กลายเป็นเรื่องร้อนส่งท้ายปีหนูเซาเลยทีเดียว หลังจากที่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่่ผ่านมา มีข่าวร้อนฉ่ากับวงการทีวีดิจิทัลว่า “ช่อง GMM25” จะปิดตัวลง อนาคตจะไม่มีซีรีส์วายจาก GMMTV ให้ดู หรือซีรีส์รสแรงของ Change 2561 ก็จะหยุดตามไปด้วย ความกังวลและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่จากข่าวนี้ ทำเอาหนึ่งในเจ้าของช่องอย่าง GMM Grammy รวมถึงดีเจ และศิลปินหลายคนต้องรีบออกมาห้ามไฟก่อนว่า GMM25 ไม่ได้ลงเอยตามข่าวลือ แค่มีการเปลี่ยนแปลงถึงแนวทางการบริหารเฉย ๆ
จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน (27 พฤศจิกายน) ไฟที่ร้อนก็ซาลง เพราะ GMM Grammy ได้เผยอย่างเป็นทางการว่าช่องวัน 31 (อีกช่องหนึ่งที่ GMM Grammy ไปร่วมลงทุนด้วย) เป็นฝ่ายเข้ามาขอซื้อกิจการ GMM25 ออกไป โดยมุ่งหวังในการพัฒนา GMM25 ให้เติบโตไปได้ในกลุ่มเป้าหมายและประสบความสำเร็จในธุรกิจทีวีดิจิทัลตามที่มุ่งหวังไว้ โดยใช้ประสบการณ์ตรงของช่องวันที่บริหารให้มีกำไรได้ในระยะเวลา 5 ปี และยังเสริมแกร่งให้ช่องวันในด้านของคอนเทนต์ที่ขาดไป เช่นละครวัยรุ่น ซีรีส์วาย ซีรีส์วัยรุ่น รวมถึงธุรกิจวิทยุ อีเว้นท์ และโชว์บิซ ที่จะมาเติมเต็มให้ช่องวันแข็งแกร่งกว่าเดิม
เบื้องลึกเบื้องหลังของดีลนี้เป็นอย่างไร ทำไมถึงลงเอยแบบนี้ วันนี้ (1 ธันวาคม) เราได้มีโอกาสไปนั่งคุยกับคนที่เข้าซื้อตัวจริง นั่นคือ “คุณบอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กันแบบตัวเป็น ๆ รวมถึงยังได้พูดคุยถึงอนาคตของ GMM25 ว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน และช่องวัน 31 กับ GMM25 จะมีการสร้าง Synergy อะไรร่วมกันในอนาคตบ้าง และอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลหลังการควบรวมของช่องวันและ GMM25 จะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อไปครับ
ทำไมถึงซื้อล่ะ?
เชื่อว่าทุกคนมีคำถามเหมือนกันหมด? นั่นคือ “ทำไมถึงซื้อ” ทั้ง ๆ ที่ ก่อนหน้านี้ตัวคุณบอยเองเป็นคนที่จัดการแยกบริหาร GMM Channel กับ GMM One (ในตอนนั้น) ให้คุณฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) กับตัวคุณบอยคนละช่องตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่สุดท้ายมาลงเอยที่ช่องวันกลับต้องมาบริหารทั้งสองช่อง มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
คำถามนี้ ถ้าตามหน้าสื่อที่ GMM Grammy บอกมา คือ “เพราะเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจคอนเท้นท์ ซึ่งทุกบริษัทในกลุ่ม GMM25 ล้วนมีผลงานเป็นที่สุดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะมาผนวกกับความแข็งแรงของช่องวัน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่ตั้งเป้าเติบโตทุกช่องทางในปีหน้า”
แต่เหตุผลจริง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็ตามที่ GMM Grammy เปิดเผยมา นั่นคือช่องวันเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจคอนเทนต์ของกลุ่มบริษัท GMM Channel Holding ทั้ง GMMTV/Change 2561/GMM Studios และ ATime Media ที่ทั้งหมดล้วนสามารถเติบโตได้มากกว่าอยู่บนทีวี เช่น ซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” ที่โด่งดังมากในโลกออนไลน์ รวมถึงสร้างชื่อเสียงให้สองนักแสดงนำทั้งในและต่างประเทศ และทำสถิติใหม่บนโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี แม้เรตติ้งทางโทรทัศน์จะไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ หรือละครรสแซ่บของช่องอย่าง “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ที่สร้างทั้งกระแสและเรตติ้งทั้งออนแอร์และออนไลน์ถล่มทลายทั่วบ้านทั่วเมือง ฉะนั้นแล้วถือว่าในด้านคอนเทนต์ กลุ่ม GMM Channel Holding โดดเด่นที่สุด ซึ่งเมื่อนำมารวมกับ ช่องวัน 31 ที่มีคอนเทนต์หลากหลาย ตอบโจทย์กลุ่มผู้ชมทั่วไปที่มีอยู่เดิมแล้ว จะทำให้คอนเทนต์ทั้งหมดสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเจาะโดยเฉพาะ
อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับตัวบริษัท The One Enterprise ที่มีแผนจะ IPO เข้าตลาดทุนในอนาคตให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้จุดขายเรื่อง “คอนเทนต์” เป็นหลัก ซึ่งการได้กลุ่ม GMM Channel Holding มา จะทำให้ด้านคอนเทนต์ของบริษัทแข็งแกร่งมาก เพราะเมื่อเจาะจงถึงรายละเอียดแล้ว The One Enterprise เป็นบริษัทเดียวที่มีคอนเทนต์ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ละครเพื่อคนดูทั่วไป (Mass market) จาก One31 / ซีรีส์และละครเพื่อคนรุ่นใหม่จาก GMMTV / ละครรสแซ่บที่สอดแทรกแนวคิดการใช้ชีวิตจาก Change 2561 / ซีรีส์ไทยคุณภาพระดับโลกจาก GMM Studios / ซีรีส์จากเรื่องเล่าในวิทยุสุดเฮฮาโดย ATime Media ทั้งหมดนี้สามารถตีมูลค่าให้ The One Enterprise กลายเป็น Content Provider ชั้นแนวหน้าของไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งดีลนี้ยังช่วยขจัดความความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพราะ GMM Grammy ก็ถือหุ้นอยู่ในทั้งสองช่อง ฉะนั้นถ้าหากช่องวัน IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีการจัดพอร์ตก่อน ก็อาจจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับ GMM Grammy ในอนาคต มันก็เลยเกิดเป็นดีลนี้ขึ้นมาในท้ายที่สุด
ดีลนี้คุณบอยยืนยันว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการอย่างเป็นมิตร โดยมีการพูดคุยร่วมกันทั้งสามผู้ลงทุน คือกลุ่มปราสาททองโอสถ กลุ่มไทยเบฟฯ และ GMM Grammy รวมถึงมีการพูดคุยกันมาแล้วกว่าหลายเดือนกว่าจะเข้าซื้อกิจการได้สำเร็จ ซึ่งภายหลังการเข้าซื้อกิจการ ช่องวัน GMM Grammy และกลุ่มไทยเบฟฯ ก็จะยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันทั้งในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านคอนเทนต์ที่ Change 2561 ก็จะยังเป็นคนทำคอนเทนต์หลัก ๆ ทั้งละคร รายการวาไรตี้ และรายการข่าวบันเทิง ให้กับช่อง Amarin TV ของไทยเบฟฯ เหมือนเดิม และยังคงความเป็นพันธมิตรกับกลุ่มไทยเบฟฯ เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ดีลนี้มีอะไรบ้าง?
ในรายละเอียดที่ GMM Grammy แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การซื้อขายกิจการครั้งนี้ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ONE) ที่เป็นกิจการค้าร่วมระหว่าง GMM Grammy กลุ่มนายถกลเกียรติ และกลุ่มปราสาททองโอสถ จะเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (GMMCH) ทั้งบริษัท ทั้งจากตัว GMM Grammy และจากผู้ถือหุ้นร่วมอีกกลุ่มหนึ่งนั่นคือ บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ของ ฐาปณ สิริวัฒนภักดี แต่ก่อนที่ ONE จะเข้าซื้อได้ GMM Grammy ต้องปรับโครงสร้างปัจจุบันของทั้งหน่วยธุรกิจเสียก่อน
นั่นคือ GMM Grammy ต้องซื้อหุ้น GMMCH คืนจากผู้ถือหุ้นเดิม (คุณบุษบา ดาวเรือง) 2 หุ้น เพื่อให้ GMM Grammy มีหุ้นใน GMMCH ครบ 10,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนบริษัทฯ แล้วดำเนิินการ “ซื้อหุ้น” บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (GMM25) บริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (CAN) และบริษัท เอไทม์ ทราเวลเลอร์ จำกัด (ATV) ออกจาก GMMCH ให้กับโฮลดิ้งใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทน
เมื่อการปรับโครงสร้างสำเร็จ ONE จะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด โดยมีรายละเอียดดังนี้
- รับซื้อจาก GMM Grammy จำนวน 10,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 120 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,200,000,000 บาท
- รับซื้อจาก บจ. สิริดำรงธรรม จำนวน 10,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,000,000,000 บาท
ภายหลังการปรับโครงสร้างและซื้อขายหุ้นแล้วเสร็จ GMMCH จะกลายเป็นบริษัทลูกภายใต้กิจการค้าร่วมเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ทั้งหมด ส่วนกลุ่มไทยเบฟฯ ก็สามารถถอนทุนออกจาก GMM25 ได้ตามที่หวังไว้ตั้งแต่ต้น โดยไม่เสียความเป็นพันธมิตรกับ GMM Grammy แต่อย่างใด
แล้วช่องวันได้อะไร? แกรมมี่ได้อะไร?
สิ่งที่ช่องวันได้แน่ ๆ จากดีลนี้คือบริษัทคอนเทนต์ต่าง ๆ ของ GMM Channel Holding ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น GMMTV, Change 2561, GMM Studios หรือแม้กระทั่งตัว ATime Media เป็นต้น และเช่นกัน GMM Grammy ก็ได้ช่อง GMM25 คืนจากกิจการร่วมค้า และยังได้บริษัท CAN ที่เป็นบริษัทบริหารศิลปินของ GMM25 เข้าพอร์ตบริษัทด้วย
แต่… ช่อง GMM25 ที่ได้คืนไป กลับเป็นช่องเปล่า ๆ ไม่มีทีมบริหารและผลิตรายการ รวมถึงประสบการณ์ของ GMM Grammy ในอุตสาหกรรมยังไม่ดีพอ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ช่องวันได้อีกอันหนึ่งจากดีลนี้คือ สิทธิในการทำการตลาดช่อง GMM25 และสิทธิในลิขสิทธิ์เนื้อหาและชื่อรายการทั้งหมดของ GMM25 ภายใต้สัญญาระยะยาวกับ GMM Grammy
สัญญานี้เป็นสัญญาที่จะผูกมัดว่า ONE ในฐานะบริษัทแม่ของ GMMCH จะต้องรับผิดชอบการบริหาร GMM25 ให้ด้วย จึงเป็นที่มาของข่าวว่าผู้บริหารของ GMM25 ถูกเปลี่ยนใหม่ยกชุด และทีมข่าวของ GMM25 ก็ถูกยุบและพนักงานถูกเลย์ออฟกว่า 190 คน เนื่องจากมีการปรับมาใช้ทีมข่าวและทีมผลิตรายการของช่องวันในการผลิตเนื้อหาแทน โดยมีค่าตอบแทนคือค่าตอบแทนจากสัญญาในก้อนแรก 67 ล้านบาท และรายได้จากการบริหารและการเช่าเวลาที่เป็นสิทธิ์ของ GMM25 ทั้งหมด จะถูกแบ่งส่วน 70:30 โดย ONE จะได้รับ 70% ของรายได้ทั้งหมด แต่ขณะที่ GMM Grammy จะได้รับ 30% ของรายได้ทั้งหมดแต่ไม่เกิน 70 ล้านบาท นั่นคือถ้าปีไหน GMM25 มีรายได้รวมเกิน 240 ล้านบาท GMM Grammy จะได้รายได้ 70 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดคือ 170 ล้านบาทจะเป็นของ ONE และลิขสิทธิ์ตัวรายการรวมถึงเนื้อหาทั้งหมดหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 จะเป็นของ ONE ด้วย ไม่ใช่เป็นของ GMM25 อีกต่อไป
ในขณะเดียวกันสัญญานี้ยังเป็นคำเตือนถึงกลุ่มปราสาททองโอสถที่มีแผนจะเข้ามาเพิ่มทุนช่องวันในอนาคตด้วย โดยถ้าหากในอนาคต ONE มีการเพิ่มทุนจนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ GMM Grammy ต่ำกว่า 10% หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจควบคุมใน GMMCH (เช่น ONE ขาย GMMCH ออกไป) สัญญาทั้งหมดจะเป็นโมฆะ และ ONE ในฐานะของบริษัทแม่ของ GMMCH อาจจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดให้ GMM Grammy ฐานผิดสัญญา และทำให้บริษัทเสียโอกาสในธุรกิจทีวีดิจิทัล
ดังนั้นสรุปได้ชัดเจนว่านอกจากบริษัทคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ช่องวันจะได้แล้ว GMM Grammy จะได้ช่องคืนพร้อมเงินกินเปล่าสองก้อน โดยก้อนหนึ่งได้หลังจากเซ็นสัญญา และอีกก้อนหนึ่งได้ทุกปี โดยการันตีผลตอบแทนสูงสุดที่ 70 ล้านบาท เท่ากับว่าตลอดระยะเวลาที่เหลือของใบอนุญาตจนถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2572 (8 ปี 4 เดือน) ถ้าช่องวันสามารถทำให้ GMM25 ได้รับกระแสตอบรับที่ดี รายได้แบบพีค ๆ เกิน 240 ล้านบาทตลอด GMM Grammy จะได้เงินก้อนรวมทั้งหมด 583.33 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา ซึ่งเงินก้อนนี้ GMM Grammy โดย GMM25 ยังคงต้องรับผิดชอบในการหัก 5% ของ 70 ล้าน เพื่อนำไปชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้กองทุน กทปส. ทุกปีเหมือนเดิม
อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น?
คำถามแรกที่ทุกคนสงสัยเลยคือ “GMM25 ปิดจริงหรือไม่?” คำตอบแบบชัดเจนเลยคือ GMM25 จะยังออกอากาศตามปกติเหมือนเดิมจนสิ้นใบอนุญาต ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการออกอากาศหรือการดำเนินการแต่อย่างใด (แค่ในทางกฎหมายคือเปลี่ยนเจ้าของเป็น GMM Grammy) เพียงแต่นับจากวันนี้ ONE จะเข้ามาช่วยจัดรายการให้มีความเหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย และกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ GMM25 ต่อไป
สิ่งแรกที่ ONE ทำให้ GMM25 เลย คือการจัดระบบเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดย GMM25 ในยุคเงาของช่องวัน จะกลับมาเน้นกลุ่ม Trendy / Always Young เหมือนเดิม และจะมีเรื่อง Music / Soft News เพิ่มเข้ามา จึงจำเป็นต้องโยกย้ายรายการบางรายการที่ไม่เหมาะสมกับความเป็น GMM25 ออกไปให้กับช่องวันและช่อง Amarin TV ที่เน้น Mass Market โดยรายการที่มีการยืนยันแล้ว ได้แก่รายการ Club Friday Show ที่ย้ายไปออกอากาศที่ช่อง Amarin TV และ Club Friday The Series 12 4 เรื่องสุดท้าย จะย้ายไปออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 21.30 น. ทางช่องวันตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ในส่วนของละครที่ผลิตให้ GMM25 บางเรื่องก็จะถูกย้ายไปช่องวันเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กระเช้าสีดา/สายรุ้ง ของ Change 2561 เป็นต้น
นั่นคือแผนระยะเบื้องต้นที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในระยะยาวทั้งกลุ่ม ONE ก็จะยังคงตอบโจทย์ในด้านคอนเทนต์ให้กับทุกช่องอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ Change 2561 จะเน้นทำละครป้อน 3 ช่องหลัก คือ One 31, ช่อง 3 HD และอมรินทร์ทีวีตามปกติ โดยกรณีของ GMM25 จะมีการพิจารณาเป็นรายเรื่อง เพราะด้วยลักษณะการทำละครของ Change 2561 แล้ว อาจจะไม่เหมาะสมกับความเป็น Trendy และ Always Young ของ GMM25 สักเท่าไหร่ GMMTV จะกลับมาผลิตซีรีส์วัยรุ่นออกอากาศควบทั้งสองช่องเหมือนเดิม โดยเน้นช่อง GMM25 เป็นหลัก และมีซีรีส์ออกอากาศในช่วง Primetime ครบ 7 วันจันทร์ถึงอาทิตย์ GMM Studios ก็จะเน้นคอนเทนต์คุณภาพระดับโลกที่จะก้าวไกลไปมากกว่าในเอเชีย ATime Media ก็จะผลิตวาไรตี้ใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิด “Beyond Radio” รวมถึงนำ “แฉแต่เช้า” กลับมาสร้างสีสันตลาดข่าวยามเช้าในรูปแบบ Soft News Show ย่อยเนื้อหาให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน รวมถึงมีซีรีส์ใหม่ลงทั้ง GMM25 และ One 31 และแน่นอนตัว ONE เองก็จะร่วมผลิตรายการ ข่าวและวาไรตี้ รวมถึงละครลง GMM25 เพิ่มอีกหนึ่งช่องเช่นกัน เพื่อให้คอนเทนต์ต่าง ๆ ของกลุ่ม ONE มีเนื้อหาที่หลากหลาย และตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
และไม่ใช่แค่นั้น ในอนาคตอาจจะได้เห็นการ Synergy กันในกลุ่ม เช่นละครวัยรุ่นรสแรงโดย Change 2561 ที่นำแสดงโดยนักแสดงตัวท็อปของ GMMTV และช่องวัน หรืออาจจะได้เห็นนักแสดงช่องวันไปเล่นซีรีส์ GMMTV หรือซีรีส์ระดับโลกของ GMM Studios ก็เป็นได้ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับคอนเทนต์ และกลุ่มผู้ชมของทั้งสองช่อง และน่าจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากสำหรับดีลนี้
ดังนั้นในอนาคต ทิศทางที่ GMM25 จะเดินไป ก็ยังเหมือนเดิมคือจะยังคงความเป็น Forever Young เพิ่มเติมคือจะแข็งแกร่งขึ้นเพราะมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ได้อย่างหลากหลาย ซีรีส์วายจากเดิมที่มีปีละ 2-3 เรื่องก็จะมีมากขึ้นจากความสำเร็จของ ไบรท์-วิน รวมถึงวาไรตี้เด็ด ๆ จาก ATime Media, GMMTV และ ONE ก็จะมีให้ดูมากขึ้นใน GMM25 เช่นกัน และ ONE เองก็จะเปลี่ยนฐานะ จากผู้ผลิตของช่อง One 31 สู่การเป็น Content Provider รายใหญ่ ที่มีทุกอย่างครบถ้วนทั้งทีมผลิตที่มีประสบการณ์ในทุก ๆ ตลาด สตูดิโอถ่ายทำขนาดใหญ่ และทีมบริหารคอนเทนต์ที่สามารถคัดเลือกคอนเทนต์ลงแต่ละช่องได้อย่างลงตัว
ส่งท้าย
ตลอดการแถลงข่าวในวันนี้ เชื่อว่าสิ่งที่ช่องวันอยากจะสื่อคือไม่ได้ซื้อกลุ่ม GMM Channel Holding มาเพราะอยากช่วยเหลือ GMM25 ที่กำลังตกที่นั่งลำบากจากกรณีการขาดทุนติดต่อกันถึง 800 ล้านบาทตามที่หลาย ๆ สำนักได้พูดถึง แต่ซื้อเพราะคำว่า “คอนเทนต์” ล้วน ๆ เพราะที่นั่งฟังมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคุณบอยเอง หรือแม้แต่ผู้บริหารคนอื่น ๆ ก็มุ่งเน้นไปที่ “คอนเทนต์” หมด ไม่ได้พูดถึงตัวช่อง GMM25 แต่อย่างใด และทุกคนล้วนเชื่อมั่นว่า ในอนาคต คอนเทนต์จากกลุ่ม ONE ก็จะเติบโตไปได้มากกว่านี้ และน่าจะได้กลายเป็นเจ้าตลาดที่น่ากลัวและสามารถสู้กับสองช่องหลักได้อีกรายหนึ่ง
ถ้าอ่านกันจนถึงบรรทัดนี้ น่าจะมองภาพออกกันแล้วว่า ความเป็นเจ้าคอนเทนต์ที่ช่องวันกำลังจะมุ่งไป จะมีหน้าตาออกมาในรูปแบบไหน ไม่ต้องอื่นไกลมาก นับจากนี้อีกสองวันคือวันที่ 3 ธันวาคม GMMTV จะมีแถลงเปิดตัวซีรีส์และละครชุดใหม่ที่จะออกอากาศในปีหน้า ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของ GMMTV ในร่มเงาช่องวัน ว่าจะสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ในรูปแบบใด และคอนเทนต์ Primetime ที่หมายมั่นออกอากาศ 7 วันรวด จะมีหน้าตาแบบไหน และจะสามารถครองใจผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้หรือไม่
แต่เชื่อว่าปีหน้า สิ่งที่เราจะได้เห็นจากทั้งช่องวันและ GMM25 ก็คงจะเป็นการสร้างจุดยืนและ Positioning ของแต่ละช่องให้มีความชัดเจนมากขึ้น และเมื่อทุกอย่างชัดแล้ว ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคอนเทนต์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และน่าจะทำให้ GMM25 กลับมายืนในฐานะ Top 10 ของทีวีดิจิทัลได้อย่างสมภาคภูมิต่อไป หรือช่องวันอาจจะกลายเป็น Top 3 ของตารางแทน Mono 29 ในอนาคตก็ได้
ตอนนี้ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ทั้งสองช่องเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งช่องวันเดินถูกมาหลายปี ในขณะที่ GMM25 ยังไม่ค่อยชัดเจนใน Positioning ตัวเองสักเท่าไหร่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะทำให้ GMM25 เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้เช่นกัน และเราจะคอยดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากดีลนี้ต่อไปครับ 😀