หลังจากที่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว Apple ถล่มเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ สามวันติด จนทำให้หลายคนคิดไปไกลว่าวันนี้คงจะไม่มีสินค้าอะไรใหม่ ๆ หรอก ซึ่งก็จริงครับ เพราะสิ่งที่ Apple นำมาพูดวันนี้ เป็นเรื่องของบริการทั้งหมดเลย ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นการเสริมแกร่ง และตีบวกให้ Ecosystem ของ iOS และ macOS นั้นไปไกลยิ่งกว่าเดิมอย่างแท้จริง
บริการที่เปิดตัววันนี้มีทั้งหมด 4 อย่างหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
"News+" เมื่อ Apple เปลี่ยนนิตยสารเป็น Daily Prophet

ใช้คำนี้คงไม่ผิดจริง ๆ กับบริการแรก… Apple News+ โดยบริการนี้จะเป็นส่วนขยายเพิ่มของ Apple News เดิมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยฟีเจอร์ใหม่ของ Apple News+ ที่เพิ่มเข้ามา หลัก ๆ เป็นเรื่องของการอ่านนิตยสารดิจิทัล ซึ่งสำนักพิมพ์สามารถส่งนิตยสารมาร่วมให้ผู้ใช้ Apple สามารถอ่านได้ แต่ที่จะเหนือกว่านิตยสารแบบทั่ว ๆ ไป คือนิตยสารออนไลน์ฉบับของ Apple สามารถแสดงภาพประกอบได้แบบทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และวิดีโอในหนังสือเล่มเดียว เรียกได้ว่าเปลี่ยนอารมณ์จากการอ่านหนังสือแบบทั่ว ๆ ไป มาเป็นการอ่าน Daily Prophet แบบใน Harry Potter ยังไงยังงั้น

ในช่วงแรกของบริการ Apple News+ จะมีสำนักพิมพ์ส่งนิตยสารเข้าร่วมกว่า 300 ราย ตกปีละประมาณ 3,600 ฉบับที่ผู้ใช้ Apple สามารถเลือกอ่านได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ตัวบริการยังมีภัณฑารักษ์คอยคัดเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเช่นเดียวกับใน App Store และ Apple Music และนอกจากนิตยสารแบบทั่ว ๆ ไปแล้ว Apple News+ จะยังมีผู้ผลิตสื่อออนไลน์ เช่น TechCrunch ร่วมออกนิตยสารออนไลน์ที่สามารถอ่านได้บน Apple News+ ที่เดียวอีกด้วย
บริการนี้พร้อมให้บริการแล้วกับประเทศที่มี Apple News เปิดบริการอยู่เดิม โดยเสียค่าบริการรายเดือนแพงขึ้นเป็น 9.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน แต่แลกกับการอ่านนิตยสารได้อย่างไม่จำกัด และสามารถแบ่งปันนิตยสารให้กับบุคคลในครอบครัวอ่านร่วมกันได้ผ่านฟังก์ชัน Family Sharing แบบไม่มีข้อจำกัดด้วย
"Card" เมื่อ Apple ทำ "บัตรเครดิต" แข่งธนาคาร

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ เพราะมันเป็นไปแล้วสำหรับบริษัทฯ ที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยบริการที่สองที่ Apple เปิดตัวมาคือบริการทางการเงินฉบับของ Apple เองที่มีชื่อว่า Apple Card โดยบริการนี้เป็นการดำเนินการร่วมกับ MasterCard และธนาคาร Goldman Sachs
จุดเด่นของบริการ Apple Card คือเป็นบริการบัตรเครดิตที่ออกแบบมาเพื่อ iPhone โดยเฉพาะ กล่าวคือขั้นตอนการสมัครขอใช้บัตร ตลอดจนขั้นตอนการเปิดใช้บัตร การใช้งานบัตร และการจ่ายงวดรายเดือน “ทุกอย่างทำบน iPhone ทั้งหมด” โดยบริการนี้เมื่อเปิดใช้สำเร็จแล้ว Apple Card จะพร้อมใช้งานผ่าน Apple Pay ทันทีโดยไม่ต้องทำอะไร

การใช้งาน Apple Card โดยพื้นฐานเหมือนกับการใช้งาน Apple Pay ด้วยบัตรเครดิตแบบเดิมทั้งหมด แต่ที่แตกต่างคือ Apple Card สามารถแสดงรายละเอียดได้ชัดเจนกว่าด้วยการอ้างอิงข้อมูลจาก Apple Maps และสามารถจำแนกประเภทการใช้งานตาม MCC (Merchant Category Code) ได้โดยตรง ทำให้ผู้ใช้ทราบได้ทันทีว่าในแต่ละเดือน เราสิ้นเปลืองเงินไปกับส่วนใดบ้าง และจะประหยัดจากการฟุ่มเฟือยเหล่านี้ได้เช่นไร

และอีกหนึ่งสิ่งที่ Apple Card ทำได้ดีกว่า คือการจ่ายเงินที่ Apple Card สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อผู้ใช้จ่ายเท่านี้ จะเกิดดอกเบี้ยที่ผู้ใช้ต้องเสียเพิ่มเท่าไหร่ และถ้าจ่ายเท่าไหร่ถึงจะไม่เกิดดอกเบี้ยเป็นต้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฟีเจอร์ที่ Apple คิดออกมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า จะช่วยสร้างนิสัยในการใช้จ่ายให้กับผู้ใช้ได้อย่างไรบ้าง แม้ว่าถ้าผู้ใช้ใช้เยอะ (ซึ่งเป็นผลดีกับ Apple และ Goldman Sachs) แต่ถ้ามีวินัยในการชำระเงินคืน ก็ล้วนเป็นการสร้างนิสัยในการใช้เงินที่ดีได้เช่นกัน

นอกจากนี้ Apple Card ยังมาพร้อมกับบัตรเครดิตแบบการ์ดสำหรับไว้ใช้งานร่วมกับร้านค้าที่ไม่รองรับ Apple Pay หรือร้านค้าต่างประเทศที่ไม่ได้มี Apple Pay เปิดให้บริการด้วย (เช่นในบ้านเรา) โดยตัวบัตรทำด้วยไทเทเนี่ยมอย่างดี มีการสลักชื่อผู้ถือบัตรและโลโก้ Apple ด้วยเลเซอร์อย่างละเอียดอ่อน แต่ไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบัตรเครดิต เช่น เลขบัตร/CVV/วันหมดอายุของบัตรให้เห็นทั้งหมด เพราะถ้าผู้ใช้ต้องการข้อมูลเหล่านี้ Apple ต้องการให้ผู้ใช้ไปเปิด Apple เพื่อเอาข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเอง
นี่คือหนึ่งในฟีเจอร์ความปลอดภัยของ Apple Card ที่ Apple ทำร่วมกับ MasterCard นั่นคือเมื่อผู้ใช้สมัคร Apple Card สำเร็จแล้ว เลขบัตรเครดิตตัวจริง (ที่ขึ้นต้นด้วย 5200 และเป็น Account สำหรับติดต่อกับ Goldman Sachs หรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตเวลาบัตรมีปัญหา) จะถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดีในชิป Secure Element ซึ่งเป็นชิปเดียวกับที่เก็บข้อมูล Touch ID และ Face ID และจะไม่มีแอปฯ ใด ๆ เข้าถึงข้อมูลนี้ได้อีก นอกจากแอปฯ Wallet เท่านั้น ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการเลขบัตรเครดิตเพื่อใช้ซื้อของออนไลน์ หรือใช้บนเว็บไซต์ที่ไม่รองรับ Apple Pay ระบบจะทำการสุ่มตัวเลขชุดบัตรเครดิตและ CVV ให้ในแต่ละครั้ง และเมื่อมีการสุ่มใหม่ทุกครั้ง เลขชุดเดิมจะไม่สามารถใช้งานได้ทันที เพื่อป้องกันการดักข้อมูล หรือกรอกเลขบัตรเครดิตใส่ในเว็บหลอกลวงเป็นต้น

แน่นอนว่าบัตรเครดิตใหม่ ก็ต้องมีโปรโมชันล่อผู้ใช้เป็นธรรมดา สิ่งที่ Apple ทำ ก็คงเหมือนกับบัตรเครดิตรายอื่น ๆ นั่นคือการมอบ Cash Back ที่ Apple เรียกมันว่า “Daily Cash” โดย Apple Card มอบ Cash Back ให้ 3% เมื่อซื้อสินค้าที่ร่วมรายการผ่านร้าน Apple Store 2% ในทุก ๆ การใช้จ่ายที่ทำผ่าน Apple Pay และ 1% ในทุก ๆ การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากบัตรแบบการ์ด โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินคืนสูงสุด และยอดขั้นต่ำที่จะได้รับเงินคืนเป็นต้น
บริการ Apple Card จะพร้อมใช้งานในช่วงหน้าร้อนนี้ เฉพาะลูกค้าในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับเลือกเท่านั้น (ยังไม่พร้อมให้บริการจริงกับลูกค้าวงกว้าง ซึ่ง Apple บอกว่าจะพร้อมให้บริการในเร็ว ๆ นี้)
"Arcade" เมื่อเกมเสียตังมันเชย... จับสมัครเลยดีกว่า

บริการที่ 3 เรียกว่าเป็นการต่อยอด App Store ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สู่ครั้งแรกบนโลกมือถือของการ “เช่าแอปฯ มาใช้งาน” กับ Apple Arcade บริการเช่าเกมเล่นจาก Apple

บริการนี้จะเป็นบริการที่ฝังตัวอยู่ใน App Store โดยตรง ผู้ใช้ไม่ต้องทำการติดตั้งแอปฯ ใด ๆ เพิ่มเติม โดยเมื่อผู้ใช้สมัครบริการนี้ ใน App Store จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือจะมีหน้า Arcade ขึ้นมาให้เลือกเพิ่ม ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกเล่นเกมจากรายการเกมเสียเงินทั้งหมดที่มีบน App Store ได้อย่างอิสระ สิ่งที่ผู้ใช้สามารถทำต่อไปได้ คือการดาวน์โหลดเกมนั้นลงมาเก็บไว้ในเครื่องแล้วเล่นให้เต็มที่โดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ถ้าพูดให้ใกล้ตัวมากขึ้น บริการนี้ก็เหมือนกับฟีเจอร์ “เกมฟรีรายเดือน” ของ PlayStation Plus ที่ผู้ใช้ต้องเสียเงินค่าสมาชิก PlayStation Plus เพื่อเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ และที่สำคัญที่สุด ผู้ใช้ยังสามารถแชร์เซฟข้ามไปเล่นบน macOS และ tvOS ได้อย่างอิสระ (ถ้าเกมนั้นรองรับด้วย)
ในขั้นต้นของ Apple Arcade จะมีพันธมิตรเป็นสตูดิโอเกมร่วมทำเกมลง Apple Arcade กว่า 100 เกม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเกม Exclusive สำหรับ Apple Arcade ที่เดียวเท่านั้น ไม่สามารถหาเล่นที่ไหนได้อีก และบริการนี้จะพร้อมใช้งานกับเกมที่มีอยู่แล้วบน iOS กว่า 300,000 เกมทั้งหมดในทันที
Apple คาดว่าจะเปิดให้บริการ Apple Arcade ได้ในเร็ว ๆ นี้ (คาดว่าน่าจะพร้อมกับ iOS 13) โดยพร้อมให้บริการพร้อมกันใน 150 ประเทศทั่วโลกทันทีที่เปิดตัว
"TV+" บริการทีวีโดย Apple เพื่อชาว Creativitist ทุกคน

การจับมือกับผู้ผลิตทีวีทั้ง 4 จะไร้ค่าทันทีถ้า Apple ไม่ได้เอาบริการทีวีและหนังมาต่อยอดเพิ่มเติม และวันนี้มันเป็นจริงแล้วกับบริการใหม่ที่มีชื่อว่า “Apple TV+”

Apple TV+ เป็นการต่อยอดแอปฯ Apple TV จากแอปฯ ดูทีวีของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี สู่การเป็น Streaming Service เต็มตัว โดย Apple TV+ จะมาพร้อมกับแอปฯ TV ที่ออกแบบใหม่หมดจด รองรับการรับชมรายการในทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ รายการทีวี กีฬา การตูน หรือแม้แต่รายการสำหรับเด็ก ก็สามารถดูได้ทั้งหมดอย่างอิสระ

สิ่งที่มาเพิ่มเติมกับแอปฯ TV ใหม่ คือ “Apple TV Channels” ซึ่งเป็นการมัดเอารายการของแต่ละสถานีมาสร้างเป็นแชแนลย่อยในแอปฯ TV นั่นหมายความว่า สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ หรือผู้ให้บริการเคเบิลทีวี เช่น TrueVisions หรือ AIS Play สามารถสร้าง Channel แบบ On Demand บน Apple TV ได้เลย และสามารถมอบเนื้อหาให้กับผู้ชมได้อย่างอิสระ ที่สำคัญคือถ้าต้องมีการสมัครสมาชิกเพิ่ม ผู้ใช้ก็สามารถเสียเงินผ่าน iTunes เพื่อสมัครสมาชิกเพิ่มได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีหรือขั้นตอนอะไรให้วุ่นวายมากนัก เบื้องต้นฟีเจอร์นี้ Apple จับมือร่วมกับผู้ให้บริการเคเบิลทีวีชั้นนำของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Hulu, HBO, Starz และ Showtime ที่ตกลงเข้ามาร่วมทำ Apple TV Channels ร่วมกันแล้ว

อีกสิ่งที่มาพร้อมกันคือ “บริการสตรีมภาพยนตร์” โดยเมื่อผู้ใช้ตกลงเป็นสมาชิกกับ Apple TV+ สถานีโทรทัศน์ หรือผู้ให้บริการเคเบิลทีวีแล้ว ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่บน iTunes ได้ทั้งหมด ตามรูปแบบของสมาชิกที่สมัครไว้ เช่น ถ้าสมัคร Apple TV+ ก็เข้าถึงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั้งหมดใน iTunes หรือถ้าสมัคร HBO Now ไว้ ก็เข้าถึงภาพยนตร์ที่ในขณะนั้น HBO Now มีไว้ได้ โดยสามารถรับชมได้เต็มความละเอียด 4K HDR รวมถึงรองรับ Dolby Vision และ Dolby Atmos เป็นการเพิ่มเติมด้วย ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ รองรับไว้อยู่แล้ว

แต่บริการนี้จะไม่สมบูรณ์เลยถ้าไม่มี “คอนเทนต์พิเศษ” ที่ดูได้บน Apple TV+ เท่านั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของการจับมือร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินชื่อดัง อาทิ Oprah Winfrey, Steven Spielberg, Jennifer Aniston, Reese Witherspoon, Octavia Spencer, J.J. Abrams, Jason Momoa, M. Night Shyamalan, Jon M. Chu และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อมาร่วมผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี และรายการพิเศษเพื่อออกฉายบน Apple TV+ ที่เดียวเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาทีละเล็กละน้อย และจะมีเพิ่มเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อ Apple TV+ เปิดให้บริการจริงไปแล้ว