AIS ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ร่วมกันนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ Industrial 4.0 พร้อมจับมือกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันทดสอบการใช้งาน 5G กับภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.
https://youtu.be/vK6CqBjGFZ4
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว AIS, SCG และ ม.อ. ได้ร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบให้สามารถควบคุมระยะไกลผ่าน 5G จากสำนักงานใหญ่ SCG บางซื่อ ถึงโรงงาน SCG เขาวง จังหวัดสระบุรี ระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร โดยผู้ควบคุมรถไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ตัวรถ แต่สามารถควบคุมเพื่อขนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ภายใต้สภาพแวดล้อมจริงบนคลื่นความถี่ 2600 MHz จากการสนับสนุนของ กสทช. และจากความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ AIS และ SCG ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมกันวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในโครงการอื่น ๆ ตลอดจนร่วมพัฒนาและสร้าง 5G Ecosystem ที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ Industrial 4.0 และยกระดับชีวิตของคนไทยให้เติบโตได้อย่างเต็มภาคภูมิ
โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital Transformation ของ SCG ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรให้เตบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และโครงการ AIS 5G Playground ที่เป็นการนำเอา Use-case ที่ได้จากการทดสอบ 5G ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มาพัฒนารูปแบบและแนวทางการใช้งานให้เหมาะสมกับแต่ละรูปแบบธุรกิจ ซึ่งกรณีของ SCG ถือเป็นครั้งแรกกับการทดสอบ 5G ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นการทำงานของเครื่องจักรบรเวณเหมืองปูน เตาเผาปูนซีเมนต์ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ ของ SCG ให้ดีขึ้นเป็นต้น
สำหรับโครงการพัฒนารถ 5G Forklift เริ่มดำเนนการที่โรงงานของ SCG ในจังหวัดสระบุรีเป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกอยู่แล้ว อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น material mobility ที่สามารถควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนที่จะต่อยอดสู่อุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยี 5G ของ AIS มาปรับใช้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของ SCG ได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เพราะเมื่อโครงการลุล่วงแล้วเสร็จ พนักงานจะสามารถควบคุมอุปกรณ์ในโรงงานจากที่ไหนก็ได้ อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือต่าง ๆ แบบระยะไกลได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างานอีกต่อไป
ทั้งหมดเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน 5G ของ AIS ที่ทดสอบการใช้งานแล้วครบทุกภาคทั่วประเทศ แต่การนำนวัตกรรม 5G ไปพัฒนาให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจ และแนวทางการใช้งานแบบอื่น ๆ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง 5G Ecosystem ที่แข็งแกร่ง สร้างโอกาสในการแข่งขันเวทีโลก ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป