วันนี้ครับ ไม่ได้คิดก่อนไปงานว่า… จะมีเพื่อนร่วมงานมาอีกสองคน เพราะสิ่งที่ AIS ส่งมา คือบัตรเชิญสีขาวที่ไม่ได้แนบกำหนดการอะไรมาเลย มารู้ตัวอีกทีคือแม่เจ้า งานวันนี้มันใหญ่กว่าที่คิด เพราะเพื่อนที่ AIS พามาอีกสองชีวิต คือ LINE และ Rabbit เห็นสองชื่อนี้คงเดาออกกันแล้วว่าวันนี้ AIS มาทำอะไรที่นี่ และนี่ก็เกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่สุดร้อนประจำวัน
เพราะในวันนี้ครับ AIS โดย mPay ประกาศเข้าร่วมลงทุนกับ Rabbit Line Pay พร้อมยกระดับให้ Rabbit Line Pay ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น และรองรับการทำ Microtransactions ทุกรูปแบบ ตอบสนองนโยบาย Cashless Society และ Digital Service ของทั้งภาครัฐฯ และตัว AIS เองอย่างสมบูรณ์แบบ
ทำไมต้องรวมกัน ในเมื่อ AIS มี “mPay” อยู่แล้ว?
พูดกันตามตรง คือตัว mPay เองไม่ได้ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้า Consumer มากนัก แต่ mPay จะไปประสบความสำเร็จไปในทาง B2B (AIS กับหน่วยธุรกิจอื่น ๆ) เสียมากกว่า และกำไรหลักของ mPay (ซึ่งนับเป็นผลประกอบการของ AIS) มาจากผลประโยชน์ที่ได้จากการดีลสัญญาประเภท B2B เสียส่วนใหญ่ เมื่อ AIS รู้ตัวว่าแนวทางนี้สำหรับ Consumer “ไม่รอด” การหาพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้จึงเกิดขึ้น
ย้อนกลับมาทาง Rabbit Line Pay หรือ Line Pay เดิม บริการนี้เกิดขึ้นเพราะจุดประสงค์หลักของ Line คือต้องการให้คนไทยหันมาใส่ใจความเป็น Cashless Society กันมากขึ้น เพราะแต่เดิม คนไทยทั้งประเทศกว่า 87% ไม่สามารถเข้าถึงบริการบัตรเครดิต ที่จะเป็นบัตรผ่านหลักสู่ Cashless Society ได้ เมื่อคนไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ การสร้างแพลตฟอร์มทดแทนเพื่อสร้างสังคมไร้เงินสดในมุมของ Line จึงเกิดขึ้น จนกระทั่งได้ Rabbit เข้ามาร่วมลงทุนในปี 2016 เพื่อขยายฐานการใช้งาน Line Pay ให้สามารถใช้งานร่วมกับด้าน Offline Payment กว้างขึ้นอีก
เมื่อ Offline Payment, Online Payment และ Digital Provider มาเจอกัน ความร่วมมือใหม่จึงบังเกิดขึ้น และเกิดเป็นดีลใหญ่ประจำวันขึ้นมานั่นเอง
ทำไมต้องเรียกว่าใหญ่?
ตามรายละเอียดที่ AIS แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดีลนี้ใช้เงินลงทุนไป 787 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด จำนวน 1,999,998 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 33.33% ในราคาหุ้นละ 393.75 บาท ดังนั้นจึงทำให้โครงสร้างของ Rabbit Line Pay เดิมที่ร่วมลงทุนกันในแบบ 50:50 กลายเป็น 33.33 เท่ากันหมด
และที่สำคัญคือดีลนี้เป็นดีลใหญ่ที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ ฝั่ง Rabbit Line Pay จะได้ประโยชน์จากการที่มีช่องทางการนำเงินเข้าระบบที่กว้างมากขึ้น จากช่องทางที่ร้าน Telewiz, AIS Shop, Serenade Club, AIS Buddy และตัวแทนเติมเงิน 1-2-Call ที่มีอยู่แล้วรวมๆ กว่า 100,000 ราย และช่องทางในการนำเงินออกในด้าน Bill Payment ที่ AIS มี Bill Service พร้อมให้บริการแล้วกว่า 200 รายการ ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บริการภาครัฐฯ การเงินและธนาคาร ลีซซิ่ง ประกันชีวิต บริการซื้อขายสินค้า หรือเติมเงินเกมออนไลน์ และด้าน Shop ที่มีร้านค้ารองรับ mPay QR Payment กว่า 15,000 ร้านค้าเป็นต้น
และฝั่ง AIS เองก็จะได้ Rabbit Line Pay ไปเป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของ my AIS ซึ่งลูกค้า AIS ทุกคนจะได้รับกระเป๋าเงินนี้แทนกระเป๋า mPay และจะสามารถใช้ Rabbit Line Pay ในการนำเงินออกดังนี้
1. จ่ายบิล AIS ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น AIS รายเดือน AIS Airnet หรือ AIS Fibre
2. เติมเงิน AIS 1-2-Call
3. จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ใน my AIS มีให้จ่าย
และพิเศษสำหรับลูกค้า AIS รับสิทธิ์ส่วนลดทันที 10% ต่อเนื่องนาน 6 เดือน สำหรับการจ่ายบิล AIS ทั้ง AIS รายเดือนและ AIS Fibre ด้วย Rabbit Line Pay (ด้วยส่วนลดไม่เกิน 50 บาท) พร้อมรับสิทธิ์ในการเล่นเน็ต 1 GB ฟรี 7 วันทันทีเมื่อชำระเงินครั้งแรก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ประโยชน์หลักของดีลนี้ คือฐานลูกค้าทั้งหมดที่ AIS, Line และ Rabbit จะมีสิทธิ์ในการแชร์ฐานลูกค้าร่วมกัน ฝั่ง AIS เองมีลูกค้าจดทะเบียนกว่า 40.1 ล้านเลขหมาย ฝั่ง Line ก็มีผู้ใช้บริการเป็นชาวไทยกว่า 42 ล้าน ID และ Rabbit ที่มีผู้ถือบัตรกว่า 8.5 ล้านใบ เรียกว่าดีลนี้สร้างประโยชน์แก่ทั้งสามฝ่ายอย่างลงตัว
นอกจากจ่ายบิล AIS แล้ว Rabbit Line Pay ยังทำอะไรได้อีก?
นอกจากการจ่ายบิล AIS ที่เป็นจุดสำคัญในวันนี้แล้ว Line เองยังได้ประกาศแนวทางในการนำ Rabbit Line Pay ไปต่อยอดด้าน Offline Payment ให้กว้างขึ้นไปอีก โดยปัจจุบัน Rabbit Line Pay มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการรับชำระกว่า 9,000 ร้านค้า ครอบคลุมทั้งการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน, ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร, เบเกอรี่ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ Rabbit Line Pay จะเปิดให้สามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS และรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ของกลุ่ม BTS ที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั้งหมดได้ผ่าน Rabbit Line Pay ได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
สรุป “Cashless Society เป็นเรื่องใหญ่ เราทุกคนต้องช่วยกัน”
Line เองยังยอมรับว่า Cashless Society ในบ้านเราเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะด้วยสังคมบ้านเราที่แต่เดิมเป็นสังคม Cash การจะเปลี่ยนเป็น Cashless ย่อมต้องใช้เวลา ซึ่ง AIS เองก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ AIS เองก็มุ่งหวังว่าในอนาคต ลูกค้าจะเปิดใจให้กับ Rabbit Line Pay เพิ่มมากขึ้น เพื่อจุดหมายที่ทั้ง AIS, Line และ Rabbit เองก็มุ่งหวังร่วมกัน คือการเป็นที่หนึ่งในด้าน Mobile Payment ในประเทศไทย ผมเองก็หวังเช่นเดียวกันกับทั้งสาม เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน True ก็ได้จับมือร่วมกับ BEM ในการพัฒนาระบบ Cashless Payment ร่วมกันบนแพลตฟอร์ม True Money ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือสนับสนุนนโยบาย Cashless Payment ซึ่งเดิม True มี Channel สำหรับบริการนี้อยู่พอสมควรแล้วจากการเข้าเป็นพันธมิตรกับ Alipay การที่ True ได้ BEM และ AIS ได้ Rabbit เข้ามา ก็จะช่วยเติมเต็มในด้าน Transportation ที่ทั้งคู่ยังขาดอยู่ไม่น้อย
ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ต้องดูกันไปยาวๆ ว่าในระยะยาวแล้ว เวทีนี้ใครจะเป็นผู้นำ และใครจะเป็นผู้ตาม และจะประสบความสำเร็จตามนโยบาย Thailand 4.0 หรือไม่ เพราะนอกจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังมีกลุ่มธนาคารเองที่ลงมาเล่นตลาด Consumer และ Lifestyle มากขึ้นจากการเปิดให้บริการ Prompay QR Code ซึ่งเป็นช่องทางการอำนวยความสะดวกในอีกรูปแบบหนึ่งที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็กำลังผลักดันเช่นกัน แต่เชื่อว่าไม่ว่าใครประสบความสำเร็จ วันนั้น Cashless Society ก็เป็นรูปร่างมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน