ข่าวสั้น

1+1 ต้องไม่สิ้นสุด! TRUE และ dtac ควบรวมกิจการเสร็จสิ้นในชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” เดินหน้าสู่เป้าหมายใหม่ “เทลโคที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

นับจากวันประวัติศาสตร์ช็อคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากว่าหนึ่งปี ในที่สุดวันที่ทั้งสองฝ่ายรอคอยมาถึง เพราะนับจากนี้ทั้ง TRUE และ dtac จะกลับมาเดินหน้าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิภายใต้ชื่อใหม่ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และหุ้น TRUE จะกลับเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (3 มีนาคม 2566) เป็นต้นไป

วันนี้ (2 มีนาคม 2566) กลุ่มทรูเลยเหมาพื้นที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ถือโอกาสออกมาแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากซุ่มผ่าตัด ศัลยกรรม และแอบไปแต่งตัวใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา วันนี้เขากลับมาภายใต้สโลแกนหลักที่เราเอง ต่างก็ได้เห็นกันมาสักพักแล้ว นั่นคือ “Better Together ชีวิตที่ดีกว่าเมื่อมีกันและกัน” พร้อมประกาศนโยบาย (ที่ทำได้จริงแบบไม่เกินเลย) 7 ด้านให้ได้รับทราบกันด้วย นับเป็นการตอกเสาเข็มต้นแรกกลางอุตสาหรรมว่า หลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น TRUE หรือ dtac เราก็ต่างคือ “คน ๆ เดียวกัน”

วันแห่งประวัติศาสตร์นี้ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น เรามีเรื่องมาเล่าดังว่า . . .

ทวนความจำกันก่อน “ใครซื้อใครกันแน่?”

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลาย ๆ คนคิดไม่ตกกันตั้งแต่ประกาศควบรวมกิจการว่าเอ๊ะ ตกลงแล้วยังไง ใครซื้อใคร โดยเฉพาะวลี “พันธมิตรที่เท่าเทียมกัน” หรือ “Equal Partnership” เนี่ย มันช่างคลุมเครือเหลือเกิน ตกลงนี่ยังไงกันแน่น้า

ข้อมูลที่กลุ่มทรูส่งสารสนเทศแจ้งตลาดหลักทรัพย์ผ่านเอกสารกว่า 130 หน้าเมื่อวานนี้ สรุปชัดเจนว่า บริษัทนี้ (ทรูใหม่) เทเลนอร์ และกลุ่ม CP จะถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 57.98 แบ่งเป็น Telenor Asia ถือหุ้น 19.64% กลุ่ม CP ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ/หรือบริษัทย่อย หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ถือหุ้นรวมกัน 19.64% ซิทริน โกลบอล (บริษัทที่เทเลนอร์ กับ เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้นเท่ากันที่ร้อยละ 50) และบริษัทย่อย ถือหุ้นรวมกัน 18.7% ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมหุ้นที่กลุ่มซิทรินขอเข้าซื้อจากผู้ที่คัดค้านการรวมกิจการด้วย ที่เหลืออีก 42.02% จะเป็นกลุ่มทุนอื่น ๆ รวมถึงกลุ่ม Free Float ซึ่งประกอบด้วย China Mobile, NT และผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นร่วมกัน ฉะนั้นก็ชัดเจนว่า ทรูใหม่นี้ เป็น “การควบรวมบริษัทกันระหว่าง TRUE เดิมกับ dtac” ไม่ได้เป็นการซื้อกิจการกันอย่างที่เข้าใจ

ทำไม TRUE+dtac ถึงกลายเป็น “TRUE”?

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ลูกค้า dtac (แอบ)ไม่พอใจสักเท่าไหร่นักตั้งแต่วันที่ประกาศมติที่ประชุมบริษัทฯ กลุ่มทรูตอบคำถามได้ชัดเจนว่าด้วยภาพลักษณ์และแบรนด์ของ “TRUE” มีความชัดเจน ครอบคลุม และครบครันในแง่ความเป็น Convergence มากกว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์ dtac ที่ทำแต่เทลโคมาโดยตลอด และด้วยเป้าหมาย 7 ด้านของบริษัท รวมถึงการเดินหน้าต่อในหลาย ๆ ด้าน อาทิ AI, Cloud, 5G-6G, Robotics, Machine Learning, IoT, Cybersecurity และ Ecosystem ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ การใช้แบรนด์ทรูเพื่อสื่อถึงภาพลักษณ์เหล่านั้นจึงตอบโจทย์มากกว่าการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอย่างชัดเจน

ในแง่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นประเด็นสำคัญและแบรนด์ต่าง ๆ นั้น ทรูยืนยันว่าต่อให้เราจะเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ทั้งสองแบรนด์จะยังเป็นคู่แข่งกันตามเดิมตามข้อกำหนดของ กสทช. ที่ให้มีการคงแบรนด์และภาพลักษณ์ทางการตลาดของ True และ dtac ออกไปอย่างน้องอีก 3 ปี ฉะนั้นจะยังคงมีการแข่งขันกันในตลาดแบบ 3 เจ้าเหมือนเดิม เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกได้อย่างอิสระ ชอบแบรนด์ไหน (True/dtac) ก็เลือกได้ตามใจได้เลย เพราะไม่ว่าแบรนด์ไหน เราก็ยังคงเป็นบ้านเดียวกัน แต่ในบางเรื่องที่เราทำได้ทันที เราจะทำงานร่วมกันทันที นั่นคือ

  • การแสดงชื่อเครือข่ายบนมือถือ นับจากวันนี้บนหน้าจอระบบ Android จะแสดงเป็น True-dtac (เดิม TRUE-H) และ dtac-True (เดิม dtac) ส่วนลูกค้า iOS รอ Carrier Update เปลี่ยนชื่อเครือข่าย อีกไม่นานเกินรอ
  • คลื่นความถี่ใน Spectrum Profile ของทั้ง True และ dtac จะถูกนำออกมาใช้งานรวมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่คลื่นต่ำ 700 MHz, 900 MHz ตลอดจนคลื่นสูง 1800 MHz, 2100 MHz, 2600 MHz และ 26GHz ทั้งหมดจะถูกนำออกมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพภายใต้ข้อกำหนดเฉพาะกิจของ กสทช. สิ่งที่จะเกิดขึ้น ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น ลูกค้า True จะเข้าถึงพื้นที่ได้กว้างมากขึ้นจาก 5G บนคลื่น 700 MHz ของ dtac ลูกค้า dtac จะสามารถสัมผัสประสบการณ์ความเร็วเต็มแม็กซ์จาก 5G บนคลื่น 2100 MHz และ 2600 MHz ของ True โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้วบางส่วน จะครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้
  • การใช้งาน Wi-Fi ร่วมกัน ลูกค้า True สามารถใช้ dtac WiFi ผ่านเบอร์ TrueMove H ได้ทันที ลูกค้า dtac สามารถขอใช้ True ID เพื่อเข้าใช้ True Wi-Fi หรือ @TrueMove H ได้
  • สิทธิพิเศษต่าง ๆ จากทั้ง TrueYou, dtac Reward, d Insurance, Gaming Nation หรือสิทธิพิเศษที่ศูนย์การค้า 101 True Digital Park ทั้งลูกค้า dtac และ True ก็จะสามารถรับสิทธิ์ได้เหมือนกันทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกลูกค้ากันอีกต่อไป

"ทรูใหม่ กับนโยบายทั้ง 7" ที่เราอยากจะบอก

นอกจากอนาคตของทั้งสองแบรนด์ วันนี้กลุ่มทรูยังประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัท นั่นคือการก้าวขึ้นสู่การเป็น “เทลโคที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” เทียบเท่าระดับอินเตอร์แบรนด์อย่าง Verizon, T-Mobile หรือ AT&T เป็นต้น นั่นหมายความว่านับจากนี้ เทลโค จะเป็นเพียงแค่ขาที่ช่วยให้บริษัทเดินหน้าได้ แต่การที่จะให้บริษัทโตไปมากกว่านี้ บริษัทจะต้องปรับแนวทางการบริหารใหม่ยกบริษัทฯ ทั้งหมด!

นายชารัด เมห์โรทรา (ซ้าย) รองประธานคณะผู้บริหาร, นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช (ขวา) ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทรูใหม่ ภายใต้การนำของ คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช และคุณชารัด เมห์โรทรา จึงได้ประกาศ “นโยบาย” 7 ข้อหลัก ที่เราสามารถทำได้จริงนับจากวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งนโยบายทั้ง 7 ที่เราอยากบอก ก็คือ

Network and Digital Infrastructure Leader

เรื่องแรกก็ชัดเจนและตรงตัวเลย คือการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและโครงข่ายพื้นฐาน เดิมที True และ dtac เอง ต่างก็มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านโทรคมนาคมอยู่แล้ว แต่นับจากนี้บริษัทใหม่เราจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จากทั้งโครงสร้างพื้นฐานทั้งฝั่ง Mobile ของ True และ dtac โครงข่าย Fiber และ Broadband ของ True ที่แข็งแกร่งและมีพื้นที่ให้บริการมากกว่า 90% ของพื้นที่ ทั้งสองนี้จะช่วยต่อยอดให้ทรูใหม่สามารถเดินหน้าในธุรกิจอื่น ๆ ได้ อย่างเต็มที่ อาทิ การจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพ การวางระบบ Cloud Computing ขนาดใหญ่ที่ได้รับการรองรับมาตรฐานสากลจาก Google Cloud และไม่ใช่แค่นั้น การมีพื้นฐานที่ดี รวมถึงพันธมิตรที่ดีอย่าง Telenor กับ China Mobile จะยังช่วยให้ทรูใหม่สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ AI, IoT, Machine Learning, Cyber Security ที่ทั้งหมดจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อในสังคมดิจิทัลได้อย่างราบรื่น

Growth Beyond the Core

เมื่อมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เราก็พร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจมือถืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล, Ecosystem ใหม่ ๆ, การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม ที่ทั้งหมดจะไม่ช่วยให้แค่ลูกค้าเท่านั้นที่รู้สึกดี แต่จะยังช่วยให้ธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พร้อมเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มที่

Set New Bar for Customer Experience

โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก็ต้องมาพร้อมกับบริการที่ดีกว่าเดิม โดยหลังจากนี้ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น จากแพ็คเกจที่หลากหลายมากขึ้น การออกแบบแพ็คเกจใหม่จะไม่น่าเบื่อกว่าแต่ก่อน และยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ออกแบบแพ็คเกจ นำเสนอสินค้าและบริการ มอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนบริการหลังการขาย ช่องทางการเข้าถึง O2O และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ นับจากนี้ ซึ่งทั้งหมด ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจ ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และราบรื่นมากยิ่งขึ้น

Enhance Smart Life

นอกจากประสบการณ์ในการใช้บริการแล้ว ประสบการณ์ในด้าน Smart Life ก็จะได้รับการตีบวกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไปอีก นับจากนี้ลูกค้าจะถูกยกระดับวิถีชีวิตให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น อาทิไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ที่จะมาช่วยสร้างความสุขใหม่ ๆ ในชีวิต การดูแลรักษาสุขภาพ เทรนเนอร์ออนไลน์ คุณหมอออนไลน์ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการใช้พลังงานต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งหมดนีจะไม่ได้ถูกผูกมัดไว้กับลูกค้าชาวเมืองที่มีกำลังซื้อเท่านั้น ลูกค้าคนไทยทุกคนจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์ Smart Life ทั้งหมดนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด

Raise the Enterprise Standard

ไม่ใช่แค่กลุ่มลูกค้าบุคคลเท่านั้น กลุ่มลูกค้าองค์กรเองก็จะยังได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics, BI, Blockchain ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วย

Be the Best Place to Work

แม้ก่อนการควบรวม True เป็นหนึ่งในบริษัทที่เด็กรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากจะร่วมงานเป็นอันดับที่ 32 ในปี 2023 (จากข้อมูลของ WorkVenture) หลังการควบรวม บริษัทใหม่จะยังคงมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรนายจ้างที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มุ่งเน้นการสร้างคนเก่งทางด้านดิจิทัลและคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดึงดูดจิตวิญญาณสร้างความเป็นเจ้าของกิจการในตัวพนักงาน สร้างและสนับสนุนความหลากหลายของคนจากทั่วทุกมุมโลก สถานที่ สิ่งแวดล้อม ที่ดีต่อคน ตอบโจทย์ทุกความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน และเพศไหนก็ตาม ผ่านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน ผสานความเก่งกาจและความสามารถของบุคคลได้อย่างชัดเจน

หนึ่งในนโยบายที่ทรูประกาศต่อหน้าพนักงานทั้งฝ่าย True และ dtac กว่า 20,000 คน คือการปรับสวัสดิการพนักงานใหม่ทั้งหมด ปรับสิทธิ์การลาคลอดของพนักงานหญิง จากเดิมที่ True ให้ลาได้ 3 เดือน จะถูกปรับเป็นลาได้ 6 เดือน เพิ่มสิทธิ์พนักงานกลุ่ม LGBTQ+ ให้สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้มากขึ้น ไม่จำกัดการแสดงออกทางเพศสภาพอีกต่อไป สนับสนุนสิทธิ์และสวัสดิการให้เหมาะสมกับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น อาทิ การลาและการสนับสนุนการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็น ชาย-หญิง, ชาย-ชาย, หญิง-หญิง, การมอบประกันสุขภาพแบบกลุ่มที่ไม่จำกัดสิทธิ์ทางเพศ และการสนับสนุนการแสดงออกทางเพศสภาพในแบบที่ไม่ต่างจากพนักงานเพศชาย หรือหญิง สนับสนุนการทำงานจาก Remote Office รวมถึง Co-Working Space เพราะถึงแม้ทรูใหม่จะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อาคารทรู ถนนรัชดาภิเษก แต่พนักงานทั้งหมดสามารถเข้าทำงานแบบ Remote Office ได้จากทั้งอาคารทรูทาวเวอร์ 2 ถนนพัฒนาการ, อาคาร True Digital Park Office ถนนสุขุมวิท หรืออาคารจตุรัสจามจุรี ถนนพระราม 4 ที่จะยังคงเป็นฐานบัญชาการของฝ่าย dtac ก็จะยังอยู่ต่อไปตามเดิม

นอกจากสิทธิ์ข้างต้นแล้ว พนักงานทั้งสองกลุ่มจะได้รับสิทธิ์และสวัสดิการเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงอาคารสำนักงานซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อาทิ การเพิ่มห้อง Nap Room ให้พนักงานพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ห้อง Fitness Room คุณภาพระดับโลก พร้อมคลาสและกิจกรรมต่าง ๆ และการพบแพทย์ออนไลน์ขณะที่อยู่ที่ห้องพยาบาลผ่านแอปฯ True Health และ Mordee by True Health เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการเสริมแกร่งในด้าน Well Being และ Work-Life-Balance ที่กลุ่มทรูมุ่งมั่นที่จะก้าวเข้าไปด้วยเช่นกัน

Be Sustainable Organization

แม้ทรูใหม่จะเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ต้องคิดถึงความยั่งยืนทางสังคมควบคู่ด้วย ฉะนั้นบริษัทใหม่จึงพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่นำเอาเคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิต สร้างคุณค่าให้กับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม การนำเอาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติผ่านแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) ที่ได้กำหนดเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ Carbon Neutral ในปี พ.ศ. 2573 และ Net Zero ในปี พ.ศ. 2593 ลดปริมาณขยะอิเลคทรอนิกส์ภายในปี พ.ศ. 2573 การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและการปลูกฝังเรื่องความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและดิจิทัลให้กับกลุ่มเปราะบางทางสังคม รวมถึงเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย กลุ่ม LGBTQ+ และกลุ่มผู้สูงวัย ผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา, dtac Safe Internet, dtac เน็ตทำกิน รวมถึงการสร้างบรรษัทภิบาลที่จะมุ่งเน้นการทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น (Zero Tolerance Corruption) และคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ

เป้าหมายสูงสุด "คือการมอบสิ่งที่ดียิ่งกว่าเดิมให้ผู้บริโภค"

นโยบายทั้ง 7 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหันที่เกิดขึ้นในวันนี้ จุดประสงค์ที่แท้จริง คือการส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับเพื่อนพนักงาน ลูกค้า และผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้คำมั่นสัญญาว่าลูกค้าจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์บอกรับสมาชิก บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์พื้นฐาน และบริการดิจิทัล ทั้งหมดนี้ลูกค้าจะต้องรู้สึกดีขึ้นอย่างแน่นอนนับจากนี้

แต่สิ่งที่ลูกค้าจะได้รับตั้งแต่วันนี้ นั่นก็คือ…

MERGER GIFT! ฉลองควบรวมบริษัท ให้ลูกค้าสนุกได้มากกว่า!

เพื่อเป็นการต้อนรับลูกค้าทั้งสองบ้านสู่บ้านใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ TRUE มีของขวัญพิเศษที่รอต้อนรับลูกค้าดังต่อไปนี้

ลูกค้า True และ dtac รับ Merger Gift ฟรี ได้แก่ เล่นฟรี อินเทอร์เน็ต 10 GB 7 วัน ดูฟรี กับสิทธิ์การรับชมฟุตบอล Premier League และความบันเทิงครบครันจาก True ID 30 วัน และกินฟรี กับเครื่องดื่มยอดฮิตจาก Dakasi, All Cafe, Koi The รับสิทธิ์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคมนี้ ที่ True ID และ dtac Application

รับสิทธิ์ดู Premier Leage ฟรีตลอดฤดูกาล หรือความบันเทิงจาก True ID ฟรี 365 วัน เมื่อเปิดซิม Happy dtac หรือ True Happier Together ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

แพ็คเกจใหม่สำหรับลูกค้ารายเดือน dtac 5G Better และ True 5G Together ให้เล่นเน็ต 5G ผ่าน 2 โครงข่ายประสิทธิภาพสูง ในราคาเริ่มต้น 499 บาท ต่อเดือน สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า ใดๆ ในโลก "ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร"

เชื่อว่าการควบรวมของ 2 บริษัทที่หลายคนไม่อยากให้ควบรวม ส่วนหนึ่งมันก็เกิดขึ้นจากการพ่ายแพ้ในสงครามประมูลคลื่นของทั้งคู่ อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าตั้งแต่ปี 2558 สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม คือการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AIS ล้วนทำให้เกิดช่องว่างทางอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถอุดไว้ได้อีกต่อไป ความเพลี่ยงพล้ำในกลสงครามประมูลคลื่นครั้งแล้วครั้งเล่าของ dtac ประกอบกับการเติบโตที่ล่าช้าค่อนข้างมากในยุค 5G ของทั้งสอง หนทางรอดทางเดียวที่ทั้งสองมองเห็นตรงกัน ก็คือการควบรวมบริษัทเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือบริษัทฯ ใหม่นี้ มีมูลค่าสูงกว่า 294,000 ล้านบาท หรือ 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังสูงกว่า Celcomdigi (Celcom + digi ของเทเลนอร์เหมือนกัน) ที่เพิ่งจะควบรวมกันเสร็จเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย และในด้านจำนวนลูกค้า ก็ถือว่าพลิกขึ้นมาแซง AIS อย่างไม่เห็นฝุ่นด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 55 ล้านราย (True 33.8 ล้านราย, dtac 21.2 ล้านราย) เรียกได้ว่า นาทีนี้ไม่มีบริษัทไหนแข็งแกร่งไปกว่าทรูอีกแล้ว

แต่ความไม่ชัดเจนของแนวทางการดำเนินการ (เช่นเรื่องแบรนด์ หรือการประมูลคลื่นหลังจากนี้) นอกจากนโยบาย 7 ข้อข้างต้น ทำให้หลายคนรวมถึงลูกค้าเองเกิดข้อสงสัยว่า “ถ้ารวมกันแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น แล้วจะรวมกันทำไม” ขึ้นมาทันที เรื่องนี้ยังไงก็ต้องให้เวลาทรูทำการบ้านกันอีกสักหน่อย อย่างน้อยคือหลักปีว่าสุดท้ายแล้วทรูจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน และเราจะได้เห็นอะไรจากทรูในอนาคตกันแน่ ฉะนั้นก็.. รอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันต่อไปครับ 🙂

คณะแกดกวน #teamgadguan

คณะแกดกวน #teamgadguan

เว็บ Gadget อารมณ์ดี มีสาระ
เราคุยกันได้ทั้งเรื่องของเล่นไฮเทค วิทยาการ หรือกระทั่งเมาท์เรื่องไม่เป็นเรื่อง ให้เป็นงานเป็นการ