ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวสั้น

ผลประกอบการ AIS ไตรมาส 2/63 ถึงรายได้จะลด แต่ยังกำไรอยู่ Fiber ไปได้สวย และทุ่ม 4 หมื่นล้านเพื่อ 5G

การเกิดขึ้นของ Covid 19 ตอนนี้ ทำให้หลายอุตสาหกรรมสะเทือนตั้งแต่ระดับล้มหายไป จนถึงสะเทือนพอสมควร ธุรกิจเครือข่ายมือถือ น่าจะดูไม่สะเทือนหนักมาก และช่วงที่ประเทศไทยต้องอยู่บ้านกันเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ก็คือไตรมาส 2 ที่ทุกธุรกิจจะถูกจับตามองว่า “เป็นอย่างไร” และ AIS ส่งผลประกอบการในไตรมาส 2 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้

ในไตรมาส 2 เอไอเอสมีรายได้รวม 42,256 ล้านบาท ลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอสยังคงมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในตลาดที่ 41 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 9.5 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 395,600 ราย ในไตรมาสนี้ และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.4 ล้านราย ซึ่งลดลงจำนวน531,900  ราย โดยมีสาเหตุหลักจากยอดขาย Sim2Fly ที่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ ในขณะที่รายได้ต่อเลขหมายเฉลี่ยเท่ากับ 239 บาท/เลขหมาย/เดือน จากสภาพการแข่งขันในตลาดที่ยังคงสูงจากแพ็กเกจประเภท Fixed Speed Unlimited ซึ่งยังมีให้บริการในทุกโอเปอร์เรเตอร์ ขณะที่ COVID-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ทั้งการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเรียนที่บ้าน (Learn from Home) ส่งผลให้การใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 15% เทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่เฉลี่ย 17 กิกะไบต์ต่อเดือน และสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G ยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง 75% ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีลูกค้าใหม่เพิ่มสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการ จากความต้องการติดเน็ตบ้านในช่วงโควิด ส่งผลให้มีลูกค้ารวม 1.2 ล้านราย และมีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,683 ล้านบาท เติบโต 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนธุรกิจลูกค้าองค์กรก็ยังคงเติบโตจากความต้องการใช้บริการโซลูชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Data Center, Cloud และ ICT solution เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แม้ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบในเชิงรายได้ บริษัทมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนและการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกิจกรรมทางการตลาดที่น้อยลงในช่วงสถานการณ์โควิด ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรสุทธิ 7,235 ล้านบาท* ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เติบโต 3.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงมีการบริหารจัดการกระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการลงทุนขยายโครงข่ายทั้งบริการ 5G และ 4G เพื่อรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในครึ่งปีแรกรวม 42,328 ล้านบาท และคงงบลงทุนทั้งปี 2563 ประมาณ 35,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

หลังการประมูลคลื่น 5G ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ขยายเครือข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด และครอบคลุมเต็มพื้นที่ 100% นิคมอุตสาหกรรมใน EEC แล้ว ปักหมุดให้ประเทศไทยเป็น ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครือข่าย 5G ให้บริการเต็มพื้นที่ 100% ในนิคมอุตสาหกรรม ยกระดับ ไทยสู่ผู้นำเครือข่าย 5G ในระดับภูมิภาค พร้อมดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเอไอเอสได้ประกาศวิสัยทัศน์ “AIS 5G – Forging Thailand’s Recovery” นำ 5G ร่วมฟื้นฟูประเทศไทยในทุกมิติ ภายใต้การผนึกกำลังกับผู้นำอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ดังเช่น

  • ร่วมกับบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI บริษัทในเครือสหพัฒน์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ “บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SAN ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และ ICT Infrastructure ภายในสวนอุตสาหกรรมของ SPI ทั้ง 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ปราจีนบุรี, ลำพูน และตาก
  • ร่วมกับอมตะซิตี้ นำเทคโนโลยี 5G และโครงข่ายดิจิทัล เข้าไปยกระดับการทำงานในอมตะซิตี้ ชลบุรี สู่ Smart Cityเมืองอัจฉริยะภายใต้ชื่อ “บริษัท อมตะ เน็ทเวอร์ค จำกัด”
  • ตลอดจนการพัฒนา 5G Immersive Experience ผ่านเทคโนโลยี AR/VR สร้างคอนเทนต์สนับสนุนการท่องเที่ยว และพลิกโฉมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านการศึกษา และความบันเทิงเป็นครั้งแรกของเมืองไทย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ในภาพรวมของผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจโทรคมนาคมได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวและการปิดบริการชั่วคราว AIS Shop, Serenade Club และ AIS Telewiz
ในพื้นที่ตามประกาศของภาครัฐ
รวมถึง การสนับสนุนมาตรการของกสทช.เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ ทั้งการมอบดาต้าและค่าโทรฟรีในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลต่อรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ในส่วนธุรกิจเน็ตบ้านได้รับผลเชิงบวกจากการที่ลูกค้าต้องทำงานหรือเรียนหนังสือจากบ้าน ทำให้มีความต้องการติดเน็ตบ้านสูงขึ้นมาก ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์ COVID19 บริษัทมุ่งเน้นที่จะบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อคงความแข็งแรงของกระแสเงินสดให้สามารถลงทุนในธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุน 5G เพื่อการเติบโตในระยะยาว ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 ภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเปิดให้บริการ ประชาชนมีการปรับตัวใช้ชีวิตบนวิถีใหม่ หน้าที่ของเอไอเอส คือการนำ Digital Infrastructure ร่วมสนับสนุนและผลักดันให้คนไทย ภาคธุรกิจ และสังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจไปด้วยกัน ”

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^