ถ้าพูดถึง Western Digital แล้ว หลายคนคงจะทราบกันดีว่านอกจากแบรนด์ WD ที่เราคุ้นเคยกันเป็นหลักแล้ว Western Digital ยังมีแบรนด์อื่น ๆ ภายใต้บริษัทอีกสองแบรนด์ที่ทำตลาดในประเทศไทย อันได้แก่ G Technology ที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสายใช้สินค้า Apple เป็นประจำ และ SanDisk ที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสายช่างภาพมืออาชีพโดยเฉพาะ ซึ่งปกติแล้วเราไม่ค่อยจะได้เห็น SanDisk ทำสินค้าอื่น ๆ อะไรมากนัก นอกจาก Flash Drive และ Memory Card ทั้งหลาย เช่น SD Card หรือ Compact Flash Card เป็นต้น แต่ที่หลายคนไม่รู้ คือนอกจากผลิตภัณฑ์ทั้งสองแล้ว SanDisk ยังเป็นเจ้าของเทคโนโลยี Internal SSD รายแรก ๆ ของวงการด้วย ก่อนจะถูกสืบทอดเทคโนโลยีทั้งหมดโดย Western Digital ในเวลาต่อมา
SanDisk มีชื่อเสียงจากการทำ SSD คุณภาพสูงในราคาที่ไม่แพงมาก และมักได้รับความนิยมสูงจากกลุ่มผู้ใช้งานระดับ Hardcore User ที่ต้องการความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาต่อเนื่องจนแตกหน่อออกเป็นหลายผลิตภัณฑ์ที่ให้ได้ใช้งานกันในปัจจุบัน และอีกหนึ่งกลุ่มที่ SanDisk เข้าไปทำตลาดด้วย นั่นก็คือกลุ่ม External SSD ที่กำลังมาแรงแซงทางโค้งอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง โดย SanDisk เริ่มเข้าตลาดจากการนำเทคโนโลยี NVMe SSD ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน มาทำ Extreme Pro Portable SSD ออกวางขายเมื่อปี 2018 จนมาถึงรุ่นล่าสุดที่เรากำลังจะได้ลองแล้วเล่าอย่าง Extreme Portable SSD ซึ่งก็เพิ่งจะได้ฤกษ์ออกวางจำหน่ายไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เช่นกัน
วันนี้ทาง Western Digital ส่ง SanDisk Extreme SSD มาให้เราได้ทดลองกันแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เรื่องมันมีอยู่ว่า...
ส่องรอบตัวกันสักหน่อย
องค์รวมของ SanDisk Extreme Portable SSD ดูเผิน ๆ ก็ไม่ต่างจาก SSD ของฝั่ง WD มากนัก แต่จุดที่ต่างคือผิวสัมผัสโดยรวมเป็นยางผสมโพลีคาร์บอเนต มีการเจาะรูไว้เต็มไปหมดซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลยนอกจากเพิ่มความถนัดในการจับ และความทนทานต่อการตกกระแทก และมีห่วงส้มด้านบนสำหรับคล้องกับห่วงตะขอ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำไปลุยป่าหรือกิจกรรมแนว Adventure เป็นพิเศษ ตัว SSD ไม่ได้หนามากนัก มีความบางพอ ๆ กับ WD My Passport SSD 2020 ที่เราเล่นกันไปก่อนหน้านี้
สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อ ยังคงเป็น USB-C ตามสมัยนิยม แต่ความพิเศษคือ Extreme SSD มีการรองรับการเชื่อมต่อกับตัวกล้องโดยตรง (ด้วยสาย USB-C) ทำให้สามารถโอนข้อมูลจากกล้องลง SSD ตรงได้เลย
ตัวสายที่ให้มาในกล่องเป็น USB-C เส้นเล็ก ๆ เส้นเดียวพร้อมตัวต่อ USB-A อีกหนึ่งชิ้น เหมือนฝั่ง My Passport ไม่ผิดเพี้ยน
ในกล่องทั้งหมดก็มีน้อยนิดเหมือน WD My Passport SSD ไม่ผิดเพี้ยน ไม่มีอะไรหวือหวาไปมากกว่านี้ ฉะนั้นแล้วเสียบสาย ฟอร์แมต เริ่มใช้งานกันเลยดีกว่า
เริ่มใช้งานกันเลย
การเริ่มต้นใช้งานก็ไม่ต่างจาก WD มากนัก เสียบสาย รอนิดหน่อย ก็เริ่มใช้งานได้เลย เพราะตัวฮาร์ดดิสก์ถูกฟอร์แมตเป็น ExFAT เป็นค่าเริ่มต้นอยู่แล้ว ฉะนั้นรองรับการใช้งานกับทุกอุปกรณ์แน่นอน แต่จุดที่แตกต่างจาก WD My Passport คือไม่รองรับการใช้งานร่วมกับ WD Discovery เพราะถือว่าแยกแบรนด์ขาดจากกัน (แม้อยู่ในบ้านเดียวกัน) ฉะนั้น SanDisk Extreme Portable SSD ตัวนี้ ไม่มีความสามารถอื่น ๆ เลย นอกจากเรื่องความเร็ว ซึ่งเราจะพูดถึงกันในพาร์ทถัดไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่แถมอะไรมาเลย เพราะ SanDisk Extreme Portable SSD มีแถมซอฟต์แวร์ SanDisk Security มาให้ในตัวตั้งแต่โรงงานด้วย
ซอฟต์แวร์ตัวนี้ มีหน้าที่หลักคือใช้เข้ารหัส SSD ทั้งลูกตามมาตรฐาน AES 256-bit Encryption ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล กรณีที่ใน SSD มีข้อมูลที่สำคัญเป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งเป็นความลับมากกกว่าความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคนี้จากกฎหมาย PDPA ที่เริ่มบังคับใช้งานแล้ว การใช้งานก็ง่ายมาก เพียงเปิดแอปฯ SanDisk Security แล้วตั้งรหัสเท่านั้น SSD ก็จะถูกเข้ารหัสโดยสมบูรณ์
ทีนี้การใช้งาน SSD ในครั้งต่อไป เมื่อเสียบเข้าไปแล้ว จะปรากฎหน้าจอให้รันแอปฯ SanDisk Drive Unlock เพื่อใส่รหัสผ่านก่อน ซึ่งทีเด็ดของโปรแกรมนี้อยู่ที่ฟีเจอร์การบังคับลบข้อมูลอัตโนมัติ โดยถ้าเราใส่รหัสผิด 5 ครั้ง SSD จะล็อกตัวเองโดยสมบูรณ์จนกว่าจะถูกปลดล็อกโดยเจ้าของ หรือใช้ SanDisk Security สั่งบังคับล้างข้อมูลออกเพื่อเริ่มใช้งานมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากในกรณีที่ SSD เราถูกขโมย ทำให้มั่นใจได้ทันทีว่าแม้ SSD จะหายไป แต่ข้อมูลข้างในจะไม่หายและไม่ถูกโจรกรรมออกไปอย่างแน่นอน
ในด้านความเร็ว อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าตระกูล Extreme เป็นตระกูลที่เน้นความเร็วสูงเป็นหลัก ตามสเปคหน้ากล่องเขียนว่าเขียนข้อมูลสูงสุด 1,000 MB/s อ่านข้อมูลสูงสุด 1050 MB/s แถมยังรองรับ USB 3.2 ด้วย เรียกว่าเท่า My Passport SSD ไม่ผิดเพี้ยน ฉะนั้นผลการทดสอบด้วย USB 3.1 จะเห็นได้ว่าความเร็วในการอ่านไฟล์สูงสุด ทำได้ที่ 1041.94 MB/s และมีความเร็วในการเขียนที่ 981.41 MB/s ถือว่าออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ทันใจในทุกสถานการณ์แน่นอน
ในส่วนของความเร็วในการอ่านไฟล์วิดีโอความละเอียด 4K ซึ่งถือเป็นงานหลักในกลุ่มเป้าหมายที่ SanDisk เข้าไปทำตลาด ถือว่าทำได้ไม่น่าเกลียด และทำออกมาได้ดีไม่แพ้ My Passport แม้แต่น้อย โดยมีความเร็วในการอ่านไฟล์ที่ 13.51 MB/s เมื่อใช้ซีพียูคอร์เดี่ยว และ 137.36 MB/s เมื่อใช้ซีพียูเต็มกำลัง มีค่าความหน่วงเวลาเพียง 0.178 ms ส่วนการเขียนไฟล์ก็ไม่แพ้กัน สามารถเขียนไฟล์ที่ 25.31 MB/s เมื่อใช้ซีพียูคอร์เดี่ยว และ 612.75 MB/s เมื่อใช้ซีพียูเต็มกำลัง เรียกว่าตอบสนองทุกความต้องการของช่างภาพได้อย่างครบถ้วน ทั้งการโยนไฟล์ระดับ 4K จากตัวกล้องมายัง SSD และการทำงานกับไฟล์ 4K หรือไฟล์ภาพ บน SSD โดยตรงโดยไม่ต้องโอนกลับมาที่คอมพิวเตอร์เลยแม้แต่ไฟล์เดียว
ส่งท้าย
ถ้า My Passport SSD คือ SSD สำหรับการนำไปใช้งานทั่วไป และ G Technology คือ SSD สำหรับผู้ที่ใช้สินค้า Apple แล้ว ก็ต้องพูดตามตรงว่า SanDisk Extreme คือ SSD สำหรับช่างภาพและสายลุยอย่างแท้จริง เพราะนอกจากความทนทานทั้งกันน้ำ กันฝุ่น และกันตกกระแทกแล้ว SanDisk Extreme ยังมีความเร็วที่เร็วปานสายฟ้า และสามารถเขียนไฟล์ 4K และไฟล์ภาพต่าง ๆ ได้เร็วกว่า SSD ตัวอื่น ๆ ในตลาดอย่างแท้จริง เรียกว่าเกิดมาเพื่อช่างภาพโดยเฉพาะ
แต่ถ้า Extreme ยังไม่สะใจพอ SanDisk ยังมี Extreme Pro ไว้จับตลาดสายฮาร์ดคอร์บ้าพลังอย่างแท้จริง ด้วยความเร็วในการอ่านและเขียนที่เร็วกว่าถึง 2,000 MB/s ทำให้สามารถเขียนอ่านไฟล์ได้เร็วกว่า ทำงานกับไฟล์ภาพและวิดีโอได้ดีกว่าแบบเห็นได้ชัดกันเลยทีเดียว ซึ่งให้พูดกันตามตรงการใช้งานโดยทั่วไป Extreme ก็ถือว่าเพียงพอในระดับหนึ่งต่อความต้องการพื้นฐาน ทั้งการโอนไฟล์ข้อมูล การใช้เป็น Harddisk สำรอง และการทำงานกับไฟล์ภาพและวิดีโอ 4K บน SSD โดยตรงอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำงานร่วมกับไฟล์ที่ใหญ่กว่า 4K เช่นวิดีโอความละเอียด 8K หรือการถ่ายภาพในระดับบิลบอร์ดขนาดใหญ่ Extreme Pro ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมต่อความต้องการด้วยเช่นกัน
เอาเป็นว่าใครที่อ่านจนจบแล้วสนใจ SanDisk Extreme Portable SSD ขึ้นมา ก็สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่าย WD และ Synnex ทุกแห่งทั่วประเทศ และที่ร้านค้าออนไลน์ของ Western Digital โดยมีความจุให้เลือก 4 ขนาด คือ 500 GB / 1 TB / 2 TB และ 4 TB ราคาเริ่มต้น 3,190 บาท มาพร้อมการรับประกันตัวฮาร์ดดิสก์ 5 ปี อีกด้วยครับ