นับตั้งแต่การเปิดตัวของ AirPods เมื่อปี 2016 ต้องยอมรับเลยว่าเทรนด์ของ AirPods ในขณะนั้น กลายเป็นการจุดกระแสของหูฟังแบบ True Wireless ให้กลับขึ้นมาเปรี้ยงในตลาดอย่างแท้จริง ทุกคนย่อมทำตาม ทุกคนย่อมต้องมี หรือต้องออกผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาแข่งกับเจ้าตลาด และไม่เว้นแม้แต่กลุ่ม Audiophile ที่ก็หันมาเล่นตลาดนี้ตามเขาด้วย ทุกวันนี้ก็ต้องบอกกันตามตรงแหละครับว่าหูฟังแบบ True Wireless นี่ก็เริ่มเกร่อมากแล้ว ถ้าไม่นับพวกที่เป็น Audiophile หูฟัง True Wireless ทุกรุ่นแทบมีความสามารถพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้มีอะไรต่างออกไปเลยนอกจากแอปฯ ที่ติดมา แต่หูฟังที่มีความสามารถแตกต่างกันที่ระดับฮาร์ดแวร์นี่หากันได้น้อยถึงน้อยมาก อย่างมากก็หน้าสัมผัสแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น
แต่ที่ผ่านมาเราพยายามเห็นคนคิดนอกกรอบ เอาข้อด้อยต่าง ๆ ของหู True Wireless มาแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นหูฟังแบบใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเยอะแยะมากมาย แต่ก็มีอยู่รุ่นหนึ่งครับ ที่เอาข้อด้อยหลายอย่างของหูฟัง True Wireless มาแก้ไขได้แบบพร้อม ๆ กัน และหูฟังที่เรากำลังจะพูดถึงกันในวันนี้คือ “Huawei FreeBuds 3” เวอร์ชันที่ 3 ของหูฟังตระกูล FreeBuds จากบ้าน Huawei นั่นเอง

ภาพแรกที่ได้เห็นจากงานเปิดตัว Mate 30 Pro แทบทุกคนพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคือ “แป้งพับ” แต่พอได้ฟังสิ่งต่าง ๆ ที่ Huawei โฆษณามาเรื่อย ๆ ก็เริ่มทำให้อยากหามาลองแล้วว่า เจ้า FreeBuds 3 เนี่ย มันมีดียังไง ทำไม Huawei ถึงมั่นใจนักมั่นใจหนา ว่าแล้ว ลองแล้วเล่าของเราในวันนี้ ก็เลยได้เจ้า FreeBuds 3 มาลองกันอยู่พักใหญ่ จนเกิดเป็นประสบการณ์ทั้งหมดนับจากนี้
ไม่พูดพร่ำทำเพลงมากครับ… เรื่องมันก็มีอยู่ว่า…
ส่องรอบตัวกันก่อน

ตัวตลับของ FreeBuds 3 รอบนี้มาในรูปของวงกลมแบน ๆ คล้ายตลับแป้งพับของคุณผู้หญิง ถ้าไม่พิจารณาดูดี ๆ นี่ดูไม่ออกเลยนะครับว่าเป็นหูฟัง ผิวสัมผัสของตัวตลับเป็นพลาสติกแบบกลอสเช่นเดียวกับ AirPods มีสีตามสีของหูฟังที่เราเลือกเลย นั่นคือสีขาว Ceramic White ตัวตลับก็เป็นสีขาว, สีดำ Carbon Black ตัวตลับก็เป็นสีดำ และสีใหม่ล่าสุดกับสีแดง Red Valentine ตัวตลับก็เป็นสีแดงสวยงาม ตัวตลับมาพร้อมกับช่องชาร์จแบบ USB-C และไฟแสดงสถานะที่ด้านล่าง และมีปุ่มสำหรับเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ที่ด้านขวาของตัวตลับ และด้านหลังก็สกรีนโลโก้ Huawei ไว้เท่านั้น

เปิดตลับออกมา เราก็จะเจอกับหูฟังเสียบลงล็อกอย่างแน่นหนาด้วยแม่เหล็ก ด้านบนตลับก็มีไฟแสดงสถานะของแบตเตอรี่คงเหลือของตัวหูฟัง ว่าแบตเตอรี่เหลืออยู่เท่าใด โดยถ้าหูฟังไม่มีแบตเลยก็จะเป็นสีแดง มีแบตน้อยกว่า 30% จะเป็นสีเหลือง และมากกว่า 30% จะเป็นสีเขียว นอกจากนี้ไฟนี้ยังทำหน้าที่เป็นไฟบอกสถานะการเชื่อมต่อของหูฟังด้วย โดยเมื่อเรากดปุ่มเชื่อมต่อด้านข้างค้างไว้ ไฟสถานะจะกระพริบสีขาวเพื่อบอกว่าเจ้าหูฟังนี้ พร้อมเชื่อมต่อกับโทรศัพท์แล้ว

การเชื่อมต่อตัวหูฟังนี่ก็ทำได้ง่ายมากครับ ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนทั่ว ๆ ไป กดปุ่มค้างไว้ แล้วไปกดเชื่อมต่อจากในเมนู Bluetooth ของแต่ละเครื่องได้เลย แต่ถ้าเป็นสมาร์ทโฟน Huawei หรือ Honor ที่ใช้ EMUI 10 (Android 10) ก็จะเชื่อมต่อได้ง่ายม๊าก เพียงเปิดตลับขึ้นมา กดปุ่มค้าง ที่สมาร์ทโฟนก็จะเด้งหน้าต่างให้กดปุ่มเชื่อมต่อได้ทันที และเมื่อเชื่อมต่อเสร็จ สามารถดูแบตคงเหลือของทั้งตลับและหูฟังได้พร้อมกัน รวมถึงสามารถตั้งค่าหูฟังได้จากเมนูในเครื่องได้เลย

และไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟนฝั่ง Android เท่านั้น iPhone ก็สามารถเชื่อมต่อและใช้งานเจ้า FreeBuds 3 ได้เช่นกัน แต่จะมีข้อจำกัดเล็กน้อยซึ่งผมจะขอยกไปเล่าต่อในพาร์ทต่อไปแทนละกัน

เชื่อมต่อเสร็จ ดึงตัวหูฟังออกมาเสียบ เราจะได้ยินเสียงยืนยันการเชื่อมต่อ 1 ที เป็นอันเสร็จสิ้น ตัวหูฟังขอไม่เล่านะครับว่าดีไซน์เป็นแบบไหน เพราะน่าจะเห็นรูปผ่าน ๆ จากด้านบนแล้วว่าหน้าตาช่างละม้ายคล้าย AirPods เหลือเกิน ฮา
ก่อนเริ่มใช้งาน...

การใช้งานหูฟังเจ้า FreeBuds 3 นี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับหูฟังอื่น ๆ มากครับ เปิดตลับ เชื่อมต่อ ก็เปิดใช้งานได้เลย แต่นี่คือ Huawei ชื่อนี้รับประกันความไม่ธรรมดาแน่นอน เพียงเพราะแค่เชื่อมต่อแบบธรรมดา ตัวโทรศัพท์ก็สามารถให้เมนูการตั้งค่าได้มากกว่าที่คุณคิด

การตั้งค่าพื้นฐานของ FreeBuds 3 หลัก ๆ จะประกอบไปด้วยสองเรื่อง คือการตั้งค่า Shortcuts สำหรับการแตะหูฟังซ้ายขวา ว่าจะให้การแตะหูฟังในแต่ละข้างทำหน้าที่อะไร ซึ่งค่าเดิมตั้งแต่เริ่ม หูซ้ายจะถูกตั้งค่าเป็นการเปิด/ปิดโหมด Noise Cancelling และหูขวาจะเป็นส่วนของการเลื่อนเพลงหรือหยุดเล่นเพลง และอีกการตั้งค่าหนึ่งที่สามารถทำได้คือฟีเจอร์ Smart Wear Detection ซึ่งจะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ในหูฟัง ถ้าหูฟังถูกสวมใส่การเล่นเพลงจะถูกเล่นตามปกติ แต่ถ้าเมื่อถอดหูฟังออกจากหู เพลงจะหยุดชั่วคราวโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าการตั้งค่าแค่นี้ยังไม่พอ… เราขอแนะนำแอปฯ ที่มีชื่อว่า “Huawei AI Life”

แอปฯ Huawei AI Life จะทำหน้าที่จัดการการตั้งค่าต่าง ๆ ของตัว FreeBuds 3 ที่ลึกกว่าการตั้งค่าในเมนู Bluetooth โดยส่วนที่สามารถตั้งค่าเพิ่มได้คือการตั้งค่าการทำงานของโหมด Noise Cancelling ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกที่หูฟังแบบ Ear-buds มีโหมด Noise Cancelling ให้ในตัวด้วย โดยการตั้งค่าผ่านแอปฯ AI Life นี้ จะสามารถตั้งได้ว่าให้หูฟังมีความเงียบขนาดไหนเมื่อเปิดโหมด Noise Cancelling และสามารถให้เสียงลอดเข้ามาได้มากน้อยขนาดไหน และอีกจุดที่สามารถทำได้ก็คือการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟัง เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวหูฟังอย่างต่อเนื่อง

แต่… ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำได้เฉพาะบน Android เท่านั้น แล้วถ้าซื้อมาใช้กับ iOS ละ จะทำได้แบบนี้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” ครับ เพราะแอปฯ Huawei AI Life เกิดขึ้นหลังกรณีสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นน่าจะทราบดีว่า Apple ก็คงไม่สามารถอนุมัติแอปฯ ใหม่ ๆ ของ Huawei ให้ขึ้นไปอยู่บน App Store ได้ แล้วเราจะตั้งค่าหูฟังนี้ได้ยังไง? ก็ต้องตั้งค่าผ่าน Android ไปก่อน แล้วค่อยไปเชื่อมต่อใช้บน iOS
ถ้าคำถามต่อไปคือ “แล้วการตั้งค่าทั้งหมดไม่หายหรือ?” คำตอบคือ “ไม่หาย” ครับ ความลับคือเจ้า FreeBuds 3 มาพร้อมชิป Kirin A1 รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งชิป Kirin A1 นี้ มีความสามารถในการบันทึกการตั้งค่าทั้งหมดลงไปที่ชิปของหูฟังได้เลย ฉะนั้นต่อให้มีการย้ายเครื่องไม่ว่าจะเป็น Android 1 -> Android 2 / Android 2 -> Huawei หรือ Huawei -> iOS การตั้งค่าทั้งหมดที่ทำไว้กับ Android 1 ก็จะไม่หายและไม่ถูกแทนที่ใด ๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการตั้งค่าใหม่ในเครื่องใหม่ต่อไป
ดังนั้นในมุมการตั้งค่า ถือว่า Huawei ทำการบ้านมาได้ดี แม้จะเจอปัญหาเรื่องสหรัฐฯ แต่ก็ถือว่า Huawei รับมือในเรื่องนี้ได้ดีพอสมควร แม้อาจจะฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่เราก็ได้เห็น Huawei พยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จในที่สุด เอาล่ะครับ ตั้งค่าเสร็จแล้ว ก็…
ใช้จริงกันเลยดีกว่า

ตั้งค่าเสร็จแล้ว หยิบใส่หู เปิดเพลงฟังได้เลยครับ แต่ก่อนอื่นนั้น FreeBuds 3 จะค่อนข้างแตกต่างจากหูฟัง True Wireless ทั่ว ๆ ไป ที่บังคับเสียบข้างขวาตลอดแม้ใส่ข้างเดียว เพราะเจ้า FreeBuds 3 มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ BT/BLE Dual Mode และ Isochronous Dual Channel ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อหูฟังแบบซ้ายขวาแยกกัน นั่นจึงทำให้เราสามารถใส่ FreeBuds 3 ข้างไหนก่อนก็ได้ หรือจะใส่ซ้ายข้างเดียว หรือขวาข้างเดียวก็ได้ และเมื่อมีสัญญาณรบกวนเกิดขึ้น เสียงจะไม่ถูกตัดทั้งสองข้าง แต่จะถูกตัดเฉพาะข้างที่โดนรบกวน และกลับมาเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อไว้ได้อย่างรวดเร็ว

โทนเสียงทั่วไปของ FreeBuds 3 จะออกนุ่ม ๆ เบสนิดๆ หน่อย ๆ ไม่ค่อยหนักมาก ถือเป็นโทนเสียงที่ค่อนข้างโอเคสำหรับคนที่ไม่ได้อะไรมากนักกับหูฟัง หรือต้องการหูฟังแบบเสียบปุ๊บใช้งานได้เลย แต่หากต้องการเสียงที่หนักแน่น หรือมีมิติมากกว่านี้ อาจจะต้องใช้การปรับ Equalizer เข้ามาช่วย เพื่อให้ได้เสียงที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด ในส่วนของเสียงสนทนาทั้งการฟังและการพูดถือว่ามีความชัดเจนที่ดี ไม่ได้มีการติดขัด หรือมีระยะห่างที่ทำให้เกิดเสียงแทรกซ้อน หรือเสียงสั่น ๆ เหมือนตอนใช้งาน Speaker Mode แต่ข่าวดีคือ FreeBuds 3 มีฟีเจอร์ Aerodynamic Mic Duct Design สำหรับใช้ตัดเสียงลมปะทะ ช่วยลดเสียงลมเข้าหูฟังได้เป็นอย่างดี และช่วยให้ปลายทางได้ยินเสียงสนทนาที่ชัดเจนมากขึ้น

ที่ตัวหูฟังยังมีส่วนที่เป็น Touch Surface ที่เราสามารถแตะเพื่อสั่งการตามคำสั่งที่เราตั้งไว้ใน AI Life ได้ครับ ซึ่งใช้ได้ทั้งการเล่น/หยุด/เปลี่ยนเพลง เรียก Voice Command ของเครื่อง ทั้ง Google Assistant, Amazon Alexa, Bixby หรือแม้แต่ Siri รวมถึงใช้ในการเปิด/ปิดโหมด Noise Cancelling ได้ การใช้งานก็ง่าย ๆ เพียงแค่แตะไปบนผิวหูฟังสองครั้งเท่านั้น หูฟังก็สามารถทำงานตามคำสั่งได้ทันที ซึ่งข้อเสียของผิวสัมผัสบน FreeBuds 3 มีอยู่อย่างเดียวครับ คือ “เส้นผม…” ใช่ครับ พอดีช่วงที่ทำลองแล้วเล่าอันนี้เนี่ย ผมกำลังไว้ผมยาวกะตัดทรงแบบ Man Bun ไม่ก็ Surf Cut แล้วผมเป็นคนประเภทจอนค่อนข้างยาว ฉะนั้นอุปสรรค์ที่จะเจอบ่อย ๆ ตอนใช้ FreeBuds 3 ก็มาครบสองข้างซ้ายขวาเลยครับ คือเพลงไม่หยุดหรือเปลี่ยนเอง ก็เปิดโหมด Noise Cancelling เอง ถามว่ารำคาญบ้างไหม ก็มีบ้าง แต่ก็ต้องรับสภาพและเอามาบอกเล่ากัน

อีกโหมดที่ไม่พูดไม่ได้ และเป็นไฮไลต์ของหูฟังรุ่นนี้เลยก็คือ “Noise Cancelling” ใช่ครับ นี่เป็นครั้งแรกที่หูฟังแบบ Ear-buds มีโหมดนี้ ก่อนหน้านี้เราเองก็รีวิวหูฟัง Noise Cancellation มาก็หลายรุ่น แต่พวกนั้น “เป็นหูฟังแบบ In-ear” แต่สำหรับ FreeBuds 3 เนี่ย เป็นหูแบบ Ear-buds เช่นเดียวกับ AirPods แต่มีโหมด Noise Cancelling ที่ช่วยตัดเสียงรบกวนภายนอกให้เบาลงไปได้เยอะ จริงอยู่ที่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเงียบเหมือน AirPods แต่เมื่อเปิดโหมด Noise Cancelling แล้ว เสียงที่ได้จาก FreeBuds 3 ก็เงียบมาก และเงียบกว่า AirPods อย่างชัดเจน

ในแง่การใช้งานถือว่า FreeBuds 3 ทำออกมาค่อนข้างดีและค่อนข้างครบเครื่องในแง่ของการใช้งานพื้นฐานและฟีเจอร์ต่าง ๆ ติดอย่างเดียวคือเรื่องเสียงที่อาจจะต้องกลับไปแก้ให้เข้าที่เข้าทาง เหมาะกับคนส่วนใหญ่เพียงนิดหน่อย กับแก้ไขเรื่อง Touch Surface ให้ไม่ตอบสนองต่อเส้นผมเพียงแค่นั้น ถ้า Huawei สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ ผมรับประกันเลยว่า FreeBuds รุ่นต่อไป จะดังเปรี้ยงยิ่งกว่านี้
การใช้พลังงานและแบตเตอรี่

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องเดียวของ FreeBuds 3 ที่ “สอบตก” กับผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งทั้งในแง่ดีไซน์ คุณภาพ และการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่ของ FreeBuds 3 ใช้งานได้น้อยมากต่อการเก็บลงกล่องหนึ่งครั้ง นั่นคือประมาณ 3 ชั่วโมง และถ้าเปิด Noise Cancelling ด้วย จะใช้งานได้ไม่นานมาก แต่เรื่องนี้ทดแทนได้ด้วยตลับที่มีความจุสูง สามารถใส่กลับได้ถึง 7-8 ครั้ง รวมกับฟังก์ชัน Fast Charge ที่ Huawei ใส่ไว้ เพราะเจ้า FreeBuds 3 เมื่อเก็บลงกล่อง 1 ครั้ง แค่ 5 นาที ตัวหูฟังก็พร้อมใช้ประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อรวม ๆ แล้ว FreeBuds 3 จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 21-24 ชั่วโมง ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง
แต่ครับแต่… แต่ถ้าทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่เอาไปใช้งานเลย สิ่งที่สอบตกที่สุดของ FreeBuds 3 คือ “แบตเตอรี่คลายประจุเอง” คือทิ้งไว้แค่ 2-3 วัน ไม่ได้หยิบมาใช้งาน แบตเตอรี่หมดเกลี้ยงแล้วทั้งหูฟังทั้งตลับ ต้องนำกลับไปชาร์จใหม่ถึงจะใช้งานได้ แต่ถ้านำออกมาใช้งานต่อเนื่องทุกวัน ๆ แบตเตอรี่จะสามารถอยู่ได้ 7 วันตามที่ Huawei โฆษณาไว้เป๊ะ ฉะนั้นผมกล้าพูดเลยว่าถ้าเทียบกับหูฟัง True Wireless รุ่นอื่น ๆ FreeBuds 3 สอบตกในเรื่องการเก็บประจุแบตฯ อย่างมาก และ Huawei อาจจะต้องกลับไปทำการบ้านเรื่องการรักษาประจุแบตเอาไว้ให้ได้นานที่สุดต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แม้ไม่ได้นำไปใช้งาน
อนึ่ง ผมก็ต้องติ๊ต่างไว้ก่อนว่า ล็อตที่ผมได้มาใช้งานคือล็อตที่ Huawei นำมาใช้เป็นเครื่องรีวิว อาจจะมีปัญหาบ้างตามสถานภาพ แต่ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับล็อตที่ขายปกติตามหน้าร้าน มันจะเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ลูกค้าอย่างมาก ถ้าเขาซื้อมาและต้องการใช้เลย แต่กลับเจอว่า “แบตหมดตั้งแต่อยู่ในกล่อง” ผมคงไม่ต้องบอกต่อนะครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
สรุป "ของดี ราคาดี แก้นิดเดียว ดังเปรี้ยง!"

ตลอดระยะเวลาที่ได้ลองใช้ FreeBuds 3 ผมค่อนข้างชอบมันมากกว่า AirPods เลยนะ ทุกอย่างทำออกมาดีหมด เข้าท่าหมด ครบเครื่องหมด ในราคาที่ต่ำกว่า 5,000 บาท แม้จะพลาดตรงที่ Huawei ต้องยอมกัดฟันทิ้งลูกค้ากลุ่มหนึ่งเพราะปัญหาระหว่างประเทศ แต่ Huawei ก็สามารถหาทางรับมือปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี และเป็นแนวทางที่โอเค รับได้ ดูไม่น่าเกลียด แถมยังได้ขายเป็นฟีเจอร์ทางฮาร์ดแวร์ไปในตัวด้วย แม้สุดท้ายอาจจะยังไม่ดีเต็มที่นัก แต่เชื่อว่า Huawei จะสามารถแก้ไขและออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต เชื่อว่าเมื่อถึงวันนั้น FreeBuds รุ่นนั้น จะขายดีเป็นเททิ้งเลยก็ว่าได้

สิ่งเดียวที่ขัดใจและคาใจมากในตอนนี้ คือ Policy ของบริการหลังการขายของเจ้า FreeBuds นี่แหละครับ เพราะเจ้าหูฟังสีขาวด้านบนนี้… ผมทำหายไปข้างนึง ตอนแรกก็พยายามใช้วิธีการหาก่อน และความซวยซ้ำซ้อนคือแอปฯ AI Life ไม่มีโหมดค้นหาหูฟังเหมือน AirPods หรือ Jabra Elite 65t จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผมต้องติดต่อไปยังศูนย์บริการของ Huawei โดยตรง ด้วยความหวังว่าอย่างน้อยขอซื้ออะไหล่ข้างนึงกลับมาใช้งานต่อได้ก็ยังดี
แต่สิ่งที่ผมได้รับจากบริการหลังการขายก็คือ “ต้องซื้อใหม่ยกเซ็ต” ผมถึงกับ “หา!!” ว่าไม่มีอะไหล่ขายแยก ซึ่งคำตอบของ Huawei คือ “ใช่” เพราะถ้าส่งซ่อมกรณีเสียหายจากการผลิตหรือจากการใช้งาน Policy คือ “เปลี่ยนให้ใหม่ยกชุด” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่กับกรณีทำหายหรือสูญหาย Huawei กลับไม่มีเรื่องนี้รองรับ นั่นหมายความว่าถ้าทำ FreeBuds 3 ตกท่อ หล่นหาย หรือลืมไว้บนรถไฟฟ้า ก็ต้องซื้อใหม่ยกเซ็ตเลยแม้ตลับหรือหูอีกข้างยังอยู่ ไม่รู้ว่า Huawei ไม่ได้เตรียมการเผื่อไว้ หรือจงใจให้ลูกค้าซื้อใหม่ยกชุด แต่เรื่องนี้กล้าพูดชัดเจนเลยว่า ทำหาย 2-3 ครั้ง ก็ไม่อยากซื้อกลับมาใช้แล้ว เพราะราคาที่ซื้อรวมกัน แล้ว เอาเงินไปซื้อหูฟังดี ๆ ราคาแพง ๆ และมีฟีเจอร์ค้นหาหูฟังใช้แทนยังดีกว่า
ตอนนี้ผมก็ได้แต่หวังว่า Huawei จะหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นในอนาคต เช่นอาจจะเพิ่มความสามารถในการค้นหาหูฟังในแอปฯ AI Life ไม่จำเป็นต้องถึงขั้น Track ตำแหน่งก็ได้ ขอแค่ส่งเสียงดังออกมาจากหูฟังเพื่อให้รู้ตำแหน่งได้ก็ยังดี หรือทางที่ดีก็วางขายตัวหูฟังทั้งชุดหรือแยกข้างเป็นอะไหล่นอกการรับประกันเลยก็ได้ เพราะเทียบกับคู่แข่งอย่าง AirPods แล้ว Apple มีแนวทางในการแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าแบบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหูหาย Apple ก็มีแอปฯ Find My ให้ค้นหาตำแหน่ง หรือให้ส่งเสียงเพื่อหาตัวหูฟัง หรือถ้าถึงขั้นจนปัญญา ก็ยังมีการจำหน่ายแยกข้างเป็นอะไหล่เสริมด้วยซ้ำไป แต่ถ้าสิ่งที่ Huawei เป็นกังวล คือเรื่องประสบการณ์การใช้งานจากชิป Kirin A1 นั่นก็หมายความว่า Huawei ยังทำการบ้านในเรื่องนี้มาไม่ดีพอ และเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ Huawei ต้องกลับไปแก้ไขเพื่อให้ FreeBuds ตัวต่อไป ออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด

ที่เขียนส่งท้ายแบบนี้ เพราะผมเป็นกังวลในเรื่องนี้จริง ๆ ผลิตภัณฑ์ทำออกมาดีมาก แม้มีจุดขาดนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ในเรื่องบริการหลังการขาย ใช้คำว่า Huawei สอบตกในเรื่องนี้เลยก็ได้ เพราะคนใกล้ตัวผมคนหนึ่งที่รู้จัก เป็นบุคคลที่มีปัญหากับการใช้งาน AirPods มาก ทำหายค่อนข้างบ่อย หรือจะเอาไปไกลกว่านั้น และทุกคนรู้จัก ก็….

Rap Monster หรือ RM ลีดและแร็ปเปอร์วง BTS ไงครับ (บังทันบอยส์ นะครับ ไม่ใช่ รถไฟฟ้านะ 55) นั่นก็เพิ่งออกมายอมรับกับรายการ Q&A เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ทำ AirPods หาย สิริรวมก็ 33 คู่เข้าไปแล้ว คิดเป็นเงินกว่า 7.29 ล้านวอน หรือ 180,000 บาท! นั่นเป็นนิสัยส่วนตัว+เรื่องของ RM ที่เขาก็มีกำลังซื้อเป็นทุนเดิม แต่กลับกันถ้าเป็นผู้ใช้ปกติอย่างเรา ๆ หรือท่าน ๆ ทำหายอันสองอันก็เครียดแล้ว ฉะนั้น Huawei ครับ ลองกลับไปทบทวนเรื่องบริการหลังการขายดู ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะขายหูฟังเป็นอะไหล่แทนการให้ลูกค้าไปซื้อเอาใหม่ยกชุด
ถ้า Huawei ทำสำเร็จ ผมเชื่อเลยครับว่า ออกมากี่รุ่น ๆ ลูกค้าตามไปซื้อแน่นอน อย่างน้อยก็ผมคนนึงแล้วล่ะ : )