ข่าวสั้น

AIS ทุ่มงบ 100 ล้านบาท นำศักยภาพ 5G แก้ปัญหา COVID-19 เพื่อคนไทย และทุก ๆ คน

ในช่วงวิกฤต COVID-19 ในขณะนี้ เราได้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวจากหลายภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ AIS ที่ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ และตั้งงบประมาณเร่งด่วนกว่า 100 ล้านบาท นำพาเทคโนโลยี 5G เข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยเทคโนโลยีอันเลื่องชื่อของ 5G ทั้งความเร็วและค่าความหน่วงเวลา (Latency) ที่ต่ำ AIS จึงมุ่งหวังให้ 5G เข้ามาเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ให้ดีมากขึ้น

พร้อมกันนี้ AIS ยังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของ 5G ต่อสถานการณ์ COVID-19 เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

 

ติดตั้ง 5G ใน 20 โรงพยาบาลที่รับรักษา COVID-19 พร้อมสนับสนุนบริการสารสนเทศบนโครงข่าย AIS

ภารกิจแรก เป็นภารกิจการเข้าไปวางโครงข่าย AIS 5G ใน 20 โรงพยาบาลหลักที่รับรักษา COVID-19 พร้อมวางแผนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 130 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอีก 8 โรงพยาบาลหลักในต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 158 แห่ง ภายในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้ใช้ศักยภาพของโครงข่าย AIS ทั้ง 5G, Next G, 4G, AIS Super Wi-Fi และ AIS Fibre ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 อย่างเต็มที่

โดยปัจจุบัน AIS กำลังดำเนินการในระยะที่ 1 คือติดตั้งโครงข่ายใน 20 โรงพยาบาลหลักที่รับรักษา COVID-19 ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต, โรงพยาบาลพญาไท 1, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลพญาไท 3, โรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลพระราม 9, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล โชคชัย 4, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล รังสิต, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล เกษตร, กรมการแพทย์ทหารเรือ และสถาบันบำราศนราดูร

พร้อมทั้งมอบบริการสารสนเทศผ่านโครงข่าย AIS Fibre, 5G, 4G, Super Wi-Fi และมอบอุปกรณ์ Smart Device ที่เหมาะสมให้กับโรงพยาบาลเหล่านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของโรงพยาบาล

 

เปิดแล็บใหม่ “AIS Robitics Lab by AIS Next” นำ 5G พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์

ภารกิจที่ 2 เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ AIS มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของ 5G ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ในการนี้ AIS จึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจ “AIS Robotics Lab by AIS NEXT” และระดมมันสมองจากนักวิจัยระดับหัวกะทิทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับงานด้าน Telemedicine, Telehealth ด้วยจุดมุ่งหมายในการลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย ลดงานที่ไม่จำเป็น ช่วยให้แพทย์และบุคลากรต่าง ๆ สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่

นอกจากการจัดตั้ง AIS Robotics Lab แล้ว AIS ยังได้ต่อยอดความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำเทคโนโลยี 5G เข้าสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และร่วมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 ด้วย

 

เดินหน้าผลิตหุ่นยนต์ Telemedicine รุ่นแรก พร้อมส่งมอบให้โรงพยาบาลใช้งานทันที

ภารกิจที่ 3 เป็นผลงานแรกที่แล้วเสร็จของ AIS Robotics Lab คือหุ่นยนต์ 5G Telemedicine ในชื่อ AIS 5G “Robot for Care” โดย AIS จะผลิตหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมาทั้งหมด 21 ตัว เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 20 แห่งข้างต้น

ความสามารถหลักของหุ่นยนต์ Robot for Care ตัวนี้จะมีด้วยกันสองอย่าง คือทำหน้าที่ในการตรวจคัดกรองคนไข้เบื้องต้นด้วย Thermoscan และให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างคนไข้และแพทย์ผ่าน Video Calling โดยที่แพทย์กับคนไข้ไม่ต้องอยู่ในห้องเดียวกัน หรือสัมผัสใกล้กัน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ได้ผ่าน 5G ช่วยแบ่งเบาภาระ ลดการแออัด และลดเสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแทพย์

นอกจากทั้งสามภารกิจหลักแล้ว AIS ยังมีการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ผ่านการรวมพลังชาว AIS ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมบริจาคหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน พร้อมทั้งพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์สามารถติดต่อหากัน และส่งกำลังใจในช่วงวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไม่มีสะดุด

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)