เมื่อพูดถึง Huawei นี่คือบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่เชื่อว่าหลายคนคุ้นหูจาก Smartphone หรือถ้าติดตามกันพอสมควร จะรู้ว่านี่คือผู้รับเหมาด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก แต่อีกด้านสำคัญของ Huawei ที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น คือการคิดค้นนวัตกรรมที่ใช้งานร่วมกับสังคม หรือใช้งานกับวงการเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งแกดกวนลองแล้วเล่าครั้งนี้ ได้ไปชมศูนย์นวัตกรรมของ Huawei แห่งแรกของประเทศไทย นั่นคือ Huawei Openlab Bangkok ที่อาคารจีทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก
สำหรับศูนย์นวัตกรรมของ Huawei แห่งนี้ เป็นเมืองที่ 7 ต่อจาก ซูโจว / เม็กซิโก ซิตี้ / มิวนิค / สิงคโปร์ / โจฮันเนสเบิร์ก และดูไบ โดยหลักการแล้ว Huawei จะมีสิ่งที่คิดค้นเพื่อความเหมาะสมของประเทศที่ตั้ง หรือในย่านนั้น ๆ เพื่อนำเอาความรู้ที่ค้นคว้านี้ แบ่งปันผ่านระบบ Cloud ไปให้ศูนย์วิจัยอื่นนำไปใช้หรือต่อยอดกับงานวิจัยของศูนย์อื่นได้เช่นกัน สำหรับศูนย์นวัตกรรม Huawei ในกรุงเทพฯ จะค้นคว้าเรื่อง Smart City กับ Smart Grid เป็นหัวใจหลัก
Smart City / Smart Grid ที่ Huawei ค้นคว้า คืออะไร?
เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ มีปัญหาด้านการจัดการในหลายส่วน สิ่งที่ Huawei นำมาพัฒนาเพื่อเอาไปใช้ต่อกับความเป็นเมืองใหญ่ คือการนำ Sensor แบบ NB-IoT ที่ส่งข้อมูลผ่าน Mobile Data มาเก็บข้อมูลสำคัญ ๆ ซึ่งทาง Huawei นำมาใช้กับเมืองใหญ่ที่อื่นแล้ว โดยในครั้งนี้ Huawei นำตัวอย่างเมืองอย่างกรุงปักกิ่งมาโชว์ให้ดูว่า Sensor เหล่านี้ สามารถแสดงข้อมูลปัจจุบันในเวลาที่ต้องการดูได้เลยว่า อาคารในย่านนั้นมีการใช้พลังงานแค่ไหน / การจราจรหนาแน่น มีความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร / มลพิษในแต่ละจุดมีมากน้อยแค่ไหน / สภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ในเวลานั้น ๆ รวมถึงหากเกิดสภาพธรรมขาติที่ไม่ปกติ สามารถวางแผนได้ทันท่วงที
ระบบนี้ Smart City ที่ส่งข้อมูลจาก NB-IoT นี้ ช่วยให้การวางแผนจัดการเมืองใหญ่ในแง่มุมต่าง ๆ สามารถทำได้สะดวกขึ้น เก็บข้อมูลได้แม่นยำ ในขณะที่ลดต้นทุนการสำรวจหรือข้อมูลที่คาดเคลื่อนได้ ซึ่งทาง Huawei เองก็คาดหวังว่าจะทำให้เมืองใหญ่ในไทยมีการจัดการที่ดีขึ้นจากนวัตกรรมดังกล่าว
นวัตกรรมชิ้นที่สองที่ Huawei พาไปดู คือระบบจัดการใช้ไฟฟ้าซึ่งทำร่วมกับ PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยตอนนี้อยู่ในขั้นทดสอบอยู่ คือการนำมิตเตอร์ไฟฟ้าที่สามารถต่อตรงกับส่วนกลาง เพื่อดูสถานะว่า ใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ คาดเดาการใช้งานไฟฟ้า ส่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินออกขายต่อได้ เห็นปัญหาขัดข้องได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้แจ้งเข้ามา ซึ่งระบบมิตเตอร์ไฟฟ้าแบบนี้ ใช้เทคโนโลยี NB-IoT เช่นกัน และอยู่ในแผนพัฒนาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งน่าจะได้เริ่มลองใช้จริงประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2017 นี้
อย่างสุดท้ายที่ Huawei พาไปดู นั่นคือระบบ “City Safety” ทำร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยบ้าน อาคาร ที่วางระบบรักษาความปลอดภัย สามารถเชื่อมอุปกรณ์เข้ากับสถานีตำรวจท้องที่นั้นได้โดยตรง เปลี่ยนระบบสื่อสารระหว่างตำรวจเป็นแบบ eLTE ซึ่งเป็นวิทยุสื่อสารที่ทำงานบน LTE ไม่ใช่บนคลื่นวิทยุแบบเก่า ทำให้โอากาสคนนอกจูนคลื่นมาดักฟังยากขึ้น และนำโดรนติดกล้อง เพื่อตรวจตราจากบนอากาศ โดยระบบ City Safety ยังอยู่ในขั้นการวิจัยอยู่ น่าจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในเร็ววันนี้
มากกว่าคิดนวัตกรรม แต่มอบโอกาสให้กับทุกวงการ
Huawei มีแผนจะเปิด Openlab อีก 7 แห่งทั่วโลกจากนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็น Openlab ที่ทำงานครอบคลุมไปถึงบางประเทศในเอเชียภูมิภาคอื่นด้วย นอกจากจะวิจัยนวัตกรรมตามที่เล่าไปในหัวข้อก่อนหน้า Huawei Openlab ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในปรเทศไทย โดยเชื่อมต่อระบบ Cloud จาก Openlab โดยตรงเพื่อให้นำองค์ความรู้ที่ Huawei วิจัย มาใช้เพื่อการศึกษาหรือทำโปรเจคต่าง ๆ ร่วมกันในอนาคตได้ หรือการส่งเสริม Startup IT ที่ Huawei ตั้งเป้าว่าจะฝึกอบรบให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20 รายต่อปี อบรมบุคลากรด้าน IT ไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี
ส่งท้าย
การไปดูศูนย์พัฒนานวัตกรรมของ Huawei ถ้ากับคนทั่วไปแล้ว มันดูเป็นเรื่องไกลตัวในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่กำลังวิจัยใน Openlab นี้ผมได้แต่หวังให้มันถูกนำมาใช้งานจริงเร็ววันนี้เพราะการพัฒนาโครงสร้งพื้นฐานในประเทศไทยถือเป็นอีกเรื่องที่ถูกละเลยไปมากพอสมควรการนำนวัตกรรมมาใช้แทนข้อจำกัดเก่าๆจะเป็นผลดีกับทุกองค์ประกอบของประเทศและเชื่อได้เลยว่าเมื่อทุกอย่างดีขึ้นด้วยนวัตกรรมประเทศก็จะก้าวหน้าเร็วขึ้นเช่นกันครับ
ผมและทีมงานเองก็รอเห็นสิ่งดี ๆ ในอนาคตเช่นกันครับ ^^