AIS จับมือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กลุ่มบริษัท PMH ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์แบรนด์ POMO กลุ่มผู้ประกอบกิจการบริหารท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ร่วมฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวในไทยด้วยโครงการ “กักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine” ครั้งแรกในไทยด้วยศักยภาพของเครือข่าย AIS NB-IoT เครือข่าย IoT ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และนวัตกรรมสายข้อมือเพื่อสุขภาพแบบอัจฉริยะโดย POMO
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กลุ่มผู้ประกอบการท่าเรือในอ่าวปอ ได้จัดขึ้นเพื่อต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือ Private Yacht จากประเทศต้นทางเข้าสู่น่านน้ำประเทศไทย โดยกลุ่มนักเดินทางจะต้องติดต่อกับ Agency เพื่อขออนุมัติการนำเรือ Private Yacht เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักร และเมื่อถึงน่านน้ำประเทศไทยแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดภูเก็ต ทีมแพทย์ และทีมงานของท่าเรือ เข้าไปให้บริการตรวจสุขภาพ ทำการ Swap หาเชื้อไวรัส COVID-19 และนำอุปกรณ์ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวกลับสู่ท่าเทียบเรืออ่าวปอด้วยเครือข่าย AIS NB-IoT บนคลื่น 900 MHz ที่มีรัศมีและระยะทางในการส่งสัญญาณถึง 10 กิโลเมตร ครอบคลุมน่านน้ำรอบเกาะภูเก็ต ไปจนถึงอ่าวพังงาทั้งหมด ซึ่งเมื่อหลังจากครบ 14 วันแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบความเสี่ยงในการมีเชื้อไวรัส COVID-19 หากไม่มีก็จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเทียบเรือขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป
อุปกรณ์ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ของโครงการในครั้งนี้ พัฒนาขึ้นโดย POMO โดยเป็นการนำอุปกรณ์สองรุ่นคือ POMO Active 10+ และ POMO Smartwatch Active 30+ ที่เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใช้บนเกาะ Cayman ซึ่งได้รับผลอย่างดี มาปรับใช้โดยการติดตั้งชิปรับส่งสัญญาณ NB-IoT ของ AIS เพื่อให้นักท่องเที่ยวใส่ติดตัวตลอดเวลาที่กักตัวอยู่บนเรือยอชต์ อุปกรณ์นี้จะสามารถวัดค่าชีพจร ค่าความดัน อุณหภูมิของร่างกายได้แบบ Realtime และหากเกิดปัญหาขึ้น หรือนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือก็สามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนขึ้นชายฝั่งได้ทันท่วงที
กลุ่มสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) ระบุว่าตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนตุลาคม 2563 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวน 100 ลำ ต่อลำมีนักท่องเที่ยวประมาณ 8-15 คน ทั้งหมดมีสถิติการติดเชื้อเป็นศูนย์คือไม่พบเชื้อ และนักท่องเที่ยวเองก็รู้สึกมีความสุขกับการกักตัวบนเรือมากกว่าการกักตัวที่โรงแรมอีกด้วย
โครงการดังกล่าวถือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ให้บริการเครือข่ายและ Startup ไทย เข้ามาเสริมขีดความสามารถด้านบริการสาธารณสุขอีกขั้น ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและกระตุ้นแรงจูงใจของนักท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างรวดเร็วแข็งแกร่งและคึกคักอีกครั้ง