ตอน Huawei โดนทิ้งระเบิดจาก ปธน. นิ้วโป้ง เมื่อปี 2019 สิ่งที่แยกความแตกต่างระหว่างบริษัทที่ “ธรรมดา” กับ “ยิ่งใหญ่” คือความสามารถในการปรับตัว สำหรับสิ่งที่ Huawei เจอมา สิ่งที่ทำมาจนถึงตอนนี้ วันนี้ คงพอจะให้เครดิตได้ว่า Huawei เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ปรับตัวอย่างไม่ยอมแพ้ ถึงมือถือกับแท็บเล็ต จะไม่ลงตัวกับการใช้งานในตลาดโลก ที่ชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ผูกกับ Google Service จนแกะออกด้วยยาก แต่ก็ยังเห็นการพัฒนาจาก Huawei เพื่อยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้จริง ๆ แต่มีผลิตภัณฑ์กลุ่มหนึ่ง ที่ Huawei พยายามมีพื้นที่ตลาด นั่นคือด้านเสียง / อุปกรณ์สวมใส่ และเครือข่าย Wi-Fi ในบ้านหรือสำนักงาน
สองอย่างที่ผมเห็นว่า สามารถทำให้คนซื้อใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีมือถือหรือแท็บเล็ต Huawei คืออุปกรณ์สวมใส่กับเครือข่าย Wi-Fi แต่อุปกรณ์เกี่ยวกับหูฟัง เสียง ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เหมือนยังไม่ได้เป็นตัวเลือกต้น ๆ ในตลาดนัก ถ้าว่ากันตามประสบการณ์ที่ผมได้ลองหูฟังไร้สายจาก Huawei ผมจะให้คำตอบง่าย ๆ กับใครที่มาถามว่า น่าซื้อไหม? น่าใช้ไหม? ไปเพียงแค่ “เงินที่เท่ากัน ซื้ออย่างอื่นดีกว่า” แต่หากเอาระยะเวลาที่ Huawei ลงมาทำตลาดนี้แบบจริงจัง แล้วเทียบกับสินค้าที่ออกมาทุกรุ่นตั้งแต่ราคาเบาสุดอย่าง FreeBuds 3i จนถึงท๊อปสุดอย่าง FreeBuds Pro ก็ถือว่า Huawei น่าจับตามองเช่นกัน

ตอนที่ Huawei เปิดตัว FreeBuds 3 ถือว่าเป็นหูฟังที่ทำให้ตลาดรับรู้ว่า Huawei ลงตลาดหูฟัง True Wireless เต็มตัวแล้ว หน้าตาตลับที่ไม่เหมือนใคร สีที่ให้เลือกมากกว่า การใช้งานที่ง่าย คุณภาพเสียงที่น่าสนใจ ช่วยต่อยอดให้ทุกวันนี้ Huawei มีหูฟังแนว True Wireless หลายรุ่นให้เลือกซื้อถึงทุกวันนี้ ด้วยระยะเวลาหลังจาก FreeBuds 3 มา 1 ปีนิด ๆ ก็คงถึงเวลาปรับปรุงให้สดใหม่ แข่งขันกับตลาดได้ และ FreeBuds 4 ก็พร้อมแล้ว

ไม่ใช่แค่พร้อมขาย แต่พร้อมที่จะทำอะไรหลายอย่างที่ “เซอร์ไพรส์” แบบที่อยากชวนให้เลื่อนลงมาอ่านเลยครับ
ส่องรอบตัว

ตลับหูฟังเป็นทรงกลมแบบสมมาตร ด้านหน้าตลับจะเรียบ ๆ มีเพียงจุดไฟสถานะแบตเตอรี่โดยรวม แสดงผลเมื่อเปิดฝาตลับ ส่วนด้านหลังจะเห็นกรอบสีดำทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พิมพ์ยี่ห้อ HUAWEI โดยที่กรอบสีดำพอดีกับขนาดของแกนฝาตลับ
ถ้าคลำหารายละเอียดของตลับ หากถือตลับด้วยมือขวา นิ้วโป้งจะพอดีกับปุ่มเปิดการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้งาน และด้านล่างตลับใช้ที่ชาร์จแบบ USB-C และไม่รองรับการชาร์จแบบไร้สาย

เปิดฝาตลับออกมา หูฟังอยู่ในตลับทรงแบบหันด้านลำโพงออกจากกัน ตลับมีระบบแม่เหล็กในการยึดหูฟังไว้กับตลับ ดึงออกได้ง่าย เก็บกลับได้ง่ายเพียงแค่หย่อนหูให้ถูกฝั่งก็พอ

ตัวหูฟังเป็นทรงโค้งที่ออกแบบรับกับช่องหูด้านใน หูฟังมีเซ็นเซอร์ที่รองรับการตรวจจับการสวมใส่ เพื่อหยุดหรือเล่นเพลงให้ตามการสวมใส่ ณ เวลานั้น รวมถึงคำนวณการทำงานของระบบตัดเสียงด้วย โดยตัวก้านหูฟังเป็นทรงตรงยาว รองรับการใช้นิ้วในการควบคุมทั้งการเล่นเพลง ระดับเสียง การทำงานระบบตัดเสียงรบกวน และปลายสุดของก้านจะเป็นไมโครโฟนรับเสียง

ถ้าให้เลือกหูฟัง True Wireless ที่หน้าตาโดดเด่นแบบไม่เห็นยี่ห้อ ก็น่าจะใช่แน่นอน Huawei FreeBuds 4 ก็อยู่ในกลุ่มที่ถือมาแล้ว รู้เลยว่าใช้หูฟังอะไรอยู่ ตลับทรงกลมที่รอบนี้ใช้สีเทา Silver Frost ให้สัมผัสผิวด้านแบบ FreeBuds Pro ให้ความหนักแน่นในแรกเห็น ดูดี ดูน่าพกพาขึ้นกว่าตอน FreeBuds 3 แต่สีขาว Ceramic White ก็ยังเป็นตัวเลือกที่เข้าชุดกับเสื้อผ้า การใช้ชีวิตประจำวันได้ดีเช่นกัน

ฝาตลับให้น้ำหนักในการดีดที่กำลังดี เก็บงานส่วนใต้ฝาทั้งหมดได้ดีกว่า FreeBuds 3 แบบชัดเจน ขอบฝาด้านในไม่ดูบาดนิ้วหรือดูไม่เรียบร้อยแบบก่อนหน้าแล้ว แต่ที่ขัดใจคือการหยิบหูฟังออกมาใช้ ด้วยผิวสัมผัสหูฟังที่ลื่น ถ้าใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งหยิบออกมาตามปกติ จะไม่มีปัญหากับคนที่นิ้วเล็ก แต่ถ้านิ้วมือผู้ชายตัวใหญ่หน่อย หรือรีบหยิบไปหน่อย โอกาสที่หยิบพลาดไม่ว่าจะหยิบออกทีแรกไม่สำเร็จ หรือหยิบแล้วทำหล่นไปพื้นไปเลยมีสูงมาก ท่าในการหยิบหูฟังที่ดีที่สุด คือใช้นิ้วโป้งปัดหูฟังไปด้านหลังตัวหนึ่งที แล้วค่อยใช้สองนิ้วหยิบออกมา เป็นท่าที่ส่วนตัวผมที่นิ้วโป้งค่อนข้างใหญ่ พบว่าสะดวกและหยิบใส่สำเร็จอย่างปลอดภัยที่สุด และอีกอย่างที่ขอชมคือ หูฟังสามารถหย่อนกลับลงตลับได้ลื่นไหล ไม่ว่าจะพยายามตะแคงหย่อนเฉียง ๆ ลงไปก็ตาม ไม่มีสะดุดระหว่างทางแบบ FreeBuds 3 ที่บางครั้งหย่อนตรง ๆ ก็ฝืดเหมือนตลับกับหูฟังประกอบกันมาไม่พอดี

ตัวหูฟังใส่ง่าย พอดีกับคนส่วนใหญ่ แต่ทรงหูฟังแบบนี้ ก็เป็นจุดอ่อนที่ไม่ลงตัวกับผู้ที่มีผิวมันตลอดเวลา หรือรูหูใหญ่และลึกเป็นพิเศษ ที่ใช้งานแล้วอาจจะลื่นหรือหลุดง่ายได้ น้ำหนักของหูฟังเมื่อสวมใส่ เบาและทำได้ดี ตัวก้านที่ตรงและยาว ถ้าจับดี ๆ จะใส่พอดีล็อคกับใบหูได้ไม่ยาก รวมถึงตัวก้านมีความยาวพอให้จับเพื่อดึงออกจากหู แล้วเก็บได้อย่างมั่นใจ และเช่นกัน ถ้าถอดเสื้อคอกลมหรือล้างหน้า ด้วยความยาวของก้าน ก็สามารถทำให้มือของเราปัดหลุดได้ง่ายเช่นกัน

FreeBuds 4 ไม่ได้เปลี่ยนเรื่องหน้าตาจาก FreeBuds 3 แบบชัดเจน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป เป็นไปในทางที่ดีหมด ไม่ว่าจะงานประกอบ การจัดวางปุ่มควบคุม หูฟัง เก็บรายละเอียดได้เรียบร้อยขึ้น สองอย่างที่อยากให้ปรับสักแล้วลงตัวขึ้น คือหาวิธีให้หยิบหูฟังออกได้ง่ายกว่านี้สักหน่อย รวมถึงสีหูฟังที่ออกเงา ถ้าปรับโทนหรือทำผิวให้ดูดีกว่านี้อีกนิด จะสวยลงตัวขึ้นไปอีก เพราะนอกนั้นแล้ว ทุกอย่างที่ดีใน FreeBuds 3 ลงตัวขึ้นใน FreeBuds 4 โดยไม่ต้องปรับอะไรเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
ลองใช้งาน

เชื่อมต่อ / สลับเครื่องใช้งานได้

เมื่อเชื่อมหูฟังด้วย AI Life แล้ว หากนำหูฟังไปเชื่อมต่อกับเครื่องอื่นที่ติดตั้ง AI Life เมนูการตั้งค่าจะขึ้นชื่อทั้งหมดว่า เชื่อมต่อกับมือถือหรือแท็บเล็ตอะไรบ้าง สามารถเชื่อมต่อพร้อมกันสองเครื่องได้ ตั้งค่าได้ว่า จะให้หูฟังเชื่อมต่อเครื่องไหนก่อน ให้เครื่องไหนเชื่อมต่อทันทีที่หยิบหูขึ้นมาสวมใส่
เมนูตั้งค่าการเชื่อมต่อนี้ มีแค่ในมือถือ Huawei กับ Android เท่านั้น หากใช้งานกับ iOS หรือเชื่อมต่อครั้งแรกด้วย iOS จะไม่รองรับการสลับการเชื่อมต่อ แต่ใช้งานดีกับคนที่มีมือถือ Huawei หรือ Android ที่มี iPhone หรือ iPad แล้วอยากใช้หูฟังชุดเดียว แนะนำให้เชื่อมต่อด้วยฝั่ง Huawei / Android ให้เสร็จก่อน แล้วเอาไปเชื่อมกับ iOS ด้วย AI Life (โหลดจาก App Store ได้) เพียงเท่านี้ เมนูการสลับหูฟังจะปรากฎชื่ออุปกรณ์ iOS ของเราใน AI Life ฝั่ง Android

อ่านมาตรงนี้ ดูยุ่งยากสักหน่อย แต่ทำจบแล้ว ใช้งานได้ดีมาก มือถือ Android หนึ่งเครื่องกับ iPhone ที่วางบนโต๊ะ หรือถือไปพร้อมกัน อยากฟังเพลงเครื่องไหน เพียงแค่แตะเล่นจากเครื่องก่อนหนึ่งที ใช้หูฟังได้ตามสบาย แต่ถ้ามีโทรศัพท์เข้ามาที่อีกเครื่องที่ไม่ได้ใช้ฟังเพลง ก็สามารถแตะเพื่อรับโทรศัพท์ แล้ววางสายเสร็จ เพลงจากเครื่องที่เชื่อมหูฟังอยู่ ก็เล่นต่อ ถือเป็นหูฟังไร้สายที่ผมจดไว้ได้เลยว่า รองรับการเชื่อมต่อสองเครื่องแบบสามัคคี สลับใช้งานได้จริง ไม่มีอาการกระตุก หรืองงชีวิตว่าจะเอาอย่างไรดี
ระบบตัดเสียงระบบกวน

FreeBuds 4 ชูจุดเด่นระบบตัดเสียงแบบ Open Fit Adaptive Noise Cancellation 2.0 ที่ใช้ AI ในการคำนวณตามสภาพแวดล้อมจริงว่า จะต้องตัดเสียงรบกวนรอบข้างแค่ไหน ให้ออกมากำลังดีกับการใช้งาน ไม่ตัดจนเงียบเกินเหตุ และไม่ปล่อยเสียงรอบข้างเข้าไปมากเกินไป ผสานกับ Adaptive Ear Matching ที่ตรวจจับมุมการสวมใส่หูฟัง เพื่อปรับให้ปล่อยเสียง ตัดเสียงรบกวน สอดคล้องกับกายภาพหูของผู้ใช้งานด้วย ส่วนการตั้งค่าระบบตัดเสียงรบกวน มีให้เลือกอีก 2 การตั้งค่าย่อยได้แก่ General : สำหรับตัดเสียงรบกวนแบบเต็มที่ / Cozy : สำหรับตัดเสียงรบกวนเมื่อใช้งานในสถานที่เงียบหรือเสียงรบกวนเล็กน้อย
การใช้งานระบบตัดเสียง สามารถเปิดหรือปิด ด้วยการแตะค้างที่ก้านหูฟัง (ข้างไหนก็ได้) แล้วตัดเสียงรบกวนเป็นอย่างไร? ถ้าเทียบกับ FreeBuds 3 ในประเด็นนี้ จะพบว่า FreeBuds 4 เป็นหูฟังคนละตัวไปเลย หากเทียบกับหูฟังไร้สายที่ไม่ใช่ In-Ear แล้วมีระบบตัดเสียงรบกวน จะพบว่า FreeBuds 4 ทำหน้าที่นี้ได้ดี ดีแบบอาจดีกว่าหูฟังไร้สายที่ต้องใช้ In-Ear บางรุ่นด้วยซ้ำ ถ้าว่ากันเรื่องรสนิยมระบบตัดเสียงรบกวน ถ้าชอบหูฟังที่ตัดเสียงแบบ เกลี้ยง ๆ รอบข้างระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็ไม่ต้องการได้ยิน จะไม่ใช่กับ FreeBuds 4 แต่ก็ไม่ใช่หูฟังที่ระบบตัดเสียงรบกวน ปล่อยเสียงภายนอกเข้าจนล้ำเส้นความสงบของผู้ใช้เช่นกัน
การควบคุม

FreeBuds 4 รองรับการเคาะเพื่อเปลี่ยนเพลง / เล่นหรือหยุดเพลง / รับสาย / วางสาย ในส่วนการแตะค้าง รองรับการเปิดหรือปิดระบบตัดเสียงรบกวน / ปฎิเสธสายที่โทรเข้ามา และการถูขึ้น ถูลง รองรับการเพิ่มหรือลดเสียง การควบคุมทั้งหมดที่ว่ามานี้ รองรับกับหูทั้งสองข้าง และตั้งค่าเปลี่ยนได้ตามถนัด (เฉพาะการเคาะ)
หูฟังไร้สายที่ไม่มีปุ่ม ไม่มีอะไรเลย การควบคุมได้ครบทุกสถาณการณ์ คือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ในการใช้งานจริงทั้งการเคาะ แตะค้าง ถู ใช้ได้แม่นยำ แยกน้ำหนักการเคาะ แตะค้าง หรือถู ได้ค่อนข้างเสถียร อาจมีบ้างที่เคาะกับแตะค้างลงจังหวะผิด แล้วหูฟังสับสนไปเล็กน้อย แต่ถ้าเข้ามือแล้ว ทุกอิริยาบถที่สวมหูฟังนี้คือความคล่องตัวล้วน ๆ แต่หากปรับให้การตอบสนองหลังแตะ เคาะ ถู ให้หน่วงน้อยลงกว่านี้อีก เนียนเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกดปุ่มเอง จะสมบูรณ์ไม่มีที่ติ
เพิ่มความสามารถในการฟัง

FreeBuds 4 สามารถตั้งค่าการปล่อยย่านความถี่เสียง ให้สอดคล้องกับความสามารถในการฟังของผู้ใช้งานได้ เพราะทุกอายุ ความสามารถในการได้ยินแต่ละคลื่นเสียงไม่เท่ากัน หากเปิดใช้งานส่วนนี้ หูฟังจะคำนวณให้อัตโนมัติ แต่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าด้วยการฟังคลื่นเสียงแต่ละช่วง เพื่อบันทึกให้หูฟังจัดสรรความถี่เสียงทั้งหมดให้สอดคล้องกับการทุกการใช้งานหูฟัง และความสามารถนี้ไม่รองรับใน iOS
อื่น ๆ

FreeBuds 4 มีระบบค้นหาหูฟังในระยะทำการ สั่งเล่นเสียงออกมาจากหูฟังในกรณีที่ถอดลืมไว้ สามารถปิดระบบการตรวจจับการสวมใส่ และอัพเดทความสามารถผ่าน AI Life เพื่อให้หูฟังได้รับ software ปรับปรุงการใช้งานที่เป็นล่าสุดเสมอ
คุณภาพเสียง



ไมโครโฟนของหูฟัง คืออีกจุดที่ FreeBuds 4 ปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมใน FreeBuds 3 ที่เป็นไมค์ฯ ที่พอใช้งานได้ แต่ถ้าเทียบกับหูฟังไร้สายทรงที่มีก้าน ก็ถือว่าทำผลงานได้ด้อยกว่าตลาดไปพอสมควร มาใน FreeBuds 4 ไมค์ฯ ไว้ใจได้มากขึ้น คุยรู้เรื่องขึ้น ให้เสียงได้ดีขึ้น แม่นยำมากขึ้น เสียงรบกวนเข้าน้อยลงมาก แต่ถ้าเทียบกับตลาดแล้ว FreeBuds 4 ต้องปรับอีกสองเรื่องเพื่อให้ลงตัว อย่างแรกคือความคมชัดของเสียง ไมค์ฯ ต้องถ่ายทอดเสียงได้เที่ยงตรงกว่านี้อีก และอย่างสุดท้าย คือระบบตัดเสียงรบกวน ที่บางครั้งเผลอปล่อยเสียงไม่ต้องการขณะใช้สนทนา หลุดเข้ามาให้ปลายสายได้ยินชัดเจนเท่ากับเสียงสนทนาหลัก
โดยสรุปแล้ว ถ้าเทียบกับรุ่นก่อนหน้า FreeBuds 3 ทุกมิติของ FreeBuds 4 ทำได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน มีพัฒนาการที่เห็นเลยว่าตั้งใจทำมาให้ดีขึ้น และรุ่นต่อไปน่าจะลงตัวขึ้นไปอีกได้ แต่ถ้าเทียบกับตลาด นี่ยังเป็นการบ้านที่ Huawei ต้องปรับให้ดีขึ้นกว่านี้อีก เพราะมีหูฟังแนวเดียวกันในตลาด ที่จ่ายเงินน้อยกว่า แต่ทำได้พอกันหรือดีกว่าในบางมุม และถ้า Huawei ตั้งใจทำ FreeBuds ให้เป็นหูฟังไร้สายชั้นดีรุ่นหนึ่ง การเก็บรายละเอียดในจุดเล็ก ๆ ทั้งเรื่องเสียงหรือไมค์ ไม่ว่าจะใช้งานได้ด้านไหน คือจุดที่จะทำให้ FreeBuds 4 หรือรุ่นต่อจากนี้ ไปถึงเป้าหมายแน่นอน
แบตเตอรี่ การใช้พลังงาน

แบตเตอรี่ของ FreeBuds 4 มีความจุ 30 mAh ในหูฟังแต่ละข้าง และ 410 mAh ในตัวตลับ ตามที่แจ้งไว้ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 4 ชั่วโมง (ปิดระบบตัดเสียงรบกวน) และใช้ร่วมกับตลับได้สูงสุด 22 ชั่วโมง (ปิดระบบตัดเสียงรบกวน) ใช้เวลาชาร์จกลับจากตลับเข้าหูฟังที่ 1 ชั่วโมง สามารถชาร์จ 15 นาที ใช้งานได้ 2 ชั่วโมงครึ่ง และใช้เวลาชาร์จไฟจากสาย USB-C เข้าตลับประมาณ 1 ชั่วโมงเช่นกัน
ในการใช้งานจริง สามารถใช้งานแบบเปิดระบบตัดเสียง แล้วอยู่ได้ถึง 3 ชั่วโมงโดยประมาณ แต่ถ้าปิดระบบตัดเสียงรบกวน สามารถใช้งานได้ถึง 4 ชั่วโมงตามที่เคลมไว้ หรือถ้าใช้งานแบบรวม ๆ ฟังเพลงบ้าง สลับไปโทรศัพท์บ้าง สลับไปดูภาพยนตร์สักหน่อย ก็สามารถอยู่แถว 3 ชั่วโมงได้แน่ ๆ การลดลงของแบตเตอรี่ทั้งหูซ้ายและขวา ลงอย่างเป็นระเบียบ ยกเว้นบางแนวเพลง ที่จะกินพลังงานหูข้างใดข้างนึงเป็นพิเศษ และสิ่งที่ปรับปรุงได้ดีขึ้นจาก FreeBuds 3 ในแง่นี้คือ อาการแบตเตอรี่คายประจุตอนไม่ใช้งาน ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทิ้งไว้มากกว่า 2 วัน แบตเตอรี่ไม่ได้หายมากเกินไปจนน่าตกใจแบบแต่ก่อน
ในเรื่องการชาร์จกลับ ถ้าใช้ฟังจนเหลือสัก 20-30% แล้วเก็บกลับ สามารถใช้เวลา 10-15 นาที แล้วได้แบตเตอรี่กลับมาใช้งานต่อหูที่ 70-75% ได้ และการชาร์จตลับด้วย USB-C ถ้าใช้ร่วมกับหัวปลั๊กชาร์จมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่จ่ายไฟมากกว่า 12W ขึ้นไป จะใช้เวลา 20-45 นาที เพื่อชาร์จตลับแบตเตอรี่จาก 20% แล้วได้แบตเตอรี่ในตลับที่ 80% ได้
โดยรวมแล้ว ถ้า FreeBuds 4 ให้การใช้งานต่อครั้งในระบบตัดเสียงถึง 4 ชั่วโมงแน่ ๆ และ 5-6 ชั่วโมง แบบปิดระบบตัดเสียง จะทำให้ดูน่าไว้ใจในการใช้งานมากกว่านี้ แต่ความที่หูฟังชาร์จไฟกลับได้ค่อนข้างไว ก็พอจะทดแทนกันได้อยู่ ในอนาคต ถ้าปรับให้การใช้งานต่อครั้งทำได้นานขึ้น ความน่าสนใจก็จะลงตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
สรุป “ในที่สุดก็สนิทใจจะใช้งานซะที”

ถ้าให้เลือกหูฟังแนว True Wireless ที่มาจากแบรนด์ที่ไม่ได้ทำหูฟังมายาวนาน ก็คงเหลือแค่ผู้ผลิตมือถือเจ้าหลัก ๆ ที่ทำหูฟังไร้สายมาเสมือนคู่หูมือถือตัวเอง บางแบรนด์ทำสำเร็จ ซื้อมือถือแล้ว จ่ายเงินซื้อหูฟังไร้สายคือเรื่องยินดีจ่าย แถมลูกค้ามือถือแบรนด์อื่น ก็ซื้อไปใช้กับมือถือตัวเองด้วยซ้ำ บางแบรนด์ขายมือถือก็ไปได้ แต่หูฟังไร้สาย ออกแล้ว ออกอีก ก็ไม่เปรี้ยงซะที สำหรับหูฟังไร้สายจาก Huawei ในวันที่มือถือกับแท็บเล็ตของค่าย ยอดขายเฉพาะกลุ่มไปพอสมควร ผมจึงตั้งโจทย์กับการ “ลองแล้วเล่า” กับ FreeBuds 4 แค่ “ถ้าผมมี Android กับ iPhone แล้ว FreeBuds 4 มีที่ยืนกับมือถือที่ผมมีไหม?”
ต้องชมว่า FreeBuds 4 ได้รับการปรับปรุงจุดที่ผมไม่ชอบใน FreeBuds 3 แบบเป็นรูปธรรมหมด เริ่มที่ความเรียบร้อยของงานประกอบ ตัวหูฟัง สิ่งที่มือจับ ใบหูสัมผัสได้ ได้รับการแก้ไขให้ไม่ดูเหมือนของราคาถูก ดูดีแบบน่าพกน่าใช้ขึ้นกว่าเดิมมาก ในขณะที่ AI Life ที่ใช้เชื่อมต่อ จัดการหูฟัง สามารถใช้งานร่วมกันทั้ง iOS / Android ได้ครบความสามารถหูฟังที่สุด เชื่อมต่อ+จัดการเครื่องที่ใช้งานได้พร้อมกันแบบลื่นไหล ทั้งที่คู่ที่เชื่อมต่อ ไม่ใช่มือถือ Huawei ถึงจะเชื่อมต่อครั้งแรกมากขั้นตอนไปหน่อย แต่ทำจบปุ๊ป คือใช้งานได้จริง ทำให้ผมรู้สึกสนิทใจ เปิดใจจะค้นหาตัวตน FreeBuds 4 มากขึ้น

ระบบตัดเสียงรบกวน การควบคุมหูฟังทั้งการเคาะ แตะค้าง หรือถูขึ้น ลง ไม่ว่าจะกับมือถือ Android หรือ iOS ใช้งานได้จริงแบบไม่ติดขัด จนบางทีผมเผลอชอบกว่า AirPods ที่ใช้งานร่วมกับ iPhone เป็นประจำในบางมุมด้วยซ้ำ คุณภาพเสียงก็ยกระดับจากเดิม ตั้งใจฟังรู้สึกได้ว่า ไม่ได้ทำมาเสียงดีหลอก ๆ ขายคนไม่ได้สนใจอะไรมากเท่าแต่ก่อน พยายามเซ็ทให้คนที่เน้นคุณภาพเสียง รับรู้ว่าหูฟังไร้สายจาก Huawei ก็มีคุณภาพด้านเสียงขึ้นมาแล้วนะ ทำให้ผมรู้สึกสนิทใจยิ่งขึ้นไปอีกที่จะใช้ ทำให้ภาพรวมทั้งหมดที่อยู่ด้วยกัน ผมพก FreeBuds 4 คู่กับ AirPods Pro ที่ใช้ประจำเรียบร้อยแล้ว
แต่ในความสนิทใจที่มี ก็ยังมีจุดที่อยากให้ดีกว่านี้ แล้วจะสนิทกันยิ่งกว่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องตัวหูฟัง การทำสีเงา ๆ ผิวลื่น ๆ เวลาใช้งานเสร็จ แล้วไม่ได้เช็ดก่อนเก็บ กลายเป็นความมันที่ติดหู ส่งผลให้การหยิบใช้ ใส่หรือถอด เพิ่มความผิดพลาดในการทำหล่นมากกว่าปกติ รวมถึงหูฟังที่ดูสีเงานี้ ดูไปแล้วรู้สึกเกิดคำถามว่า “มันต้องมีวิธีทำให้ดูดี ดูแพงกว่านี้ได้อีกซิ?” คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นแล้ว แต่ในเมื่อ Huawei ขึ้นชื่อเรื่องการทำของดี ในราคาที่เร้าใจได้มาในหลายผลิตภัณฑ์ ผมเองก็คาดหวังให้คุณภาพเสียงของ FreeBuds รุ่นถัดไป เป๊ะยิ่งกว่านี้ เก็บรายละเอียดได้แน่น คม ชนิดที่ขึ้นไปเทียบกับหูฟังไร้สาย ที่ราคาสูงกว่าสักหนึ่งขั้นได้ กระแสควาน่าสนใจจะถูกกล่าวถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ไมค์ฯ ในภาพรวมที่ดีขึ้นแล้ว ขอให้ปรับการเก็บเสียงให้แม่นยำยิ่งกว่านี้ เสียงรบกวนน้อยกว่านี้หรือเกลี่ยจนเนียนหูคู่สนทนาได้มากกว่านี้ และท้ายสุด ถ้าทำหูฟังให้แบตเตอรี่ใช้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงไม่ได้ ก็ยากที่จะให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อได้ในทันทีเช่นกัน

สำหรับผมแล้ว Huawei FreeBuds 4 คือตัวอย่างที่ดีของการหูฟังไร้สาย ที่พยายามใส่ของดีของเทคโนโลยีที่จำเป็น ในหน้าตาที่ทุกคนรู้สึกใช้ง่าย ใช้ได้ทุกวัน และราคาที่ไม่ถูก ไม่แพง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับ และเมื่อได้ลองด้วยตัวเอง แล้วมาเล่าให้ทุกคนได้อ่าน ผมก็พอจะแนะนำได้ว่า นี่คือตัวเลือกที่จะสมานฉันท์มือถือ Android กับ iOS ที่ใช้งานอยู่ในกระเป๋าเดียวกัน ให้ใช้งานหูฟังเดียวกันได้ โดยที่หูฟังตลับเดียวนี้ เสียงดีพอที่จะฟังเพลง ดูภาพยนตร์ ใช้คุยโทรศัพท์ ประชุม และอยู่ครบ จบวันได้แน่นอน
Disclaimer: บทความนี้ ทดสอบกับ Huawei FreeBuds 4 ซอฟท์แวร์ V.1.9.200 ใช้ร่วมกับ iPhone 12 Pro ซอฟท์แวร์ iOS 14.7.1 และ Samsung Galaxy S21 Ultra ซอฟท์แวร์ Android 11