ลองแล้วเล่า

ลองแล้วเล่า : Samsung Galaxy Buds “ของดีที่ไม่ดัง”

ต้นปี 2019…ย้อนความกันไกลเล็กน้อย เพราะวันนั้น มีของชิ้นหนึ่ง ที่ผมสนใจกว่ามือถือรุ่นประจำปี รุ่นพยายามเต็มจอ แต่ไม่รู้จะใส่กล้องหน้ายังไงต่อดี นั่นคือหูฟังไร้สายทรงตลับแนว True Wireless จากค่าย Samsung ที่เป็นผลผลิตทั้งจากกระแสแจ้งเกิด AirPods รวมถึงน่าจะเป็นผลงานที่เป็นจริงเป็นจังจากการซื้อ AKG / Harman Kardon มาเข้าครอบครัว Samsung เมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ Galaxy Buds หูฟังแนว True Wireless แบบตลับรุ่นปรับปรุงจาก Gear Icon X ที่ดูเผิน ๆ ไม่ได้ต่างอะไรนักจากเดิม แต่ในแง่สเปก จุดขายที่ Samsung โชว์ในวันเปิดตัว มันให้อารมณ์ที่พลิกจากหน้าเป็นหลัง แบบที่คุยได้เลยว่า “หูฟังไร้สายแบบ AirPods เหรอ ฉันก็ทำได้ ทำได้ดีกว่าด้วย รู้ไหม!!!” ด้วยความสามารถหลัก ๆ ที่เชื่อมต่อง่าย เมื่อใช้กับ Smartphone / Tablet ของ Samsung

เอาจริง ๆ นี่เป็นของชิ้นหนึ่ง ที่ผมเริ่มด้วยอคติส่วนตัวเลยว่า “ก็แค่ลอก AirPods มา” ไปที่ Samsung Shop ก็มีแค่ตัวโชว์ที่ล็อคแน่นแบบไม่เรียกแขก ตัวลองก็ไม่มี หาซื้อก็ ลักปิด ลักเปิด ชวนหงุดหงิดว่า “อยากขายจริงเหรอเนี่ย?” จนทำให้ผมรำคาญที่จะสนใจ ปล่อยผ่านไป ไม่อยากมีประสบการณ์อะไรกับ Galaxy Buds อีกเลย จนกระทั้งเมื่อช่วงก่อนคริสต์มาสที่ผ่านมา โปรฯ ปีใหม่ของ Samsung Online Shop จัดราคามาดีมาก จนผมกดซื้อพร้อมกับเคส Galaxy Buds ลาย Kakao Friends มาอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งภาพในรีวิว จะหนักไปที่ภาพที่ใส่เคสแล้วหน่อยนะครับ

หลังจากได้ลอง ความคิดที่ผมมีต่อ Galaxy Buds พลิกกลับจากหน้าเป็นหลังจริง ๆ ครับ ถึงมันจะมีจุดที่ผมยังไม่โอเคอยู่พอสมควร แต่องค์ประกอบรวม ๆ มันให้ผมเชื่อว่า ถ้า Samsung จะทำของที่ดีแบบ น่าประทับใจสักชิ้น ก็ทำได้นี่หน่า ของชิ้นนี้ ทำให้ผมประหลาดใจ ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกได้ว่า Samsung ควรจะเป็นส่วนหนึ่งที่ ทำให้ Galaxy Buds ติดตลาดได้มากกว่านี้ และที่สำคัญสุด ผมพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมนิตยสาร Consumer Reports ที่สหรัฐฯ ถึงได้ให้ Galaxy Buds เป็น “หูฟังไร้สายที่แนะนำให้ซื้อ” ในแง่ความสามารถต่อราคาที่ดีที่สุดในตลาด ในเวลาที่ตลาดหูฟังไร้สายเป็นแหล่งเงินสำคัญ ไม่ว่าจะผู้ผลิตสินค้า IT เดิม หรือจะกับแบรนด์ที่ทำหูฟัง เรื่องเสียงอยู่ก่อนแล้ว Galaxy Buds คือหนึ่งในหูฟังที่ผมได้ลองแล้ว มองเห็นถึงศักยภาพที่ดี และก็พอเข้าใจแล้วว่า ทำไมผมแทบไม่ค่อยเห็นคนใช้ Samsung ใช้ Galaxy Buds กันมากเท่าที่ควร ประสบการณ์ที่ผมได้รับ ก็มีดังนี้ครับ….

ส่องรอบตัว

เริ่มหัวข้อนี้ ขออนุญาตบ่นในทางไม่ประทับใจสักหน่อยนะครับ กล่องบรรจุภัณฑ์ของ Samsung Galaxy Buds ดูไม่ดึงดูดเลย เทียบกับกล่องมือถือ Samsung ในยุค 2-3 ปีหลังแล้ว ยิ่งรู้สึกเลยว่า ไม่ได้ดูดีเท่า ฉะนั้นแล้ว ช่วยออกแบบหน้าตาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดกว่านี้ ดูเล็กน้อย แต่การทำกล่องให้ดูแพง ก็เป็นความประทับใจแรกได้เหมือนกัน

แกะกล่องมา จะเจอ Galaxy Buds วางอยู่ในกล่องพร้อมพลาสติกหุ้มที่มีปลายยกออกจากกล่อง โดยกล่องขาว ๆ ที่อยู่ในช่องข้าง ๆ เป็นสายชาร์จแบบ USB-C กับจุกยางหูฟังทั้งแบบ Inear ปกติ และแบบมีปลายเกี่ยวใบหูด้านใน ถ้าพลิกฝากล่องออกมา จะพบซองคู่มือซ่อนอยู่ด้านใน สำหรับหน้าตาของ Galaxy Buds แต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

ตลับเป็นทรงแบบขนมเอแคลร์ (ไม่ใช่ชูครีมกลม ๆ นะครับ) ที่ฝาด้านบน จะพิมพ์คำว่า “SAMSUNG” ถัดลงมาหนึ่งบรรทัดพิมพ์ “Sound by AKG” โดยที่ด้านข้างของตลับ ส่วนที่มีการเซาะร่อง คือจุดที่ให้ผู้ใช้หันมันเข้าหาตัวเรา แล้วเอานิ้วจับฝา แล้วงัดออกจากตัว เป็นการเปิดฝาเพื่อหยิบหูฟังออกจากตลับ แต่เผอิญว่า ผมใส่กับเคสไปแล้ว หน้าตามันก็เลยจะเป็นแบบที่เห็นตามภาพด้านบน และแถมตัวเคสก็มีแถบกาวสำหรับยึดตัวเคสกับกล่องเจ้า Galaxy Buds ซะด้วย เลยทำให้แกะยากเข้าไปใหญ่ ผมกล้าพูดเลยว่าแกะไม่กี่ที… คุณผู้อ่านต้องไปหาซื้อเทปสองหน้ามาติดทดแทนอะครับ 😅

ด้านหลังของตลับ เป็นช่องชาร์จไฟแบบ USB-C และด้านล่างของตลับ จะมีรายละเอียดสำคัญ ๆ ของตัวหูฟัง ไม่ว่าจะเป็นชื่อรุ่น มาตรฐานสินค้าที่รองรับ (ซึ่งกรณีใส่เคส ด้านล่างจะพิมพ์คำว่า “Kakao Friends” ตามชื่อลายของเคสที่เอามาใช้)

เมื่อเปิดตลับออกมา จะเจอกับหูฟังที่วางแบบจุ่มกับด้านที่ใส่หูลงในตลับ สามารถสอดนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ในการหยิบออกมาเพื่อสวมใส่ ด้านในตลับเนื่องจากสีที่ใช้เป็นสีขาว ด้านในเลยเป็นสีฟ้า (ส่วนสีดำกับเหลือง ด้านใน สีจะตรงกับตลับ) ตัวตลับมีการระบุไว้ชัดเจนว่า หูซ้ายหรือขวาวางตำแหน่งไหน หากสังเกตดี ๆ จะเห็นไฟสถานะการชาร์จไฟกลับเข้าหูฟัง อยู่ระหว่างอักษร L กับ R ตัวหูฟังถูกเก็บด้วยแม่เหล็กดูด หลังใช้งานเสร็จ เพียงแค่หย่อนลงให้ถูกฝั่ง หูฟังจะไหลตามแม่เหล็กเล็กน้อย แล้วล็อคเข้าตลับอย่างถูกต้อง ในส่วนฝาตลับ จะเป็นการเปิดแบบสองจังหวะ จังหวะแรกที่ง้างเปิด จะลื่นมือ แต่พอง้างเกือบสุด จะสะดุดหนึ่งจังหวะ ฝาเปิดจะจนสุดและคาเอาไว้ได้จนกว่าเราจะออกแรงกดฝาตลับปิดกลับลงมาเอง

หูฟังแต่ละข้างเป็นทรงกลมแบบไม่สมมาตร หน้าสัมหัสควบคุมการใช้งาน เป็นทรงสามเหลี่ยมคว่ำ สีปุ่มเงินรุ้งตัดกับสีขาว โดยที่ปลายสามเหลี่ยมด้านล่าง เป็นไมโครโฟน ส่วนกลางของหูฟัง เป็นยางแบบมีติ่งยาง ติ่งนี้ มีหน้าที่ดันกับใบหูด้านใน ให้การใส่แล้ว แน่นกระชับมากขึ้น ส่วนด้านหลังหูฟัง จะมีระบุตำแหน่งว่าใช้กับหูข้างไหน มีจุดอยู่สี่จุด สองจุดสีทอง สองจุดสีดำ โดยจุดสีทอง คือหน้าสมผัสที่ใช้ดูดลงตลับเพื่อชาร์จไฟกลับ ส่วนจุดสีดำ คือเซ็นเซอร์ที่ตรวจว่า หูฟังใส่หรือถอดอยู่ และหูฟังเป็นแบบ In-Ear ที่จุกยางสามารถเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง

โดยรวมแล้ว Galaxy Buds มีงานออกแบบที่สวย เห็นจากในรูปอาจไม่ชอบ แต่ตัวจริงดูดี วางกับโต๊ะ ถือในมือ ก็เข้ากันหมด ผมใส่เคส Kakao ที่ Samsung ไทยนำมาขาย อยากบอกเลยว่า “ของมันต้องมี” จริง ๆ ครับ มันทำให้ Galaxy Buds ดูดี โดดเด่นขึ้นจริง ๆ แถมเอาไปแตะหลังมือถือ Galaxy ที่ใช้งาน ได้ธีม Kakao Space มาใช้ในเครื่องด้วย ความเล็กของตลับโดยรวม ไม่ว่าจะพกกับกระเป๋าถือ หรือใส่ไปกับกางเกงเวลาไม่พกกระเป๋า ถือว่าทำได้ดีมาก จัดเป็นหูฟังแนว True Wireless ที่พกง่ายที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดเลย

วัสดุตัวตลับเป็นพลาสติกสีขุ่น ดูเป็นพลาสติกผิวสาก แต่จริง ๆ ทำมาแบบขัดเงา ข้อดีคือ ถ้าใช้แบบไม่ใส่เคส ริ้วรอยไม่หนักจริง จะมองยากหน่อย แต่ข้อเสียคือ ถ้าสกปรก คือเจอรอยกินเนื้อหนัก ๆ จะดูเยินเอาเรื่องเลยทีเดียว สำหรับสีที่วางจำหน่าย มีสีขาว / ดำ / เหลือง ซึ่งเอาจริง ๆ จากที่ได้เห็นมาหมดทุกสีแล้ว สีขาวเดิม ๆ นี่แหละ น่าใช้ที่สุดละครับ สีขาว อาจไม่ได้เงาดูแพงแบบ AirPods แต่ขาวขุ่นแบบนี้ ก็ไม่ได้แย่ และใช้งานแบบลุยได้สบายใจกว่าด้วยซ้ำ งานประกอบของตลับ หูฟัง มองรวม ๆ ถือว่าแน่นหนา จัดอยู่ในกลุ่มงานประกอบไว้ใจได้ เมื่อเทียบกับหูฟัง True Wireless ในตลาดทั้งหมด แต่ถ้าเอาหูฟัง True Wireless ตัวโหด ๆ ของตลาด ที่ราคาไม่หนีกับ Galaxy Buds มาเทียบกันแล้ว สิ่งที่ Samsung ควรแก้ คือการเก็บ “ความรู้สึก” เมื่อใช้งาน ให้ดูเป็นของที่มีราคามากกว่านี้

ที่บอกแบบนี้ เพราะด่านแรกของการใช้งาน คือฝาตลับ จริงอยู่ว่าวัตถุประสงค์ของฝาที่ต้องดันสองจังหวะ ช่วยให้เปิดง่ายในจังหวะแรก ล็อคฝาให้อยู่กับที่เพื่อหยิบหูฟังได้สะดวกในจังหวะสอง แต่ระดับ Samsung แล้ว ถ้าออกแบบฝาให้น้ำหนักเปิดสู้นิ้วกว่าเล็กน้อย แล้วมีการดีดจังหวะเดียวไปจอดรอตอนเปิดสุดที่แน่นหนากว่านี้ สัมผัส ความรู้สึกในการเปิด หยิบ จะดูเป็นของแพงกว่านี้ทันที เพราะจังหวะที่ปิดกลับลงมา น้ำหนักฝาทำได้ดีแล้ว รวมถึงความแน่นหนาของแกนฝาตลับ ก็ทำมาแข็งแรงดีแล้ว ช่องไฟที่จำเป็นที่มองเห็นได้ของตัวตลับภายนอก ก็ทำมาเรียบร้อยดี รวมถึงน้ำหนักของตัวตลับที่ เบา น่ารักน่าพกสุด ๆ โดยสรุปแล้ว ประเด็นเรื่องวัสดุ งานประกอบของตัวตลับ ขอแค่น้ำหนักฝาตอนเปิดที่ให้ความรู้สึก เป็นผู้ดีกว่านี้อีกนิด ก็สมบูรณ์ละครับ

ในส่วนตัวหูฟัง เอาตรง ๆ ผมไม่ชอบงานออกแบบมันเอาซะเลย ทรงสามเหลี่ยมคว่ำ โทนสีขาวขุ่น โทนสีแป้นสัมผัสที่เป็นเงิน ๆ เลื่อม ๆ จุกยางที่ดูไม่รู้จะเข้าหูแล้วพอดีหรือไม่ ทรงรวม ๆ ที่ชวนคิดถึงเม็ดถั่วในกระป๋องโก๋แก่ มากกว่าจะเป็นทรงกลม ทรงรี อะไรทั้งสิ้น พอลองจับ ๆ บีบ ๆ คลำดูให้ดี ๆ ถ้านับแค่เรื่องงานวัสดุ งานประกอบ น้ำหนักของหูฟัง ถือว่าไม่มีอะไรติ ทำออกมาใช้งานได้ดี แน่นหนา เรียบร้อย ใส่แล้วไม่ระคายเคืองหรือชวนคัน รวมถึงน้ำหนักตอนอยู่ในหู ออกมาเบา คล่อง เคลื่อนไหวแบบสบายใจกว่าหูฟังแนวเดียวกันนี้ในบางเจ้าด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผมอยากได้จากหูฟังคือ “การจับถือที่ดีกว่านี้” ด้วยความที่มันกลม มนไปหมด เวลาหยิบออกจากตลับเพื่อใส่หู ทุกส่วนชวนให้จับยาก จับแล้วโอกาสทำหล่นสูงมาก รวมถึง เวลาจะบิดเข้าไปให้เข้ากับหู หรือตอนถอดออก ก็มีโอกาสที่จะพลาดหลุด หรือจับไม่อยู่ วิธีจับให้อยู่ ให้ใช้นิ้วชี้ บีบลงที่ติ่งยางของส่วนโค้งของหูฟัง จะช่วยให้จับได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกลัวยางเสียทรง เพราะเนื้อมันทำมาคืนรูปได้ดีอยู่ แต่ทั้งนี้ หาก Samsung อยากรักษาทรงของหูฟังให้มาแนวนี้ ลองปรับวัสดุส่วนที่นิ้วมือต้องหยิบจับ ให้มีสัมผัสที่มั่นคงขึ้น แต่เวลาใส่แล้ว ต้องไม่ระคายเคืองกับใบหู ก็จะทำให้ความเล็กของตัวหูฟัง เป็นความเล็กที่สมบูรณ์แบบทั้งตอนหยิบ ใส่ ถอดเก็บตลับ อย่างแน่นอน

โดยสรุปแล้ว งานออกแบบของ Galaxy Buds มีบางจุดที่ผมรู้สึกว่า มันไปให้สวยสุดกว่านี้ได้ แต่ถ้าเอางานออกแบบนี้ตั้ง แล้วใช้งานกันจริง ๆ ถือว่าสอบผ่าน หน้าตาอาจไม่สุด แต่ใช้งานรวม ๆ คือใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ในส่วนงานวัสดุ งานประกอบเอง ถือว่าทำมาได้ดีแล้ว แต่ถ้าให้ปรับจริง ๆ ขอแค่ทำให้สิ่งที่มองเห็นได้ สิ่งที่ได้สัมผัส แบบทั้งหมดของตัวตลับ ตัวหูฟัง ออกมาดูมี “ความแพง” กว่านี้อีกสักหน่อย Galaxy Buds จะดูน่าพก และหยิบใช้ได้ดูดีไม่แพ้คุ่แข่งในตลาดตัวแรง ๆ แน่นอน

การเชื่อมต่อ / สวมใส่

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าแล้วว่า ฝาตลับควรแก้เรื่องน้ำหนักการเปิด แต่สิ่งที่อยากให้แก้กว่าน้ำหนักฝาตลับ ก็คือ การเก็บหูฟังในตลับ มันเป็นอะไรที่ เหนือความคาดหมายไปมาก เพราะเมื่อเปิดฝาตลับออกมา หูฟังถูกวางในตลับแแบบหลวม ๆ มีแรงดูดจากแม่เหล็กที่มีต่อหูฟังกับตลับแบบแผ่วเบามาก นั่นแปลว่า ขณะที่เปิดฝาตลับ แล้วหูฟังยังวางอยู่ อย่าพลาดทำหล่น อย่าโดนใครชน รวมถึง ต้องใช้สติในการหยิบและวางให้ลงอย่างดี เพราะถ้าคว่ำลงขณะที่ฝาตลับยังเปิด ผลคือ หูฟังจะหล่นทันทีแบบไม่มีอะไรเบรคไว้ ฉะนั้นแล้ว ขอเลยครับ ช่วยทำตัวดูดระหว่างตลับกับหูฟัง ให้ดีพอระดับที่ถ้าเผลอคว่ำลง หรือหยิบอย่างไม่ระมัดระวัง ก็ไม่พลาดหล่นพื้นง่าย ๆ รวมถึงตอนเก็บกลับ ก็สามารถหย่อนลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเล็งเป็นพิเศษเพื่อให้ลงตลับแบบแน่นอน ฉะนั้น ในรุ่นถัดไป ขอแม่เหล็กดูดหูฟังให้มั่นคงขณะอยู่ในตลับตอนเปิดฝาอยู่ด้วยนะครับ

หากต้องการนำไปเชื่อมต่อกับเครื่องอื่น เพียงแค่นำหูฟังมาใส่หูก่อน เปิด Bluetooth ที่มือถือ / Tablet ที่ต้องการเชื่อมต่อ จากนั้น ใช้สองนิ้วแตะที่แป้นสัมผัสของหูฟังค้างไว้พร้อมกัน จนได้ยินเสียงสัญญาณสลับกันไปมา หูฟังจะเข้าโหมดพร้อมเชื่อมต่อ และจากนั้น เลือกเชื่อมต่อหูฟังจากเมนูการตั้งค่า->Bluetooth ของมือถือได้ทันที

ความว่องไวในการเชื่อมต่อระหว่างหูฟังกับมือถือ (ทดลองกับ Galaxy Note 10+) หลังจากเปิดฝาตลับ มือถือเปิด Bluetooth สามารถหากันได้เจอได้ทันที ความเร็วจับคู่ ก็ทำได้ทันที ว่าไป ไม่อยากแซวว่า ขนาด AirPods กับ iPhone ที่ใช้ iOS ล่าสุด ในบางจังหวะ การเชื่อมต่อครั้งแรก ก็แอบหาไม่เจอหรือไวเท่านี้ด้วยซ้ำ ถือว่า Samsung เขียนความสามารถนี้ได้ดีทีเดียว ในส่วนความเสถียรใช้งานที่จำเป็น ไม่ว่าจะหยิบหูฟังใส่เพื่อใช้งาน ขณะใช้งานในสถาณการณ์ต่าง ๆ ก็ต้องชมว่า เสถียรกว่าหูฟังไร้สายที่ ยี่ห้อ กับราคา สูงกว่า Galaxy Buds ด้วยซ้ำ มีอย่างเดียวที่ถือว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นั่นคือ ขณะใช้งานโทรศัพท์ เป็นจุดเดียวที่ มีอาการดีเลย์ขณะรับหรือวางสาย แต่รวม ๆ อาการนี้ น่าจะแก้ด้วย Software Update ในอนาคตได้ แต่เอาเป็นว่า เรื่องการเชื่อมต่อที่เกี่ยวกับการใช้งานรวม ๆ ทั้งในแง่ความเร็ว ความนิ่งของสัญญาณ ถือว่าทำมาได้ดีและถูกทางแล้วครับ

การสวมใส่ Galaxy Buds หากใส่ถูกต้อง ด้านที่เป็นติ่งยาง จะต้องอยู่ด้านบนของ หน้าสัมผัสควบคุมจะอยู่ด้านนอก หน้าสัมผัสควบคุมเป็นทรงสามเหลี่ยม ด้านที่เป็นมุมแหลม จะชี้ออกจากตัวผู้ใส่ รวมถึงความรู้สึกของผู้ใส่ยาง In-Ear จะไหลเข้าไปกระชับ จนพลาสติกของหูฟังรู้สึกแนบกับใบหูด้านใน ดูจากรูปในบทความประกอบได้ครับ ความรู้สึกในการใส่ ถ้าชอบหูฟังที่ เน้นเบา ใส่แล้วไม่มีอะไรยื่น เก็บมิดชิดได้จริง ๆ Galaxy Buds ตอบโจทย์ได้แน่นอน ความรู้สึกมาแนวเดียวกับดีไซน์ของหูฟัง True Wireless ส่วนใหญ่ในตลาดตอนนี้ ที่พยามยามใส่แล้ว เนียนอยู่ในหู เบา ไม่มีอะไรยื่น ถ้าเอาประสบการณ์ที่ผมเคยได้ใช้ชีวิตจริง ๆ จัง ๆ ผมให้ Galaxy Buds เป็นหูฟัง True Wireless แนว In-Ear ที่ผมชอบที่สุดตอนนี้ ยางเข้าหูได้แน่น ไม่อึดอัดเหมือนมีอากาศอัด เหลืองเสียงภายนอกให้ผมรู้เรื่อง จะเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย เหงื่อเต็มหัว ก็อยู่ที่เดิม ไม่เคลื่อน ไม่คัน เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายผมไปมาก ถึงหูฟังแนวนี้ ทรงทำนองนี้ ในตลาดจะมีที่ใส่ได้ดีกว่า หรือดีไม่แพ้กัน แต่เอาเป็นว่า Galaxy Buds ให้คะแนนเรื่องสวมใส่ เต็ม 10 ให้ 11 ก็ยังได้ ถือเป็นความดี ที่พอชดเชยความเล็กจนหยิบยากได้พอสมควรอยู่

สิ่งต่อมาที่ขอชมจริง ๆ คือหน้าสัมผัสควบคุมหูฟัง ผมพึ่งหงุดหงิดกับ Sony WF-1000XM3 ที่พึ่งลงบทความไปไม่นานก่อนหน้า ที่ตอบสนองแบบ เอาใจลำบาก แตะหนึ่งได้สอง แตะสองได้สาม แต่พอเป็น Galaxy Buds ที่ใช้ระบบควบคุมหน้าสัมผัสแบบเดียวกัน การแตะควบคุมหลัก ไม่ว่าจะแบบ หนึ่งที สองที สามที หรือแตะค้าง ให้ความแม่นยำที่ดีมาก มากจน Sony ควรมาดูงาน ว่าทำอย่างไร ให้ปุ่มควบคุมแนวสัมผัส ทำงานแม่นยำ รวดเร็ว ถูกต้อง ในทุกอิริยาบถ ในการแตะเพื่อใช้งาน จะมีเสียง “ตริ๊ด” ตามจำนวนที่แตะ โดยการควบคุมมีดังนี้

  • แตะหนึ่งครั้ง : เล่น / หยุดเล่น / รับสาย / วางสาย
  • แตะสองครั้ง ; เปลี่ยนไปเพลงถัดไป
  • แตะสามครั้ง : วนกลับไปเพลงก่อนหน้า
  • แตะค้าง : ตั้งค่าได้ทั้งหูซ้ายหรือขวา ไม่ว่าจะเป็น เรียกคำสั่งเสียง / เปิด Ambient / เสียงรอบข้าง / ลดเสียงหูฟัง

ทั้งนี้ หากไม่ประสงค์ใช้หน้าสัมผัสที่หูฟัง สามารถสั่งล็อคการทำงานส่วนนี้ได้เช่นกัน โดยรวมแล้ว หน้าสัมผัสที่ควบคุมหูฟัง ให้การทำงานที่ดีมาก น้ำหนักในการแตะ สู้นิ้ว ความไว ลงตัวแบบไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอีก เอาเป็นว่า ผมอยากให้ Sony มาดูงานว่า ทำไงให้ WF-1000XM3 มีหน้าสัมผัสควบคุมที่หูฟังแบบใช้งานจริงได้ ไม่เอาแต่ใจและชวนหงุดหงิดอย่างที่เป็นอยู่

มีสิ่งหนึ่งที่ Galaxy Buds ควรแก้ไข นั่นคือ ถ้ามีการถอดหูฟังออกขณะใช้งาน ไม่ว่าจะฟังเพลงหรือดูหนัง โดยธรรมชาติแล้ว เพลงหรือวีดีโอที่ดูอยู่ ควรหยุดให้โดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นการบอกว่า หูฟังหลุดออกไปแล้ว Galaxy Buds ไม่รองรับความสามารถนี้ ถ้าถอดหูออกข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่เพลงยังเล่นอยู่ จะไม่มีการดับเพลงลงเพื่อให้รู้ว่าหูฟังถูกถอดออก ถ้าจะให้ดับ ต้องถอดหูสองข้างออก ทิ้งไว้สักครู่ ถึงจะดับให้ นั่นทำให้การใช้งานจริง หากหลุดหายโดยไม่รู้ตัว มีโอกาสสูงมากที่ผู้ใช้จะไม่รู้ว่า หูฟังหล่นหายไปแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ Samsung ทำหูฟังให้มีค่ามาตราฐานว่า ถ้าหูฟังหลุดหรือโดนถอดออกขณะใช้งาน ควรหยุดเพลงก่อน ถ้าใส่หูฟังกลับ เพลงจะเล่นให้เหมือนเดิมอัตโนมัติ และถ้าผู้ใช้งานท่านไหนไม่ชอบ ให้มีการตั้งค่าเพื่อปิดการทำงานส่วนนี้ได้ เอาเป็นว่า จุดนี้ ผมไม่โอเคเลยจริง ๆ

โดยสรุปในหัวข้อนี้ หูฟังไร้สายแบบ​ True Wireless ทรงเล็กแนว In-Ear ที่ผมเคยมีประสบการณ์ด้วย ผมให้ Galaxy Buds เป็นที่หนึ่งในดวงใจ ทั้งในแง่การสวมใส่ที่มั่นคงทุกสถาณการณ์ ไม่ว่าจะวันปกติ วันสบาย ๆ หรือวันหนักหน่วงที่ออกกำลังกาย ในขณะเดียวกัน การควบคุมเพื่อใช้งาน ทุกความสามารถ ใช้ง่าย แม่นยำ ปรับตัวง่าย เชื่อมต่อก็มั่นใจ ติดอย่างเดียวที่ขอให้แก้ คือควรตัดการทำงานหูฟังทันที ถ้าหูฟังหลุดออกหรือโดนถอด เพื่อป้องกันหูฟังหายโดยไม่รู้เรื่อง เพราะนอกนั้นแล้ว ทำมาดีพอจนผมคิดเรื่องให้ติไม่ค่อยได้จริง ๆ

คุณภาพเสียง

มีเรื่องสารภาพครับ ผมไม่เชื่อ เข้าขั้นดูถูกเลยแหละครับว่า “ไม่น่ารอด” พอได้มาใช้จริง ก็…กราบขอขมาอย่างยิ่งจริง ๆ ครับ ถึงหน้าตา ชื่อเสียง ราคา อาจไม่ทำให้ใครคาดหวังได้ว่า มันจะออกมาดีมาก ทันทีที่สวมเข้าหู เปิดเพลงที่ฟังประจำปั๊ป ฟังไปหนึ่ง สอง สาม สี่ หลายเพลงถัดไป ผมต้องถอด Galaxy Buds ออก แล้วไปหยิบ AirPods 2 มาฟังโดยทันที เพราะฟังผ่าน ๆ มันเหมือกันจนแบบ ถ้าไม่ได้สังเกตอะไร จับลองฟังแบบไม่ให้รู้ว่า นี่คือหูฟังอะไร ก็อาจแยกไม่ออกเอาได้ ฉะนั้นแล้ว ตัวตนของ Galaxy Buds คือหูฟังที่เน้นเสียงกลางให้แน่น ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่หูฟังพยายามเน้นกัน

ถ้าฟังกันจริงจัง จะพบว่า Galaxy Buds ทำมาเน้นความ “กลาง” จริง ๆ ไม่ว่ารสนิยมการฟังเพลงของผู้ใช้จะไปทางไหน Galaxy Buds จะพยายามทำให้เพลงนั้น ออกมาถูกใจผู้ฟังมากที่สุด ต่างกับหูฟังแนวนี้บางยี่ห้อ บางรุ่น ที่บุคลิกจะเลือกทางไปเลยว่า จะออกไปทางไหน ฉะนั้นแล้ว ถ้า Galaxy Buds เพิ่มความแน่น เฟิร์ม ให้กับทุกย่านเสียงขึ้นอีกสักเล็กน้อย การรับมือเพลงบางเพลงที่ อาจเกินความสามารถหูฟัง หรือให้อารมณ์เพลงได้ไม่สุดพอ ออกมาดีกว่านี้ได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ Galaxy Buds สามารถปรับแต่ง Equalizer เป็นทางเลือกที่จะให้หูฟังให้เสียงได้ตรงใจมากขึ้น (ทำผ่าน Galaxy Wearable)

ถ้าไม่ใช่การฟังเพลง เอาไปใช้ดูหนัง เล่นเกม สิ่งที่ทำได้ดีแน่นนอน คือความแม่นยำของเสียงกับฉาก ไม่มีอาการล้ำหรือไม่ทันกัน แบบที่หูฟังไร้สายหลายรุ่นเป็น (เอาจริง ๆ มาถึงยุคนี้ ไม่ควรมีอาการทำนองนี้แล้วด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่อยากได้จาก Galaxy Buds ในประเด็นนี้ คืออรรถรสของการใช้งาน อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าที่ผ่านมา หูฟังทำมาเน้นความกลาง แน่นอนว่า ในหลายฉากที่เป็นเสียงเอฟเฟกต์ เสียงระเบิด หรือดนตรีประกอบฉาก อารมณ์ในการดู ไปให้สุดได้มากว่านี้ ถ้า Galaxy Buds มีการให้เสียงสูงหรือต่ำ เพื่อการดูวีดีโอที่หนักแน่นกว่านี้ สุนทรีย์ในการรับชมหรือเล่นเกม จะไม่มีที่ติแน่นอน แต่เท่าที่เป็นอยู่ ก็ไม่ได้เป็นสองรองใคร หรือจืดฉืดจนไม่น่าคิดถึง ให้ความบันเทิงในทุกเรื่อง ทุกเกมที่ชอบได้สบาย ๆ แน่นอน

มาที่โทรศัพท์บ้าง เสียงสนทนาที่ได้ยินในหูฟัง คมชัดอย่างทึ่ควรจะเป็น หากคู่สายเราไม่มีปัญหาอะไร เสียงที่ได้ยิน จะคมชัดอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่ Galaxy Buds ต้องปรับปรุง คือไมค์ฯ สนทนาของตัวหูฟัง เอาเรื่องความชัดเจนที่คู่สายได้ยิน ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ เสียงที่คู่สายได้ยิน ถ้าใช้ Galaxy Buds สนทนา คือเสียงของเราเหมือนอยู่ไกล ๆ ส่วนหนึ่งที่เสียงสนทนาเหมือนอยู่ไกล ๆ จากไมค์ฯ เพราะหูฟังทรงที่ไม่มีก้านยื่นออกมา มักจะมีไมค์ฯ ในการรับเสียงที่ด้อยกว่า ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด แต่ถ้าเทียบกับหูฟังแนวนี้ ที่เป็นทรงแบบไม่มีก้านไมค์ฯ ถือว่า​ Galaxy Buds ยังพอคุยกันรู้เรื่อง โดยไม่ชวนให้หงุดหงิด หรือรู้สึกว่าพึ่งพาไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว เท่าที่ Galaxy Buds ทำมา ถือว่าดีมากแล้ว เมื่อเทียบกับข้อจำกัด ถ้าให้ดีกว่านี้ คงต้องรอเทคโนโลยีของไมคฯ ในอนาคต ที่จะสามารถรับเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ด้วย

โดยสรุปแล้ว ในความเป็นหูฟังของ Galaxy Buds ถือว่าไม่ได้ด้อยกว่าใครในตลาด ถ้าเอาในระดับราคา 5-6 พันด้วยกันแล้ว เป็นตัวเลือกที่ดี ยิ่งถ้าใช้กับ Samsung Galaxy ด้วยกันแล้ว เข้ากันได้อย่างดี แต่ถ้าใช้กับ Android แบรนด์อื่น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปในการเชื่อมต่อ ควบคุม และใช้งาน สิ่งเดียวที่หวังใน Galaxy Buds รุ่นถัดไปจากนี้ คือการยกระดับคุณภาพเสียง ให้ดีเกินความคาดหวังขึ้นไปอีกให้ได้

การใช้พลังงาน / แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของ Galaxy Buds ตามสเปกที่ระบุไว้ ตลับมีแบตเตอรี่ความจุ 252 mAh ตัวหูฟังมีแบตเตอรี่ความจุ 58mAh สเปกได้ระบุไว้ว่า หูฟังใช้งานได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง ใช้คุยโทรศัพท์ต่อเนื่องได้ 5 ชั่วโมง รองรับการ Standby สูงสุด 20 ชั่วโมง ในการใช้งานจริง หูฟังสามารถใช้ฟังเพลง ดูหนัง ต่อเนื่องได้มากกว่า 5 ชั่วโมง ในบางการใช้งาน สามารถทำได้ครบ 6 ชั่วโมง หรือเกินกว่านั้นในบางครั้ง หากใช้คุยโทรศัพท์ ประมาณ 2 ชั่วโมง แบตเตอรี่จะลดไปประมาณ 40-50% ซึ่งแปลว่า สามารถใช้งานได้ตามสเปกที่ระบุไว้ 5 ชั่วโมง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ การใช้พลังงานของหูฟัง จะลดลงอย่างเท่า ๆ กันทั้งสองข้าง เพียงแต่ช่วง 5% แรกที่ลดลง (จาก 100% จนถึง 95%) อาจลดลงเร็วเป็นพิเศษหน่อย แต่หลังจากนั้น จะอยู่ทนแบบปกติไปจนถึงแบตเตอรี่หมด โดยภาพรวมแล้ว Galaxy Buds ใช้พลังงานได้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการฟังระหว่างเดินทางไป-กลับ ในประจำวัน หรือใช้ฟังขณะเดินทางไกล ก็พอสำหรับ ฟังจนหมด พักผ่อน แล้วฟังต่อหลังแบตเตอรี่หูฟังกลับมาเต็มแล้ว

การชาร์ตไฟกลับเข้าตลับ สามารถทำผ่านแท่นชาร์จไร้สาย หรือสายชาร์จแบบ USB-C โดยไฟสถานะชาร์จจะเป็นสีแดง เมื่อเต็ม จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว หากชาร์จไฟตั้งแต่สถานะไฟที่ตลับเริ่มเป็นสีแดง โดยชาร์จผ่านสาย USB-C กับหัวปลั๊ก ที่ให้มาในกล่องของ Galaxy Note 10+ เวลาในการใช้โดยรวมจากแดงไปเขียว อยู่ที่ประมาณ 90 นาที หากใช้ที่ชาร์จที่กำลังน้อยกว่านี้ ระยะเวลาก็จะนานกว่านั้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยเต็มที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง หากใช้ที่ชาร์จแบบทั่วไป ถ้ามองถึงเวลาที่ใช้ในการชาร์จไฟกลับ ถือว่านานไปหน่อย หากใช้งานแบบ รอให้หมดก่อนค่อยชาร์จ แต่ถ้าเป็นคนที่ยังไงกลับบ้านแล้ว จับชาร์จไฟทุกอย่าง เวลาในการชาร์จกลับ ก็จะไม่มากเท่าตอนรอให้ไฟเกือบหมดตลับหรือหมดตลับแล้ว ฉะนั้นแล้ว หากรุ่นถัดไป สามารถทำให้ชาร์จได้เร็วกว่านี้ จะทำให้ความต่อเนื่องทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

อีกจุดที่น่าสังเกตคือ ตลับมีอาการเหมือนเก็บไฟไม่ค่อยอยู่ ไม่ว่าจะใช้งานอยู่บ้าง หรือนาน ๆ ใช้งานที ไฟในตลับมีการลดลงเองค่อนข้างเร็ว โดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าใช้งานบ้าง จะอยู่ที่ 1-2 วัน แต่ถ้าใช้งานน้อยหรือแทบไม่ใช้เลย ทิ้งไว้ไม่เกิน 3 วัน แบตเตอรี่จากที่ชาร์จไว้เต็ม กลายเป็นเหลือต่ำกว่า 30% หากเทียบกับหูฟังแนวเดียวกันในแบรนด์อื่น ที่ระดับราคาไม่ต่างกัน สามารถรักษาประจุแบตเตอรี่ได้ดีกว่า ซึ่งจุดนี้ ขอให้ Samsung ปรับปรุงให้ดีขี้นในอนาคตด้วย

โดยสรุปแล้ว หูฟังใช้พลังงานได้ดี การลดลงของหูฟังแต่ละข้าง เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงทำได้ตามสเปกระบุไว้ ในขณะเดียวกัน

สรุป “เสมือนนักร้องที่มีฝีมือ แต่ค่ายฯ ไม่ดัน”

เมื่อผมถามถึงนักร้องเกาหลีสักคนหรือวง ที่มีศักยภาพ แต่กลับดูไม่มีชื่อเสียงสมกับศักยภาพนั้น น้องในทีมผมที่ฟังเพลงเกาหลีแบบจริงจัง ต่างยกให้กับวงหญิงล้วน สมาชิก 12 คน ที่ชื่อวงว่า Loona เพราะว่า เป็นวงที่ค่ายเล่าถึงที่มาได้ดีมาก ฝีมือการเต้น เสียงในการร้อง ก็ไม่แพ้วงดัง ๆ ที่มีอยู่ในวงการ เพลงที่ทำให้พวกเธอ ถือว่าดีมากด้วย แต่ค่ายกลับไม่ทำการตลาดพวกเธอเท่าที่ควร เพราะออกเพลงมาได้รับผลตอบรับดี แต่กว่าจะมีเพลงถัดไป ทิ้งช่วงนานไป จนไม่แน่ใจว่า ตกลง ค่ายรักพวกเธอไหม ซึ่งผิดวิสัยวงการเพลงเกาหลี ที่หากออกเพลงมาแล้ว ได้ผลรับตอบรับดี หรือบางทีก็ไม่ได้ดี แต่น่าจะได้ไปต่อ ก็จะได้รับการโปรโมทต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าขายได้

ถ้านึกไม่ออก ลองฟังเพลงกับดู MV เพลงที่ดังที่สุดของวงพวกเธอ Butterfly ได้เลยครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Loona ผมว่ามันเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Galaxy Buds ยังไงไม่รู้ เพราะประสบการณ์ที่ผมได้อยู่กับ Galaxy Buds โดยรวมแล้ว ถือว่าดีเลยทีเดียว หน้าตาก็ดี หูฟังก็ใส่ง่าย ใส่สบายก็ไม่ได้หลุดง่าย ใส่แบบเน้นแน่น ๆ ก็เข้าที่จริงจัง ใช้งานง่ายแบบไม่ซับซ้อน ตอบสนองได้ดี เสียงก็ฟังเพลิน ไม่ว่าจะเพลง หนัง เกม แบตเตอรี่ก็ใช้ได้ดีเท่าที่บอกไว้ ราคาขาย 5,990 บาท ช่วงไหนมีโปรฯ ก็คุ้มยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ ลงตัวกับการเป็นหูฟัง True Wireless ที่ดี ที่อยู่ด้วยกันทุกวัน ทุกเวลา ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่ซื้อ ถึงจะมีจุดที่ไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง ไม่ว่าจะงานพลาสติก งานประกอบ บานพับฝาตลับ ที่ทำให้ดูดีกว่านี้ได้ ใส่ระบบตัดการทำงานหูฟังเมื่อหลุดออก ปรับจูนเสียงให้แน่นขึ้นสักหน่อย ไมค์ฯ รับเสียงที่ดีขึ้น ยิ่งถ้าทำได้ดีกว่าข้อจำกัดด้านการออกแบบ ยิ่งดีเข้าไปอีก และท้ายสุด ทำให้การชาร์จไฟเข้าตลับเร็วกว่านี้ กับแบตเตอรี่ในตลับ ที่รักษาประจุไฟได้ทนกว่านี้ ในจุดที่ไม่สมบูรณ์เหล่านี้ โดยรวม ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ารำคาญ หรือลดความน่าใช้ลงไปมาก เป็นจุดที่ปรับปรุงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ในรุ่นถัดไป

แต่สิ่งผมขัดใจที่สุด ไม่ได้เกิดจากตัวหูฟัง ประสบการณ์ หรือราคาขายเลย ผมรู้สึกว่า Samsung ไม่จริงจังกับ Galaxy Buds เท่าที่ควร ผมรู้สึกว่า ทุกครั้งที่ผมเดินผ่านคนใช้ Galaxy S10 / S10+ / Note 9 / Note 10 / Note 10+ ที่น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่หวังผลได้ว่า จะซื้อ Galaxy Buds ไปคู่ด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ผมได้เห็นคือ ตั้งแต่ Galaxy Buds เปิดตัวมา มีคนใช้หูฟังรุ่นนี้เดินผ่านหน้าผม รวม ๆ กัน ไม่ถึง 10 คน ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา พอเอามานั่งคุยกับทีมงาน กับเพื่อนที่ชอบ ติดตาม เรื่อง Gadget เหล่านี้ ต่างก็รู้สึกตรงกันว่า “Galaxy Buds ไม่ถูกโปรโมทเลย” เมื่อพยายามคิดหาสาเหตุว่า ทำไม Galaxy Buds ไม่ดังในหมู่ลูกค้าที่ใช้ Smartphone ตระกูล Galaxy รุ่นท็อป ที่เป็นกลุ่มที่น่าจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมาเป็นคู่กัน ก็พอสรุปได้ดังนี้

  1. หากสังเกตดี ๆ คนใช้ Smartphone Android รุ่นท็อป แรง ชอบฟังเพลง มีกำลังทรัพย์ มักเล่นหูฟังรุ่นที่ แพงไปเลย นั่นอาจทำให้ความน่าเชื่อถือของ Galaxy Buds ยังไม่โดนใจลูกค้ากลุ่มนี้มากพอ
  2. เกือบทุกคนที่ผมรู้จัก ที่ใช้ Galaxy S หรือ Note รุ่นล่าสุด บอกว่า “นอกจากเครื่องแล้ว พนักงานขาย ไม่เคยเอยถึง หรือเชียร์ Galaxy Buds ในระหว่างการขายเครื่อง” รวมถึงไป Brand Shop ก็ถูกจัดวางแบบไม่ชวนซื้อ ซ้ำร้ายกว่านั้น ลูกค้าอีกจำนวนมาก ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า Galaxy Buds คืออะไร?
  3. Samsung ทำประชาสัมพันธ์ถึง Galaxy Buds น้อยมาก จนถึงแทบไม่มี ทั้งที่ตัวสินค้า สามารถทำ Ad หรือการตลาด ให้คนวงกว้างรู้จักได้ว่า นี่คือหูฟังไร้สายที่ไปกับ Galaxy ที่ใช้ / หูฟังใส่คล่อง สบาย อิสระ / Samsung มีของแบบนี้ ที่ดี เข้ากับมือถือ Galaxy ฯลฯ ทั้งที่หากเอาไปทำตลาดดี ๆ น่าจะแจ้งเกิดหรือทำให้สภาพที่เป็นอยู่ของ Galaxy Buds ดีกว่านี้แน่นอน

เชื่อว่าพรุ่งนี้ (วันที่ลงบทความคือ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งตอนห้าทุ่มมีงาน Galaxy Unpacked 2020 พอดี) เราน่าจะได้เห็น Galaxy Buds รุ่นใหม่ที่มาพร้อม Galaxy S20 Series โดยรุ่นใหม่ที่ออกมา น่าจะปรับปรุงเรื่องคุณภาพการใช้งานจากรุ่นนี้ ฉะนั้น หากในภาพรวมของ Galaxy Buds ยังมาทำนองนี้ สิ่งที่อยากขอจาก Samsung จริง ๆ คือ การตลาด ลองไว้ใจสินค้าชิ้นนี้ แล้วทุ่มเทในการโปรโมทสักหน่อย มันน่าจะสร้างฐานให้คนซื้อ Galaxy S หรือ Note หรือ A รุ่นกลางถึงท็อป เลือกซื้อมาคู่กับมือถือของเค้ามากขึ้น หรือบางที อาจเป็นบันไดทางอ้อมขั้นแรก ที่ทำให้คนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือก Galaxy เลือกเพราะเริ่มเห็นจากหูฟังรุ่นนี้ ตามมาด้วย ทำให้คนที่ใช้ Galaxy S / Note ยังเลือกเครื่องต่อไปเป็นรุ่นที่ใหม่กว่า หรือทำให้ลูกค้ากลุ่ม A ที่ขยับมา S หรือ Note ต้องซื้อมาคู่กันไปด้วยในอนาคต

ที่เขียนส่งท้ายเชียร์ให้ทำตลาดแบบนี้ เพราะลองกับตัวแล้ว ผมเชื่อว่า ศักยภาพของ Galaxy Buds ถ้าให้บทบาทที่มากกว่าแขวนรวมในชั้นขายอุปกรณ์เสริมในร้าน แบบที่เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง มันจะส่งเสริมทั้งทางตรง ทางอ้อม ให้กับสินค้าส่วนอื่นในหมวด Galaxy ได้ไม่ยากเช่นกัน

ลองสักตั้งดูเถอะครับ ผลลัพธ์ที่ได้ อาจไม่ใช่รูปแบบกำไร แต่หูฟังตลับน้อยอันนี้ ให้ความยั่งยืนกับแบรนด์ได้มากกว่าที่คิดนะครับ : )

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^