ข่าวประชาสัมพันธ์

Ericsson เปิดตัวโซลูชันเครือข่ายรูปแบบใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านจากยุค 4G ไป 5G

Ericsson ประเทศไทยจัดงาน Do Zone เปิดตัวโซลูชันเครือข่ายรูปแบบใหม่ส่งตรงจากงาน Mobile World Congress 2018 ให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างสมภาคภูมิในปี 2023 ที่จะถึงนี้

 

5G ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

นาดีน อัลเลน ประธานบริษัทฯ และ Country Manager Ericsson ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้โลกกำลังเตรียมพร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยี 5G NR (5G New Radio) ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยความเร็วสูงระดับกิกะบิตและ Latency ที่ต่ำมาก ทำให้สามารถรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ เช่น AI, VR, AR, MR, IoT และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้อย่างครบครัน

Ericsson เองในฐานะผู้ผลิตโซลูชันเครือข่ายที่สมบูรณ์แบบ ก็เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างสมภาคภูมิด้วยการจับมือร่วมกับเครือข่ายใหญ่ทั่วโลกได้แก่ SK Telecom, KT, Verizon, Softbank หน่วยงานรัฐฯ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศจีน และ กสทช. ประเทศไทย และผู้ผลิตชิปเซตอย่าง Intel มาร่วมกันทดสอบเครือข่าย 5G ด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วน

ตัวอย่างการทดสอบที่เห็นได้ชัดคือการทดสอบร่วมกับเครือข่าย Verizon Wireless ที่ทดสอบประสิทธิภาพพื้นฐานของเครือข่าย 5G บนรถแข่ง ซึ่งผลการทดสอบก็บ่งชี้ให้เห็นได้ชัดว่าเครือข่าย 5G สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และให้ความเร็วที่คงที่ไม่มีตกหล่น

Ericsson ยังเผยอีกว่าตอนนี้มีเครือข่ายกว่า 39 ประเทศทั่วโลกที่ตกลงพัฒนาเครือข่าย 5G ร่วมกับ Ericsson อย่างเป็นทางการแล้ว และมีอีก 5 ประเทศที่กำลังเตรียมเปิดทดลองสัญญาณในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อ ITU รองรับมาตรฐาน 5G อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้

 

5G ยังช่วยทั้งลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ไปพร้อมกัน

Ericsson ยังกล่าวเสริมว่า 5G ยังจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการลงไปได้อีกมาก กล่าวคือต้นทุนต่อ GB จะน้องลงไปถึง 10 เท่าต่อ 1 GB แถมยังสามารถรองรับจำนวนลูกค้าได้สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญไปกว่านั้น Ericsson คาดว่าในปี 2023 จะเกิดทราฟฟิกจากการใช้ dtac มากขึ้นถึง 8 เท่านับจากปี 2017 และเราจะได้เห็นทราฟฟิกจากเครือข่าย 5G อย่างน้อย 20% ในปี 2023 นี้ ทั้งหมดเป็นผลการวิเคราะห์แนวโน้มว่าคนจะหันมาดูคอนเทนต์วิดีโอและสตรีมมิ่งกันมากขึ้น และเทคโนโลยีพวก VR, AR ก็จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเช่นกัน

ไม่ต้องอื่นไกลมาก Ericsson ชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยผู้ประกอบการจะเห็นรายได้เติบโตขึ้นอย่างน้อย 22% ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการทำงานของเครือข่าย ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายแบบมากขึ้น และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่ตอบรับต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ สูงมาก นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 ที่เริ่มมีการประมูลใบอนุญาตและคลื่นความถี่ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ประชากรให้การตอบรับต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่กลัวเทคโนโลยี และสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพัฒนาร่วมกับอาชีพดั้งเดิมได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการมี 5G ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ไกลมากขึ้น และยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย Digital Thailand หรือ Thailand 4.0 ของภาครัฐอีกด้วย

 

โซลูชันใหม่ ๆ ที่ตอบรับและพร้อมสำหรับการอัพเกรดเป็น 5G

พร้อมกันนี้ Ericsson ยังได้นำเทคโนโลยีและโซลูชันเครือข่ายรูปแบบใหม่มาเปิดตัวให้ผู้ประกอบการในไทยได้ดูกันเป็นครั้งแรก นำทัพโดย “Street Macro” โซลูชันเครือข่ายรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเติบโตในเขตเมืองที่มีตำแหน่งสถานที่ตั้งสถานีฐานที่จำกัด โซลูชันนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเสาสัญญาณได้อย่างแม่นยำ และต่อเนื่อง ซึ่งโซลูชันนี้จะถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลก ผ่านคู่ค้ารายสำคัญอย่าง dtac ที่มีภารกิจในการขยายเครือข่าย 2100 MHz อย่างต่อเนื่องเพื่อรับการหมดสัมปทานคลื่นความ 1800 MHz ในช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ Ericsson ยังได้นำโซลูชันใหม่ ๆ ที่รองรับเทคโนโลยี Massive MIMO มาเปิดตัวในประเทศไทยด้วย โซลูชันนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง เพิ่มศักยภาพและความจุของเครือข่าย ลดความซับซ้อนในการนำไปใช้งานในวงกว้าง และพร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างสมภาคภูมิด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติมลงไปเท่านั้น ก็สามารถเปิดใช้งาน 5G ได้แทบจะทันที และเช่นกัน โซลูชันนี้เราจะได้เห็นกันในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ ผ่านเครือข่าย dtac-T 2300 MHz นั่นเอง

 

ส่งท้าย “Ericsson พร้อมแล้วสำหรับ 5G แล้วประเทศไทยล่ะพร้อมหรือยัง”

ในงานนี้ยังได้รับเกียรติจากคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. มาเป็นประธานในพิธีการเปิดงานในครั้งนี้ด้วย สำหรับ กสทช. เองก็ทราบดีว่าปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการไทยตอนนี้คือคลื่นความถี่ในมือไม่เพียงพอต่อการรองรับ 5G และเพื่อการนี้ กสทช. ได้จัดเตรียมที่จะจัดทำโร้ดแมพสำหรับการประมูลคลื่นเอาไว้แล้ว กล่าวคือในเร็ว ๆ นี้ จะมีการเรียกคืนคลื่นบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรให้ผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็น 2600 MHz จาก อสมท. 700 MHz จากธุรกิจทีวีดิจิทัล และ 26-28GHz จากไทยคมเป็นต้น รวมถึงจะหาคลื่นใหม่ ๆ ที่เหมาะสมในยุค 5G ได้แก่ 3.4-3.5 GHz ออกมาให้ประมูลด้วยเช่นเดียวกัน

ปัญหาสำคัญคือบ้านเรามีทรัพยากรที่เท่ากันกับทุกประเทศทั่วโลก แต่คลื่นความถี่บ้านเราเกือบทั้งหมดเป็นของภาครัฐฯ กับการทหาร การจัดตั้งให้มี Regulator ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดความยากลำบากในการนำมาจัดสรรใหม่ ซึ่ง กสทช. เชื่อว่ายังไงแนวทางนี้ก็เหมาะสมที่สุดเพราะถือเป็นแนวทางเดียวกับนานาชาติ ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการให้สัมปทานมาเป็นการประมูลคลื่นอย่างเต็มตัว

ทีนี้ก็เหลือแต่ว่าเมื่อถึงวันที่เทคโนโลยี 5G พร้อม เราจะพร้อมหรือไม่ เพราะผู้ผลิตอย่าง Ericsson ก็พร้อมแล้ว และผมเองก็เชื่อว่า เราจะได้เห็น 5G กันในไทย ไม่น้อยหน้าไปกว่านานาชาติแน่นอนครับ

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)