นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ กสทช. ได้เข้าร่วมการประชุมเรื่องมาตรการในการเตรียมคลื่นความถี่สำหรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 5 หรือ 5G ร่วมกับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และในที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่า ทุกประเทศจะจัดสรรคลื่นความถี่ช่วง 27000 – 31000 MHz สำหรับให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ และรองรับเผื่ออนาคตยาวถึงยุค 6G
ITU ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกับ GSMA ว่าในยุค 5G ต้องใช้คลื่นความถี่เป็นจำนวนมากถึงจะสามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และรองรับการทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (Aritificial Intelligence: AI) ได้อย่างเต็มที่ หากใช้คลื่นที่ให้บริการในปัจจุบัน จะทำให้เกิดภาวะที่มีคลื่นไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันที่จะนำคลื่นความถี่ในช่วง 27000 – 31000 MHz มากำหนดเป็นคลื่นมาตรฐานสำหรับ 5G โดยคาดว่าที่ประชุมจะลงนามสัตยาบันร่วมกันภายในเดือนสิงหาคมปีนี้
ทางด้าน กสทช. บ้านเรา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทย คลื่นความถี่ 27000 – 31000 MHz ถูกนำไปใช้ร่วมกับกิจการดาวเทียม ดังนั้นถ้า ITU ลงนามสัตยาบันในการใช้คลื่นความถี่ช่วงนี้ ก็จะไม่เป็นปัญหาในการนำคลื่นความถี่ช่วงดังกล่าวออกมาใช้งาน และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานทั้งสองกิจการโดยตรง อีกทั้งคลื่น 1800 MHz ที่จะเปิดประมูลภายในปีนี้ ก็ยังรองรับการใช้งานร่วมกับ 5G ด้วยเช่นกัน ทำให้ในอนาคตหากคลื่น 27000 – 31000 MHz ไม่พอใช้งาน ก็สามารถนำ 1800 MHz มาขยายขีดความสามารถในการใช้งานได้แทบจะทันที
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่เห็นด้วยกับแนวทางการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพราะปัจจุบันทั่วโลกใช้คลื่นความถี่ 27000 – 31000 MHz ร่วมกับกิจการดาวเทียม ดังนั้นในการนำมาใช้ร่วมกับกิจการโทรคมนาคมจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ในการนำมาใช้งานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวอีกด้วย
จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า คลื่น 27000 – 31000 MHz ในทั่วโลกมีแบนด์วิธให้จัดสรรได้สูงถึง 300 MHz ต่อหนึ่งช่วงคลื่น จึงถือว่าเพียงพอต่อการนำมาใช้งานร่วมกับยุค 5G นี้ อีกทั้งยังรองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี IoT ในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน