OOKLA ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต SpeedTest เผยผลสำรวจของรางวัล SpeedTest Award ประจำครึ่งปีแรก 2019 (มกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2562) จากการเข้ามาทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ชาวไทยกว่า 5 ล้านราย ซึ่งผลของรายงานดังกล่าวคงไม่ต้องเอ่ยนะครับว่า AIS กวาดรางวัลจาก OOKLA มาครองอีกเช่นเคย แต่รอบนี้ไม่ได้กวาดแค่ฝั่ง Mobile เพียงเท่านั้น แต่ยังพาน้องคนเล็กอย่าง AIS Fibre มาคว้ารางวัลกับเขาเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ทั้ง 4 รางวัลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ AIS ที่ใช้ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองโครงข่ายไม่ว่าจะเป็น AIS Mobile และ AIS Fibre ได้ชื่อว่าเป็นเครือข่ายคุณภาพ ที่พร้อมรองรับทุกไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้ใช้กว่า 42 ล้านเลขหมายได้อย่างลงตัว และยังเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของ AIS แบบชัดเจนด้วยว่า ผู้ใช้ AIS จะต้องได้รับประสบการณ์บนอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุด ไม่พลาดทุกการเชื่อมต่อแม้แต่น้อย
ทั้ง 4 รางวัลนี้มีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันเลยครับ
4 รางวัลตอกย้ำความสำเร็จ เพื่อลูกค้ากับประสบการณ์ที่ดีกว่า

ทั้ง 4 รางวัลที่ AIS ได้รับจาก OOKLA SpeedTest ล้วนเป็นรางวัลที่ขึ้นชื่อว่ามหาโหดมากสำหรับผู้ให้บริการ เพราะทั้ง 4 รางวัลนี้ ล้วนตัดสินจากผู้ใช้ที่เข้ามาใช้บริการ OOKLA SpeedTest แทบทั้งสิ้น ซึ่งทาง OOKLA ก็ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลข้อมูล ทำสถิติ และให้คะแนนคุณภาพเครือข่าย โดยใช้เวลารวบรวมข้อมูล 6 เดือน หรือ 2 ไตรมาส แล้วจึงนำมาประมวลผลเพื่อตัดสินหาผู้ให้บริการที่ให้บริการในแต่ละด้านได้อย่างดีที่สุด ซึ่งในประเทศไทยเอง AIS และ AIS Fibre ก็คว้าเอาทั้ง 3 รางวัลใหญ่ และ 1 รางวัลพิเศษ มาครองได้อย่างง่ายได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

Thailand’s Fastest Mobile Network (รางวัลเครือข่ายมือถือที่เร็วที่สุดในไทย)
AIS ได้รับรางวัลนี้ด้วยคะแนนอันดับ 1 ที่ 19.05 คะแนน มีความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ย 23.04 Mbps ความเร็วในการอัพโหลดเฉลี่ย 12.97 Mbps และค่าหน่วงเวลาในการตอบสนอง หรือ Latency เพียง 32 ms พร้อมครองอันดับ 1 เครือข่ายมือถือที่เร็วที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการใช้งานเน็ตหนาแน่นที่สุด โดยวัดจากผู้ใช้มือถือในประเทศไทย ที่ร่วมกดทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตมากกว่า 5 ล้านครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 ซึ่ง AIS คว้ารางวัลนี้ต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2017
Thailand’s Best Mobile Coverage (รางวัลเครือข่ายมือถือที่ครอบคลุมที่สุดในไทย)
AIS ได้รับรางวัลนี้ด้วยคะแนนอันดับ 1 ที่ 772 คะแนน เอาชนะคู่แข่งในตลาดได้แบบขาดลอย จากการทดสอบในพื้นที่ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 ล้านพื้นที่ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 AIS เป็นเครือข่ายเดียวที่มีสัญญาณและใช้งานได้จริงกว่า 99% ของพื้นที่ที่สำรวจได้ และยังมี 4G ให้ใช้งานอีกกว่า 95% ของพื้นที่ที่สำรวจได้เช่นกัน
Thailand’s Best Mobile Network (รางวัลเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ดีที่สุดในประเทศไทย)
จากความสำเร็จของรางวัล Thailand’s Fastest Mobile Network และ Thailand’s Best Mobile Coverage พร้อมกันในไตรมาสเดียว ทำให้ OOKLA มอบรางวัลพิเศษนี้ให้กับ AIS เป็นการเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันว่า AIS เป็นเครือข่ายมือถือที่เร็ว และครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทย โดย AIS ถือเป็นเครือข่ายมือถือรายที่ 2 ของโลก ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
Thailand’s Fastest Fixed Network (รางวัลเครือข่ายเน็ตบ้านที่เร็วที่สุดในไทย)
และอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งใหม่ของ AIS Fibre หลังจากใช้ความพยายามในการทำโครงข่ายกว่า 4 ปี วันนี้ AIS Fibre ได้รับรางวัลนี้ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ที่ 83.51 คะแนน เอาชนะเบอร์ 1 ในตลาดได้อย่างง่ายดาย ด้วยความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ยที่ 225.94 Mbps ความเร็วในการอัพโหลดเฉลี่ยที่ 113.02 Mbps และค่า Latency เพียง 12 ms ซึ่งน้อยที่สุดในตลาดเน็ตบ้าน จากการทดสอบมากกว่า 11 ล้านครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562
OOKLA ลำเอียงหรือเปล่า? ใช้เกณฑ์อะไรมาวัด?
เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามว่า เอ้ะ? OOKLA ลำเอียงหรือเปล่า เห็น AIS เป็นเจ้าตลาดในไทย เลยประเคนรางวัลให้ ทั้ง ๆ ที่เครือข่ายที่ฉันใช้ก็ดีไม่แพ้ AIS แม้แต่น้อย … AIS เลยเชิญทาง OOKLA มาให้ความกระจ่างถึงเกณฑ์ในการให้คะแนน และเกณฑ์การตัดสินว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร
รางวัล Fastest Mobile Network และ Fastest Fixed Network มีเกณฑ์ในการวัดจากการเข้าใช้งาน SpeedTest ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือย้อนหลังทุก ๆ 6 เดือน ฉะนั้นใน 1 ปี จะมีการให้รางวัล 2 รอบ คืองวด Q1-Q2 และ Q3-Q4 ผู้ให้บริการที่จะได้เข้ารับการคัดเลือกของสองรางวัลนี้ จะต้องมีกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานในระบบ (ของ OOKLA) ไม่ต่ำกว่า 3% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดในงวดไตรมาสนั้น ๆ การคิดลำดับจะคิดจากคะแนน Speed Score ที่เป็นเทคนิคการคิดคะแนนเฉพาะของ OOKLA โดยคิดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ค่า Download 90% และค่า Upload 10% จากนั้นนำค่าเฉลี่ยที่ได้ มาคิดรวมกับค่า Latency เฉลี่ยของผู้ให้บริการรายนั้น ๆ ก็จะออกมาเป็น Speed Score ในที่สุด
และอีกหมวดคือ Best Mobile Coverage จะมีเกณฑ์ในการวัดที่ต่างกัน กล่าวคือหมวดนี้จะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ผ่านแอปพลิเคชัน SpeedTest บน Android และ iOS โดยอัตโนมัติ แม้ผู้ใช้ไม่ได้กด SpeedTest ก็ตาม แล้วเอาข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาวัด Footprint จริง ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ใช้อยู่ในพื้นที่ไหน ความเข้มข้นของสัญญาณอยู่ที่เท่าไหร่ และพื้นที่นั้น ๆ มี 4G ให้ใช้งานจริงหรือไม่ จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดนี้ มาเทียบกับ Footprint ของแต่ละประเทศ ซึ่ง OOKLA ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ของแต่ละประเทศออกเป็นสี่เหลี่ยมหลายๆ ชิ้น ชิ้นละ 100 ตารางเมตร ประกอบกันจนครบทุกพื้นที่ของประเทศนั้นๆ ในส่วนของการให้คะแนน Coverage Score จะนับจากพื้นที่ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการแต่ละราย และประสิทธิภาพของโครงข่ายในพื้นที่นั้น ๆ ว่าเป็น 4G หรือเป็น 3G ซึ่งทั้งหมด ล้วนส่งผลต่อคะแนน Coverage Score แทบทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นการตอกย้ำว่า “ประสบการณ์ของลูกค้า” ต้องสำคัญที่สุด

เบื้องหลังความสำเร็จของทั้ง 4รางวัลนี้ AIS ย้ำอย่างหนักแน่นว่า ทั้งหมดคือเรื่องของประสบการณ์ในการใช้งาน ที่ผ่านมาลูกค้าทั้ง AIS Mobile และ AIS Fibre คงจะได้เห็นกันมาแล้วกับการพัฒนาเครือข่ายอย่างไม่หยุดยั้ง นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่น 2100 MHz จนนำไปสู่ AIS 3G 2100 ในปี 2556

เริ่มกันที่ AIS Mobile ก่อน เพราะนับตั้งแต่วันนั้น AIS เน้นการพัฒนาเครือข่ายอย่างหนักเพื่อให้รองรับผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมากกว่า 42 ล้านเลขหมาย ทั้งการลงเสาปักเสา การใช้งบลงทุนเครือข่าย การพัฒนาและสร้างสรรค์โซลูชันใหม่ๆ เพื่อให้เครือข่ายสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และหลังจากที่ AIS ได้คลื่น 1800 MHz เมื่อปี 2558 AIS ก็เติบโตในทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งนับแต่วันที่ประกาศทำ 4G เป็นวันแรก ทีมงานเรายังจำภาพในงานแถลงข่าว AIS 4G Advanced ในปี 2559 ได้เป็นอย่างดี ที่ AIS ได้หยิบเอาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือยุคถัดไปมาโชว์ และกลายเป็น AIS 4.5G ในช่วงเดือนเมษายน

ถัดจากนั้นอีกไม่นาน เราได้เห็น AIS ลงเสารูปแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Massive MIMO เปิดตัวเทคโนโลยีผสานความเร็วอย่าง Next G ในปี 2560 จนถึงปัจจุบันนี้ AIS ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาเครือข่ายด้วยการอัพเกรดเครือข่ายที่ระดับแกนกลางเพื่อนำเอาประสบการณ์ 5G มาให้คนไทยได้สัมผัสกันก่อนบน 4G ในปัจจุบัน รวมถึงยังจับมือร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กสทช. ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายยุค 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ให้เป็นจริงให้ได้มากที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการพัฒนาในแง่เครือข่าย เทคโนโลยี และความเร็ว แต่สิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญจริง ๆ เป็นเรื่องของประสบการณ์ในการใช้งานมากกว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการหาวิธีการแก้ไขค่า Latency ให้ทำยังไงก็ได้ ให้ AIS มีค่านี้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการอื่น

AIS เล่าให้ฟังว่า เดิมทีรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ ทุกผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหน่วยงานรัฐบาลอย่าง TOT หรือ CAT และเอกชนอย่าง dtac, True หรือ 3BB หรือจะเจ้าไหน ๆ ก็ตาม ก็จะใช้วิธีเดียวกันหมด คือไม่ว่าผู้ใช้จะอยู่จังหวัดใด ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งกลับมาที่ Internet Gateway ของแต่ละผู้ให้บริการในกรุงเทพมหานครก่อน แล้วค่อยส่งออกไปนอกประเทศผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ หรือใต้ดินที่รัฐได้วางระบบไว้ ข้อเสียของรูปแบบนี้คือผู้ใช้ที่อยู่เหนือสุดกับใต้สุด จะเจอปัญหาในการใช้งานแบบติด ๆ ขัด ๆ ไม่ลื่น ไม่สมูทเหมือนกับอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นผลมาจากค่า Latency ที่สูงมาก เช่นจากจังหวัดสงขลากลับมากรุงเทพฯ จะใช้เวลาอย่างน้อย 35 ms เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ที่อยู่ใน 5-10 ms
ฉะนั้น AIS จึงลงมือแก้ข้อจำกัดนี้ด้วยการนำเอาเทคนิค CUPS มาใช้ นั่นคือ AIS ตั้งชุมสายและ Internet Gateway ในทุกภูมิภาค แล้วตั้งค่าที่ระบบเพื่อให้ข้อมูลที่เกิดจากผู้ใช้ของแต่ละภูมิภาคนั้น ๆ ส่งกลับมาที่ Internet Gateway ในภูมิภาคนั้นแทน แล้วส่งออกนอกประเทศทันทีโดยไม่ต้องย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร เช่น ผู้ใช้ที่อยู่ที่ภูเก็ต ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะถูกส่งไปที่ Internet Gateway ของภาคใต้ แล้วส่งออกนอกประเทศไทยไปทางสิงคโปร์ทันที โดยไม่มีการวกกลับมาที่กรุงเทพมหานครอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Latency ที่ได้จึงมีค่าลดลง ทำให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากเทคนิคการวางเครือข่ายแบบนี้
ไม่ใช่แค่ Mobile แต่ลูกค้า Fibre ต้องได้ประสบการณ์ที่ดีไม่แพ้กัน
นอกจากฝั่ง Mobile แล้ว ฝั่ง AIS Fibre ก็ไม่น้อยหน้าเช่นเดียวกัน แม้ AIS จะเข้าตลาดเน็ตบ้านช้ากว่าคู่แข่ง แต่ AIS ได้เปรียบกว่าตรงที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เลือกใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบประสบการณ์ในการใช้งานให้ดีที่สุด ลดค่า Latency ให้ได้ต่ำแบบสุด ๆ ชนิดที่ไม่แพ้ฝั่ง Mobile เลยทีเดียว
สิ่งที่ AIS Fibre ทำ ก็เหมือนกับฝั่ง AIS Mobile นั่นคือ AIS ตั้งชุมสายและ Internet Gateway ตามภูมิภาค (เป็นชุดเดียวกัน) แต่ที่เหนือกว่าคือ AIS Fibre ตั้ง CDN (Content Delivery Network) เพิ่มภายในภูมิภาคนั้น ๆ โดย CDN จะทำหน้าที่ในการแคชข้อมูลจากต้นทางมาไว้ที่ CDN ก่อนนำส่งให้ผู้ใช้ต่อไป เช่น แคชข้อมูลจาก Google/YouTube/Facebook ในสิงคโปร์ หรือฮ่องกง หรือจาก AIS Play ที่เซิร์ฟเวอร์หลักในกรุงเทพฯ มาไว้ที่ CDN ของแต่ละภูมิภาค เวลาลูกค้าในภูมิภาคนั้นเรียกใช้งานข้อมูลเหล่านี้ ระบบหลังบ้านของ AIS Fibre ก็จะวิ่งมาเอาข้อมูลที่แคชไว้ที่ CDN แทนการวิ่งลงไปเอาที่ Gateway หลักในกรุงเทพฯ ผลก็คือ Latency ที่ใช้ในการถึงข้อมูลเหล่านี้ก็จะน้อยลง ทำให้ผู้ใช้สนุกกับคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและลื่นไหลมากขึ้น เพราะ AIS Fibre มองว่า Latency มีผลต่อการใช้งานในทุก ๆ ด้าน ไม้เว้นแม่แต่การเล่น Social Network ฉะนั้น AIS Fibre จึงให้ความสำคัญกับการตัดระยะทางให้เข้าถึง Gateway ได้ไวที่สุดและสั้นที่สุด (Shortest Path) มากกว่าการเน้นขยายโครงข่ายนั่นเอง
สรุป “เครือข่ายดีสุดในไทย ต้อง AIS”

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนเลยว่า AIS เป็นเครือข่ายที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในไทย ทั้งความเร็วและแรงที่มากเป็นอันดับ 1 ครอบคลุมพื้นที่มากสุดเป็นอันดับ 1 และลื่นไหลไม่มีสะดุดเป็นอันดับ 1 สมกับรางวัลที่ AIS ได้มาครองอย่างสมน้ำสมเนื้อ นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์อีกทางหนึ่งว่ามาใช้ AIS ยังไงก็ไม่พลาดทุกการติดต่อแน่นอน
รวมถึงรางวัลพิเศษที่ AIS ได้รอบนี้ก็ไม่ใช่ว่าใครก็ได้กันง่าย ๆ เพราะมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างหินเอาเรื่อง ต้องมีผลงานที่ชัดเจน ถึงจะได้มาครอง เพราะ OOKLA ยังกล่าวเองเลยว่า รางวัลนี้ไม่ใช่ให้กันง่าย ๆ เพราะนับตั้งแต่แจกรางวัลนี้มา AIS ถือเป็นรายที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้อย่างเป็นทางการ