วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) AIS โดย AWN ได้เดินหน้าแผนขยายโครงข่าย 5G ครั้งใหญ่ ด้วยการเข้าชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz (25.2-26.4 GHz) ที่ AWN เป็นผู้ชนะการประมูลเป็นจำนวนเงิน 5,719.15 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และพร้อมรับใบอนุญาตในการดำเนินการทันที
AIS ตั้งเป้านำคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ออกให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ด้วยคุณสมบัติหลักของคลื่น 26 GHz ที่เป็นย่านความถี่สูงและมีปริมาณแบนด์วิธมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นคือ 1200 MHz รวมถึงมีความหน่วงเวลา (Latency) ที่ต่ำมาก และมีความเร็วเทียบเท่าการติดตั้งสายไฟเบอร์ ทำให้สามารถออกแบบเครือข่าย ติดตั้งอุปกรณ์ และวางสถานีฐานได้สอดคล้องกับลักษณะของการทำธุรกิจ และการใช้อุปกรณ์ในสายพานการผลิตของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณแต่อย่างใด
เพื่อให้เห็นภาพในเรื่องนี้มากขึ้น AIS จึงได้ร่วมมือกับ เอสเอ็นซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของไทยในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5G มาติดตั้งในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการทำงานในสามส่วนหลัก ได้แก่ 5G AGV เป็นการใช้ 5G สั่งการและควบคุมรถ AGV (Automated Guided Vehicles) ในการขนส่งชิ้นส่วนภายในโรงงาน 5G Smart Robot เป็นการใช้ 5G ควบคุม สั่งการ ในส่วนของแขนกลหุ่นยนต์ที่ใช้งานในสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง และ 5G Active Dashboard เป็นการประยุกต์ใช้ 5G ในการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อที่ให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา AIS และ SNC ได้ทดลองเครือข่ายและประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากคน (Human Error) สร้างความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ และสามารถปรับปรุงโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนนำไปสู่การเป็นต้นแบบของ Smart factory ได้อย่างแท้จริง
จากการชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ในครั้งนี้ ทำให้ AIS มีคลื่นความถี่ 5G ที่ถือครองในมือครบ 3 ย่านครอบคลุมทั้งย่านสูง กลาง และต่ำ ได้แก่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวมแล้วกว่า 1,330 MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมแล้ว AIS จะมีคลื่นความถี่รวม 1,420 MHz (ไม่รวมคลื่นความถี่ความร่วมมือกับ NT) ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ AIS วางแผนขยายโครงข่าย 5G อย่างต่อเนื่องภายใต้งบการลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาท เพื่อสร้างประโยชน์แก่คนไทยและภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว และยังเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะที่แข็งแกร่งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป