ถือว่าเป็นสายฟ้าฟาดลูกใหญ่จากกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป เมื่อกระบวนการตรวจสอบพฤติกรรมการผูกขาดตลาดของ Google โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปนั้น ใช้เวลาดำเนินการไปกว่า 39 เดือน ในการที่จะเอาผิดต่อเจ้าของเสิร์ชเอนจิ้นรายใหญ่ของอุตสาหกรรม ซึ่งล่าสุดในช่วงบ่ายวันพุธตามเวลาทางยุโรปก็มีคำสั่งลงโทษปรับเงินต่อทาง Google ที่ใช้ระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน Android เป็นเครื่องมือในความพยายามผูกขาดตลาด ด้วยวงเงินที่เป็นสถิติใหม่กว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.34 พันล้านเหรียญยูโร) ผ่านการรายงานของสำนักข่าว CNBC
โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ระบุว่าทาง Google ทำข้อตกลงบังคับให้ผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่น Google Search เครื่องมือค้นหาและ Google Chrome เว็บเบราเซอร์ในอุปกรณ์ที่ต้องการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Android หรือหากไม่เช่นนั้นแล้ว จะไม่สามารถใช้งานบริการแฟลตฟอร์มร้านค้า Google Play ที่เป็นศูนย์รวมของแอปพลิเคชั่นและแหล่งบริการเช่าภาพยนตร์สตรีมมิ่ง ทำให้ผู้ผลิตเครื่องและผู้บริโภคต้องถูกผูกขาดและพึ่งพาบริการของ Google เป็นสำคัญ
ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบที่พยายามผูกขาดตลาด โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องมือค้นหา กีดกันคู่แข่งจากการแข่งขันและสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งผู้ใช้งานจำนวนมากก็เลือกใช้งานในสิ่งที่มีติดมากับตัวเครื่องเป็นหลัก มากกว่าที่จะเลือกใช้บริการอื่นๆ ในท้องตลาด หรือแม้แต่การจ่ายเงินสนับสนุนผู้ผลิตให้เลือกใช้งานเครื่องมือค้นหาของ Google และแม้ว่าจะมีการชี้แจงออกมา ระบุว่าผู้ใช้งานสามารถที่จะลบแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ความหลากหลายของอุปกรณ์ในท้องตลาดกว่า 24,000 รุ่นจากผู้ผลิต 1,300 แบรนด์ ที่สามารถตอบสนองได้ในทุกช่วงราคาก็ดูจะไม่เป็นผลนัก
โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมาทาง Google ก็ถูกสหภาพยุโรปสั่งลงโทษปรับเงิน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไปก่อนแล้วเนื่องจาก การใช้เครื่องมือค้นหาจัดลำดับการแสดงผลร้านค้าในเครือข่ายโฆษณาของตนเอง ให้อยู่ในลำดับที่โดดเด่นเหนือกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่ง เท่ากับว่าในระยะเวลาเพียง 13 เดือนที่ผ่านมา มีการลงโทษสั่งปรับเงินรวมกันกว่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี Google ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อการตัดสินเหล่านี้ไปแล้วเช่นกัน