ติสท์อยากเขียน

TURBO the Diary ตอนที่ 3 : “ช่วงเวลาที่สำคัญ มักเจอพายุลูกใหญ่เสมอ”

วันเวลาช่างผ่านมาอย่างรวดเร็วเหลือเกินครับ จนถึงตอนนี้ dtac TURBO เปิดให้บริการมาได้ 3 เดือนเต็มแล้ว เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงได้ทดลองใช้งานและสัมผัสประสบการณ์สุดแรงแบบนี้กันไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย และเชื่อว่าหลายคนที่ได้ลองก็ติดใจกันจนไม่พากันย้ายออกกันพอสมควร

3 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นการทำงานอย่างหนักของ dtac ชนิดที่เราไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน ใช่ครับ นี่คือสาเหตุหลักที่ Diary รอบนี้มาเลทกันเกือบสิ้นเดือน นั่นก็เพราะว่า dtac กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวาระสำคัญระดับประเทศอย่างคลื่นความถี่ชุดสุดท้ายในระบบสัมปทานได้สิ้นสุดลง และที่ผ่านมา กสทช. เองก็ได้ผลักดันให้มีการประมูลคลื่นอย่างต่อเนื่องชนิดที่ว่า รอบนี้ไม่ได้ ไม่มีคนลง ก็จัดต่อจนกว่าจะมีคนลง และมีคนได้ของกันไป เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ลำบากอย่างหนักหน่วงพอสมควรสำหรับ dtac แต่จนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้นจบลงไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น ผลเป็นอย่างไร Diary ตอนนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับ

ขยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนสิ่งที่หายไป

ภาพจาก nPerf อัพเดตล่าสุดวันที่ 19 กันยายน 2561

ในรอบเดือนที่ผ่านมา dtac เร่งปั๊มเสาใหม่อย่างมากมายเพื่อขยายพื้นที่ในการให้บริการ ทั้งคลื่น 1800 MHz, 2100 MHz และคลื่น 2300 MHz ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคึอ dtac ไล่เก็บถนนสายหลักที่จะไปยังภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยไปจนเกือบครบทุกสายแล้ว กล่าวคือในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์เหมือน dtac จะพักการขยายเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั่วคราว แต่ไปเน้นขยายในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ตัวเองเสียเปรียบมาตลอด เพื่อให้คุณภาพเครือข่ายทัดเทียมกับคู่แข่งอย่างสมน้ำสมเนื้อ

ที่ผ่านมาเราได้เห็นประชากรชาว dtac มาโพสต์ความคืบหน้าว่าในพื้นที่ที่ dtac เสียเปรียบมาตลอด เริ่มมี 4G ให้ใช้งานทั้งสองคลื่น คือคลื่น 2100 MHz ที่เปิดให้บริการอยู่เดิิม และคลื่นใหม่ 2300 MHz อย่างต่อเนื่อง ตัวผมเองเชื่อว่าหลายคนคงตกใจว่า dtac อัดอั้นอะไรมานานหรือเปล่าถึงเร่งขยายเครือข่ายเร็วเป็นตบะแตกแบบนี้ แต่อันที่จริงนั้นคือเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการหมดสัมปทานของคลื่น 850 MHz ที่ dtac ใช้ในพื้นที่ระหว่างเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกนักที่เราจะได้เห็นการขยายตัวของทั้งเสาสัญญา และคลื่นทั้งหมดที่ dtac ถือครองอยู่ ซึ่งเป็นจุดบอดของ dtac มาตลอดตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต 2100 MHz มา

ไม่ใช่ว่าเน้นแต่ต่างจังหวัด แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่น้อยหน้า

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา dtac จะเน้นหนักในพื้นที่ต่างจังหวัดเสียมาก แต่ไม่ใช่ว่าในกรุงเทพฯ จะไม่มีความคืบหน้าเสียซะทีเดียว ถ้าจำกันได้ ในตอนแรกสุดของ TURBO the Diary เราได้บอกไว้ว่าช่วงแรกที่เปิดให้บริการ dtac เจอปัญหาความเข้ากันได้กับอุปกรณ์ จนทำให้ dtac ตัดสินใจปิดฟังก์ชัน Carrier Aggregation แบบ 3 Carrier ลงชั่วคราว เพื่อรอให้ผู้ผลิตส่งเฟิร์มแวร์มาแก้ปัญหา ผ่านไปเดือนกว่า ๆ dtac แจ้งว่าปัญหาดังกล่าวผู้ผลิตอุปกรณ์ได้ดำเนินการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จและส่งอัพเดตมาให้เป็นพิเศษแล้ว จนในที่สุด dtac กลับมาเปิดฟังก์ชันนี้อีกครั้ง และครานี้เราได้ใช้งานกันแบบเต็มประสิทธิภาพเสียที

นอกจากเรื่อง 3CA ที่แก้ไขแบบเบ็ดเสร็จแล้ว ยังมีเรื่องของเสาสัญญาณแบบใช้งานภายในอาคารที่ในรอบเดือนที่ผ่านมา ก็เริ่มมีมาให้เห็นกันบ้างแล้ว อย่างเช่นที่ Siam Paragon บริเวณ Department Store แถว ๆ แผนกเครื่องสำอาง ชั้น M, ด้านหน้า Gourmet Market และบริเวณ North Wing ทั้งโซนไปจนถึงบริเวณหน้า Fitness First ก็มีให้เห็นบ้าง แถมแรงซะด้วย และห้างใหญ่ใกล้ ๆ กันอย่าง CentralWorld ก็เริ่มมีให้เห็นแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าที่ Siam Paragon ด้วยเหตุผลคือห้างยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงใหญ่ ซึ่งยังไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้มากนัก นอกจากวางเสาสัญญาณในบริเวณที่เป็น Outdoor อย่างเช่นบริเวณรอบ ๆ ห้าง และภายในอาคารจอดรถเป็นต้น

และอีกเรื่องที่เป็นความตื่นเต้นแบบหาที่สุดไม่ได้ นั่นก็คือการเปิดใช้งานฟังก์ชัน VoLTE บนเครือข่าย dtac TURBO อย่างเป็นทางการ นั่นก็เพราะว่า เดิมที กสทช. อนุญาตให้ TOT นำคลื่นนี้ออกไปพัฒนาเป็นบริการ Wireless Broadband ที่สามารถใช้งานได้ในรูปแบบบริการข้อมูลเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานข้อมูลเสียงได้ ซึ่งหลังจากที่ TOT ประกาศว่า dtac จะเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วม ก็มีเสียงมาจากฝั่ง กสทช. ว่าห้ามให้ dtac เปิดให้บริการเสียงบนคลื่นความถี่นี้ และห้ามให้ dtac ออกแพ็คเกจที่เป็นบริการเสียงบนคลื่นนี้เช่นกัน ซึ่งต่อมาทาง TOT และ dtac ก็ได้เข้าไปอธิบายให้ กสทช. ฟังว่าบริการ VoLTE ไม่ได้เป็นบริการเสียงในแบบที่ กสทช. เข้าใจ แต่ถือเป็นบริการเสียงที่ทำงานอยู่บนบริการข้อมูลอีกที ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานของ LTE ตามที่ กสทช. กำหนดไว้เหมือนกัน ดังนั้นถือว่าเหตุผลของทั้งสองฟังขึ้น จึงทำให้ กสทช. อนุญาตให้ dtac เปิดฟังก์ชันดังกล่าวได้

ทั้งหมด..เพื่อทดแทนของเดิมที่หายไป

ความคืบหน้าของ dtac TURBO ในรอบเดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เพราะเป็นการดำเนนการที่สอดคล้องกับการที่คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของเดิมหมดสัญญาสัมปทานลง แม้ว่าผลสุดท้าย dtac ไม่สามารถขยายคลื่นได้ทันก่อนกำหนด แต่ก็ได้มติของ กสทช. และศาลปกครองกลางช่วยไว้ และทำให้ dtac สามารถใช้งานคลื่นความถี่เดิมต่อไปได้

ปัญหาสำคัญที่ dtac ต้องรั้ง 850 MHz เอาไว้ให้นานที่สุด คือเดิมที dtac อยู่กับคลื่น 1800 MHz และรู้ข้อดีข้อเสียของคลื่น Highband ว่า ระยะส่งมันน้อย ทำให้ต้องเสียงบการติดตั้งเสาสัญญาณที่เยอะมากขึ้น เพราะฉะนั้นคลื่น Lowband จึงสำคัญมากที่จะช่วยเสริมในพื้นที่ที่คลื่น Highband ไม่สามารถเข้าถึงได้เป็นอย่างดี และการที่ dtac ต้องเสียคลื่น Lowband นั่นหมายถึงพื้นที่ให้บริการ 3G จะหายไปกว่า 45-50% ของพื้นที่ให้บริการทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างเมือง ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนที่เดินทางโดยใช้รถยนต์เป็นหลัก

สิ่งที่ dtac แก้ไขมาตลอดในรอบเดือนที่ผ่านมา คือการเร่งตั้งเสาสัญญาณของคลื่น 1800 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ระหว่างเมืองให้เพิ่มมากขึ้น มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่าทำไม dtac TURBO ถึงมีสัญญาณในบริเวณรอบ ๆ ตัวเมืองและพื้นที่ที่ไม่คิดว่าจะมีสัญญาณ ก่อนที่จะมีสัญญาณในตัวเมืองให้ได้ใช้งานกัน

ส่งท้าย

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความคืบหน้าในทางที่ดีมาตลอด แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ dtac ต้องเจอปัญหาใหญ่จนทำให้เกิดความกังวลว่า dtac จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ dtac TURBO ในช่วงนี้ ก็คงเป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า dtac ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนสิ่งที่กำลังจะเสียไป และยังคงทำให้ dtac สามารถเดินหน้าธุรกิจในประเทศไทยต่อไปได้

สิ่งที่ต้องมาดูกันต่อก็คือ dtac ที่อยู่ในมือ CEO หญิงเหล็กอย่าง คุณอเล็กซานดรา ไรช์ จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน และทางที่เหลือกไปนั้นจะช่วยกู้สถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ของ dtac ให้กลับมาได้หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องดูกันต่อไปแบบยาว ๆ ว่าระหว่างสถานการณ์ของบริษัท กับสถานการณ์ของเครือข่าย อันไหนจะดีขึ้นก่อนกัน

เพราะเวลา 3 เดือน มันเดินเร็วมาก กระพริบตาปริบ ๆ แปปเดียวก็หมดแล้ว

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)