เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจได้เผยว่า กสทช. ได้มีการจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือและพิจารณาเรื่องการประมูลคลื่น 1800 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานของ กสท โทรคมนาคม กับ dtac เป็นการเพิ่มเติม หลังการเปิดรับซองจากเอกชนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนปรากฎว่าไม่มีเอกชนที่ซื้อซองไปทั้งสามค่ายหลักมายื่นซองเข้าร่วมประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้ยื่นเสนอให้มีการจัดการประมูลครั้งใหม่แก่ คณะกรรมการ กสทช. อีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ โดยการประมูลรอบนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ที่ผู้ประกอบการเรียกร้องมา กล่าวคือยังคงเปิดขายใบอนุญาตจำนวนสามใบ ใบละ 15 MHz ที่ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลในวันที่ 26 มิถุนายน – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และกำหนดยื่นซองในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เพื่อให้สามารถประกาศรายชื่อเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นได้ในวันที่ 1 สิงหาคม และเปิดประมูลได้ในวันที่ 4 สิงหาคม ตามกำหนดการเดิม
นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มีมติเพิ่มเติมให้มีการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ส่วนที่เหลือจากที่สำรองไว้ให้โครงการรถไฟความเร็วสูงจำนวน 5 MHz เป็นการเพิ่มเติม หลังจากรอบที่แล้วไม่ได้นำออกมาประมูลเพราะมีข้อกังขาเรื่องสัญญาณรบกวน โดยกำหนดให้เอกชนที่รับใบอนุญาต ต้องลงทุนจัดทำระบบเพื่อป้องกันคลื่นโทรคมนาคมรบกวนการทำงานระบบอาณัติสัญญาณของระบบรถไฟความเร็วสูง แล้วนำงบลงทุนส่วนนี้ทั้งหมด มาหักลบออกจากค่าใบอนุญาตที่ประมูลไปได้ โดยมีมติให้สำนักงาน กสทช. ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลในวันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และกำหนดยื่นซองในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561 และเปิดประมูลวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ นายฐากรยังเผยเพิ่มเติมว่า ถ้าในรอบนี้ยังไม่มีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล ก็คงต้องยกให้เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 เดือนในการรื้อเงื่อนไขการเข้าร่วมการประมูลมาพิจารณาใหม่ แต่ในส่วนของราคาถือเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดให้ราคาเริ่มต้นลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของเงื่อนไขการเยียวยาของ dtac ได้มีมติให้คณะอนุกรรมการฯ ไปพิจารณาข้อกฎหมาย และเงื่อนไขต่าง ๆ จาก พรบ. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาประกาศใช้มาตรการเยียวยาต่อไป