ติสท์อยากเขียน

พาทัวร์ “สงขลา” เมื่อ AIS แสดงประสิทธิภาพ 5G แบบขี่พายุทะลุฟ้า!!!

สงขลา?

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปคือหาดใหญ่ เมื่อสักอายุ 13-14 เป็นการไปเที่ยวด้วยรถทัวร์จาก กทม. ฉะนั้น แค่เดินทางอย่างเดียว ก็หมดเป็นวันแล้ว สิ่งที่จำได้คือ นั่งรถนานไม่พอ ถนนหนทางก็เรียกว่าอันตรายใช้ได้เลย และเมื่อพฤหัสฯ ที่ผ่านคือ คือการได้กลับไปสงขลาในรอบ 20 ปีของผม โดยการไปครั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์จากสาวสวย หนุ่มน่ารัก ของทีมประชาสัมพันธ์ AIS ที่คุ้นเคย ทำทริปแบบไฟไหม้กันเล็กน้อย แถมตลอดทริปสองวัน ไม่ได้มีบรรยากาศของการทำงานเลย…มีแต่ กิน กับถ่ายรูปเป็นหลัก

โอเคครับ สาระสำคัญของทริปนี้ มันอยู่ที่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมากับงาน AIS Vision 2019 ทาง AIS ได้พูดถึงว่าการทดสอบ 5G ในหลาย ๆ แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถานที่ทดสอบ 5G ในส่วนของ “รถไร้คนขับแบบอัตโนมัติ” รวมถึงในสถานที่ของมหาวิทาลัย มีการนำ 5G มาทดลองใช้งานเป็นสาธารณูปโภคในนั้นด้วย และที่เขียนหัวเรื่องว่า “ขี่พายุทะลุฟ้า” เพราะตอนแถลงข่าว อากาศกำลังดี ดูเหมือนจะมีฝน แต่ก็ไม่ตกซะที แต่ทันทีที่ถึงคิวต้องโชว์ของ ฝนตกชนิดที่….ถ้าไม่เกรงใจ จะแซวว่าใช้สาวคนไหนในทีม PR ปักตะไคร้หรือเปล่า? ถึงได้ถล่มขนาดนี้ แต่ที่เด็ดสุดคือ ทดสอบเสร็จ ฝนหยุด อากาศกลับมาดีแบบมีแดดด้วย

อะไรจะขลังปานน๊าน…เอาละครับ เข้าเรื่องกันดีกว่า

เล่ามาเยอะ ต้องโชว์ว่าทำได้จริง

ทุกคนได้ยิน ได้อ่านเรื่อง 5G จากฝั่งเครือข่ายในไทยมาก็เยอะแล้ว จัดงานแสดงก็ว่าทำอะไรได้ก็จัดแล้ว แต่ความรู้สึกส่วนตัวผมคือ “มันยังไม่อิน” ก็….แค่แสดงแบบ วางกันใกล้ ๆ เทียบว่า 5G ฉับไวในการตอบสนองกว่านี่ ฉะนั้นแล้ว การมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือการมาดูให้เห็นเลยว่า 5G ถูกใช้งานจริงได้ โดยสิ่งที่ AIS นำมาสาธิต คือสิ่งที่ถูกใช้งานจริงในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน
ก่อนจะเล่าอย่างแรก การถ่ายทอดสดจากกรุงเทพฯ (ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สว.) ซอยโยธี ถนนพระราม 6) มาที่สงขลา ก็ทำผ่าน 5G ผมแอบอุทานในใจว่า “คมชัด ลื่นไหล เหมือนถ่ายทอดสดแบบระบบโทรทัศน์เลย!!!” นี่แค่น้ำจิ้มโชว์ 5G ก่อนจะไปสาธิตจริง ๆ อันได้แก่

สาธิตแรกสุด คือการขับรถยนต์จากระยะไกล โดยคนที่ขับรถอยู่กรุงเทพ ส่วนรถยนต์ก็อยู่ที่สงขลา การขับรถด้วยระยะไกลให้แม่นยำ ความคลาดเคลื่อนของการส่งข้อมูล ต้องเสมือนคนจริง ๆ กำลังขับอยู่ในรถจริง ๆ ทันทีที่จะเริ่มทดสอบ ฝนก็ตกกระหน่ำแบบชวนให้ลุ้นว่า จะใช้งานในสภาพอากาศแบบนี้ได้หรือไม่ ทันทีที่ระบบกับรถ เชื่อมต่อพร้อมกันแล้ว ผู้ขับขี่รอบนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม มานั่งขับผ่าน Joystick พวงมาลัยกับชุดแป้นคันเร่ง เบรค แบบเวลาเล่นเกมขับรถ โดยมองกระจกหน้ารถผ่านแว่น VR ที่ฉายภาพด้วยกล้อง 4K ถึง 6 ตัว เพื่อให้ภาพที่มองเห็นรอบตา เนียนเหมือนอยู่ในสถานที่จริง ทันทีที่เริ่มออกตัว ผมพยายามมองการเคลื่อนไหวของสองฝั่งที่กำลังถ่ายทอดสดให้ชม (จริง ๆ อยากวิ่งไปดูที่รถเอง แต่ข้างนอกฝนถล่มหนักจนร่มพกส่วนตัว น่าจะเอาไม่อยู่)

สิ่งที่เห็นได้คือ รถมีการตอบสนองออกตัว ขยับตามการหมุนพวงมาลัย ดูไม่คลาดเคลื่อนไปจากการบังคับ เสมือนคนที่ขับที่กรุงเทพฯ กำลังนั่งขับรถคันนี้ที่สงขลาด้วยตัวเองจริง ๆ ถึงท่าน ดร.สุวิทย์ จะเอยปากเองว่า แทบไม่ได้ขับรถด้วยตัวเองนานแล้ว ก็ประทับใจในการตอบสนองในการขับรถผ่าน 5G และถ้ามองว่า การทดสอบนี้ เกิดขึ้นขณะฝนตกหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การรับส่งข้อมูลเกิดความผิดพลาดได้ เทคโนโลยี 5G ที่เน้นความแม่นยำในการรับ ส่ง ข้อมูล สอบผ่านไปหนึ่งยกละครับ

สาธิตที่สอง ยังอยู่กับรถขับอัตโนมัติคันเดิม เพิ่มเติมคือมีรถเพิ่มอีกคัน โดยรถทั้งสองคัน สามารถสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ โดยคนขับรถในสาธิตนี้ คือ CEO ของ​ AIS คุณสมชัย เลิศสุธิวงศ์ เป็นคนบังคับรถคันหลัง โดยคันหน้าที่กำลังขับนำ จะส่งข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถคันหน้าให้คันหลังรับทราบได้ ในขณะที่คันหลัง ก็สามารถส่งข้อมูลกลับไปให้คันหน้าได้ ในการทดสอบนี้ คันหลังสามารถเบรคตาม หรือขยับตามในจังหวะความเร็วที่เหมาะสม หรือถ้าคันหลังเร็วกว่า คันหน้าก็สามารถเร่งเพื่อหนี หรือจับทุกคันให้ทำความเร็วเหมาะสมกับสภาพจราจร ณ เวลานั้นได้เช่นกัน สิ่งที่ผมได้เห็น คือคุณสมขัย สามารถขับให้คันหน้ารักษาระยะกันตลอดการทดสอบได้ การตอบสนองระหว่างที่ขับ กับคันหน้า ดูไม่คลาดเคลื่อนหรือแสดงอาการว่า รถสองคันนี้ กำลังสื่อสารกันผิดพลาด และเช่นกันกับการทดสอบแรก สายฝนยังคงตกกระหน่ำเหมือนเดิม

สาธิตสุดท้าย คือรถคันเดิม แต่มีการติดกล้องหน้ารถเอาไว้ ไม่ใช่แค่ไว้ส่งภาพจากกระจกหน้ารถ แต่กล้องตัวนี้ สามารถวิเคราะห์วัตถุที่อยู่รอบ ๆ ไม่ว่าจะรถที่จอดในบริเวณนั้น คนที่กำลังเดินอยู่ ฯลฯ โดยการทำงานนี้ ต้องเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลกลาง โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่ศูนย์ข้อมูลกลาง จะสามารถดูข้อมูลของสิ่งที่กล้องหน้ารถสแกนมาให้ได้ ฉะนั้นแล้ว รถขับอัตโนมัติคันนี้ ทำหน้าที่กึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปในตัวด้วย โดยสิ่งที่ผมได้เห็นจาการทำงาน ระบบสามารถจับวัตถุที่เห็นได้พร้อมกันหลายชิ้น และดึงข้อมูลออกมาได้ครบ ตัวอย่างที่สาธิต คือดึงข้อมูลรถคันที่จอดอยู่ในกล้อง ออกมาให้ดูได้ว่า เป็นยี่ห้อ รุ่น สี ทะเบียนอะไร

นอกจากที่สาธิตไป ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ยังมีป้ายแสดงข้อมูลอัจฉริยะ ที่สามารถแสดงข้อมูลที่จำเป็นในการประชาสัมพันธ์ภายใน หรือบอกว่ารถโดยสารภายใน อีกนานแค่ไหนจะจอดป้าย รวมถึงทำงานร่วมกับรถขับอัตโนมัติ เมื่อขับผ่านป้าย จะมีการแสดงข้อมูลเฉพาะที่สื่อสารกับรถ อย่างเช่นตำแหน่งที่จอดรถที่กำลังว่าง และอุปกรณ์ทั้งหมด เป็น Huawei นะครับ

นี่ยังไม่นับรวมโครงการที่นำ IoT ไปทดลองกับฟาร์มไพรวัลย์ ที่ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ใส่ปุ๋ย แก้ปัญหาการปลูกได้แม่นยำ / ไฟส่องสว่างในเมืองที่ปรับตามสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ / รถโรงเรียนที่ตรวจจับอุณหภูมิ ตำแหน่ง การขับขี่ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กปลอดภัยทุกครั้งที่ใช้ ฯลฯ ที่ทำให้สงขลา จะกลายเป็นว่าที่ Smart City แห่งแรก ๆ เลยก็ว่าได้

ท้ายสุดของการสาธิตนี้ AIS หวังว่า แผนการ 5G ของประเทศไทย จะออกมาตรงเวลา มีคลื่นที่เหมาะสมให้ใช้มากกว่าแค่ 700MHz ที่รองรับแค่เรื่องความไกล แต่ไม่ดีกับความกว้าง รวมถึงการสาธิตนี้ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีในภาพรวม มากกว่าที่จะโชว์เพื่อเน้นขายของกันเป็นหลัก

เอาเป็นว่า เรื่อง 5G ในระดับโลกตอนนี้ มีอะไรให้เล่นกันใหม่ ๆ แทบจะทุกอาทิตย์ จนอาจเผลออุทานว่า “ฉันตามไม่ทันแล้วนะ”

ขายของกับคนใต้ ต้องขายแบบนี้

จบเรื่องสาธิตเทคโนโลยีอนาคตแล้ว ขอวกกลับมาที่ปัจจุบันนิดนึง ไหน ๆ มาสงขลา จังหวัดที่ใหญ่ทั้งในแง่มูลค่าและความสำคัญของภาคใต้ทั้งที AIS ขอเล่าเนื้อหาทางการตลาดนิดนึง แน่นอนว่า พรีเซนเตอร์ประจำภาคใต้ แบบเจาะตลาดตรง ๆ ต้องหนีไม่พ้นคนนี้ “เอกชัย ศรีวิชัย” ที่ถือเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยเจ้าตัวเองก็ยินดีอย่างยิ่ง เนื่องจากใช้แต่ AIS มาโดยตลอด รวมถึงสนับสนุนน้องเดียว เด็กผู้พิการทางการมองเห็น แต่สามารถเชิดหนังตะลุงได้อย่างมืออาชีพ โดยนำเสนอทั้งแบบจัดโชว์ทุกวันทั่วภาคใต้ สามารถรับชมทาง AIS Play ได้ด้วยเช่นกัน

อะไรที่คนกรุงฯ ได้เจอ ที่ใต้ก็เจอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น มือถือสั่งตัดราคาพิเศษ อยากได้ Smartphone ก็เริ่มต้นที่ 1,590 บาท อยากได้แบบคุยล้วน ๆ ก็แค่ 890 บาท แน่นอนว่าตลาดนอกกรุงฯ เติมเงินเป็นใหญ่กว่า สารพัดโปรฯ รวมถึง Zeed SIM ก็เป็นหัวหอกในการทำตลาดกับนักเรียน นักศึกษา และ AIS Privillage มื้อนี้อิ่มฟรี ร้านดังภาคใต้ ก็ไม่พลาด และที่สำคัญสุด ทุกดีลเลอร์ที่เห็นที่เมืองกรุงฯ ที่ใต้ก็ขายด้วย เพิ่มเติมคือรถขายของแบบ Direct Sale ถึงพื้นที่โดยตรง

เครือข่ายของ AIS ในภาคใต้ มีเสาสัญญาณมากกว่า 5,000 เสา ที่พิเศษกว่าเครือข่ายอื่น คือการเน้นชายชอบรอบหาด ลากไปให้ถึงกลางทะเลให้ได้มากที่สุด โดยในส่วน AIS Super WiFi ของภาคใต้ มีให้ใช้ถึง 10,000 จุด และ AIS Fibre ในภาคใต้ ครอบคลุม 55 อำเภอ รวม 10 จังหวัดของภาคใต้

ทั้งหมดนี้ คือทริปลงใต้ของผมกับ AIS ที่เปิดประสบการณ์ 5G ให้เห็นภาพชัดมากขึ้น อีสานแล้ว ใต้แล้ว เหลือภาคเหนือ…หวังว่าจะได้ไปนะครับ (อ้อนออกอากาศไว้ตรงนี้เลยละกันครับ)

สำหรับทริปนี้…สวัสดีครับ : )

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^