นิสสัน ประเทศไทย ประกาศผลผู้ชนะเลิศในโครงการ แค่ใจก็เพียงพอ ปีที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม ‘ศิลปาเทค’ ภายใต้ผลงานต้นแบบ ‘Soundawear’ เทคโนโลยีอัจฉริยะที่สามารถสวมใส่ได้ (Wearable technology) สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินๆ ที่จะเปลี่ยนเสียงรอบตัว เป็นการสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน
Nissan ประเทศไทย จัดงานประกาศผลรางวัล “แค่ใจก็เพียงพอ” ปีที่ 4 ประจำปี 2564 โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมคัดเลือกกว่า 337 ทีม รวมผลงานส่งประกวดกว่า 187 ผลงาน ก่อนที่จะคัดเลือกให้เหลือ 12 ทีมสุดท้าย จากการพิจารณาของคณะกรรมการและผลโหวตออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาโหวตได้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลมี 3 ทีม ดังต่อไปนี้
รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม “Silapatech” ด้วยผลงานต้นแบบ “Soundawear” ดีไวส์อัจฉริยะ ที่จะเปลี่ยนเสียงต่าง ๆ เป็นการสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถรับรู้ และตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงเตือนสถานการณ์อันตรายจากจุดที่อับสายตา อย่างเสียงแตรรถจากทางด้านหลังได้อย่างทันท่วงที รวมถึงยังขยายประสาทสัมผัส (sense) ให้พวกเขาสามารถรับรู้ถึงท่วงทำนองของบทเพลง และได้รับความเพลิดเพลินเหมือนคนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม “GreenDot.” กับผลงานแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน GreenDot. (กรีนดอท) ที่จะเป็นตัวกลางในการวิเคราะห์ความสามารถในการกำจัดคาร์บอนตามธรรมชาติของต้นไม้ ทั้งต้นไม้สาธารณะ ต้นไม้เอกชน และป่า ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพื่อการออกแบบ วางแผน และลงมือจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
และรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม “กาชาปองสุราษฎร์ธานี” กับผลงาน “Gacha Thani” ที่ช่วยพัฒนาประสบการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ผ่านของที่ระลึกอย่างงานหัตถกรรมพื้นถิ่นในรูปแบบกาชาปอง และแอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานภาพสามมิติ ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องราวที่น่าสนใจ และโปรโมทสิ่งที่น่าสนใจเสมือนมีดิจิทัลไกด์ไปด้วยทุกที่
ทั้งนี้ โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” ในปีที่ 4 นี้ ทาง Nissan ได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในวงกว้าง มาเป็นหัวใจสำคัญในการประกวด โดยได้ร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนชั้นนำมากมาย เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนวัตกรไทยรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ผ่านโซลูชั่นต่าง ๆ ที่พัฒนามาจากผลงานต้นแบบของแต่ละโครงการนวัตกรรม รวมถึงยังสามารถนำมาแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงตามแต่ละบริบท
สำหรับจุดเด่นของโครงการฯ ที่แตกต่างจากการประกวดอื่น ๆ คือการจัดกิจกรรมเพาะบ่มนวัตกรและแฮกกาธอนผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานและกระบวนการสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม จากผู้เชี่ยวชาญอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. (NIA) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ จากองค์กรไอทีชั้นนำระดับโลกอย่าง ไมโครซอฟท์ (Microsoft) อาทิ ระบบคลาวด์อัจฉริยะ (Azure) ฯลฯ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ทุกทีมสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคดิจิตอลอย่างราบรื่น รวมถึง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส – AIS) ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มฟาร์มอัจฉริยะ Intelligent Farm (iFarm) โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 12 ทีม จะได้เข้ากิจกรรมดังกล่าวเพื่อร่วมกันพัฒนาผลงานต้นแบบให้ออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด
“ผมขอแสดงความยินดีกับทีมผู้ชนะ ทีม ‘Silapatech’ รวมถึงผู้เข้ารอบสุดท้ายทุกคนที่ได้นำเสนอผลงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมในมุมที่แตกต่างกันอย่างเต็มที่” ชยภัค ลายสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป สายงานการสื่อสาร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าว “การจัดโครงการในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการทุกอย่างของนิสสัน ที่เรากล้าที่จะเอาชนะทุกข้อจำกัด และทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ โดยผมรู้สึกประทับใจอย่างมากกับทุกแนวคิด ทุกความตั้งใจ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 12 ทีม ที่สื่อออกมาอย่างชัดเจนผ่านผลงานคุณภาพ ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และส่งผลเชิงบวกในวงกว้าง ตลอดจนขับเคลื่อนสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน”