MacStroke

Review : ภาพยนตร์ Steve Jobs “อัจฉริยะที่ไม่ต่างกับคนธรรมดา”

ชื่อของ Apple คงเป็นแค่ผลไม้ลูกสีแดง เขียว เหลือง ชมพู ถ้าไม่มีชายที่ชื่อ Steve Jobs กับ Steve Wozniak ร่วมกันประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลก ผ่านร้อนหนาว เกือบล่มสลาย และรุ่งเรืองจนมีเงินสดในบริษัทมากชนิดจะซื้อโลกใบนี้มาครองก็ยังไหว เครดิตความสำเร็จทั้งหมดที่ว่ามานี้ คงต้องยกให้กับชายที่ชื่อ Steve Jobs ผู้สร้าง ผู้กอบกู้ และผู้ทำให้ Apple กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างทิศทางให้กับหลายวงการในโลกนี้มาถึงทุกวันนี้

ภาพยนตร์เรื่อง Steve Jobs ฉบับที่กำลังมาเขียนเล่านี้ สร้างจากหนังสือชีวประวัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งผ่านการเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ ค้นหาข้อมูลประกอบต่างๆ โดย Walter Isaacson โดยตอนแรก Sony Pictures ได้ลิขสิทธิ์ไปสร้าง แต่ด้วยอุปสรรคและสารพัดเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ Sony Pictures ขายต่อให้ Universal Pictures ไปทำต่อ และหลังจากที่ผมได้ชมในรอบแรกแล้ว ผมพบว่านี่คือภาพยนตร์ที่มีสิ่งที่น่าหยิบมาพูดถึงต่อหลังจากนี้ได้อีกพอสมควรกันเลยทีเดียว

 

ต้องอ่านหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs ก่อนไปชมไหม?

ก่อนจะไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คิดอยู่ว่า จะต้องกลับไปอ่านหนังสือใหม่อีกรอบใหญ่ๆ เพื่อเก็บรายละเอียดก่อนไปดูให้ได้ แต่ก็ไม่ว่างหยิบมาอ่านซะที เลยสมมุติตัวเองว่า “รู้จัก Steve Jobs ว่าเค้าสร้าง iPhone ให้เราใช้อะ” ซึ่งน่าจะเป็นความรู้พื้นฐานของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อตัว Steve Jobs ซึ่งเมื่อเข้าไปชมจนจบแล้ว ถ้ารู้จัก Steve Jobs แค่ว่า “สร้าง iPhone มาให้ใช้” ดูรอบแรกอาจจะปะติดปะต่อไม่ถูกแน่นอนว่า ทำไม? อย่างไร? แต่ดูรู้เรื่องไหม รู้เรื่องในระดับที่ชวนให้ออกจากโรงภาพยนตร์แล้ว กลับมาหาความรู้เพื่อทำความรู้จักกับ Jobs มากขึ้น

แต่ถ้ารู้จัก Jobs ว่า “เค้าสร้างคอมฯ Mac นะ เค้าเคยโดนไล่ออกจากบริษัทตัวเอง เค้าโดนซื้อตัวกลับมา Apple อีกรอบ แล้วสร้างของเด็ดๆ มาจนถึงวาระสุดท้ายชีวิตแกนะ” จะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยอารมณ์เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความรู้ที่พอมีในหัว ที่สำคัญไปกว่านั้น ชมแล้วจะได้รู้จัก Jobs ในแบบที่ไม่รู้จักมาก่อน และหลังออกจากโรงภาพยนตร์ จะอยากไปอ่านหนังสือเพื่อเก็บรายละเอียดให้เต็มอิ่มมากขึ้น

แต่ถ้าอ่านหนังสือ Steve Jobs มาก่อน ติดตาม Steve Jobs แบบที่กะว่าไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ก็ยังได้ จะพึมพำ “อ้อ” “อืม” “นี่แหละ” “แบบนี้นี่เอง” ไปโดยอัตโนมัติกับตัวภาพยนตร์ โดยที่เมื่อกลับมาอ่านหนังสือ แล้วนึกภาพในภาพยนตร์ตามด้วยแล้ว การดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอียดของบทจะต้องมีมากกว่า 1-2 รอบแน่นอน

สรุปแล้ว รู้จักแค่ว่า Steve Jobs สร้าง iPhone ให้เราใช้ ก็สามารถรู้จักตัวตนของ Jobs ได้มากขึ้น แต่ถ้ารู้จักมากขึ้นกว่านั้น ความสนุกในการรับชมก็จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณความรู้ในตัว Jobs ที่มีในตัวเช่นกัน

 

เนื้อหาในภาพยนตร์

Aaron Sorkin ผู้เขียนบทเรื่องนี้ ซึ่งเคยเขียนบทภาพยนตร์ดังอย่าง The Social Network (การก่อตั้ง Facebook) เลือกการเล่าเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านช่วงเวลา “ก่อนเปิด Keynotes สินค้า” โดยฉากหลักๆ ภาพที่เราเห็นหลักๆ จะเป็นเนื้อเรื่องที่เกิดขณะที่อยู่หลังเวที โดยตัวดำเนินเรื่องหลักๆ จะเป็น Joanna Hoffman ฝ่ายการตลาด Macintosh ที่ทำงานข้างๆ Jobs จนแทบจะแต่งกับ Jobs ไปเลยก็ยังได้ Lisa Brennan ลูกสาวนอกสมรสของ Jobs ที่คุณแม่ของเธอ Chrisann Brennan เป็นบุคคลที่สร้างความปวดหัวให้กับชีวิต Jobs ได้ดี Steve Wozniak นักประดิษฐ์ผู้ก่อตั้ง Apple ร่วมกับ Jobs และที่ขาดไม่ได้เลยคือ John Sculley อดีต CEO ของ Pepsi ที่ Jobs เอามาบริหาร Apple จนตัว Jobs เองโดนบอร์ดของบริษัทไล่ออก

เนื้อหาในภาพยนตร์จะแบ่งเป็นสามช่วงคือ 1984 เปิดตัว Macintosh / 1988 เปิดตัว NEXT และ 1998 เปิดตัว iMac รุ่นแรก โดยทั้งสามช่วง จะเปิดเรื่องเหมือนกันคือ Steve Jobs กำลังซ้อมคิวบนเวทีขั้นสุดท้าย รวมถึงทดสอบการ Demo ใช้งานออกอากาศ เมื่อซ้อมเสร็จ พอเดินไปหลังเวที สารพัดเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นในหลังเวที ซึ่งบางช่วงจะมีการตัดสลับเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเสริมให้เข้าใจถึงบริบทต่างๆ ที่ Jobs และทุกตัวละครทำลงไป

 

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้

มีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่

1. Michael Fassbender ถึงจะไม่ได้มีใบหน้าเหมือน Jobs ตัวจริงสุดๆ แต่การแสดงของเค้า สามารถปล่อยออร่าให้เราเชื่อได้ว่า “นี่คือ Steve Jobs” น้ำเสียงในการสั่งอย่างเผด็จการ สายตามั่นใจในแบบ Jobs ที่มีกับทุกสิ่ง การพูดเปรียบเปรยหรือจิกกัดในสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองคิด เจ้าตัวสามารถถ่ายทอดให้เราเชื่อได้ว่า นี่คือ Jobs ในแบบที่เรารู้จักมาแสดงให้ดูเอง ยิ่งช่วง 1998 ซึ่ง Jobs มีอายุแล้ว พอแต่งผมให้ขาว ใส่แว่นกลม เสื้อคอเต่า กางเกงยีนส์ จังหวะการพูด ท่าทางต่างๆ ยิ่งทำให้เชื่อสนิทว่า Michael Fassbender สามารถเข้าถึงตัวตนของ Jobs ได้จริงๆ เรียกว่าถึงจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่จะให้มาเล่น แต่นี่คือนักแสดงที่สามารถแทนเป็น Jobs ในโลกเซลูลอยด์ได้จริงๆ

 

2. Kate Winslet บท Joanna Hoffman ที่ดูเหมือนแค่เดินตาม Jobs ไปมา แต่ผู้หญิงคนนี้ คือคนที่ทำให้เราเห็นได้ว่า Jobs ก็แค่คนธรรมดาคนนึง หลายครั้งที่ Jobs เองก็ต้องเพลาอารมณ์ตัวเองบ้าง ถึงจะไม่ให้ความร่วมมือนัก แต่ก็ไม่ต่อต้านใส่ Joanna อย่างสุดโต่ง ในขณะเดียวกัน Jobs เองก็ตระหนักได้ว่า ถ้าตัวเองไม่มี Joanna อยู่ข้างๆ เพื่อช่วยเหลือส่ิงต่างๆ ทั้งที่เป็นสาระ ไม่เป็นสาระ ความสำเร็จของ Jobs อาจเกิดขึ้นไม่เต็มใบก็เป็นได้ การแสดงของ Kate Winslet สามารถปะทะอารมณ์กับ Jobs ได้อย่างสนิท แข็งแกร่งในแบบผู้หญิงทำงานใหญ่ แต่ก็อ่อนโยนในแบบความเป็นผู้หญิงหนึ่งคนที่มอบให้กับเรื่องที่ตัวเองเจอ ซึ่งตลอด 2 ชั่วโมงที่นั่งดู บางช่วงของเรื่อง ผมรู้สึกว่า Joanna ดูเป็นตัวละครที่สำคัญกว่า Steve Wozniak ด้วยซ้ำ ฉะนั้นแล้ว ถ้า Kate Winslet จะได้ออสการ์สาขานักแสดงสมทบฝ่ายหญิง ก็ไม่แปลกแน่นอน

3. Lisa Brennan ที่พูดตรงๆ ได้เลยว่า ถ้ารู้จัก Jobs แค่ว่า Lisa คือลูกสาว พอดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จะรู้สึกว่า Lisa Brennan มีบทบาทสำคัญมากกว่าที่คิด เด็กคนนี้ไม่ใช่กาวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง Jobs กับ Chrisann Brennan แต่ Lisa กลับเป็นกาวที่เชื่อมตัวละครอย่าง Joanna กับ Jobs รวมถึง Andy Hetzfeld วิศวกรในทีม Macintosh ที่ Lisa คุ้นเคยด้วยแต่เด็ก ความเป็นเด็กดีของ Lisa ที่โตมาท่ามกลางแม่ที่ทำตัวดูมีปัญหามากกว่าจะเลี้ยงดุ Lisa ให้ดีได้ Jobs ที่ยอมรับแบบไม่เต็มนักว่านี่คือลูกตัวเอง ยิ่งช่วงแรกๆ ที่ปฎิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่ใช่” วันเวลาที่ผ่านไป ช่วยเกลาให้ Jobs เองก็รักและดูแลลูกสาวคนนี้ โดยเฉพาะช่วงท้ายเรื่องที่ Jobs จะไม่ยอมขึ้นเวทีเปิดตัว iMac ถ้า Lisa ไม่เอาบทความที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์คริมสัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่ Lisa เรียนอยู่ เป็นจุดที่ช่วยย้ำให้เห็นว่า Jobs ก็เป็นคนธรรมดาที่มีอารมณ์ในแบบที่เราทุกคนมีให้กับสิ่งต่างๆ เช่นกัน

 

4. John Sculley ถ้าคนที่รู้เรื่อง Jobs แค่ว่า Jobs โดนไล่ออกในช่วงที่ Sculley เป็น CEO ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการแก้ต่างให้กับโทษที่สังคมคนรัก Jobs มอบให้ Sculley ว่าเป็นคนไล่ Jobs ออก การแสดงของรุ่นใหญ่อย่าง Jeff Daniels สามารถทำให้รู้สึกได้ว่า นี่คือคนที่ Jobs ไว้ใจอย่างยิ่งที่จะมาบริหาร Apple เพื่อให้ตัวเองสามารถทำในสิ่งที่รักได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถปะทะอารมณ์น้อยใจที่ตัวเองกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาสังคมว่าทำให้ Jobs ถูกไล่ออก กับ Jobs ได้อย่างตรงไปตรงมา และที่สุดแล้ว ความเป็นเพื่อนที่ Jobs ไว้ใจ ก็ยังอยู่ในตัว Sculley เสมอ ถึงบางที Jobs จะแอบจิกกัดผ่านการกระทำตัวเองไปบ้างก็ตามที

 

5. บทของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่มีศัพท์เทคนิคชวนปวดหัว ไม่มีการแทรกอะไรที่เป็นธุรกิจจ๋าๆ เกินไป แต่เป็นบทที่เล่าถึง ชีวิตคนๆ หนึ่ง ที่ได้หัวโขนเป็นผู้สร้าง Apple ซึ่งหัวโขนของการเป็นผู้สร้าง Apple ไม่ได้แปลว่า เค้าคนนั้น จะต้องสมบูรณ์แบบ แต่ตรงกันข้าม หัวโขนของผู้ที่ได้ชื่อว่าสร้าง Apple กลับเป็นคนที่แอบไม่น่าคบ ร้ายกาจ เผด็จการ ไปถึงจุดหมายได้โดยไม่สนวิธีการ แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็คือความเหี้ยมของคนที่ได้ชื่อว่า “ผู้นำ” ที่บางทีถ้าเราต้องยืนในจุดนั้นแล้ว ก็คงต้องทำตามอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

 

สิ่งที่ไม่ชอบของภาพยนตร์เรื่องนี้

มีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่

1. Steve Wozniak ผมรู้สึกว่าน้ำหนักของบท Wozniak ยังสามารถเล่นอะไรได้มากกว่านี้ ถึงโดยรวมจะสามารถเสริมการอธิบายตัว Jobs ให้ชัดเจนได้ก็จริง แต่ถ้าเสริมประเด็นให้ผูกได้กับทุกบริบทของตัวละครหลักอื่นๆ ได้มากกว่านี้ คนที่ไม่รู้เรื่องหรือรู้จัก Jobs ไม่มากนัก น่าจะได้เห็นความลึกของตัว Jobs ได้มากกว่านี้แน่นอน แต่เท่าที่เป็นอยู่ ก็ถือว่า Aaron Sorkin ให้น้ำหนักของ Woz ได้ครบถ้วนในแบบที่ควรจะรู้จักแล้ว

 

2. การตัดสลับเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าต้องใช้สมาธิในการรับชมพอสมควร ถ้าเทียบกับผลงานก่อนหน้าที่เป็นแนวเล่าประวัติคนในวงการซิลิคอนฯ อย่าง The Social Network ด้วยแล้ว ความย่อยง่ายและปะติดปะต่อทันทีที่รับชมในเวลานั้น ผมยังให้ The Social Network ดูเนียนและไปได้ลื่นไหลกว่า Steve Jobs แต่ถ้าเป็นคนรู้จัก Steve Jobs ดีมาประมาณหนึ่งก่อนชมแล้ว การตัดสลับเล่าเรื่องในแบบผู้กำกับ Danny Boyle ก็ทำได้ดีไม่แพ้กับที่ David Fincher ทำกับ The Social Network เช่นกัน

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้อะไรกับเรา?

ไม่ว่าคุณจะคิดกับ Steve Jobs อย่างไร สิ่งที่ผมได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ คนเราทุกคนก็ไม่ต่างกันคือ “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณมีความเป็นคนธรรมดา ที่รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นได้กับทุกเวลาและทุกเหตุการณ์ในชีวิต” การตัดสินใจในแต่ละช่วงชีวิตที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่เมื่อเราตัดสินไปแล้ว ลงมือทำไปแล้ว เราจะยินดีอยู่กับมัน หรือหนีมันไปด้วยวิธีที่ตัวเองคิดว่าทำแล้วมีความสุข นั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ซึ่ง Jobs ก็ผ่านทุกสิ่งเหล่านั้นมาครบ ในขณะที่ตัวละครแวดล้อม ต่างก็มีจุดยืนที่ตัวเองเป็นอยู่ จุดยืนของทุกตัวละคร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เหลาให้ Jobs เป็น Jobs อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้เช่นกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่บันเทิงสุดๆ สำหรับการชมเพื่อพักผ่อน แต่มันก็ดีพอสำหรับการดูซ้ำๆ เพื่อเรียนรู้บางสิ่งให้กับชีวิตของเรา และสิ่งที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะได้อะไรจากมัน สิ่งที่ Jobs สร้าง Apple ให้เกิดขึ้นมา ก็คือหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของโลกตลอดกาลแน่นอนครับ

 

ที่มา (ภาพประกอบบทความ): IMDb

 

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^