ลองแล้วเล่า

ลอง(นิดหน่อย)แล้วเล่า : Samsung QLED “ก้าวต่อไปที่ “ใช่” ของ Samsung TV”

น่าจะไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว ที่ทุกบ้านได้ใช้โทรทัศน์จอแบน บาง ประหยัดที่วาง เทคโนโลยีจอภาพก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสีสัน ความสะเอียด การแสดงผล และต่อยอดมาถึง Smart TV ที่ผนวกระบบปฎิบัติการเข้าไปกับโทรทัศน์ เพื่อให้เข้าถึงโลกออกไลน์จากโทรทัศน์ได้โดยตรง แบรนด์โทรทัศน์เจ้าใหญ่อย่าง Samsung ก็เป็นอีกเจ้าที่นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตลาดและลูกค้าของตัวเองเสมอมา โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา Samsung เปิดตัว QLED TV ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสไป และวันนี้ก็มาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

ขาย TV อย่างไรในวันที่ตลาดอิ่มตัวแล้ว?

เรื่องท้าทายที่สุดของตลาด TV ตอนนี้ คือทำอย่างไรให้คนซื้อเครื่องใหม่ ในวันที่ TV มีทุกบ้าน ทุกห้อง ไม่ว่าจะบ้านหลังหลัก หลังรองลงไปอย่าง คอนโดฯ บ้านพักตากอากาศฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีต TV เปรียบเสมือนหน้าต่างที่รวมทุกอย่าง แต่เมื่อโลกของ Smartphone / Tablet และ Device พกพาที่เข้าถึง Content ในโลกออนไลน์ แย่งความสนใจของคนจากจอ TV มาที่จออื่น ๆ แทน

ความสามารถใหม่ ๆ คือจุดขายสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจซื้อ TV เครื่องใหม่

Samsung บอกว่า ผู้บริโภคถามหา Smart TV มากขึ้น เนื่องจากความต้องการเข้าถึง Internet โดยตรงจาก TV แต่ก็ไม่ทิ้งปัจจัยการพิจารณาเรื่องความสวยงามของหน้าจอ การออกแบบ ฯลฯ เช่นกัน การเปิดตัว QLED สำหรับ Samsung แล้ว เป็นก้าวสำคัญในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดเช่นกัน

QLED คืออะไร?

เทคโนโลยี QLED ที่ Samsung นำเสนอ คือการเพิ่มความแน่นของเม็ดสีในจอภาพ โดยเทคโนโลยี Quantum Dot ทำสีทุกเฉดที่นำเสนอ ไม่ว่าจะสภาพแสงที่สว่าง ก็ไม่ซีด สภาพแสงที่มืด ก็จมลึกได้มิติ เสริมด้วยเทคโนโลยี HDR ที่สว่างระดับ 2,000 nits (แรงเทียน) ทำให้ดึงรายละเอียดภาพออกมาได้ครบขณะที่แสดงผล วัถตุกับฉากที่สีดูกลมกลืนกัน ก็สามารถแยกรายละเอียดได้ชัดเจนเช่นกัน ในขณะที่มุมมองหน้าจอทำได้ถึง 180 องศา

สีที่สมจริงขึ้น ความคมชัดที่ดีขึ้น คือจุดขายของ QLED 

เมื่อลองดูด้วยตัวเอง หน้าจอ QLED ให้การแสดงผลที่แม่นยำกว่า รายละเอียดดีกว่า เมื่อเทียบกับหน้าจอ LED แบบปกติที่ไม่ใช้เทคโนโลยีนี้ เรียกว่าถ้าได้ดูสักรอบ จะติดใจในความสมจริงมากขึ้นเมื่อเทียบกับ TV เครื่องเก่าแบบ LED ที่เราใช้กันอยู่แน่นอน

OLED ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

เทคโนโลยีจอแบบ OLED ที่บางค่ายใช้กัน Samsung ออกมาเสริมถึงเรื่องนี้ว่า มีการพัฒนาในห้องทดลองของบริษัท แต่ตัดสินใจว่าจะไม่นำมาใช้ทำ TV เพราะหน้าจอมีอาการแสดงผลค้าง หากแสดงผลอะไรสักอย่างค้างไว้นาน ๆ เมื่อเปลี่ยนไปแสดงผลอย่างอื่น สิ่งที่แสดงผลก่อนหน้าจะค้างเป็นเงาทิ้งไว้ หรือที่เรียกว่า Ghost บนหน้าจอ

OLED ดีพอสำหรับการเป็นจอ Smartphone มากกว่าเป็นจอ TV 

นอกจากนี้ อายุการใช้งานของ OLED ถือว่าสั้นไปสักหน่อยกับการเป็น TV เพราะค่าเฉลี่ยนของการใช้ TV หนึ่งเครื่องอยู่ที่ 4-5 ปี ซึ่งอายุของ OLED จะแสดงผลสีได้แม่นยำที่สุดแค่ 2 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะเสื่อมสภาพและซีดลงเรื่อย ๆ ทำให้จอ OLED เหมาะแค่กับการใช้กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอายุการใช้งานเฉลี่ยสั้นกว่า

QLED จึงเป็นตัวเลือกที่ Samsung ย้ำว่า “ถูกต้อง” ด้วยเหตุผลเช่นนี้

TV ทั่วไป มักจะ "หน้าสวย หลังเละ" แต่ไม่ใช่กับ QLED

คำจำกัดความของปัญหาที่ Samsung บอกว่าเจอมาจากผู้ใช้ตลอดเวลาที่ผ่านมาคือ “สาย” ที่ต่อระหว่างโทรทัศน์ไปจนถึงบรรดากล่องฯ / เครื่องเล่นเกม / เครื่องเล่นแผ่น ฯลฯ มักทำให้โทรทัศน์ดูรกมาก ต่อให้จัดมาดีแค่ไหน กองสิ่งที่อยู่หลังโทรทัศน์ก็ยังเละ ยิ่งถ้าต้องถอดหรือต่อสายอะไรสักอย่างขึ้นมา ความเละของด้านหลัง คืออุปสรรคของการใช้งานโดยแท้จริง

Samsung QLED จึงออกแบบ Conection Box กล่องสำหรับเอาทุกอย่างมาเชื่อมต่อ แล้วให้สัญญาณของทุกอุปกรณ์ที่ใช้งาน วิ่งเข้าไปที่ TV ผ่านเคเบิ้ลเส้นเดียว ทำให้การวาง TV เหมือนเฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้ ไม่ว่าจะแขวนผนังโดยชิดกับผนังไปเลย หรือจะขาตั้งแต่กรอบรูป ขาตั้งแบบหมุมได้ฝั่งละ 35 องศา ทำให้ต่อจากนี้ การวางโทรทัศน์ แล้วสวยกลมกลืนกับบ้าน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

สายเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับ TV คือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการใช้งาน TV 

ถึงจะไม่ใช่ของใหม่ล่าสุด แต่ก็เป็นของที่ทำมาด้วยแนวคิดที่ดี สายเคเบิ้ลของจริงบางมาก บางจนไม่ควรเผลอเตะหรือปล่อยน้องหมา น้องแมวที่บ้านไปยุ่งด้วยเด็ดขาด ด้วยความที่สายเป็นสีขาว ทำให้ดูกลมกลืนกับกับการทำบ้านโทนสีอ่อน แต่ถ้าใช้กับผนังสีเข้มก็ไม่แย่เช่นกัน และตัวกล่อง Connection Box ทำมาให้ชวนออกแบบที่เก็บอุปกรณ์เหล่านี้แบบเป็นตู้ซ่อนต่างหากไปเลย ถ้าอยากต่ออะไรเพิ่ม เปิดตู้แล้วเชื่อมต่อเอาทีหลัง ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาให้ TV ดูดีทั้งหน้าและหลังได้ดีทีเดียว

ลาก่อนตระกร้ารีโมท

เมื่อจับทุกอย่างเชื่อมกับ TV ได้แล้ว รีโมทของ Samsung QLED ก็ออกแบบมาเป็นรีโมทอันเดียว กดใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ เพราะสัญญาณของรีโมท เชื่อมตรงและส่งคำสั่งจาก TV ผ่านสายเคเบิ้ลเส้นเดียว ไปหาอุปกรณ์ที่เราเชื่อมต่อเก็บไว้ใน Connection Box ฉะนั้นแล้ว แค่หยิบรีโมท TV อันเดียว ก็สามารถควบคุมทุกอย่างได้ และรองรับคำสั่งเสียงเช่นกัน

ลดความยุ่งยากด้วยรีโมทอันเดียว

รีโมททรงยาวแนวเดียวกับ Apple TV รีโมท มีน้ำหนักที่ไม่หนักและเบาเกินไป ความหนาพอดีมือ ไม่บางเกินหรือหนาเกินไป แต่ด้วยความที่วัสดุเป็นผิวโลหะ อาจมีลื่นมือ หรือถ้าวางในห้องแอร์เย็นจัดๆ หยิบครั้งแรกอาจจะเย็นมือพอสมควรก็ได้ น้ำหนักปุ่มบนรีโมท ถือว่าใช้ได้ อาจปรับให้นุ่มกว่านี้นิด ๆ จะลงตัวเลย แต่สิ่งที่ชวนงงสุดในการใช้งานครั้งแรกคือ “ปุ่มปรับเสียง” เพราะหน้าตาของมันเป็นปุ่มเงิน ๆ ยาว ๆ ที่พอกดลงไป กลายเป็นเปิด หรือปิดเสียง ซึ่งที่จริงแล้ว ต้องโยกขึ้นหรือลงเพื่อเพิ่มหรือลดเสียง อันนี้ถ้ามองในแง่ User ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย รีโมทตัวนี้ อาจต้องมีการเรียนรู้สึกพัก แล้วจะใช้งานได้แน่นอน

ส่งท้าย

ถึงการเปิดตัว QLED TV จะใหม่ที่สุดสำหรับ Samsung ในแง่ของหน้าจอ แต่องค์ประกอบทั้งหมด ก็ทำให้ QLED เป็น TV รุ่นล่าสุดที่น่าสนใจสำหรับตัวเลือกในตลาดระดับบน และในอนาคตต่อจากนี้ไม่กี่ปี หน้าจอ QLED ก็น่าจะเป็นมาตราฐานของ TV จาก Samsung ในรุ่นอื่นที่ราคาย่อมเยากว่านี้เช่นกัน

อีกเรื่องที่น่าติดตามกันยาว ๆ คือเรื่อง OLED ที่ Samsung เล่าถึงเหตุผลที่เป็นข้อจำกัดของมัน อันนี้คงต้องให้กาลเวลาพิสูจน์เองว่า แบรนด์ที่เลือกใช้ OLED สามารถทำได้เหนือข้อจำกัดที่ Samsung อ้างถึงได้แค่ไหน

เพราะตลาด TV ในวันที่ “กำลังซื้ออิ่มตัว” ต้องแข่งกันที่นวัตกรรมล้วน ๆ

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^