ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Line Mobile ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พร้อมอัดโปรโมชันทางการตลาดอย่างหนักจนทุกคนหวั่นใจ แต่เพียงชั่วข้ามคืน กลับเกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อ AIS และ TrueMove H พร้อมใจกันร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. เรื่องสถานะที่แท้จริงของ Line Mobile ว่า Line Mobile ใช่ dtac ตามที่เคยมีข้อมูลรายงานออกมาหรือไม่ ด้วยความคลุมเครือรวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กสทช. จึงได้มีคำสั่งตั้งทีมสอบสวน Line Mobile รวมถึงเชิญ dtac และ Line Mobile มาพูดคุยด้วยกันเพื่อหาความชัดเจน วันนี้ (28 กันยายน 2017) dtac ได้จัดงานแถลงข่าวพิเศษเพื่อยืนยันสถานะของ Line Mobile ให้ได้รับทราบกันอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
dtac ยืนยันหนักแน่น Line Mobile “คือ dtac” เริ่มกันเองในบ้านเรานี่แหละ
ผู้ที่คลายทุกข้อสงสัยในครั้งนี้คือ คุณแอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดิจิทัล หรือ CDO ของ dtac โดยคุณแอนดริวให้คำยืนยันว่า Line Mobile คือทีมเฉพาะกิจของ dtac TriNet หรือ dtn พนักงานทั้งหมดถือเป็นพนักงานของ dtac และทีมนี้ขึ้นตรงต่อคุณแอนดริวโดยตรงโดยไม่ผ่านใครเลยแม้แต่น้อย
การตั้ง Line Mobile มีที่มาจากการที่ทาง dtac ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างของบริษัทใหม่ทั้งหมดด้วยการแยกกลุ่มบริหารเป็น 6 กลุ่มเมื่อต้นปี 2560 แต่จากการเติบโตด้านดิจิทัลที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเข้าไปมากขึ้น ทำให้ dtac ตัดสินใจตั้งกลุ่มธุรกิจดิจิทัลขึ้นมาเสริมเป็นกลุ่มที่ 7 เพื่อช่วยในการเปลี่ยนให้ dtac เป็นผู้นำด้านบริการดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยมีคุณแอนดริวที่ย้ายมาจาก dtac Accelerate และคุณปานเทพย์ นิลสินทพ ย้ายจาก paysbuy เป็นผู้บริหารหลักในกลุ่มธุรกิจนี้
กลุ่มดิจิทัลมีหน้าที่หลักๆ คือการดูแลบริการหลังการขายแบบดิจิทัลในทุกแพลตฟอร์ม หรือก็คือบริการ e-Service และแอปฯ dtac ดูแลร้าน dtac Online Store และขยายช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าด้วย Online Channel ทั้ง Facebook, Google และ Line Official Account เป็นกระบอกเสียงแบบออนไลน์ให้กับลูกค้า วางกลยุทธ์ด้านออนไลน์และดิจิทัลให้กับ dtac และสุดท้ายคือลงทุนในหน่วยธุรกิจใหม่ ๆ หรือก็คือเป็นการควบรวมทีม dtac Accelerate มาอยู่ภายใต้กลุ่มนี้
หลังจากที่ได้เป้าหมายอย่างชัดเจน ประกอบกับมีสายเลือดใหม่ใน dtac อยากลองของด้วยการให้บริการโทรศัพท์มือถือตั้งแต่การตั้งไข่ กลุ่มดิจิทัลที่มีหน้าที่ในการลงทุนในหน่วยธุรกิจใหม่ ๆ จึงเข้ามาสนับสนุนโครงการ พร้อมทั้งติดต่อซื้อลิขสิทธิ์การใช้งานแบรนด์ Line Mobile จาก Line Corporation และร่วมมือในการทำการตลาดด้วยกันกับ Line Corp ประเทศไทย และนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของ Line Mobile ภายใต้การดำเนินงานเต็มรูปแบบโดย dtn ภายใต้ใบอนุญาตฯ ของ dtn เอง ซึ่งการบริหาร Line Mobile นั้น เป็นการบริหารในแบบที่แยกขาดการกับ dtac โดยสิ้นเชิง เพราะการบริหารงานของ dtac นั้นขึ้นตรงต่อ Chief Marketing Officer โดยเฉพาะ ซึ่งจุดประสงค์ก็คือเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างสองแบรนด์ (disrupt) ภายใต้การดำเนินงานของ dtac เอง และย่อมทำให้ dtac รู้ว่า Positioning ของบริษัทจะต้องก้าวไปทางไหนต่อไป และจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในแบรนด์อย่างไร
ดังนั้นจึงสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า Line Mobile เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของ dtac หรือในกรณีต้นแบบ ก็เปรียบเสมือนกับ You Mobile ของ AWN ที่เปิดตัวไปเมื่อสามปีที่แล้วนั่นเอง
เพราะเราไม่มีต้นทุน เราจึงกล้าให้มากกว่า
คำถามต่อไปที่หลายคนสงสัย คือทำไมค่าบริการถึงได้ถูกกว่าตลาดเป็นพิเศษ แถมยังกล้ามอบส่วนลด 50% ในช่วงแรกของการให้บริการ dtac ให้คำตอบว่าเป็นเพราะ Line Mobile ใช้การให้บริการในรูปแบบ Online Service ทั้งหมด ทำให้ไม่มีต้นทุนในเรื่องการบริหารงานแบบ Offline เช่น ค่าเช่าที่ตั้งร้าน ค่าวางระบบหน้างาน หรือค่าจ้างพนักงานสำหรับให้บริการเป็นต้น และนั่นจึงทำให้ dtac กล้าตั้งราคาค่าบริการของ Line Mobile ในรูปแบบที่ถูกกว่าผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ในตลาดรวมถึงฝั่ง dtac ด้วยกันเอง
อนึ่ง การบริหารงานของ Line Mobile เป็นการดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตประกอบการของ dtn นั่นหมายความว่า Line Mobile ไม่มีต้นทุนเรื่องค่าใบอนุญาต คลื่นความถี่ และค่าดำเนินการจิปาถะอะไรอื่นๆ ซึ่งต้นทุนเหล่านั้น dtn ต้องชำระตามปกติจากการให้บริการของ dtac อยู่แล้ว สิ่งที่เพิ่มขึ้นมามีเพียงแค่ค่าลิขสิทธิ์การใช้งานแบรนด์เท่านั้น
อยากจะย้ำอีกสักครั้ง “เราไม่ใช่ MVNO”
สำหรับในประเด็นที่ทุกคนสงสัย Line Mobile ใช่ MVNO หรือไม่นั้น เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นขอยกความหมายของคำว่า MVNO หรือ “ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน” ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. 2556 ดังต่อไปนี้
“ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน” (MVNO) ซื้อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก “ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ” (MNO) เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ใช้บริการในนามของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับกรณีนี้ คือ Penguin ซื้อบริการโครงข่ายเสมือน 850 MHz ของ กสท. โทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มาขายต่อและให้บริการเองภายใต้แบรนด์ Penguin และมีนิติบุคคลคือ บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการตรงนี้ บจก. เดอะ ไวท์สเปซ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบการประเภท 1 และได้รับอนุญาตในการดำเนินการจาก กสทช. ก่อน ถึงจะสามารถเข้าซื้อบริการโครงข่ายเสมือนต่อไปได้
แต่สำหรับ Line Mobile นั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะ Line Mobile เป็นการดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตของ dtn ที่เป็น MNO และออกใบแจ้งค่าบริการในนาม บจก.ดีแทค ไตรเน็ต โดยตรง ดังนั้น Line Mobile จึงไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประเภทนี้เพื่อเปิดดำเนินการต่อไปนั่นเอง
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต่างประเทศเขาก็ทำกัน
dtac อธิบายเสริมว่าตำแหน่งของ Line Mobile ถือเป็นแบรนด์ดำเนินการแบรนด์ที่สองของ dtac และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ GSMA Intelligence ได้ให้นิยามของคำว่าแบรนด์ที่สองว่า แบรนด์ที่ 2 คือกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อจำกัดกรอบของกลุ่มเป้าหมายให้เล็กลง ซึ่งในต่างประเทศเอง MNO ก็็ต่างมีแบรนด์ลูกให้บริการกว่า 260 แบรนด์ทั่วโลก ซึ่งทวีปยุโรป เป็นทวีปที่มีแบรนด์ลูกให้บริการเยอะที่สุดในโลก
แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เคยมีแบรนด์ที่สองเปิดดำเนินการมาก่อนหน้านั้น นั่นคือ You Mobile ของ AIS ที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตของ AWN และรูปแบบธุรกิจก็เหมือนกับฝั่ง Line Mobile เกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่ว่า AIS ใช้ช่องทางที่มีอยู่แล้วอย่างร้าน AIS Shop หรือ Telewiz ในการให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า
สรุป “ไม่ว่าแบรนด์ไหนก็อยู่บ้านเดียวกัน”
dtac ให้คำยืนยันอย่างหนักแน่นว่า Line Mobile ก็คือ dtac 100% ลูกค้าของ Line Mobile ก็คือลูกค้าของ dtac และ dtac เองยินดีน้อมรับคำติของ Line Mobile ไปแก้ไขทุกประการ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเคลียร์แล้ว ก็เหลือเพียงแต่ว่า Line Mobile จะทำตลาดตอบโจทย์ลูกค้าไปได้มากน้อยเพียงแค่นั้น
สถานการณ์ที่เหลือในตอนนี้คือ “คนที่ไม่ถูกใจ” จะเข้าใจ dtac เหมือนกับคุณผู้อ่านหรือไม่ การประชุมนัดสำคัญในเร็ว ๆ นี้ คงเป็นเครื่องยืนยันคำตอบได้ดี เพราะ dtac เองก็เชื่อว่า “เราคงไม่โดนสั่งหยุดให้บริการ Line Mobile อย่างแน่นอน”