ข่าวสั้น

Microsoft เปิดตัว “Windows 11” อัปเดต Windows ครั้งใหญ่ในรอบ 6 ปี เปลี่ยนหน้าตาใหม่หมด ให้ทำงานได้สนุกขึ้น

แม้ Microsoft จะยืนยันมาหลายต่อหลายครั้งว่า “Windows 10” จะเป็นระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows รุ่นสุดท้าย พร้อมยืนแนวทาง WaaS (Windows as a Service) มานานกว่า 6 ปี ล่าสุดวันนี้ Microsoft ได้เปิดตัว “Windows 11” อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิดใหม่หมดจดว่า “สร้างประสบการณ์ใหม่ ให้คุณใกล้ชิดกับสิ่งที่รักยิ่งขึ้น” ถือเป็นการอัปเดตเลขรุ่นครั้งใหญ่ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่เปิดตัว Windows 10 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015

สาเหตุที่ Microsoft ตัดสินใจฉีกคำพูดตัวเอง Panos Paney หัวหน้าฝ่าย Windows ก็ได้อธิบายเหตุผลว่ามีสาเหตุมาจากรูปแบบการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 18 เดือน ผู้ใช้เริ่มใส่ใจความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่เน้นการใช้งานเชิงฟังก์ชันเหมือนแต่ก่อน Microsoft จึงถือโอกาสอัปเดตระบบปฏิบัติการ (ที่แต่เดิมมีกำหนดทุก ๆ 6 เดือนอยู่แล้ว) ให้เป็น Generation ใหม่ ที่มีความสดใสมากขึ้น และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นนั่นเอง

โดยของใหม่ที่มาพร้อมกับ Windows 11 จะมีหลัก ๆ 3 อย่างภายใต้แนวคิด “Create / Connect / Play” ดังนี้ครับ

Create ประสบการณ์ใหม่ ด้วย UI ใหม่หมดจด

เริ่มกันที่ของใหญ่ชิ้นแรกใน Windows 11 นั่นคือ UI ที่ได้รับการออกแบบใหม่หมดจด ถือเป็นการรีเฟรชหน้าตา Windows ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี นับตั้งแต่การเปิดตัว Windows Aero ใน Windows Vista เมื่อปี 2007 ลากยาวมาจนถึง Modern UI ใน Windows 8 เมื่อปี 2012 และใช้งานต่อเนื่องมาจนถึง Windows 10 ในปัจจุบัน

หน้าตาใหม่ของ Windows 11 จะเป็นการนำรูปแบบดีไซน์ Fluent Design System ของ Microsoft ที่เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2017 มาปรับปรุงหน้าตา Windows ให้ทันสมัยมากขึ้น มีความสะอาดและสวยงามมากขึ้น เริ่มกันที่ Taskbar และ Start Menu ที่มีความคลีนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และย้ายกลุ่มไอคอนจากเดิมที่ชิดซ้ายมาจัดอยู่ตรงกลางเหมือน UX ของ Windows 10X ที่เคยประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน Microsoft ให้เหตุผลว่าการย้าย Start Menu และไอคอนมาอยู่ตรงกลาง ก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถโฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ดีมากขึ้น เป็นแนวทางเดียวกับระบบปฏิบัติการสมัยใหม่อย่าง Android / iOS / macOS ที่ยึดแนวทางการวางไอคอนไว้ตรงกลาง

ใน Start Menu ก็มีการรื้อหน้าตาใหม่ทั้งหมด ยกเลิก Live Tiles ที่ผลักดันมาตั้งแต่ Windows 8 และการจัดกลุ่มไอคอนใน Windows 10 เหลือเพียงแค่แสดงไอคอนแอปฯ ที่หมุดไว้บน Start Menu และรายการไฟล์ที่ใช้งานล่าสุด ซึ่งไฟล์ทั้งหมดนี้หากใช้งานบน OneDrive หรือ Microsoft 365 ก็จะสามารถ Sync รายการไฟล์ล่าสุดขึ้นมาแสดงได้ทันที แม้ผู้ใช้เปิดไฟล์เอกสารบน Android / iOS / macOS ก็ตาม

ในด้าน UI ก็มีการปรับมุมขอบทั้งสี่ด้านให้โค้งมนเหมือน macOS (ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมสมัยนิยมในปัจจุบัน) ซึ่งมีผลทั้งแอปฯ แบบ Windows API หรือ Win32 ดั้งเดิม / Universal Windows Platform หรือ UWP และ Progressive Web App หรือ PWA เหมือนงวด Windows Aero ที่เป็นการอัปเดตไปที่ Windows API โดยตรง

นอกจากหน้าต่างที่มีความโค้งมนแล้ว ในโอกาสนี้ Microsoft ยังถือโอกาสอัปเดต Windows Snap ให้สามารถจัดกลุ่มแอปได้ง่ายขึ้น มีตัวเลือกการจัดกลุ่มแอปฯ มากขึ้น และยังได้อัปเดตฟีเจอร์ Multi-Desktop ให้มีความเป็นตัวเองมากขึ้น สามารถแยกหน้าจอการทำงานได้เป็นอย่างดีว่าหน้าจอนี้ใช้ทำอะไรเป็นต้น

Connect หากันง่ายขึ้น เข้าถึงโลกข้อมูลง่ายขึ้น

ของใหม่อย่างที่สองใน Windows 11 เป็นการรื้อฟื้น Windows Widget ที่ล้มเหลวใน Windows Vista และ Windows 7 กลับมาทำใหม่หมดตามสมัยนิยม โดยหน้าตา Windows Winget ใหม่ จะเป็นสรุปข้อมูลจากแต่ละแอปฯ เหมือน Live Tiles มาแสดงรวมกันไว้ใน Widget Pane และให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย และรวดเร็ว เหมือนกับการดูข้อมูลทั้งหมดผ่านสมาร์ทโฟน

และยังได้มีการอัปเกรดฟีเจอร์ People ที่ไม่ได้รับความนิยมใน Windows 10 ใหม่ทั้งหมด โดยเป็นการยัด Microsoft Teams เข้ามาในตัว Windows 11 เลย และเรียกฟีเจอร์นี้ว่า “Chat from Microsoft Teams” โดยในเมนูนี้ ผู้ใช้จะสามารถเปิดหน้าต่างแชตได้โดยตรงโดยไม่ต้องเปิด Microsoft Teams และถ้าจะเข้าร่วมประชุม ก็สามารถกดปุ่ม Meet เพื่อเปิด Microsoft Teams และเข้าร่วมประชุมได้ทันที

Microsoft อธิบายว่าปัจจุบัน Skype ที่มีใน Windows 10 เดิมเริ่มได้รับความเสื่อมนิยมลง สวนทางกับ Microsoft Teams ที่ฮอตระเบิดตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 และถือเป็นกำลังใจให้ Microsoft สามารถต่อยอดความนิยมจนกลายเป็นแอปฯ แชตสำหรับคนในครอบครัวได้สำเร็จ เลยเป็นที่มาของการรื้อ Skype ออกและเปลี่ยนเป็น Microsoft Teams แทน

ในฟีเจอร์นี้ นอกจากใช้แชตกับ Microsoft Teams ได้แล้ว ยังสามารถใช้ส่ง SMS ได้ด้วย ในกรณีที่ปลายทางไม่มี Microsoft Teams (และตัวเครื่องได้ใส่ซิมการ์ด หรือเชื่อมต่อกับ Android ผ่านฟีเจอร์ Your Phone ไว้) ก็สามารถรับ-ส่ง SMS ผ่านฟีเจอร์นี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องหาโปรแกรมส่ง SMS เพิ่มแต่อย่างใด

Play มากกว่ากับ "Xbox" และ "แอปฯ" ที่ไร้ขีดจำกัด

ของใหญ่ชิ้นที่ 3 คือฟีเจอร์ที่เกิดมาสำหรับเหล่าเกมเมอร์ทั่วโลกโดยเฉพาะ เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกที่ Microsoft ออกแบบ Windows 11 มาเพื่อสำหรับการเล่นเกมโดยตรง ไม่ว่าคุณจะเป็นสายฮาร์ดคอร์ หรือสายแคชชวล ก็สามารถสนุกกับเกมที่รักบน Windows 11 ได้อย่างแท้จริง

อย่างแรก คือการพอร์ตฟีเจอร์จาก Xbox Series S | X ลงมา Windows 11 หลายอย่าง ได้แก่ DirectStorage ที่เป็นการพอร์ตเทคนิคในการโหลดเกมของ Xbox Velocity Architecture มาอยู่บน Windows 11 โดยตรง ผลก็คือผู้ใช้ Windows 11 จะสามารถโหลดเกมได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องไปยุ่งกับการประมวลผลที่ CPU และถ้าเป็นเกม Open World สมัยนิยม ผู้ใช้จะยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่าง Windows 10 และ Windows 11 ที่มี DirectStorage อย่างเห็นได้ชัด ฟีเจอร์นี้อาจต้องใช้ร่วมกับฮาร์ดแวร์บางอย่างที่ได้รับการการันตีว่า “DirectStorage Optimized” เพื่อให้ได้ประสบการณ์ขั้นสุด และ Auto HDR ที่เป็นการปรับโหมดการแสดงผลระหว่าง SDR และ HDR ได้แบบอัตโนมัติตามหน้าจอแสดงผลที่ใช้งาน โดยฟีเจอร์นี้จะทำงานร่วมกับเกมที่ใช้ DirectX 11 ขึ้นไปแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรออัปเดตตัวเกมจากทางผู้พัฒนาเลย

อย่างที่สอง คือการรองรับบริการเช่าเกม EA Play / Xbox Game Pass และ xCloud อย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้ใช้ Windows 11 จะสามารถดาวน์โหลดเกมพีซีที่มีใน Xbox Game Pass / EA Play หรือสตรีมเกมจาก xCloud มาเล่นบน Windows 11 ได้ทันทีเมื่อเชื่อมต่อกับ Xbox ID ที่ได้มีการสมัครบริการไว้ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ

ในส่วนของเกมที่มีให้เล่น เบื้องต้นเป็นเกมจาก Microsoft Studios และ Bethesda ที่เพิ่งประกาศไปในงาน E3 2021 หมาดๆ เช่น Halo Infinite, Twelve Minutes, Age of Empires IV ก็จะมีให้เล่นบน Xbox Game Pass และ Windows 11 ตั้งแต่วันแรกทันที

อย่างที่สาม เป็นการรองรับแอปฯ Android บน Windows 11 โดยตรงแบบไม่ต้องผ่าน Android Emulator เลย ใช่ครับ นี่จะเป็นครั้งแรกที่ Windows สามารถดาวน์โหลดและรันแอปฯ Android ได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่มีแอปฯ ใช้งานได้อย่างแท้จริง

โดยฟีเจอร์นี้ Microsoft ใช้การสร้าง Subsystem ของ Android ซ้อนในระบบ จากเดิมที่ Windows 10 มี Linux Subsystem อยู่แล้ว โดยในส่วนของ Subsystem Microsoft ใช้วิธีการสร้าง Android เวอร์ชัน AOSP มารันซ้อนระบบในฐานะ Virtual Machine ผ่านเทคโนโลยี Hyper-V ที่ Microsoft ใช้พัฒนา Windows 10 ใน Xbox One/Series S|X เพื่อรักษาความเข้ากันได้ของแอปฯ โดยรองรับแอปฯ ทุกรูปแบบ ทั้งแอปฯ ที่เขียนมาแบบ Universal คือรันได้ทั้ง x86-64 และ ARM64 และแอปฯ ที่เขียนมาสำหรับ ARM64 โดยเฉพาะ ซึ่ง Microsoft ใช้เทคโนโลยี Intel Bridge Technology ที่เป็นการแปลงโค้ด ARM64 มารันบน x86-64 โดยตรง ข่าวดีคือฟีเจอร์นี้ไม่ได้ล็อกเฉพาะ Intel นั่นหมายความว่า คนใช้ AMD ก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของแอปฯ Microsoft ไม่ได้เปิดสโตร์แยก แต่ใช้วิธีการประกาศความร่วมมือกับ Amazon AppStore แทน Google Play Store (เพราะ Android Subsystem ไม่มี Google Service) ในการผนวก Amazon AppStore เข้ากับ Microsoft Store และเปิดให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปฯ บน Amazon AppStore มาใช้งานบน Windows 11 ได้ทันทีผ่านฟีเจอร์นี้

ความต้องการฮาร์ดแวร์และวันปล่อยอัปเดต

เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้า Microsoft ยังยืนพื้นสเปคขั้นพื้นฐานจาก Windows 10

โดยความต้องการของฮาร์ดแวร์เบื้องต้นของ Windows 11 มีดังต่อไปนี้

  • CPU Dual core ความเร็ว 1 GHz ขึ้นไป แบบ x86-64 หรือ ARM64 (Windows 11 ไม่มีเวอร์ชัน 32 บิตแล้ว)
  • แรมขั้นต่ำ 4 GB
  • พื้นที่จัดเก็บข้อมูลขั้นต่ำ 64 GB ทำงานได้ดีบน SSD
  • หน่วยประมวลผลกราฟิกที่รองรับ Direct X 12 / WWDM 2.x
  • หน้าจอ 9 นิ้ว ความละเอียด 1366×768 พิกเซล ขึ้นไป
  • คอมพิวเตอร์ต้องมี Secure Enclave / UEFI / Secure Boot และ TPM 2.0

ทั้งนี้สำหรับ Microsoft Surface ที่รองรับ Windows 11 จะมีดังนี้

  • Surface Pro 6, 7, 7+, X
  • Surface Laptop 2, 3, 4, Go ทั้งรุ่น 13 และ 15 นิ้ว
  • Surface Go 2
  • Surface Book 2 (เฉพาะรุ่นที่ใช้ Intel Core i Gen 8 รหัส 8xxx ขึ้นไป), 3

สำหรับการอัปเกรด Microsoft ยืนยันอัปเกรด Windows 11 ให้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่าน Windows Update ในช่วงปลายปีนี้จนถึงช่วงเดือนมกราคม 2022 สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ผ่านเงื่อนไขความต้องการฮาร์ดแวร์เบื้องต้นและรัน Windows 10 เวอร์ชันล่าสุด คือ 21H1 หรือ Surface รุ่นที่รองรับ และจะมาพร้อมคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นมี Dell, HP, Lenovo, Samsung และผู้ผลิตรายอื่น ๆ ตบเท้าเตรียมออกผลิตภัณฑ์ Windows 11 แล้วเป็นจำนวนมาก และเตรียมพร้อมสำหรับการอัปเกรด Windows 11 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ Microsoft จะปล่อย Windows 11 เวอร์ชันทางการ (เข้าสถานะ Release To Manufacturer) และเริ่มวางจำหน่ายแพ็คเกจ OEM หรือ Full Package สำหรับติดตั้งในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ช่วงปลายปีนี้ และจะเริ่มทดสอบกับผู้ใช้ Windows Insider กลุ่ม Fast Ring และ Slow Ring ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ในส่วนของผู้ใช้ Xbox One / Xbox Series S|X จะมีอัปเกรดเปลี่ยนเป็น Windows 11 พร้อมกับ Dashboard ใหม่ในเร็ว ๆ นี้ ตามนโยบาย Windows Everywhere

ป.ล. สำหรับคนที่อัปเกรดไป Windows 11 ไม่ได้ Microsoft ยืนยันว่าจะยังปล่อยอัปเดตให้ Windows 10 อย่างต่อเนื่องจนช่วงสิ้นสุดอายุในปี 2025

คณะแกดกวน #teamgadguan

คณะแกดกวน #teamgadguan

เว็บ Gadget อารมณ์ดี มีสาระ
เราคุยกันได้ทั้งเรื่องของเล่นไฮเทค วิทยาการ หรือกระทั่งเมาท์เรื่องไม่เป็นเรื่อง ให้เป็นงานเป็นการ