเป็น 25 MHz แล้วย้ายระบบอาณัติสัญญาณของระบบรถไฟ และ GSM-R ไปอยู่ช่วงปลายด้านซ้ายสัก 10 MHz แล้วใช้ 5 MHz ทำเป็น Guardband ก่อนจัดสรรคลื่นที่จะนำออกประมูลเป็น 10 MHz ให้เท่ากับรายอื่นจะดีกว่าไหม? และถือว่าวินวินทั้งสามฝ่าย กสทช. ได้เงินเยอะขึ้น จาก 3xxxx ล้าน เป็น 7xxxx ล้านเท่ากับรอบที่แล้ว รถไฟได้ใช้คลื่นของตัวเองอย่างเต็มที่ และผู้ให้บริการก็ได้ใช้คลื่น 900 MHz ในการให้บริการเครืิอข่ายอย่างเต็มที่
ส่งท้าย

ถ้าถามว่าระหว่าง “คลื่นรบกวนกัน” กับ “ไม่มีคลื่นต่ำใช้” อันไหนเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงกว่า คงตอบได้เต็มเสียงเลยครับว่าสถานการณ์ที่ “คลื่นความถี่รบกวนกัน” เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต้องอื่นไกล รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็เจอปัญหาสัญญาณรบกวนจนทำให้ระบบมีปัญหาและพังกันเป็นแถบ ๆ ถ้าเหตุการณ์นี้ไปเกิดกับฝั่งโทรคมนาคม หรือฝั่งระบบรถไฟนั้น คงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีแน่ ๆ และส่งผลลบต่อหลายภาคส่วนเลยทีเดียว
การไม่มีคลื่นต่ำใช้ ถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาหลักของการประมูลคลื่นในรอบนี้ แม้จะมีการอ้างอิงการวางเครือข่ายของต่างประเทศก็ตาม แต่ในไทยเองก็มีผู้ให้บริการที่แสดงให้เห็นแล้วว่า คลื่นสูง ก็สามารถขยายให้เต็มพื้นที่ประเทศไทยได้ถึง 99% จริง ๆ และสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่
อ่านจบทั้งหมดแล้ว คิดว่าเครือข่ายจะเข้าร่วมประมูลไหมละครับ? ผมเชื่อเลยว่า … “ไม่มีใครเข้าแน่”