ข่าวประชาสัมพันธ์

dtac ประกาศความร่วมมือกับ CAT/TOT เปิดทดสอบ 5G หาแนวทางทำธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้ 5G

dtac ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันเปิดทดสอบ 5G ในแล็บทดสอบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และภายในพื้นที่ EEC โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและทดสอบการใช้งานจริงกับกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ 5G อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งหาความเป็นไปได้ในการพัฒนากรณีศึกษาไปสู่แนวธุรกิจใหม่ ๆ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับ 5G ที่จะเปิดให้บริการจริงภายในเร็ว ๆ นี้

สำหรับโครงการนี้ dtac จะร่วมมือกับ CAT และ TOT เพื่อทดลองการใช้งาน 5G กับกรณีศึกษาต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีในยุค 5G ทั้ง NSA (Non-Standalone) และ SA (Standalone) โดยมีกรณีศึกษาภายในของบริษัทคือโครงการ Smart Farming ที่บริษัทได้ทดสอบในแล็บมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงกรณีศึกษาของทาง TOT, CAT, Ericsson และ Telenor อาทิ

  • โครงการ 5G Smart Pole ของ TOT
  • โครงการติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT รายงานค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ของ CAT
  • เทคโนโลยีการควบคุมระยะไกลและเทคโนโลยี Virtual Reality ของ Ericsson
  • โครงการ Highspeed Broadband/OTT-TV Streaming/Video Surveillance/Nordic Connect/5G Primary Access และโครงการ Autonomous Bus Control Center ของ Telenor Europe

ทั้งนี้ dtac ได้ยื่นหนังสือขอใช้งานคลื่นความถี่สำหรับทดลองให้บริการ 5G กับ กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งข้อเสนอในการใช้งานคลื่นความถี่ทั้งในมาตรฐาน NSA ร่วมกับการเปิดให้บริการ 4G ในปัจจุบัน และการใช้งานคลื่นความถี่ในมาตรฐาน SA รวมทั้งหมด 6 ชุดคลื่นความถี่ ซึ่งเมื่อ dtac ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก กสทช. dtac จะเริ่มทดสอบการใช้งานจากภายในห้องปฏิบัติการก่อน แล้วค่อยขยายสู่การทดสอบภายในสภาพแวดล้อมจริงต่อไป

 

แต่ก่อนจะถึง 5G ประเทศจะต้องมี Spectrum Roadmap ก่อน

อย่างไรก็ตาม dtac ยังได้ย้ำจุดยืนเดิมกับ กสทช. ว่า บริษัทฯ ยังคงเรียกร้องให้ กสทช. จัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ Spectrum Roadmap ออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้บริษัทฯ รวมถึงเอกชนรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันการเงิน และภาคประชาชนได้รับทราบว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง รวมถึงเรียกร้องให้ กสทช. กำหนดรูปแบบและกติกาการประมูลให้ชัดเจนกว่าเดิม และขอไม่ให้กำหนดราคาคลื่นความถี่สูงจนเกินไป เนื่องจากในยุค 5G ต้องมีการสำรองและใช้งานคลื่นความถี่เป็นจำนวนมาก การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่สูง จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เอกชน จนส่งผลต่อการให้บริการกับประชาชนต่อไป

ฉะนั้น dtac เชื่อว่ารากฐานที่สำคัญของการพัฒนาขึ้นสู่ 5G คือประเทศจะต้องมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ยุค 5G ในอนาคต โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญในสามเรื่องได้แก่ 1) การจัดทำ Spectrum Roadmap 2) การสนับสนุนแนวทางการขยายโครงข่าย 5G รวมถึงออกนโยบาย Infrastructure Sharing หรือตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการบริหาร Infrastructure และ 3) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐฯ และภาคเอกชน ในการผลักดันให้เกิด 5G โดยเร็ว

 

เราไม่ได้มาช้า แต่เราอยากให้จบทีละเรื่อง

สำหรับคนที่กำลังมีคำถามในใจว่าทำไม dtac มาช้าในเรื่องนี้ dtac ให้คำตอบแบบค่อนข้างชัดเจนว่า ที่ผ่านมา dtac มีปัญหาเรื่องการบริหารงานในยุค 3G และ 4G จนเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ฉะนั้นก่อนจะก้าวเข้าสู่ 5G dtac จะต้องกลับมาโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองยังทำไม่สำเร็จก่อน คือเรื่องการขยายโครงข่าย dtac Turbo

ที่ผ่านมา dtac ได้เร่งขยายโครงข่าย dtac Turbo ให้เร็วขึ้นกว่าแผนงานเดิม โดยเน้นการอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นมากกว่าการขยาย Capacity เพิ่มเติม โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 dtac ได้ติดตั้งสถานีฐานไปแล้วกว่า 12,700 จุดทั่วประเทศ คิดเป็น 114% จากไตรมาส 3/2561 ซึ่งนั่นทำให้สถานการณ์ของ dtac Turbo ดีขึ้นตามลำดับในพื้นที่ที่มีการแก้ไข ฉะนั้นเมื่อ dtac แก้ปัญหาในเรื่องนี้สำเร็จไปกว่า 80% dtac จึงกลับมาโฟกัสที่เรื่อง 5G ต่อ โดยมีฝ่าย Sustainability เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)