เข้าสู่เดือนที่สามกันแล้วกับการเปิดให้บริการเครือข่ายน้องใหม่ล่าสุด dtac TURBO อย่างที่ผมกล่าวไปในตอนที่แล้ว ว่าฟ้าหลังพายุกระหน่ำจะดูน่าสดใสเสมอ เช่นเดียวกับคำที่พาดอยู่ข้างบนนั่นแหละครับ และทำไมผมถึงเขียนเช่นนั้น เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่าในรอบเดือนที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับ dtac TURBO
อาทิตย์แรก "ซำบายดี dtac TURBO"

อาทิตย์แรกของเดือน ถือเป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดดพอสมควร นอกจากการขยายสัญญาณในกรุงเทพมหานครแล้ว เรายังได้เห็น dtac ไปปักเสาสัญญาณจนพร้อมให้บริการในต่างจังหวัดกันบ้างแล้ว เริ่มจากแดนข้าวเหนียวอย่าง “จังหวัดขอนแก่น” ที่ใช้เวลาปักเสาไม่นานจนพร้อมให้บริการใน 23 วันหลังเปิดจริงที่กรุงเทพฯ และต่อเนื่องไปจนถึงเมืองหลวงของภาคเหนือ “จังหวัดเชียงใหม่” ที่พร้อมเปิดให้บริการจริงหลังจากขอนแก่นเพียง 7 วัน

การขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็วใน 1 เดือนที่เกิดขึ้นในสองจังหวัดข้างต้น นี่คือสิ่งที่ผมได้เห็นจาก dtac เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะ dtac ที่ผมเคยรู้จัก ไม่ได้ขยายเครือข่ายเร็วขนาดนี้ คือตามปกติแล้ว คนที่ทำแบบนี้ได้คงมีแค่ AIS ที่ขยายอย่างบ้าคลั่งใน 3-4 เดือน จนครบพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ อันนี้ก็ต้องนับถือความสามารถของ Engineer ฝั่ง dtac เช่นกัน ที่ลงทุนลงแรงทำงานหนักและขยายเครือข่ายให้มีพื้นที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง
กลับมาในฝั่งตัวเมืองบ้าง ฟ้าหลังฝนเรื่อง BTS ผ่านไป เราก็ได้เห็นพัฒนาการที่ดีอย่างก้าวกระโดดของ dtac TURBO อยู่ตลอด ดีแบบจนผมหลุดอุทานออกมาหลายครั้งว่า เห้ย นี่ใช่ dtac ที่รู้จักแน่หรอ? มันดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาจริง ๆ
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือในรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ ARL เริ่มจับสัญญาณ dtac TURBO ในขบวนรถไฟฟ้าได้บ้างแล้ว และสามารถใช้งานได้จริง ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ก็สามารถทำงานได้ดีมาก ดีจนต้องยอมใจความเทพของ dtac TURBO กันเลยทีเดียว
อาทิตย์ที่สาม ... "ดีจริง หรือแค่อวย?"

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผมเลยได้มีโอกาสลง Field Test กับทีมงานของ dtac มาเมื่อกลางอาทิตย์ที่สาม และได้เห็นศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของ dtac TURBO ในทุก ๆ พื้นที่ที่ได้เข้าไปทดลองใช้งานมา จุดเริ่มต้นก็คือ BTS บางจาก ที่มีเสาสัญญาณตั้งอยู่ในพื้นที่ และใช้งานได้ดีพอสมควร แม้ว่าความเร็วเฉลี่ยในพื้นที่จะอยู่ในระดับ 23 Mbps แต่ก็ถือว่าสามารถใช้งานได้กับกิจกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น เปิดเว็บ ดู YouTube ระดับ 2K ฟังเพลง หรือเล่นเกมเป็นต้น


อีกจุดที่ได้ไปทดสอบ คือบริเวณห้างเซ็นทรัล สีลม แน่นอนครับ ขึ้นชื่อว่าสีลม ยังไงก็ต้องมีคนใช้เยอะอยู่แล้ว สิ่งที่ผมได้เห็นจาก dtac TURBO ก็คงเป็นเรื่องของสัญญาณในบริเวณนั้นที่แรงเป็นพิเศษ และแรงมากในระดับที่กดทดสอบแล้วได้สูงถึง 130 Mbps! ผมถึงกับอุทานออกมาเลยว่า “เห้ย นี่ไม่ใช่ dtac แล้ว” ผมกำลังใช้ Wi-Fi อยู่หรือเปล่า แต่ก็ต้องตื่นครับเพราะนี่คือความจริงที่ผมไปเจอมากับตัว
ภาพที่เห็นด้านข้างนี้ คือความเร็วที่ทำได้จริงของเครือข่าย dtac TURBO ณ ตอนนั้น ซึ่งนี่ยังเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มและออร์เดิฟเท่านั้น เพราะความสามารถเครือข่ายยังไม่ได้จัดเต็มมากนักตามที่เราบอกกันไปในตอนที่แล้วว่า dtac TURBO ยังมีปัญหาเรื่องความเข้ากันได้กับอุปกรณ์อยู่ เพราะในโลกนี้ยังไม่เคยมีใครใช้คลื่นเดียวเป็นผืนกว้าง ๆ แล้วเอามาผูกต่อกันแบบนี้ เลยอาจจะทำให้ดูเพี้ยน ๆ ไปบ้างนั่นเอง
อีกจุดหนึ่งที่ลงไปทดสอบแล้วได้ความเร็วสูงระดับ 100 Mbps อีกที่ คงต้องยกให้ที่ “บางหว้า อินเตอร์เชนจ์” หรือสถานีบางหว้านั่นเอง ในอนาคตสถานีแห่งนี้จะเป็นจุด Interchange ที่สำคัญของรถไฟฟ้าสองสาย และเป็นจุดที่จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการค่อนข้างเยอะ เพราะต่อเนื่องกับถนนเส้นหลักคือถนนเพชรเกษม ความสามารถของเครือข่ายจึงต้องไม่แพ้กับย่าน Office กลางเมืองอย่างสีลมที่ผมได้บอกไป
จุดที่ผมได้ทดสอบก็อยู่ใกล้ ๆ กับสถานีบางหว้าเลย เสาสัญญาณไม่ได้อยู่ไกลมาก และมีกำลังส่งที่แรงอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตื่นเต้นกับความเร็วที่เครือข่ายสามารถทำได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

พ้นจากบางหว้า อีกจุดที่ได้ไปทดสอบคือบริเวณสวนจตุจักร หรือสถานีหมอชิต ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีคนอยู่เยอะเหมือนกัน ทั้งคนที่จะเดินทางไปเส้นลาดพร้าว หรือเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2 หรือเดินทางไปดอนเมืองเป็นต้น แต่สิ่งที่ค้นพบระหว่างทางมาที่นี่ คือสัญญาณขาดหายเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะจุดสำคัญที่ควรมีอย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (หรือ กม. 0 ของถนนพหลโยธิน) ที่ไม่มีสัญญาณเลย อาจจะเป็นเพราะความที่อยู่ใกล้บริเวณโรงพยาบาลซึ่งมีเป็นจำนวนมากตามแนวถนนราชวิถี จึงทำให้ยังไม่กล้าลงเสาสัญญาณมากนัก จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าคลื่นไม่ได้ส่งผลกับการทำงานของอุปกรณ์การแพทย์แต่อย่างใด
อีกจุดที่คิดว่าไม่ควรมี แต่กลับมีสัญญาณแรงเป็นพิเศษ คือบริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ของ AIS ที่พบว่ามีสัญญาณที่แรงในระดับแรงมาก อาจจะเป็นเพราะว่า ใกล้ ๆ กับ AIS คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 8 นั่นเอง บวกกับย่านอารีย์ก็เป็นย่านที่มีประชาชนอาศัยอยู่เยอะพอสมควร ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สัญญาณบริเวณนี้แรงเป็นพิเศษก็ได้

จากการ Field Test ในครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นได้ชัดเจนว่าหลังเหตุการณ์ BTS ก็ทำให้ dtac สามารถลงเครือข่ายได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบริเวณย่านสำคัญ ๆ อย่างถนนสุขุมวิทเกือบทั้งเส้นที่มีสัญญาณไม่ขาดหาย หรือย่านสาทร สีลม สยาม อารีย์ จตุจักร ก็มีสัญญาณให้ใช้งานกันบ้างแล้ว แม้ความเร็วอาจจะยังไม่เต็มที่ แต่ก็สามารถใช้งานได้จริง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
พัฒนาการประจำเดือนนี้

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดือนแรกเลยคือ สัญญาณแรงอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้สามารถใช้งานจริงได้แล้ว แต่จุดอ่อนของ dtac ที่ยังคงต้องแก้กันอีกยาว คือจุดบอดและความสม่ำเสมอของสัญญาณ เรื่องนี้พออนุมานและเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองภายในของ dtac กับเจ้าของพื้นที่ อย่างเช่นบริเวณย่านราชประสงค์ – ราชดำริที่ไม่มีสัญญาณให้ใช้งาน เรื่องนี้ dtac เล่าสู่กันฟังว่าเสาสัญญาณหลักของย่านนี้อยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่ เพราะเดิมเสาที่อยู่ในบริเวณนั้นคือเสาของ CAT ไม่ใช่เสา 2100 MHz ของ DTN ที่วางใหม่ เลยทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าปรับปรุงเสาสัญญาณจนไม่สามารถวางได้ ซึ่งในเรื่องนี้ dtac ก็พยายามแก้ไขและเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะเปิดสัญญาณให้ได้ในพื้นที่สำคัญ ๆ ประกอบกับหาพื้นที่อื่นรองรับแล้ว เช่นอาคารเกษรวิลเลจเป็นต้น
อีกจุดอ่อนหนึ่งคงเป็นเรื่องสัญญาณภายในอาคาร เพราะผมเองได้ใช้วิชามารบังคับให้มือถือในมือจับแต่ 2300 MHz อย่างเดียวเมื่อตอนลง Field Test ครั้งที่ผ่านมาแล้วลืมตั้งกลับ พอเข้าพารากอนปุ๊ปมือถือขึ้น No Service ทันที เรื่องนี้ทางฝั่ง dtac เองก็บอกว่าตอนนี้อุปกรณ์สำหรับติดตั้งภายในอาคารได้ส่งมาถึงไทยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ แต่ห้างหนึ่งที่ยังเข้าไม่ได้แน่ ๆ ในตอนนี้คือ เซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการรีโนเวตใหญ่ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้า ทำให้การเข้าติดตั้งอุปกรณ์ยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้
และจากการที่ผมได้ใช้วิชามารบังคับให้จับ 2300 MHz เพียงคลื่นเดียว ทำให้ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับตอนแถลงข่าวว่า ใช้ VoLTE ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ มันควรจะใช้ได้ เพราะเรื่องที่ถกเถียงกันตอนแรกก่อนเปิดตัวว่าไม่สามารถนำมาโทรได้ ก็ได้รับการยืนยันจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแล้วว่า “สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้” เพราะเป็นการโทรบนอินเทอร์เน็ตรูปแบบหนึ่ง แต่ในการใช้งานจริงผมยังไม่สามารถใช้งานความสามารถนี้ได้ อาจจะเป็นเพราะว่า dtac ยังไม่เปิดฟังก์ชันนี้ให้ใช้งานกันแน่?
ส่งท้าย

ทั้งหมดนี้ก็คือประสบการณ์ในเดือนที่สองที่ผมได้รับจาก dtac TURBO และก็เป็นอย่างที่ว่าจริง ๆ ที่ผมได้เห็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดจาก dtac TURBO ทั้งในเรื่องของเครือข่ายและประสิทธิภาพที่เห็นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหลือแค่ปัญหาเดียวของ dtac คือไม่งกเงินลงทุนมากจนเกินไปก็เป็นพอ ก็น่าจะแก้ปัญหาที่ค้างคามานานอย่าง “สัญญาณไม่ดี” ได้เสียที
ผมได้มีโอกาสนั่งคุยในประเด็นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา dtac กำลังแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา 5 ปีกับคลื่น 2100 MHz dtac เองก็เสียเวลามาเยอะพอสมควร กว่าจะรู้ว่าจะต้องลงเสาสัญญาณให้แน่นกว่านี้ถึงจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ ยิ่งประกอบกับช่วงนี้คลื่น Low-band ก้อนสุดท้ายในมืออย่างคลื่น 850 MHz กำลังจะหมดสัมปทานลง ก็ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีทวีคูณความแรงขึ้นไปอีก
นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้อีกหนึ่งเหตุการณ์ นั่นคือวันพรุ่งนี้ (8 สิงหาคม) เป็นวันชี้ชะตาครั้งสุดท้ายว่า AIS และ dtac จะเข้าร่วมประมูลคลื่นหรือไม่ เพราะถ้าไม่ปัญหาที่ไม่มีคลื่น Low-band ใช้งานจะสร้างความเดือดร้อนให้ dtac พอสมควรเลยทีเดียว เพราะพื้นที่ให้บริการจะหายไปอย่างน้อย 30% และส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าอีกเป็นจำนวนมากด้วย
เอาเป็นว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องดูกันไปยาว ๆ เรามารอดูของใกล้ตัวอย่างคลื่น dtac TURBO กันดีกว่า ว่าในเดือนหน้าจะพัฒนาขึ้นไปอีกไกลแค่ไหน แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ 🙂