ที่งาน Computex 2019 ที่ไต้หวัน AMD ได้นำสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 2 รายการ ทั้งหมดถูกผลิตด้วยกระบวนการผลิตระดับ 7nm ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานแบบก้าวกระโดด ทั้งการใช้งานแบบทั่ว ๆ ไป และการใช้งานแบบฮาร์ดคอร์ ทั้งเกมมิ่งและ Workstation ได้อย่างลงตัว
ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เปิดตัวมาคือซีพียูตระกูล “Ryzen 3000” บนสถาปัตยกรรมใหม่ Zen 2 และหลักการออกแบบชิปใหม่ที่จะช่วยให้การประมวลผลทำงานได้ดีขึ้น พร้อมทั้งประกาศรองรับ PCI-E 4.0 เป็นรายแรกของโลก ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานร่วมกับการ์ดต่าง ๆ การ์ดแสดงผล และ Storage ได้อย่างดีที่สุด
ในช่วงแรก Ryzen 3000 จะมีสินค้าแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ตัว เริ่มที่ 6 คอร์ 12 เทรด ใช้ซ็อกเก็ต AM4 เดิมทั้งหมด (สามารถนำไปใช้ร่วมกับเมนบอร์ด AM4 เดิมได้เลย) เน้นขายกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงในราคาประหยัด มีรุ่นให้เลือกดังต่อไปนี้
- Ryzen 5 3600 (6 คอร์ 12 เทรด 65 วัตต์)
- Ryzen 5 3600X (6 คอร์ 12 เทรด 95 วัตต์)
- Ryzen 7 3700X (8 คอร์ 16 เทรด 65 วัตต์)
- Ryzen 7 3800X (8 คอร์ 16 เทรด 105 วัตต์)
นอกจากนี้ AMD ยังได้เปิดตัว Ryzen 9 3900x ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ AMD ที่ทำชิปตระกูลปกติให้เกิน 8 คอร์ (จากเดิมที่ชิปที่มีคอร์ระดับนี้ จะใช้แบรนด์ Ryzen Threadripper แทน) คือ 12 คอร์ 24 เทรด โดยมีค่า TDP เพียง 105 วัตต์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรงอย่าง Intel Core i9-9920K พบว่าประสิทธิภาพต่อเทรดสูงกว่าถึง 14% และเมื่อทำงานแบบ Multi-thread ก็สูงกว่าถึง 6% แต่กินไฟน้อยกว่ามากถึง 60 วัตต์ ผลที่ได้คือ ตัวเครื่องโดยรวมใช้พลังงานน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูงกว่าฝั่ง Core i9 แบบชัดเจน
พร้อมกันนี้ AMD ยังได้เปิดตัวชิปจัดการเมนบอร์ด X750 ที่จะใช้งานร่วมกับตระกูล Ryzen 3000 อย่างเป็นทางการ โดย X750 จะถูกออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก ไม่ว่าจะเป็น PCI-Express 4.0 เทคโนโลยี Wi-Fi 6, NVMe, กราฟิกการ์ดระดับสูงเป็นต้น โดยมีผู้ผลิตเมนบอร์ดหลายรายคือ ASRock, Asus, Colorful, Gigabyte, MSI และผู้ผลิตรายอื่น ๆ กว่า 50 แบรนด์ทั่วโลก ตอบรับที่จะใช้ชิป X750 ไปพัฒนาเมนบอร์ดของตนแล้ว และเช่นกัน Acer, Asus, CyberPowerPC, HP, Lenovo และ MAINGEAR ก็จะนำชิปรุ่นใหม่ทั้ง X750 และ Ryzen 3000 ไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายต่อไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจาก Ryzen 3000 แล้ว AMD ยังได้เปิดตัวกราฟิกการ์ดสำหรับตลาดคอนซูเมอร์รุ่นใหม่ Radeon RX 5000 ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ใช้จีพียู Navi และสถาปัตยกรรมแบบ RDNA ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนกราฟิกทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตขึ้นด้วยกระบวนการระดับ 7nm เช่นเดียวกับ Radeon VII และ Radeon Instinct (ใช้ในงานทำเหมืองและ Data Center) ที่ได้เปิดตัวไปในงาน CES 2019 ก่อนหน้านี้
รายละเอียดเบื้องต้นของ Radeon RX 5000 คือให้ความเร็วในการประมวลผลจากชิปก่อนหน้านี้ (Graphics Core Next: GCN) ถึง 1.25 เท่าต่อหนึ่งสัญญาณนาฬิกา (Performance-per-clock) และมีประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่สูงขึ้นถึง 1.5 เท่า ทำให้สามารถเล่นเกม ทำงานกราฟิก และงานระดับสูงที่ต้องพึ่งพาการประมวลผลจากกราฟิกการ์ดได้ดียิ่งขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และความหน่วงภาพน้อยลงอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ AMD ยังไม่ได้บอกอะไรถึง Radeon RX 5000 มากนัก แต่จะจัดแถลงข่าวอีกรอบในงาน E3 2019 ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้
และสุดท้าย AMD ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเครื่อง PlayStation Next ที่ Sony เผยรายละเอียดมาก่อนหน้านี้ จะใช้ชิป Radeon Navi และ Ryzen Zen 2 รุ่นปรับแต่งทั้งหมด เพื่อรีดประสิทธิภาพในการเล่นเกมออกมาให้ได้มากที่สุด และจะเป็นการแสดงพลังที่แท้จริงของชิปที่ถูกผลิตด้วยกระบวนการผลิตระดับ 7nm ให้โลกได้เห็นกันอีกด้วย