AIS ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทงวดประจำปีการเงิน 2563 (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563) ยังคงโชว์ศักยภาพผู้นำเครือข่ายอันดับหนึ่งตัวจริงด้วยรายได้รวม 172,890 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน 4.4% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 28,423 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 8.9% ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจาก COVID-19 และการที่ไม่สามารถติดต่อทางการค้ากับต่างประเทศได้
ในด้านภาพรวมธุรกิจ ธุรกิจมือถือยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของ AIS โดยในปี 2563 โดยมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 118,082 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6.5% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ลูกค้ากลับโตสวนกระแสโดย AIS มีลูกค้ารวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 41.4 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นระบบรายเดือน 10,192,400 เลขหมาย โตขึ้นจากปีก่อน 12% และระบบเติมเงิน 31,244,400 เลขหมาย ลดลงจากปีก่อน 5.1% ในภาพรวมยอดลูกค้าลดลงจากปีก่อน 1.4% เป็นผลจากมาตรการปิดประเทศ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และยอดนักท่องเที่ยวลดหาย แต่ลูกค้ารายเดือนที่โตขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบจากระบบเติมเงินเป็นระบบรายเดือนจากโครงการส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือ เลยทำให้ในภาพรวมยอดผู้ใช้ไม่ได้ปรับลดลงมาก ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า (ARPU) ในปี 2563 ลดลงจากเดิมเหลือ 234 บาท
ในด้านเครือข่ายปัจจุบันลูกค้าส่วนหลักเป็นลูกค้าในระบบ 4G ที่มียอดผู้ใช้งานเติบโตเป็น 77% ของลูกค้า AIS ทั้งระบบ และในด้าน 5G หลังจากเปิดเครือข่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงสิ้นปีการเงิน AIS มียอดลูกค้าในระบบ 5G ที่ 239,000 ราย คิดเป็น 2.4% ของลูกค้าในระบบรายเดือน โตมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึงหนึ่งเท่าตัว มีอุปกรณ์ 5G ในระบบ 376,000 ชิ้น รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า (ARPU) อยู่ที่ 600 บาท เพิ่มขึ้นจากยอดเฉลี่ยของระบบรายเดือน 10% สำหรับแผนขยายโครงข่าย 5G ปัจจุบัน AIS ขยายโครงข่ายแล้วในพื้นที่ 25 หัวเมืองหลัก มากกว่า 2,400 สถานีฐาน โดยในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ EEC มีสัญญาณครอบคลุมแล้วมากกว่า 90-95%
สำหรับธุรกิจเน็ตบ้าน AIS Fibre ในปีนี้มีการเติบโตแบบมีนัยยะสำคัญจากมาตรการของรัฐ ทั้งการปิดเมือง มาตรการให้ประชาชนพักอาศัยอยู่บ้าน และมาตรการในการสนับสนุนให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านหรือ Work from Home มาตรการทั้งหมดนี้ทำให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตประจำบ้านเพิ่มมากขึ้น โดย AIS มียอดลูกค้า AIS Fibre ในระบบ ณ สิ้นปี 2563 ที่ 1.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 29% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมของ AIS Fibre ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ในระบบโตขึ้น 10-13% ครองส่วนแบ่งในตลาดเน็ตบ้านที่ร้อยละ 12% เป็นอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม ในด้านรายได้ AIS Fibre มีรายได้รวมสุทธิอยู่ที่ 6,959 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 22% แต่รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า (ARPU) กลับลดลงจากปีก่อน 11% เหลือ 476 บาท เนื่องจากการแข่งขันในตลาดรุนแรงและผู้ให้บริการรายต่าง ๆ เน้นเสนอแพ็คเกจในราคาต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นผลให้ AIS ต้องปรับตัวตามและทำให้ ARPU ในส่วนของเน็ตบ้านลดลง
สำหรับธุรกิจองค์กรและนิติบุคคล ในปีนี้มีปัจจัยจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีเร็วกว่าปกติ โดย AIS มีโซลูชันพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันครบถ้วนทั้งด้าน Non-Voice และ Voice โดยมีรายได้รวม 4,552 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 1% และด้าน Non-Voice มีรายได้โตขึ้นถึง 6% คิดเป็น 2.7% ของรายได้จากค่าบริการหลักของ AIS แม้จะมีช่วงหนึ่งที่รายได้ลดลงแต่ก็สามารถฟื้นตัวได้จากการตอบรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่ต้องการโซลูชันด้าน Cloud/Data Center/Enterprise Solution เป็นต้น
สำหรับธุรกิจการขายอุปกรณ์สื่อสารและซิม ในปีนี้มียอดโตขึ้นถึง 72% เทียบกับ Q3/21 โดยเป็นผลจากมาตรการช้อปดีมีคืนของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ประชาชนออกมาซื้อหาสินค้าเพื่อนำไปลดภาษี รวมถึงการเปิดตัวของ iPhone 12 Series ที่ช้ากว่ากำหนดการเดิม แม้ทำให้ยอดโตขึ้น แต่รายได้กลับลดลงจากเดิมเหลือ 29,574 ล้านบาท หรือ 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยเรื่อง iPhone 12 ขายช้าเช่นกัน ทั้งนี้อัตรากำไรจากการขายอุปกรณ์สื่อสารและซิมยังทรงตัวที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.1 ของปีก่อน
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพรวมได้ว่า AIS ยังคงสามารถบริหารธุรกิจเพื่อคงความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ AIS มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) โดยไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16 (TFRS16) อยู่ที่ 76,618 ล้านบาท ลดลง 2.7% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการลดลงของรายได้ และมีกำไรสุทธิ 28,423 ล้านบาท ลดลง 8.9% เทียบกับปีก่อน โดย AIS ยังคงนโยบายในการจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ โดยในครึ่งปีหลังนี้ AIS จ่ายเงินปันผลที่ 3.68 บาทต่อหุ้น หรือประมาณ 75% ของกำไรสุทธิ ในวันที่ 20 เมษายน 2564
สำหรับการลงทุนในปี 2564 AIS ได้จัดสรรงบในการลงทุน (CAPEX) ไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท (ไม่รวมเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 28GHz และ 3500 MHz ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้) สำหรับใช้ในสามเรื่องหลัก ได้แก่ การขยายโครงข่าย 4G และ 5G จากการใช้คลื่นความถี่ในมือให้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเน็ตบ้าน AIS Fibre ที่มุ่งเน้นการขยายโครงข่ายให้ครบทุกพื้นที่ 77 จังหวัด และการพัฒนาบริการด้าน Enterprise เพื่อรองรับต่อความต้องการในการเปลี่ยนผ่านขององค์กรที่คาดว่าจะยังมีผลอยู่จากการระบาดของโรค COVID-19
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2564 AIS ยังคาดหวังการเติบโตในตัวเลขระดับต่ำ โดยคาดหวังจากสามประเด็นได้แก่
(1) การฟื้นตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย AIS จะยังคงมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ 5G รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอต่อลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยการคาดการณ์ตลาดที่อุปกรณ์ 5G ในปี 2564 จะยังคงมีราคาเฉลี่ยที่สูงในระดับ 10,000 บาทขึ้นไป
(2) การคงไว้ซึ่งการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตประจำบ้านที่สูงกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรม ด้วยความต้องการในการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำบ้านที่พุ่งขึ้นสูงจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 AIS มุ่งหวังในการขยายโครงข่าย AIS Fibre เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ พร้อมทั้งสร้างแพ็คเกจราคารูปแบบใหม่ที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด ทั้งหมด AIS ตั้งเป้าลูกค้าที่ 1.6 ล้านราย เพื่อขึ้นเป็น Top 3 ของเน็ตบ้านประเทศไทย และคาดหวังรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (ARPH; Average revenue per household) ที่โตขึ้นจากแพ็คเกจใหม่ ๆ
(3) การเติบโตของธุรกิจสนับสนุนภาคองค์กรในระดับสองหลัก ด้วยความต้องการอย่างต่อเนื่องของภาคองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่การเป็น New Normal AIS คาดหวังว่าความแข็งแกร่งจากบริการ Enterprise และ Cloud Solution ต่าง ๆ จะช่วยผลักดันให้องค์กรสามารถก้าวเข้าสู่การเป็น New Normal ได้อย่างรวดเร็ว