ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ลงเลยนะครับว่า ยุคของสื่อเก็บข้อมูลทุกวันนี้เติบโตไปเร็วกว่าที่เราคาดกันไว้จริง ๆ จากยุค Floppy Disk เป็นยุค CD-ROM ไล่จนถึงยุค Flash Drive ที่ปัจจุบันก็ยังนิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่อีกหนึ่งรูปแบบของสื่อเก็บข้อมูลที่ปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยมที่ไม่แพ้กัน คงจะหนีไม่พ้น External Harddisk หรือฮาร์ดดิสก์แบบต่อภายนอก เพราะสามารถใช้ทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเก็บข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลภาพ งานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งใช้เพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในเครื่องเป็นต้น
และยิ่งทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์พกพาหลาย ๆ เจ้า ก็ให้พื้นที่เก็บข้อมูลกันมาน้อยเหลือเกิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องหา External Harddisk มาใช้งานกันเพิ่มเติม เพื่อรักษาพื้นที่เก็บข้อมูลบนเครื่องเอาไว้ให้น้อยที่สุด และใช้งานบ่อยที่สุดเพียงเท่านั้น
ปัจจุบันเรามี External Harddisk ให้เลือกกันหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรุ่น หลากหลายความจุ ขึ้นกับความต้องการ แต่ยี่ห้อที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้มากที่สุด และมีผู้ใช้มากสุดเป็นอันดับ 1 คงต้องยกให้กับกลุ่ม Western Digital ที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลาย ตอบสนองทุกความต้องการได้อย่างลงตัว และหนึ่งในรุ่นที่น่าจะถือกันมากที่สุด คงจะหนีไม้พ้นซีรีส์ My Passport จากแบรนด์ WD ที่มีแบบและสีให้เลือกหลากหลาย และก็ล้วนเพิ่มฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์มาให้ใช้งานกันแทบจะทุก ๆ ปี
และเช่นเดียวกับรุ่นปี 2019 WD ก็ยังคงส่งผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง กับ My Passport 2019 โดยรุ่นที่เราได้มาลองในครั้งนี้ คือรุ่นบางหรือ My Passport Ultra ที่มีจุดเด่นด้านความบางที่บางกว่ารุ่นปกติแบบชัดเจน แต่จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตามมากันต่อเลยครับ
ส่องรอบๆ ตัว
สำหรับ WD My Passport 2019 ตัวนี้ ก็ยังคงมาพร้อมกับดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นเส้นสยการออกแบบคล้ายของเดิมที่วางขายเมื่อปี 2018 โดยรุ่นที่ได้รับมาลองเล่นตัวนี้วัสดุเป็นผิวเมทัลลิค สีเทาสะท้อนแสงสวยงาม
พลิกมาอีกด้านหนึ่ง ลายเส้นก็ยังคงเหมือนด้านหน้าในแบบสลับข้างกัน เสมือนว่าทั้งสองด้านเป็นรูปแบบสามมิติ ด้านบนมีการสกรีนรุ่น My Passport Ultra เอาไว้ พร้อมฉลากระบุรายละเอียดที่ด้านล่าง
ด้านบนมาพร้อมกับพอร์ต USB-C พร้อมไฟแสดงการทำงานซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อเสียบตัวฮาร์ดดิสก์เข้ากับเครื่อง
สายเชื่อมต่อที่มาในกล่อง ปีนี้ให้สาย USB-C อย่างเดียว ทั้งรุ่นปกติ และรุ่น My Passport for Mac แต่ถ้าใครซื้อมาแล้วต้องเอามาใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีพอร์ต USB-A ในกล่องก็มีหัวแปลง USB-C to A ให้อีกหนึ่งหัว เพื่อนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีพอร์ต USB-C ได้
ถ้าจับสังเกตได้ WD เริ่มให้สาย USB-C พร้อมหัวแปลงแบบนี้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ My Passport SSD ที่ออกจำหน่ายเมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งมาปรับใช้จริงจังกับ My Passport 2019 เป็นปีแรก ซึ่งนับว่าเป็นการทดแทนพอร์ต Micro USB 3.0 เดิมที่เคยใช้งานมาหลายปีได้อย่างลงตัว และสอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตของ USB-C ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดมากในรอบหลายปีหลัง ทั้งจากผลิตภัณฑ์สาย Apple เช่น Mac หรือ iPad หรือฝั่ง PC เองก็มีอุปกรณ์ที่ให้พอร์ต USB-C กันมากขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้นการออกอุปกรณ์เสริมที่ใช้ USB-C ตั้งแต่แรก จะช่วยลดความยุ่งยากในการหาหัวแปลงหรือการพกพาอแดปเตอร์ไปไหนมาไหนได้เป็นอย่างดี
เสียบสาย เริ่มใช้งาน
การใช้ My Passport Ultra ของ WD ก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากเหมือนกับ External Harddisk ตัวอื่น ๆ ครับ เพราะอุปกรณ์เป็นประเภท Plug-and-play เสียบสายปุ๊ป รอเวลาเล็กน้อย เปิดใช้งานได้ทันที ตัวฮาร์ดดิสก์ฟอร์แมตมาเป็นรูปแบบไฟล์ exFAT อยู่แล้ว จึงสามารถใช้งานร่วมกันทั้ง Windows และ macOS ได้อย่างสบาย ยกเว้นตัว My Passport for Mac ที่ฟอร์แมตมาเป็น Mac OS Extended (Journaled) อาจจะทำให้มีปัญหาในเวลาที่จำเป็นต้องเอาฮาร์ดดิสก์ไปใช้งานร่วมกับฝั่ง Windows
หลังเปิดฮาร์ดดิสก์ขึ้นมา ในฮาร์ดดิสก์จะมีไฟล์ให้อยู่แล้วสองไฟล์ ซึ่งไฟล์นี้คือโปรแกรมชุด WD Discovery ที่ WD ใส่มาให้ใน My Passport ทุกตัว โปรแกรมนี้เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับฮาร์ดดิสก์ของเราโดยเฉพาะ โดยมีให้ทั้งเวอร์ชัน Windows และ macOS
เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว หน้าตาของโปรแกรมก็จะประมาณนี้ โดยฝังตัวอยู่ที่ System Tray ของ Windows และ Menu Bar ของ macOS การเรียกใช้ก็คลิกเพื่อเปิดหน้าต่างใช้งานได้ทันที
WD Discovery จะประกอบไปด้วยสองส่วน คือส่วน Stroage ที่บอกรายการอุปกรณ์ WD ที่เชื่อมต่อทั้งหมด พร้อมความจุคงเหลือและรุ่นที่ใช้งาน และด้านบนยังสามารถเชื่อมต่อกับ My Cloud Home ซึ่งเป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ตระกูล My Cloud ที่เป็น External Harddisk ขนาดใหญ่ ไปสร้างเป็น Cloud Storage ส่วนตัวได้ และการใช้งานก็จะเรียกใช้ผ่าน WD Discovery ตัวนี้ เพื่อผูก Cloud Drive เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ทันที
WD Drive Utilities โปรแกรมตรวจสอบสภาพฮาร์ดดิสก์ (Analysis) วิเคราะห์ (Diagnostic) และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงยังสามารถตั้งเวลาการทำงาน (เสียบสายแล้วถ้าไม่มีการใช้งานใน x นาที ให้ปิดตัวลง) และล้างข้อมูลแบบกู้คืนไม่ได้ (Drive Erase) ได้ในตัว
WD Security โปรแกรมเพิ่มความปลอดภัยให้กับฮาร์ดดิสก์ด้วยการเข้ารหัสไฟล์ทั้งหมด ผ่านเทคโนโลยี AES 256 บิิต และตัวสุดท้ายที่มีให้คือ WD Backup เป็นโปรแกรมช่วยเหลือในการสำรองข้อมูล ทำหน้าที่คล้าย ๆ Time Machine ของ macOS
นอกจากโปรแกรมช่วยเหลือสามตัวแล้ว ตัว WD Discovery ยังมาพร้อมกับความสามารถในการตั้งค่าตัวฮาร์ดดิสก์แบบเบื้องต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับไฟ LED เผื่อใครทำงานในห้องที่ใช้เแสงน้อย ก็สามารถปิดไฟแสดงสถานะที่ตัวฮาร์ดดิสก์เพื่อลดแสงรบกวนสายตาลงได้
และอีกหนึ่งอย่างคือสามารถตั้งรหัสผ่านให้กับฮาร์ดดิสก์ แบบไม่ต้องติดตั้ง WD Security ได้ และสามารถปลดล็อกการใช้งานได้แบบอัตโนมัติเมื่อ WD Discovery เปิดใช้งานอยู่
ทั้งหมดนี้ก็คือคร่าว ๆ ของฟีเจอร์ที่ติดมากับฮาร์ดดิสก์ของ WD แต่ของจริงหลังจากนี้ นั่นคือ…
ความเร็วในการใช้งาน
ถึง My Passport Ultra รุ่นนี้จะเชื่อมต่อด้วย USB-C (และคอมที่เอามาใช้ด้วยก็มี Thunderbolt 3) แต่ฮาร์ดดิสก์จะทำงานได้ตามความเร็วสูงสุดตามมาตรฐานฮาร์ดดิสก์ความเร็ว 5400 รอบ หรือฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊คแบบทั่ว ๆ ไป เพราะโดยรวมถูกออกแบบมาสำหรับการประหยัดพลังงานเป็นหลัก มากกว่ารีดประสิทธิภาพความเร็วสูงสุดออกมา
จากการทดสอบ การเขียนไฟล์ สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 137.35 MB ต่อวินาที และการอ่านไฟล์ใช้ความเร็วสุงสุดถึง 144.50 MB ต่อวิินาที ในการใช้งานจริง ความเร็วนี้เรียกว่าเพียงพอต่อการใช้งานแบบทั่ว ๆ ไป เซฟไฟล์ เขียนไฟล์ ก็เรียกว่าทำได้ไม่มีสะดุด แต่การใช้งานโปรแกรมจำพวกตัดต่อวิดีโอ อาจจะทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับการใช้งานบน SSD หรือ HDD ความเร็วสูงโดยตรง ฉะนั้นแล้ว การใช้งานหลัก ๆ ของ My Passport Ultra จะออกไปทางสำรองข้อมูลเป็นหลักมากกว่าการใช้หนัก ๆ จากความเร็วที่เป็นรอง SSD อยู่พอสมควร
สรุป "ดีไซน์สวย ราคาไม่แพง แต่ความเร็วก็ไม่ได้แรงมาก"
การซื้อฮาร์ดดิสก์หนึ่งลูก พูดให้ถูกมันก็คือการซื้อความอุ่นใจของข้อมูลในระดับหนึ่ง ฉะนั้นการเลือกหาฮาร์ดดิสก์ที่ตรงใจเราและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าการหาฮาร์ดดิสก์ราคาถูก แต่คุณภาพกลับไม่ได้ตามที่เรามุ่งหวังไว้ โชคดีที่ WD มีครบทั้งสองข้อ คือตรงใจ ทั้งในแง่ราคาถูก ใช่ครับ My Passport Ultra ตัวนี้ราคาถูกมาก เริ่มต้นเพียงพันกว่าบาท ในแง่ดีไซน์ที่สวย ดูดี ดูแพงเลยแหละ และการใช้งานร่วมกันที่ตรงใจผู้ใช้ตาดำ ๆ อย่างผมมาก โดยเฉพาะการใช้ USB-C เป็นพอร์ตหลัก อันนี้ถูกใจเป็นที่สุด เพราะสามารถนำไปใช้งานกับอุปกรณ์ใด ๆ ก็ได้ที่รองรับ USB-C ไม่ว่าจะเป็นพีซี, MacBook, แท็บเล็ต หรือ iPad ก็ตาม เรียกว่าช่วยเหลือในการทำงานข้ามอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนคุณภาพคงไม่ต้องพูดถึง เพราะ WD อยู่ในวงการนี้มานาน มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เยอะ ฉะนั้นฝากชีวิตไว้ได้แบบไม่ต้องกลัวอะไรเลย
จริงอยู่ที่ความเร็วของ My Passport Ultra อาจจะไม่ได้เร็วเท่า SSD มากนัก ซึ่งก็ไม่เหมาะสมที่จะเอาไปใช้ทำงานหนัก ๆ ที่ต้องมีการอ่าน/เขียนฮาร์ดดิสก์ตลอดเวลา เช่นการตัดต่อวิดีโอ หรือการต่อ PS4/Xbox One เพื่อใช้เพิ่มพื้นที่ในการเล่นเกม แต่ความเร็วในภาพรวมก็ยังเหมาะสมสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป บันทึกงาน เก็บงานขนาดใหญ่ เรียกว่าเพียงพอแล้วสำหรับความเร็วระดับนี้ เพราะถ้าอยากได้ฮาร์ดดิสก์ที่เร็วแบบเร็วมากจริง ๆ มันมีตัวเลือกเดียวครับ คือข้ามฮาร์ดดิสก์ไป SSD เลย แต่ก็ต้องแลกกับราคาที่แพงมหาโหดเช่นเดียวกัน
ใครที่อ่านมาจนจบแล้วเริ่มอยากหา My Passport Ultra มาเป็นเจ้าของ สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่ายของ WD และ Synnex ประเทศไทย โดยมีให้เลือกใน 3 ความจุ ได้แก่ 1 TB ในราคา 1,790 บาท / 2 TB ราคา 2,390 บาท และ 4 TB ราคา 3,790 บาท (สำหรับตัว for Mac จะมีวางจำหน่ายเฉพาะรุ่น 2 TB และ 4 TB เท่านั้น) ทั้งหมดมาพร้อมการรับประกันหลังการขาย 3 ปี และบริการรับประกันข้อมูลในอุปกรณ์ในกรณีข้อมูลสูญหายหรือเสียหายสามารถส่งกู้ข้อมูลได้อีก 1 ปี เรียกว่าอุ่นใจตั้งแต่สินค้าไปจนถึงบริการหลังการขายเลยแหละครับ : D