ติสท์อยากเขียน

ก่อนคลื่น 850/1800 MHz ของ dtac หมดลง การขอเยียวยา… “ถูกต้องตามกฎหมาย” หรือ “เลือกปฏิบัติ” ??

เสาร์ที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันเส้นตายของ dtac ที่คลื่น 850/1800 MHz จะหมดสัมปทานลง และถูกนำกลับไปจัดสรรใหม่ตามกระบวนการของ กสทช. ถ้าคุณผู้อ่านที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด น่าจะทราบกันดีว่า ที่ผ่านมา dtac ร้องขอให้มีการเยียวยาไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากการถูกดึงคลื่นกลับไปจัดสรรใหม่ ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่ กสทช. ยืนกรานว่ายังไงรอบนี้ก็จะไม่มีการเยียวยาให้ ทำให้ในช่วงเช้าของวันนี้ dtac ได้เดินทางไปฟ้อง กสทช. กับพวกต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองไม่ให้ซิมดับ และให้ dtac สามารถใช้งานคลื่นต่อไปได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการจัดสรรใหม่

ในกรณีนี้ dtac ทำผิดจริง หรือกำลังถูกเลือกปฏิบัติ เราลองมาย้อนเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในอดีต เทียบกับตอนนี้ แล้วให้ลองตัดสินกันดูเองครับว่า dtac ควรจะได้รับสิทธิ์นี้เหมือนคนอื่นหรือไม่?

ที่มาของคำว่า "เยียวยา"

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2556 ปีดังกล่าวเป็นปีที่สัมปทานดั้งเดิมของ TrueMove (ไม่ H) และ GSM 1800 ของ DPC (บริษัทลูกของ AIS) หมดลง ในขณะนั้นยังเกิดข้อกังขาเรื่องการจัดสรรคลื่นครั้งใหม่โดย กสทช. ประกอบกับยังมีลูกค้าหลงเหลืออยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าเกิดซิมดับ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมากที่จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น กสทช. จึงมีประกาศฉบับหนึ่ง บังคับให้ผู้ให้บริการรายเดิมที่ถือครองคลื่นอยู่ ต้องเปิดให้บริการต่อไป เพื่อเป็นการ “เยียวยาผลกระทบกับประชาชน” ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ซิมดับ และประชาชนยังสามารถใช้งานต่อไปได้ตามปกติจนกว่าการจัดสรรคลื่นใหม่จะเสร็จสิ้น โดยผู้ให้บริการเดิมจะต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดออก แล้วนำรายได้ส่วนที่เหลือส่งคืนแก่รัฐฯ เป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ในครั้งนั้น กสทช. ตั้งใจจะใช้การเยียวยาในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน แล้วให้การจัดสรรคลื่นใหม่เสร็จสิ้นโดยเร็วภายในปี 2557 แต่ทว่า… บ้านเรากลับเจอเหตุรัฐประหารเข้าเสียก่อน ประกอบกับมีคำสั่งจาก คสช. ให้ กสทช. ยุติบทบาทการทำงานลงหนึ่งปี ทำให้แผนทั้งหมดต้องถูกเลื่อนออกมาเป็น พ.ศ. 2558 และทำให้การเยียวยาต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าการประมูลแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม สิริระยะเวลาการเยียวยาในครั้งนั้น 26 เดือนเต็ม

แต่ในขณะที่เรื่องของ TrueMove และ GSM1800 ยังไม่จบ ก็เจอไม้ต่อกับระบบ Cellular 900 ของ AIS หมดสัมปทานลงในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ กสทช. ก็ต้องออกมาใช้มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดียวกันต่อไป แต่ครั้งนี้ดูจะร้ายแรงกว่า เพราะเมื่อการประมูลจบลงที่ AIS ขอใช้สิทธิ์ถอนตัว และไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลในช่วงแรก ทำให้มีปัญหาเรื่องการเยียวยาผู้ใช้บริการตามมา เมื่อ AIS ตรวจสอบแล้วยังพบว่า มีลูกค้าคงค้างอยู่อีกกว่าล้านราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้า AIS 2G ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และลูกค้า AIS 3G ถือเครื่อง 2G กันเป็นหลัก เรื่องราวยืดเยื้ออยู่นานจน TrueMove H เข้าชำระค่าประมูลงวดแรก และผู้ชนะอีกรายตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต AIS จึงเดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ต่อไปเนื่องจากคลื่นอีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้ถูกนำออกไปจัดสรร และการสั่งปิดสัญญาณย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชน และแน่นอนว่าศาลก็ตัดสินให้ AIS ชนะคดี จึงทำให้ AIS สามารถเปิดให้บริการได้ต่อไป

จนเดือนมิถุนายน 2559 AIS ประกาศแสดงความจำนงขอรับภาระหนี้ทั้งหมด กสทช. จึงแทงเรื่องเข้า คสช. เพื่อขอเปิดประมูลใหม่ และผลก็เป็นอันว่า AIS ได้คลื่นนี้ไปครองอย่างง่ายดายโดยไม่มีใครกล้ามากดอีก

ตัวอย่างประกาศจากทาง AIS เมื่อเดือนธันวาคม 2558

เมื่อรายได้ที่ควรจะได้ กลับไม่ได้ตามที่สั่ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (ภาพ มติชน)

หลังจากการประมูลทั้งสามงานเสร็จสิ้นลง กสทช. ก็เริ่มขั้นตอนสุดท้ายของการเยียวยา นั่นคือการสรุปยอดค่าใช้คลื่นออกมาให้ผู้ให้บริการเดิมต้องชำระก่อนหมดภาระผูกพัน แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า ทั้ง True และ AIS บอกว่าขอไม่ชำระค่าเยียวยาในการใช้คลื่นดังกล่าว เนื่องจากว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายออกทั้งหมดแล้ว ไม่มีผลกำไรหรือรายได้ส่งคืน กสทช. แม้แต่บาทเดียว

เรื่องนี้ กสทช. เลยได้รับบทเรียนเต็ม ๆ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิพาทในชั้นศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับทั้งทาง True และ AIS เป็นขั้นเป็นตอนต่อไป จนเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้มีมติให้ TrueMove และ DPC ต้องนำส่งรายได้เป็นจำนวนเงินกว่า 4,251.46 ล้านบาท เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ซึ่งทาง True เองก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว เนื่องจากยอดที่ กสทช. เรียกร้องมานั้นสูงเกินความจำเป็น

dtac กำลังเจอกับอะไร?

คราวนี้เมื่อถึงเวลาของ dtac ฝั่ง dtac เองก็สู้สุดฤทธิ์ไม่แพ้กัน เพราะว่า กสทช. มีมติให้ทำการแปลงร่างคลื่น 850 MHz เป็น 900 MHz เพื่อเตรียมความพร้อมต่อระบบรถไฟความเร็วสูง ประกอบกับ กสทช. เองก็เร่งให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz แทน 850 MHz เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบรถไฟในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือลูกค้าจะต้องเจอเหตุซิมดับเพราะไม่มีคลื่นใช้งาน และต่อให้ dtac ประมูลกลับมาได้ ยังไง dtac ก็ไม่มีสิทธิ์ใช้งานในแบบ 850 MHz อยู่ดี เพราะคลื่นถูกแปลงร่างให้กลายเป็น 900 MHz ไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ dtac จึงต้องการ “การเยียวยาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงชุดคลื่นความถี่” เพื่อดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์ลูกข่ายและเครือข่ายทั้งหมดให้เป็นเครือข่าย 900 MHz และเร่งการเปลี่ยนอุปกรณ์ของลูกข่ายให้รองรับต่อคลื่นความถี่ชุดนี้ต่อไป เพราะ dtac ไม่สามารถเปิดให้บริการคลื่น 900 MHz บนอุปกรณ์ชุดเดิมซึ่งเป็นของ 850 MHz ทั้งหมดได้เลยแม้แต่น้อย

ในส่วนของคลื่น 1800 MHz เอง ถึง dtac กดกลับมาได้ 5 MHz ดูเป็นการแก้ปัญหาที่เด็ดขาดแล้ว แต่ปัญหาก็กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนที่เข้าประมูลคลื่นชุดนี้คือ dtac TriNet หรือ DTN ไม่ใช่ TAC ซึ่งถ้ายึดข้อกำหนดตาม พรบ. กสทช. TAC จะไม่มีสิทธิ์ในการให้ผู้ใช้บริการของตัวเองขึ้นมาใช้งานคลื่นของ DTN ได้ เพราะถือว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน ดังนั้น dtac จึงต้องการ “การเยียวยาผลกระทบจากการเปลี่ยนผู้ให้บริการ” เพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการจาก TAC มาเป็น DTN เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กสทช. กลับไม่ตอบรับคำขอของ dtac เลยแม้แต่ข้อเดียว ด้วยเหตุผลหลักคือ กสทช. จัดประมูลคลื่นทันก่อนหมดสัมปทาน แต่ไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูล จึงถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขการเยียวยาผลกระทบต่อประชาชน เพราะถือว่า dtac เองก็ทราบแล้วว่าจะมีคลื่นมาขาย

แต่เผอิญว่า สิ่งที่เอามาขายกลับไม่ตอบโจทย์ต่อผู้ให้บริการเลยแม้แต่เจ้าเดียว นั่นจึงทำให้ กสทช. ยื่นคำขาดว่าจะไม่มีการเยียวยาให้เด็ดขาด แม้ว่า กสทช. เคยเปรยออกอากาศมาว่า “ถ้า dtac เข้าประมูลก็อาจจะยื่นข้อเสนอในการรับการเยียวยาให้ก็ได้” แต่สุดท้ายจนวันนี้ กสทช. ก็ยังไม่มีคำตอบที่ว่า แล้ว dtac จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ นั่นจึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องกันในครั้งนี้

ถ้าไม่ได้เยียวยา dtac มีอะไรสำรองไว้บ้าง

วันนี้ dtac อธิบายว่าในกรณีที่ไม่ได้รับการเยียวยา สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าก็มีดังต่อไปนี้

  • ลูกค้า TAC ที่ได้รับผลกระทบจากซิมดับ dtac จะติดต่อเพื่อขอคำยืนยันในการย้ายโครงข่ายเป็น DTN ตามข้อกำหนดของ กสทช. หลังจากนั้น dtac จะเดินเรื่องย้ายโครงข่ายให้ และจัดส่งซิมการ์ดใหม่ พร้อมทั้งมอบข้อเสนอสำหรับอุปกรณ์มือถือที่รองรับการใช้งานร่วมกับคลื่นใหม่ 2300 MHz เมื่อการย้ายโครงข่ายสำเร็จ
  • ลูกค้า DTN ที่ถืออุปกรณ์ 850/1800 MHz dtac จะติดต่อเพื่อมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และมอบข้อเสนอสำหรับอุปกรณ์มือถือที่รองรับการใช้งานร่วมกับคลื่นใหม่ 2300 MHz ให้
  • ลูกค้า TAC/DTN ที่อยู่นอกพื้นที่การให้บริการ 1800/2100/2300 MHz (ลูกค้าที่ใช้งานแต่ 850 MHz) dtac จะยื่นข้อเสนอในการใช้งานฟรีทั้งอินเทอร์เน็ต การโทรเข้า-ออก ยืดระยะเวลาหมดอายุของซิม (สำหรับระบบเติมเงิน) หรือ ยืดวันครบกำหนดชำระค่าบริการ (สำหรับระบบรายเดือน) พร้อมทั้งจัดตั้งสายด่วนสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และฉีกข้อตกลงในการใช้บริการหากมีการซื้อเครื่องอยู่ก่อนให้โดยไม่ต้องชำระค่าผิดสัญญาแต่อย่างใด

กระบวนการทั้งหมดนี้ dtac ได้เร่ิมดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดย dtac จะคัดเลือกจากความสามารถและผลกระทบในการใช้บริการของลูกค้าแต่ละคน เพื่อทยอยติดต่อมอบสิทธิพิเศษนี้ให้เป็นรายกรณีไป

แต่ในกรณีที่แย่ที่สุดจริง ๆ คือ dtac ไม่ได้อะไรเลย เยียวยาก็ไม่ได้ ศาลปฏิเสธหรือปัดตกคดีไป และต้องเสียคลื่น Low-band ไปนั้น dtac โดย TAC จะใช้วิธีการเข้าทำสัญญาขอใช้คลื่น 850 MHz ของ CAT (my 3G/TrueMove H) ในฐานะ MVNO แทน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าต้องเจอซิมดับเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ซึ่ง dtac ได้พูดคุยกับทาง CAT ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนจากฝั่ง CAT ในกรณีนี้

ส่งท้าย?

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะทราบกันแล้วว่าสถานการณ์ในตอนนี้เป็นอย่างไร จะมองว่า dtac สมควรได้รับการคุ้มครองหรือไม่ อาจจะเป็นไปได้ทั้งคู่ในมุมมองที่ต่างกันก็ได้ อยู่ที่จะมองเรื่องนี้ว่าผลควรออกมาเป็นแบบไหน ในขณะที่ กสทช. เอง หลายครั้งก็แสดงท่าทีที่ดูไปแล้ว อาจจะงง ๆ ว่านี่คือท่าทีของ Regulator ที่เป็นผู้คุมกฎเกณฑ์ต่าง ๆ หรือ ที่ทำไปทั้งหมด ทำไปเพื่อใคร? ก็มองได้ทั้งคู่ในมุมมองที่ต่างกันก็ได้เช่นกัน

เอาเป็นว่า ช่วง 10 กว่าปีนับจากนี้ไป ใบอนุญาตใบแรกของทุกค่ายจะหมดอายุลง ขอให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมนี้ ผู้ให้บริการควรเตรียมความพร้อมให้จบตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วน Regulator ช่วยกรุณาฟังเสียงของผู้ประกอบการบ้าง ว่าเค้าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร และทำอย่างไร ประเทศชาติถึงจะได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรนี้อย่างดีที่สุด

 

ไม่งั้น…. ผมและวงการไอทีประเทศไทย คงได้เขียนบทความซ้ำ ๆ แบบนี้ ทุกรอบแน่นอน….

คณะแกดกวน #teamgadguan

คณะแกดกวน #teamgadguan

เว็บ Gadget อารมณ์ดี มีสาระ
เราคุยกันได้ทั้งเรื่องของเล่นไฮเทค วิทยาการ หรือกระทั่งเมาท์เรื่องไม่เป็นเรื่อง ให้เป็นงานเป็นการ