ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับนะครับว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลกว่าเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วอย่างก้าวกระโดด ผมยังจำได้แม่นว่าตอนปี 53 ที่ผมเพิ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เทคโนโลยีในขณะนั้นล้าสมัยค่อนข้างมาก 3G ยังไม่เกิดอย่างเต็มที่ แต่พอผ่านปี 56 ที่เรามีการประมูลคลื่นกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วันนั้นเทคโนโลยีก็เติบโตและพัฒนาไปไกลอย่างรวดเร็วจนหยุดไว้ไม่อยู่ และการเข้าถึงของประชาชนรวมถึงเด็กตัวน้อย ๆ ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้นจนสังคมโลกเริ่มเป็นกังวลต่อการพัฒนาในเรื่องนี้แล้ว
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง ที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เรามี 3G/4G ที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคให้บริการทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกล เรามีเครือข่าย Fiber ที่ครอบคลุมเมืองหลัก ๆ ทั้งเมือง เรามีโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ได้ แต่นั่นแหละครับ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ดี ก็ดีไป แต่ถ้าใช้ไม่ดีแล้วไปเจอด้านมืดขึ้นมาละ อะไรจะเกิดขึ้น นั่นจึงกลายมาเป็นเรื่องหลักที่เครือข่ายใหญ่ระดับประเทศอย่าง AIS ลงมาให้ความสนใจ และประกาศเป็นวิสัยทัศน์ใหญ่ในงาน AIS Vision 2019 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วันนี้หนึ่งในโครงการที่ประกาศเมื่อวันนั้น ได้เสร็จสมบูรณ์เป็นรูปธรรมแล้ว กับโครงการใหญ่ที่มีชื่อว่า “อุ่นใจ CYBER”
ทำไมบริษัทอย่าง AIS ต้องลงมาให้ความสนใจเรื่องนี้?
ถ้าจะถามว่า ทำไมบริษัทอย่าง AIS ต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ละ? ตัวเองเป็นบริษัททำ Network ให้บริการลูกค้าไม่ใช่หรือยังไง?? คำตอบก็ง่าย ๆ ครับว่า “มันคือความรับผิดชอบ” ที่ AIS มองว่าบริษัทฯ ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “สังคมก้มหน้า” ขึ้น ประกอบกับปัจจุบันเราเริ่มเห็นความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เช่นข่าวการทำร้ายหรือฆ่าบุพการีเพียงเพราะขัดขวางไม่ให้ใช้โทรศัพท์หรือห้ามเล่นเกม ข่าวความรุนแรงเพียงเพราะการเล่นเกม เช่น บุกปล้นรถเพียงเพราะทำตามเกม หรือแม้แต่ข่าวการฆ่าตัวตายเพียงเพราะถูกล้อจากสังคมออนไลน์เป็นต้น ทั้งหมดนี้ AIS กล่าวสรุปสั้น ๆ เลยว่า มันเป็นเพราะตัวเราไปกำหนดให้ของพวกนั้นเป็น “เทพเจ้าที่กำหนดชีวิตเราได้” นั่นเอง
ที่ผ่านมาเราเห็นการแก้ไขในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ให้บริการเพียงเท่านั้น แต่ฝั่งเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Google หรือ Apple ก็ให้ความสนใจและลงมาแก้ไขในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ผ่านการพัฒนาฟีเจอร์ Parental Control ที่ลูก ๆ หลาน ๆ เกลียดเข้าไส้เป็นอันดับ 1 แต่การใช้ Parental Control ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเราเองก็รู้คำตอบเรื่องนี้ดีอยู่แก่ใจ เมื่อไม่สามารถควบคุมเชิงการกระทำได้ AIS เลยคิดค้นหาทางแนวทางการแก้ไข จนเกิดเป็นโครงการ Cyber Wellness ขึ้นมา และได้ผลักดันจนเป็นหนึ่งในนโยบายที่ AIS ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในครั้งนี้
อุ่นใจ Cyber เป็นโครงการที่ถือเป็นคำตอบของ AIS สำหรับการแก้ไขและแก้ปัญหาในเรื่องนี้ AIS มองว่าการแก้ไขปัญหาข้างต้น ต้องเริ่มจากส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อน จากนั้นค่อยต่อยอดเป็นการปลูกจิตสำนึก พร้อมพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน ผลสำเร็จก็คือเราและกลุ่มเป้าหมาย ก็จะกลายเป็นพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่เข้าใจและเข้าถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และมีภูมิคุ้มกันพอที่จะใช้ชิวิตในโลกอินเทอร์เน็ตได้ดีต่อไป
เรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้วย Digital Quotient
เมื่อขั้นแรกของการแก้ปัญหา คือการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน AIS จึงได้จับมือกับ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำชุดการเรียนรู้ Digital Quotient หรือ DQ สำหรับเด็กอายุ 8-12 ปี (ผู้ใหญ่ก็เรียนรู้ได้) เข้ามาสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนไทยทุกคน
ชุดการเรียนรู้ DQ ชุดนี้ เป็นชุดการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีการเผยแพร่และใช้งานแล้วใน 110 ประเทศ และถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 21 ภาษา พัฒนาโดยนักวิชาการและนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยปลูกจิตสำนึกและเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดและเท่าทันคน โดยเด็ก ๆ จะได้ฝึกฝนทักษะ การใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ผ่านชุดการเรียนรู้และแบบทดสอบทั้ง 8 ด้าน อันได้แก่
ชุดการเรียนรู้และแบบทดสอบ DQ จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ dqtest.org ซึ่งเป็นแบบทดสอบและแบบสอบถามพฤติกรรมในการใช้งานอินเทอร์เน็ต และ dqworld.org อันเป็นชุดการเรียนรู้แบบออนไลน์ การทำงานจะเริ่มจากการทำแบบสอบถามจาก dqtest เพื่อรับรู้ถึงความสามารถและพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเสียก่อน โดยผลการทำแบบสอบถามจะถูกประเมินออกมาเป็นคะแนนสูงสุดที่ 120 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 100 คะแนน) และระบบจะสามารถชี้แจงได้ชัดเจนว่าเรามีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการปรับปรุงในจุดใด จากนั้นจะเป็นการเรียนรู้และทำแบบทดสอบอีกครั้งเมื่อการเรียนเสร็จสิ้น
กระบวนการเรียนตลอดจนทำทดสอบ Post-test และการจบคอร์สทั้งหมด จะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ (วันละ 1 ชั่วโมง 3-4 วันต่อสัปดาห์) หรือมากกว่านั้น เพราะ Post-test จะสามารถบอกได้ว่าเราได้รับการปรับปรุงในเรื่องนี้แล้วหรือยัง ถ้ายังก็จะให้กลับไปเรียนในจุดที่บกพร่องใหม่ หรือในกรณีที่ร้ายแรงมาก เช่นเด็กมีพฤติกรรมเสพติดเกมมาก หรือเคยโพสต์ข้อความรุนแรงเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่นทางอินเทอร์เน็ต ระบบก็จะแนะนำให้เด็กคนนั้นเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดในเรื่องนี้ก่อนกลับมาทำการประเมินใหม่ ผู้ที่ผ่านการประเมินก็จะได้รับประกาศนียบัตรจาก DQ และ AIS เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าบุคคลนี้ผ่านการฝึกอบรมและพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองดิจิทัล (DQ Citizenship) อย่างสมบูรณ์แล้ว
AIS ฝากความหวังกับ DQ ไว้ค่อนข้างมาก เพราะนอกจาก AIS จะประชาสัมพันธ์โครงการด้วยตนเอง บวกกับการพัฒนาระบบตอบรับอัตโนมัติสำหรับโรงเรียนที่สนใจ และฝากพนักงาน AIS กว่า 12,000 ชีวิต ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการแล้วนั้น AIS ยังได้ร่วมมือกับรายการซูเปอร์จิ๋วของพี่ซุป – วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการผ่านโรงเรียนเครือข่ายของรายการซูเปอร์จิ๋วกว่า 200 โรงเรียน 1,000 เบอร์โทรศัพท์ และ 5,000 อีเมล์ เพื่อต่อยอดความรู้สู่โรงเรียนและเยาวชนไทยให้ได้มากที่สุด
เสริมแกร่งและป้องกันภัยด้วยโซลูชันดิจิทัล
การมีทักษะเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับ AIS เพราะนอกจากชุดการเรียนรู้ DQ แล้ว AIS ยังได้พัฒนาระบบป้องกันและคัดกรองเนื้อหาที่ระบบเน็ตเวิร์คของฝั่ง AIS เอง ร่วมกับการนำโซลูชันจาก Google มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด ผ่าน 2 บริการดังนี้
AIS Secure Net เป็นบริการคัดกรองเนื้อหาและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมผ่านระบบหลังบ้านของ AIS โดยหลักการทำงานคือ เมื่อผู้ใช้เปิดลิงก์เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งจากข้อความและโฆษณาในเว็บไซต์ ระบบก็จะบล็อกไม่แสดงผลเว็บไซต์นี้ทันที หรือแม้แต่เว็บไซต์ที่มีไวรัส มัลแวร์ หรือเป็นเว็บไซต์ที่เข้าข่ายการฟิชชิ่งหรือดักข้อมูล ระบบก็จะบล็อกไม่แสดงผลเว็บไซต์เหล่านั้นเช่นกัน เว้นแต่ถ้าผู้ใช้สามารถรับความเสี่ยงได้ ก็จะสามารถกดปุ่มเพื่อเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้
บริการนี้ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพียงแค่สมัครใช้บริการ และกำหนดเบอร์ที่จะให้มีผลเพียงเท่านั้น ระบบก็จะเปิดบริการให้เบอร์นั้น ๆ ทันที เบื้องต้นบริการนี้สามารถสมัครใช้งานได้เฉพาะเบอร์ AIS รายเดือน และ 1-2-Call เท่านั้น (Nu Mobile ไม่สามารถใช้บริการได้ และ AIS Super WiFi กับเน็ตบ้าน AIS Fibre จะเปิดให้บริการในอนาคต) โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป และ 10,000 คนแรกที่สมัครสำเร็จ จะได้ใช้บริการในทันทีตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ และจะเปิดให้บริการสำหรับลูกค้าทั่วไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
Google Family Link เป็นบริการควบคุมการใช้งานโทรศัพท์มือถือโดย Google ระบบสามารถให้คำแนะนำในการตั้งการควบคุมการใช้งานโทรศัพท์ ทั้งการโทรเข้า-โทรออก การใช้อินเทอร์เน็ต การเข้าเว็บไซต์ โหลดแอปพลิเคชัน กดซื้อสินค้าจาก Google Play หรือแม้แต่ติดตามหรือดูแลความปลอดภัยของบุตรหลานจากพิกัดปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย
บริการนี้สามารถใช้งานได้กับสมาร์ทโฟน Android เวอร์ชัน 5.0 ขึ้นไป โดยผู้ปกครองจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Family Link for Parents มาติดตั้งก่อน (มีทั้งบน Android และ iOS) แล้วค่อยนำมือถือหรือแท็บเล็ตของบุตรหลานมาติดตั้ง Family Link for Children & Teens และผูกไว้ด้วย Google Account ที่ผู้ปกครองสมัครไว้ให้ เพียงแค่นี้ก็จะสามารถดูแลและควบคุมการใช้งานมือถือและแท็บเล็ตของบุตรหลานได้ทันที
ทั้งนี้บริการ Google Family Link สามารถใช้งานได้ทุกเครือข่ายไม่จำกัดเฉพาะ AIS แต่สำหรับลูกค้า AIS จะได้รับอินเทอร์เน็ต On-top เพิ่มเติมสำหรับใช้ในการดูแลบุตรหลานโดยตรง
ทำเพื่อย้ำภาพลักษณ์ ... ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย
ในงาน AIS Vision 2019 คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ได้กล่าว Keyword ที่เป็นแนวคิดของ AIS ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าเราทุกคน คือ เครือข่าย” มันเป็นคำที่ผมนั่งงงตั้งแต่วันนั้นว่าความหมายของมันคืออะไร ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เก็ตว่า AIS จะสื่ออะไรกันแน่ แต่การประกาศวิสัยทัศน์ Network for Thais และการประกาศโครงการอุ่นใจ Cyber ในวันนี้ก็ทำให้ภาพ “ทุกคนคือเครือข่าย” ที่ผมงงตั้งแต่วันนั้นดูชัดเจนมากขึ้น และพอเข้าใจได้แล้วว่า AIS ต้องการอะไรจากแนวคิดนี้
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ผมนั่งคุยกับคุณสมชัยและทีมผู้บริหารที่ดูแลโครงการนี้โดยตรง (คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และ คุณศิวลี บูรณสงคราม หัวหน้าแผนกงานบริหารแบรนด์) ทั้งสามคนพูดตรงกันหมดว่า เรา (AIS) ไม่ได้หวังผลสำเร็จว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน แต่โครงการนี้จะสร้างผลสำเร็จอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะถือเป็นนโยบายการสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างน้อยถ้าโครงการนี้สามารถเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ อันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีและก็เป็นผลสำเร็จของโครงการในมุมจาก AIS เช่นกัน และมันจะสร้างผลอย่างต่อเนื่องให้กับ AIS และสังคม
เรื่องวันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย และนับถือ AIS มากที่กล้าเปิดประเด็นนี้ต่อสังคมอย่างจริงจัง พูดกันตามตรงว่า AIS ถึงจะมาทีหลัง (เพราะ dtac ทำ Safe Internet ในประเทศร่วมกับกลุ่ม Telenor มาก่อน) แต่ก็มีปณิธานและความมุ่งหวังอันแน่วแน่ว่าโครงการนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในสังคมไทยได้อย่างแน่นอน และผมเชื่อครับว่าด้วยพลังของทุกคน เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
สั้น ๆ ละกันครับว่า AIS วันนี้ “เรื่องเด็ก(และสังคม)สำคัญกว่าเรื่องคลื่น” แน่นอน : P