ติสท์อยากเขียน

กว่า 30 ปีที่ Apple ของ Jonathan Ive “เมื่อสัญลักษณ์ของอาณาจักร อยากเขียนเส้นทางบทใหม่”

วันนี้ Apple ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า หัวหน้าฝ่ายออกแบบ Sir Jonathan Ive จะออกจาก Apple ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อไปตั้งบริษัทออกแบบของตัวเองที่ชื่อ LoveForm ซึ่งลูกค้ารายแรกที่จะใช้บริการบริษัทออกแบบของ Ive ก็คือ Apple นั่นเอง แต่ความพิเศษของบริษัทออกแบบที่ Jony Ive ไปเปิดกิจการเองนั้น คือการได้ทำตามใจของเจ้าตัว ถ้าจะบอกว่า รับงานออกแบบสากกระเบือยันเรือรบเลยก็ว่าได้

การประกาศออกจาก Apple อย่างเป็นทางการ ย่อมเป็นข่าวที่น่าสนใจ และน่าคิดกันต่อถึงแต่ละด้านของ Apple ว่าในสถาณการณ์ที่ตลอดทั้งปี 2019 นี้ ไม่ใช่อะไรที่ง่ายกับ Apple ในหลายเรื่อง Jony Ive กับ Apple และต่อจากนี้ น่าจะเกิดอะไรขึ้น ในฐานะที่ส่วนตัวผมเอง ก็ชอบและใช้สินค้าของแบรนด์นี้มานานพอ ผมคิดว่า…

สัจธรรมเส้นทางอาชีพ

ผมมีรุ่นน้องที่เป็นนักออกแบบ สถาปนิก อยู่หลายคน ผมพบสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันของคนทำงานวงการนี้ คืออารมณ์ของการ “ไม่อยากทำงานซ้ำแบบเดิม ๆ” การต้องออกแบบอะไรสักอย่าง ในโทนที่องค์กรนั้นครอบเอาไว้ คนทำงานวงการนี้บางคน อาจรู้สึกเหมือนโดนลดจินตนาการตัวเองลง แต่ในขณะเดียวกัน การจะให้โลกหรือสังคมมองเห็นว่า “เก่ง” ก็ต้องสะสมบารมีจากการทำงานเช่นกัน

มองกลับมาที่ Jony Ive การทำงานกับ Apple ที่เกือบถอดใจ จนได้ Steve Jobs กลับมาเห็นฝีมือ จนฝีมือของ Ive เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงคุณค่าไม่แพ้ Steve Jobs ดังที่ทุกคนได้เห็นผลงานกับ iPod / iPhone / iPad / Mac / Apple Watch / iOS รวมไปถึงรูปแบบของ​ Apple Store ทุกวันนี้ และอาคาร Apple Park ที่จัดเป็นสถาปตยกรรมที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของโลก คงเป็นเครื่องยืนยันฝีมือ บารมี ของเจ้าตัวได้อย่างดี

Apple Park หนึ่งในผลงานออกแบบสุดทึ่งของ Jonathan Ive

เรื่องนี้คล้าย ๆ กับกรณีของ Chris Bangle หัวหน้าฝ่ายออกแบบ BMW ยุค 1992-2009 ที่เชื่อได้ว่า แฟน BMW ถ้าไม่รักก็เกลียดไปเลยกับงานออกแบบอย่าง 5 Series รหัสตัวถัง E60 / 7 Series รหัสตัวถัง E65 หรือ Z4 รหัสตัวถัง E85 ที่การวางรากฐานงานออกแบบของ Bangle ช่วยให้ BMW สามารถพามรดกงานออกแบบไปต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ได้ โดยเจ้าตัวก็ได้ลาออกไปเปิดบริษัทรับออกแบบที่อิตาลี รวมถึงเคยตกเป็นข่าวในการช่วยดูแลงานออกแบบสินค้า Samsung ในช่วงปี 2012 ด้วย

กลับมามองที่ Ive ในอายุ 52 ปี หน้าที่การงานประสบความสำเร็จสูงขนาดนี้ ผมเชื่อว่า เงิน อำนาจ อาจไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวอยากได้เท่ากับ “ความสนุกในการทำงานที่รัก” ยิ่งแฟน ๆ Apple ที่ชอบอ่านประวัติด้วยแล้ว น่าจะพอจำได้ว่า Ive เป็นคนที่บ้าการออกแบบมาก ชนิดที่ว่า ผิวสัมผัสของกระดาษทิชชู่ เจ้าตัวก็สามารถทำได้ ฉะนั้นแล้ว ไฟในการทำงาน คงเป็นเรื่องสำคัญที่ Ive อยากมีต่อไปจากนี้เช่นกัน พอมองไปที่ Apple ตอนนี้ รากฐานงานที่เจ้าตัวทำไว้ เรียกว่าแน่นสุด ๆ แล้ว ทีมงานที่เข้าใจตัวตนของแบรนด์ ว่าควรออกแบบไปในทิศทางไหน

เรียกว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมของชีวิต และอาชีพการงานของ Ive เลยก็ว่าได้

Apple จะได้ทิศทางใหม่ ๆ

สิ่งที่ทำให้ Apple เป็น Apple มาถึงทุกวันนี้ คือการออกแบบทุกรายละเอียด ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ชนิดที่ ถ้าให้หาบริษัทที่ทำกิจการแนวเดียวกับ Apple แล้วได้ทุกอย่างเป๊ะแบบที่ Apple ใส่ไว้ทุกรายละเอียด ก็คงต้องบอกว่า “ยังหาคนที่เทียบเท่าด้วยไม่ได้” ต่อให้คุณไม่ชอบ Apple มากแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่า สินค้า IT สามารถมีสิ่งที่เรียกว่า “ความสวยงาม” “รสนิยม” เพราะ Apple มีพลังพอที่จะกำหนดทิศทางสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • สีขาวโทนขุ่นที่มากับหูฟังของ iPod เมื่อยุค 2000 ทำให้สินค้าทุกวงการ มองสีขาวเป็นสีที่มีราคา
  • ผู้ผลิตสินค้า IT ใส่ใจการออกแบบให้สวยงาม น้ำหนักที่กำลังดี น่าใช้เหมือนเฟอร์นิเจอร์หนึ่งชิ้น 
  • วัสดุโลหะ กระจก เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายใน Smartphone จนถึงทุกวันนี้
  • การใช้งาน Software ของคอมพิวเตอร์ มือถือ สวยงาม เข้าใจง่าย สร้างสมดุลระหว่างการใช้งานและความสวยงามได้
  • รูปทรงของ Tablet ในยุคปัจจุบัน ที่เป็นทรงจอสี่เหลี่ยม บาง น้ำหนักกำลังดี 
iMac Pro ที่มากับการออกแบบในสีดำเป็นครั้งแรก และยังดำไปถึงอุปกรณ์เสริมทุกชิ้น
นี่ยังไม่นับถึง หน้าร้าน หน้าเว็บ ฯลฯ ที่เราสามารถมองเห็นได้ สร้างทั้งคุณค่าและราคาให้ Apple มาถึงทุกวันนี้ แต่ทั้งหมดนี้ มันเหมือนเป็น “ลายมือ” ของคนๆ หนึ่ง ที่ยังไงก็ตาม วันหนึ่ง มันอาจกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถ้าคู่แข่งในตลาด สามารถนำเสนอรายละเอียดที่เป็นต้นน้ำยันปลายน้ำ ได้ถูกจริตคนไม่แพ้ Apple หรือสามารถนำอัตลักษณ์ที่​ Apple ทำแล้วประสบความสำเร็จ มาปรับให้เข้ากับบุคลิกของตัวเอง
Apple Iconsiam ร้านสาขาแรกในไทย ที่กลิ่นอายการออกแบบของ Apple ทะลุออกมายังตัวห้าง Iconsiam เพื่อให้ร้านดูเด่นที่สุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยา

Apple ในวันที่ Jony Ive ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายออกแบบทั้งหมด จึงน่าสนใจมาก เมื่ออัตลักษณ์ของแบรนด์มันแข็งแรงมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว การต่อยอดสิ่งที่ยังเป็นจุดแข็งของ Apple ให้สดใหม่ ได้ลองผิด ลองถูก ในวันที่สถานะการเงิน ความมั่นคงบริษัท พร้อมสำหรับการลองทำ ถือว่า Apple ได้ประโยชน์จากการให้คนใหม่ ๆ ที่รู้ว่าแบรนด์ควรรักษาคุณค่าแบบไหน แต่เพิ่มเติมด้วยความใหม่ในแบบคนรุ่นใหม่

ผมคนหนึ่งละ ที่อยากเห็นงานออกแบบของ Apple แบบต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่มาจากคนรุ่นใหม่ของ​ Apple ว่าจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้ เหล่าแฟน ๆ ก็ควรให้โอกาส ให้การเปิดใจมาก ๆ เพราะไม่งั้นวลี “ถ้า Ive ยังอยู่” คงได้เห็นบ่อยไม่แพ้ “ถ้า Jobs ยังอยู่” แน่นอน

จับตา Jeff Williams

ความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้บริหารล่าสุด ไม่ว่าจะล่าสุดอย่าง Sabih Khan ที่ดูแลคุณภาพสินค้า / วางแผนการจัดซื้อ / การขนส่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ ให้ทำงานขึ้นตรงกับ Jeff Williams ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ซึ่งการออกไปของ Ive ฝ่ายออกแบบตอนนี้ ก็ให้ทำงานส่งตรงที่ Jeff แถมเจ้าตัวยังมีส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้ฝ่ายออกแบบ ทำคลอด Apple Watch ออกสู่ตลาดได้สำเร็จ ฉะนั้น งานที่ Jeff Williams ทำอยู่ตอนนี้ เปรียบเป็นเสมือนมือขวาคนสำคัญของ Tim Cook ซึ่งในช่วงไม่นานมานี้ Tim Cook เองก็เคยเปรยแล้วว่า “เตรียมลงจากตำแหน่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

ผมเชื่อว่าแฟน Apple ต้องรู้สึกได้ว่า ผู้บริหารตัวใหญ่ ๆ ที่เห็นหน้ากันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะ Jony Ive / Tim Cook / Craig Federighi / Eddy Cue / Phill Schiller อยู่กันตั้งแต่ Jobs ยังอยู่ดี จนถึงเวลานี้ ถ้า Apple จะผลัดใบให้คนรุ่นใหม่ที่ทำได้ดีกว่า ขึ้นมาแทน ก็เป็นวัฎจักรปกติที่บริษัทใหญ่ระดับนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

แต่ที่ผมรู้สึกว่าน่าจับตาหลังการลาออกของ Ive พร้อมกับทิศทางการบริหารที่เกิดขึ้นตอนนนี้ เราคงต้องจับตามอง Jeff Williams ให้ดี เพราะไม่แน่ว่า คน ๆ นี้ คือว่าที่​ CEO ของอาณาจักร Apple คนต่อไป….

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^