การเปิดตัวของสมาร์ทโฟน 5G รุ่นใหม่ล่าสุดจากทั้ง Samsung, Xiaomi หรือแม้แต่ Huawei บนเวทีงานแถลงข่าว Mobile World Congress 2019 นั้นเปรียบเสมือนการตีฆ้องเอาฤกษ์เอาชัยเปิดศักราชสู่ยุคใหม่ของวงการโทรคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่บรรดาผู้พัฒนาชิปเซ็ตและโครงข่ายต่างนำร่องในเนื้องานของตนเองกันล่วงหน้าไปพอสมควรแล้ว
การชิงเปิดตัวของคู่แข่งทำให้แรงกดดันถูกโยนมาหา Apple มหาอำนาจผู้พลิกขั้วโฉมหน้าวงการสมาร์ทโฟนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางปัญหาที่กำลังรุมเร้าทั้งในแง่ของยอดขายที่ชะลอตัวลง รวมไปถึงปัญหาไม่กินเส้นกับ Qualcomm ผู้ผลิตชิปเซ็ตโมเด็มรายใหญ่ ที่มีการประลองกำลังด้วยคดีความฟ้องร้อง มากกว่าร้อยคดีในศาลหลาย ๆ ประเทศ เมื่อทั้งสองต่างปักป้ายด้วยความเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำให้ได้รับความเสียหาย
ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple และ Qualcomm ที่แตกหักจนนำไปสู่การค้าความนั้น กลายเป็นโอกาสทองของ Intel ในปี 2016 ที่ประจวบเหมาะสอดแทรกเข้าสู่ขุมทรัพย์ในตลาดชิปสมาร์ทโฟนได้สำเร็จ ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนโมเด็มให้กับโทรศัพท์ iPhone แต่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะ เมื่อขึ้นสังเวียนจริงแล้วพบว่าเทคโนโลยีที่ Intel มีในมือตามหลัง Qualcomm เป็นช่วงตัว และเมื่อประกอบกับสภาพไม่สู้ดีของทาง Intel ช่วงปีที่ผ่านมาก็ดูจะทำให้เสถียรภาพความสัมพันธ์คู่นี้ออกอาการสั่นคลอน
เดิมตั้งแต่ปี 2016 Apple เริ่มใช้กลยุทธ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย ภายใต้นโยบายการควบคุมต้นทุนและหลีกเลี่ยงปัญหาชิ้นส่วนขาดตลาด แต่กลายเป็นว่าปี 2018 Intel ได้รับออเดอร์ใหญ่ไปเพียงเจ้าเดียว หลัง Qualcomm เปิดเผยออกมาว่าเป็นฝ่ายตัดสินใจปฏิเสธที่จะการผลิตขายชิ้นส่วนชิปโมเด็มให้กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ Apple ทุกตัว
การเข้ามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ Apple กลายเป็นเรื่องบริษัททั้งหลายต้องการไขว่คว้า แต่ในสถานการณ์จริงของ Intel กลับกลายเป็นว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายที่อยู่ในอาการหวานอมขมกลืนไป เพราะถึงแม้ทาง Apple จะออเดอร์เข้าเยอะ แต่ก็ตั้งมาตรฐานและเรียกร้องความสำคัญของงานสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นว่า ออเดอร์จาก Apple สร้างผลกระทบให้กับสายการผลิตชิปเซ็ตของ Intel ที่อยู่ในภาวะวิกฤติไปพอสมควร เนื่องจากสายการผลิตชิป 14 นาโนเมตรที่เคยอู้ฟู่กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการ และหนำซ้ำสายการผลิตยังต้องมาทำงานส่งให้กับ Apple ก่อนกลับไปทำชิปเซ็ตคอมพิวเตอร์ที่กำไรต่อหน่วยดีกว่าเสียอีก
และเรื่องวุ่นวายก็ไม่จบแค่นั้น เพราะนับตั้งแต่ปัญหาช่องโหว่ปลอดภัย Spectre ถึง Spoiler ตามมาด้วยการลาออกของ Brian Krzanich จากตำแหน่ง CEO ที่ยิ่งใหญ่ของ Intel และยังไม่มีการแต่งตั้ง CEO ใหม่ขึ้นมาทดแทน ยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ อลเวงมากขึ้น เมื่อแผนพัฒนาเทคโนโลยีโมเด็ม 5G ตอนนี้ก็พลาดกำหนดการส่งชิปรุ่นต้นแบบให้ Apple นำไปทดสอบภายในแล้ว แม้ว่าทาง Intel จะออกมายืนยันว่าพร้อมทำตลาดภายในปี 2020 แต่ Apple คงกลัวจะซ้ำรอยประเด็นชิปเซ็ต 10 นาโนเมตรที่เคยเป็นแผลเก่าเรื้อรังนั้นมากกว่า
ด้วยสถานการณ์ความอีรุงตุงนังดังกล่าวเลยอาจจะไปช่วยตอบคำถามที่ว่าทำไม Apple ถึงตกเป็นข่าวหนาหูมาตั้งแต่ปลายปี 2018 ว่า มีการตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโมเด็ม 5G ขึ้นมาที่เมืองซานดีเอโก้ เมืองเดียวกับที่ Qualcomm ตั้งสำนักงานใหญ่พอดี ซึ่งดูเหมือนว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดรัดตัดตอน ว่ากันว่า Apple จ่ายหนักกวาดต้อนวิศวกรโทรคมนาคมมือดีหลาย ๆ คนจาก Qualcomm และ Intel มาปั่นงานด่วนนี้ด้วยขนาดทีมไม่น้อยกว่า 1 พันชีวิต หากแต่ว่าจะนำมาใช้งานจริงได้เร็วทันใจแค่ไหน?
นอกจากนั้นหนทางอื่นก็ไม่ใช่ง่าย เพราะ Qualcomm ซึ่งรับทราบกันในเวลานี้ว่ากำลังซดเกาเหลาชามโต หรือแม้แต่ Samsung ที่ความสัมพันธ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ต่างชิงก็ออกมาปฏิเสธโอกาส ที่จะผันตัวเองเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนชิปโมเด็ม 5G ให้กับ iPhone ตามการรายงานของสื่อไต้หวัน Electronic Times ซึ่งที่จะแปลกใจหน่อย ๆ ก็คงเป็นทาง Samsung ที่ผลิตชิ้นส่วนหลาย ๆ ชนิดให้กับ Apple อยู่ก่อนแล้ว กลับอ้างให้เหตุผลว่ากำลังการผลิตชิปโมเด็ม 5G ยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอไปซะอย่างนั้นเอง
ตัวเลือกอย่าง Huawei ที่มีนวัตกรรม 5G ในมือแบบฟูลออปชั่น ถึงจะแบะท่าล่าสุดว่าพร้อมขายคายเทคโนโลยีออกมา แม้ว่าบริษัทจะถือว่าชิปเซ็ตพวกเขาเป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด กระนั้นต่อให้เกิดทาง Apple ที่ดูท่ากำลังจนแต้ม 5G ตอบรับเอาจริงขึ้นมา ก็คงไม่พ้นประเด็นที่จะต้องกินแหนงแคลงใจกับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังเต้นแร้งเต้นกาในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์มาร่วมปี โดยโฟกัสเล่นงานบริษัทโทรคมนาคมจีนเป็นหลักได้อย่างไร มันช่างแสบสันต์ดีนะ
ชื่อของ MediaTek ที่มักจะถูกยกเป็นม้ามืด ในฐานะบริษัทซึ่งออกตัวในเรื่องการพัฒนาชิปโมเด็ม 5G แต่จะทำได้ดีและทันกับความต้องการของ Apple แค่ไหน เครื่องหมายคำถามคงอันใหญ่มาก โดยบริษัทออกแบบชิปไต้หวันเองนั้นอ้างว่าพวกเขาเดินหน้าแผนงานพัฒนาชิปโมเด็ม 5G ได้เร็วกว่ากำหนด แต่ด้วยไม่ได้อยู่แถวหน้าในการผลักดันนวัตกรรมชิปช่วงใหญ่ ๆ เพราะโฟกัสที่ตลาดชิปกลุ่มราคาย่อมเยามากกว่า ฉะนั้นแล้วการจะเข้ามาคว้าพุงปลา ก็อดจะเป็นที่กังขาสงสัยเสียไม่ได้ฉะนั้นเอง?
หนทางของ Apple ในการพัฒนา iPhone 5G รุ่นแรกของบริษัท ดูเหมือนว่าได้ก้าวพลาดสู่การติดบ่วงท่ามกลางปมความขัดแย้ง ซึ่งงานพัฒนาชิปโมเด็ม 5G ที่ใช้งานครอบคลุมกระบวนยุทธ์นั้นมีโครงสร้างความซับซ้อน ซึ่งว่ากันว่า อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 2021 ก่อนที่จะนำออกมาใช้งานได้จริง คู่ค้าปัจจุบันอย่าง Intel ที่ปัญหาภายในตนเองยังแก้ไม่จบ จนอาจจะกระทบชิ่งทำให้ Apple ต้องสะดุดพลาดงานใหญ่ ในขณะที่การกลับไปเปิดโต๊ะเจรจากับ Qualcomm ที่ไม่แพ้ก็เหมือนแพ้บนความกล้ำกลืน
โดยหากจะมองแบบเข้าข้างตนเองอีกครั้ง Apple ในอดีตก็เคยเปิดตัวสมาร์ทโฟน 4G LTE รุ่นแรก (iPhone 5) ช้ากว่าคู่แข่งร่วม 2 ปีมาแล้ว โดยต้องยกประโยชน์ให้การพัฒนาโครงข่ายเวลานั้นที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามองสภาพความเป็นจริงของปี 2019 ที่การอัพเกรดโครงข่าย 5G ค่อนข้างมีการเตรียมพร้อมมาได้ดีในหลายๆ ประเทศชั้นนำ การติดบ่วงในเทคโนโลยี 5G ของ Apple ที่ตามหลังคู่แข่งในแง่นี้อย่างน้อยปีครึ่ง ซึ่งหากล่าช้าไปจากแผนปี 2020 อย่างที่ตั้งใจคงไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน
สุดท้ายแล้วธุรกิจคือธุรกิจ ถ้าเจรจาแล้วได้ผลประโยชน์ลงตัวเมื่อไหร่ ก็อาจจะพลิกสถานการณ์ที่จนแต้มขึ้นมาได้ แต่ถ้าโดนรวมหัวกันกดจุดตาย 5G ครั้งนี้ก็คงจืดสนิท แล้วใครจะเป็นตาอิน ตานา หรือตาอยู่ผู้คว้าพุงปลานั้น ก็เป็นศึกชิงชัยและชิงชังที่น่าติดตามดูดีไม่หยอก