ติสท์อยากเขียน

เมื่อคลื่นมา เราพร้อมใช้ AIS จับ 1800MHz ก้อนใหม่ยัดของเก่า ประกาศศักดาคลื่นกว้างที่สุดในไทย

ทันใจหลังงานกันเลยก็ว่าได้ เพราะหลังการประมูลที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อน AIS บอกคร่าวๆ แล้วว่าจะเอาคลื่นมาทำอะไร แต่ภาพอาจจะยังไม่ชัด เมื่อวานนี้ AIS ขอออกมาเล่าเลยว่า เราได้คลื่นก้อนใหม่มาแล้ว จะมีแผนใช้งานอย่างไรบ้าง และลูกค้าจะได้อะไรจากชุดใหม่ก้อนนี้ ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก มาดูกันเลยดีกว่าครับ

ของพร้อม เราพร้อม!!!

ถ้าจำกันได้คลื่นช่วงที่ AIS ประมูลมาได้ใหม่นั้น รายเดิมที่ถืออยู่ คือ dtac ซึ่งเป็นสัมปทานจาก CAT มีกำหนดสิ้นสุดสัมปทานในกลางเดือนกันยายนนี้ (หากไม่สะดุดด้วยเหตุผลใด ๆ) ส่วนที่ AIS เลือกมา เป็นก้อนที่ติดกับ 1800MHz ที่ AIS ประมูลมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการประมูลรอบนี้ (AIS ไปเลือกช่องอื่นไม่ได้ นอกจากช่องที่ติดกับตัวเอง) ทำให้นับจากนี้คลื่นของ AIS 1800 MHz มีรวมกันทั้งหมด 20 MHz ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่มีคลื่น 1800 MHz ในมือมากที่สุด

ความพร้อมของ AIS คือ ทันทีที่ dtac หมดสัมปทาน ส่งมอบอุปกรณ์ทั้งหมดให้ CAT และส่งสิทธิ์การถือครองคลื่นให้ กสทช. บวกกับ AIS ได้รับใบอนุญาตการใช้งานคลื่นจาก กสทช. ปั๊บ พื้นที่การวางเสาของ 1800 ทั้งหมดกว่า 98% ทั่วประเทศ AIS ทำแค่กดสูตรบังคับ Software ที่ห้องควบคุมกลาง (NOC) ว่า ตอนนี้มีคลื่น 20 MHz ใช้แล้วนะ นั้นเท่ากับว่า AIS อาจใช้เวลาแค่หลักวันหรืออย่างช้าหลักสัปดาห์ ก็ใช้งาน 1800MHz เต็มความจุ 20MHz ได้ทันที

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคลื่นเต็ม 20MHz จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสองประเด็น คือความสามารถในการรองรับจำนวนลูกค้าทั้งหมดของ AIS จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 33% ทันที ทำให้ AIS พร้อมรองรับลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมาย (เฉพาะ 4G 22 ล้านเลขหมาย!!!) ได้ทั้งหมด และยังพร้อมรองรับจำนวนลูกค้าที่คาดการณ์ว่าจะไหลเข้ามาใน AIS มากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้แบบสบาย ๆ ผ่านการแชร์คลื่นความถี่กันระหว่าง 900/1800/2100 MHz เป็นต้น และสองคือความแรงและความเสถียรของอินเทอร์เน็ตดีขึ้นจากเดิม 30% หรือก็คือเน็ตจะเร็วขึ้นแบบก้าวกระโดดโดยเฉลี่ยจากเดิม 300 Mbps เป็น 390 Mbps ในภาพรวมคนที่ถืออุปกรณ์รุ่น High-end อาจจะไม่เห็นความต่างมากเพราะมีเรื่องของ Carrier Aggregation เป็นตัวแปรสำคัญ แต่คนที่ถืออุปกรณ์ 4G ธรรมดา ๆ หรืออุปกรณ์ Low-end ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านการรับคลื่น จะเห็นความแตกต่างระหว่างก่อนกับหลังเพิ่มความถี่อย่างเห็นได้ชัด

ทำไมเรากดมาน้อย?

เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุด คือมันเกิดอะไรขึ้นในห้องประมูล ทำไมเราเห็นกดกันขำ ๆ แค่คนละ 1 ใบ โดยเฉพาะรายสำคัญอย่าง AIS ที่มีแนวโน้มว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกดมาแค่ 5 MHz ? คำตอบจากปากของ AIS เลยก็คือ ซื้อ 1800MHz แค่ 5MHz เพื่อเอามาเติมกับของเดิมให้กลายเป็น 20 MHz เท่านั้น

AIS อธิบายสาเหตุทางเทคนิคว่าด้วยข้อจำกัดของมาตรฐาน 4G มือถือหนึ่งเครื่องแบบรุ่น Low-end ที่รับ 4G ได้เลย จะสามารถรองรับความถี่จากคลื่นชุดเดียวกันได้สูงสุด 20 MHz เท่านั้น มากกว่านี้ก็เป็นเรื่องของ Carrier Aggregation หรือการผูก Carrier เข้าด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือการผูก Carrier สำหรับใช้งาน 4G หนึ่งเครือข่ายใหญ่ รองรับแค่การผูกระหว่างคลื่นความถี่เท่านั้น (Interband Carrier Aggregation) ดังเช่นการผูกคลื่นทั้งหมดของ AIS อย่าง 1800 MHz 15 MHz/2100 MHz 10 MHz และ 900 MHz 10 MHz (ในบางพื้นที่) ให้เป็นก้อนเดียวกันเต็ม ๆ 35 MHz อันนี้สามารถทำได้สบาย ๆ และ AIS ก็ทำแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน

แต่!! การผูก Carrier ภายใต้คลื่นชุดเดียวกัน ฝั่ง FDD-LTE มีข้อจำกัดในการผูกคลื่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และในโลกนี้ยังไม่มีเครือข่าย FDD-LTE เครือข่ายใดเอาคลื่นชุดเดียวกันมาผูกร่วมกันเลยแม้แต่เครือข่ายเดียว ดังนั้นถ้า AIS กด 1800 MHz มาเต็มสตรีม 4 ใบ 20 MHz สุดท้าย AIS ก็ใช้งานจริงได้แค่ 5 MHz อีก 15 MHz ก็ไม่สามารถใช้งานได้ หรือเอามาเปิด 4G อีก Carrier หนึ่ง ก็ไม่สามารถเอาชุดนี้มาผูกกับของเดิมได้ ก็จะทำให้มีปัญหาคุณภาพในการใช้งานระหว่างคลื่นเดิมกับคลื่นใหม่อย่างเห็นได้ชัด และมี Cost ในการบำรุงรักษาเครือข่ายเพิ่มขึ้นมาแบบไม่จำเป็นอีกต่างหาก

ดังนั้นการกดมา 5 MHz นอกจากช่วยประหยัดงบลงทุนเครือข่าย (ค่าคลื่นถือเป็นหนึ่งในต้นทุนการลงทุนเครือข่าย) ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงาน และยังช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ถึงแม้ว่าถ้าในระยะ 3-5 ปีนับจากนี้ AIS เจอปัญหาเดียวกันกับตอน 2100 MHz คือคลื่นไม่พอ ยังไงในช่วงนี้ กสทช. ก็ต้องนำคลื่นต่ำ 3.5-3.8 GHz ออกมาประมูลเพื่อรับกับมาตรฐาน 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน และ AIS เองก็พร้อมลงประมูลในทุกคลื่นที่เป็นไปได้

ทำไมไม่เอา 900??

อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยมากที่สุด คือทำไม AIS ถึงไม่ลงประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ทุก Operator ล้วนขวนขวายหาคลื่น Low-frequency หรือ Low-band กันให้ได้มากที่สุด อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับ dtac หรือเปล่า? เรื่องนี้ AIS ตอบแบบสั้น ๆ และแฮปปรี้ ๆ ว่า “เรามี 900 MHz อยู่แล้ว…”

คำตอบนี้น่าจะชัดเจนในตัวเองมากว่า AIS ไม่ได้สนใจ 900 MHz ในการประมูลรอบใหม่มากนัก เพราะ AIS มี 900 ไว้แค่เสริม 4G ภายในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น เอาไว้รักษาฐานลูกค้า 2G เดิมที่ยังมีการใช้งานอยู่ และเอาไว้ใช้ในการทำเครือข่าย NB-IoT ที่เปิดใช้งานอยู่ในตอนนี้เท่านั้น ดังนั้นคลื่นอีกชุดหนึ่งที่จะเอาออกประมูลก็ย่อมไม่มีความสำคัญกับ AIS ในตอนนี้ เพราะถือว่า AIS มีอาวุธทุกอย่างครบมือแล้ว

เราพร้อมแล้วสำหรับ 5G NR !!

อย่างที่บอกไปว่าตอนนี้อาวุธทุกอย่างของ AIS ครบมือแล้ว ใช่ครับมันรวมถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะที่ AIS บอกเรามาก็คือ คลื่น 1800 MHz ที่ AIS มีทั้งหมด จะพร้อมกลายร่างเป็น 5G ทันทีที่มาตรฐานพร้อม!

เพราะว่าคลื่น 1800 MHz ถูก ITU นำขึ้นไปเป็นหนึ่งในคลื่นต่ำที่สามารถใช้งาน 5G ได้ (หมายเลขคือ n3) เท่ากับว่าคลื่น 1800 MHz ชุดนี้จะพร้อมสำหรับการเป็น 5G ทันทีที่ AIS ต้องการให้เป็น เพียงแต่มันยังไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ด้วยความต้องการขั้นพื้นฐานของ 5G สำหรับการทำอินเทอร์เน็ตความเร็วระดับกิกะบิต คือเครือข่ายต้องมีคลื่นในมืออย่างน้อย 100 MHz แต่ 1800 MHz สามารถจัดสรรได้สูงสุดแค่ 75 MHz เท่ากับต่อให้มี 1800 MHz ในมือมากเท่าใด ยังไงก็ไม่พออยู่ดี

ทางแก้ของ Operator ทั่วโลกคือรอคลื่นชุดใหม่ที่จะนำออกมาใช้ ซึ่งตอนนี้กำลังถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะต้องนำคลื่นใดออกมา ระหว่างเปลี่ยน 2600 MHz จาก 4G เป็น 5G หรือนำคลื่นชุดใหม่ ๆ ที่มากกว่า 2600 MHz แต่ต่ำกว่า 5 GHz ออกมาใช้งาน โดยตอนนี้ตัวเลือกคร่าว ๆ ที่กำลังสรุปกันอยู่ คือกำหนดให้ 3500 MHz – 3800 MHz เป็นคลื่นกลางสำหรับทำ 5G เพราะมี Bandwidth ที่สามารถจัดสรรให้ได้ค่อนข้างกว้างมาก และอีกชุดหนึ่งคือ 26-28 GHz หรือ mmWave ก็จะเป็นคลื่นที่สำคัญสำหรับ 5G เช่นกัน

ส่งท้าย

การประมูลคลื่นเมื่อวันก่อน ถือเป็นการเติมเต็มอาวุธในมือของ AIS ที่ขาด ๆ หาย ๆ อยู่ จนในวันนี้ AIS พร้อมประกาศความเป็นเจ้าแห่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วยจำนวนคลื่นที่มากที่สุดในประเทศไทย และไม่มี Operator ใดในไทยมีคลื่นมากเท่า AIS อีกต่อไป แน่นอนครับผลประโยชน์ก็ตกที่เรา ๆ ท่าน ๆ กันทั้งนั้น เพราะเราจะได้ใช้เครือข่ายที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม มีมาตรฐานที่ดี และบริการหลังการขายที่ไว้ใจได้ เพราะยังไงนี่ก็คือจุดแข็งที่ AIS รักษาไว้ตลอดตั้งแต่เปิดตัวบริษัทมาเมื่อ 32 ปีที่แล้ว

เอาเป็นว่ากลางเดือนหน้ามารอดูกันดีกว่าว่า AIS จะกดสูตรทำให้เน็ตเร็วขึ้นมากแค่ไหน ^^

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^