ลองแล้วเล่า

ลอง(นิดหน่อย)แล้วเล่า : Samsung Fl!P “กระดานเดียว ปิดดีลทุกไอเดีย”

เมื่องาน CES2018 ที่ผ่านมา Samsung ใช้งานนี้เปิดตัวอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ที่ดูแล้ว ก็ไม่แปลกที่ Samsung จะทำของแบบนี้ออกมา และด้วยส่วนตัวผมเอง ก็ไม่รุ้ด้วยว่า Samsung มีสินค้าแนวนี้ขายมาก่อนแล้วด้วย สินค้าที่ว่านั่นก็คือป้ายโฆษณากับกระดานดำดิจิตอล

ผ่านมานานหลายเดือน วันนี้ผมก็ยังนั่ง ง่วง ๆ งง ๆ อยู่ในห้องประชุมเปิดตัว Samsung Fl!P อยู่ดี แต่อย่างน้อย เห็นตัวจริง เห็นตอนนำเสนอความสามารถ ผมก็ยิ้ม ๆ นิดนึงว่าเออ เข้าท่าเหมือนกันอยู่

กระดานดิจิตอลราคาแสนกว่าบาทมีอะไรที่ทำให้ผมยิ้มได้ผมจะเล่าให้ฟังครับ

 

 

เรื่องจอทุกแนว เราเป็นเจ้าตลาด

ก่อนจะเล่าเรื่อง Fl!P ต้องเท้าความไปเล็กน้อยว่า ในยุคที่ดิจิตอล การทำงานที่ต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด การใช้อุปกรณ์แบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ตลาดหน้าจอเพื่อการโฆษณา / ธุรกิจ / การประชุมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆเพราะทิศทางการโฆษณานอกสถานที่ก็ใช้วีดีโอเล่าเรื่องแทนป้ายภาพนิ่งการแสดงข้อมูลสินค้าอาหารก็เป็นภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้ดูดึงดูดขึ้นและการประชุมการเรียนหนังสือมีมิติมากขึ้นสะดวกมากขึ้น

Samsung บอกว่า ในไทยนั้น ตลาดของหน้าจอแนว Signage Screen เป็นอันดับหนึ่ง ผู้ประกอบการโฆษณา / ร้านค้า / ร้านอาหารเจ้าดัง ๆ / โรงเรียน / มหาวิทยาลัย ต่างก็เลือกใช้หน้าจอของ Samsung กัน

และด้วยความมั่นใจนี้เอง ทำให้ Samsung ประเทศไทยสั่ง Samsung F!lP มาขายในไทยเช่นกัน

 

สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ ของห้องประชุมแสนวุ่นวาย

ปัญหาเดิม ๆ ของการประชุมงาน หรือการใช้กระดานดำแบบเดิม ๆ คือการที่กระดานเหล่านี้ ไม่ยืดหยุ่นต่อการใช้งานเยอะ ๆ เอาไปใช้ต่อก็ไม่ได้ (ถ้าไม่ถ่ายรูปเก็บเอา) ความไม่สะดวกในแบบเดิม ๆ ทำให้ Samsung สร้าง Fl!p กระดานดำแบบดิจิตอล ขนาดใหญ่ 55 นิ้ว เป็นจอสัมผัสแบบ LED ใช้งานทั้งแนวตั้งและแนวนอนได้รองรับการแชร์ข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นหรือประชุมเสร็จสิ่งที่อยู่ในกระดานสามารถแชร์ต่อให้ผู้ร่วมประชุมได้ง่าย

ฉะนั้นแล้ว Fl!P จึงสร้างมาให้ใช้งานแบบกระดานดำ แต่ทำลายทุกข้อจำกัดของกระดานดำแบบเดิม ๆ นั่นเอง

 

ความสามารถของ Fl!P เมื่อใช้จริงคร่าว ๆ

ก่อนอื่นเลย เมื่อได้เห็นตัวกระดาน Fl!P ครั้งแรก โอเค มันคือการนำโทรทัศน์ LED มาทำเป็นจอนั่นแหละ ทรงของกรอบหน้าจอ คล้าย ๆ กับโทรทัศน์ตระกูล Frame ในขณะที่งานประกอบตัวเครื่อง ขา ให้ความแน่นหนาที่ดูมั่งคงอยู่พอสมควร น้ำหนักของจอในการหมุน (หมุนไปทางขวาเท่านั้น) ให้น้ำหนักที่กำลังดีไม่หนักมากจนคุณสุภาพสตรีตัวเล็กๆ รู้สึกหนักจนเกินไปและไม่เบาจนรู้สึกว่าประกอบมาไม่ดีในขณะที่ตัวขาเลื่อนเวลาย้ายที่ใช้งานอาจจะหนักไปนิดสำหรับสุภาพสตรีตัวเล็กๆแต่ก็ไม่หนักเกินไปที่จะค่อยๆลากมันไป

วิธีใช้งานง่ายมาก เสียบปลั๊ก กดเปิดเครื่องที่อยู่ตรงฐานวางปากกาค้างไว้สักครู่ เมื่อจอติดขึ้น รอแค่ 5 วินาทีโดยประมาณ หน้าจอขาว ๆ พร้อมเขียนก็จะแสดงขึ้น (สลับเป็นสีดำก็ได้) โดยหน้าจอนี้ สามารถเขียน / ระบาย / จับหน้าจอมาทำต่ออีกไฟล์ได้โดยการเขียนสามารถใช้ตัวปากกาหัวไม้ที่ให้มาด้านที่มนจะไว้ขีดเขียนด้านที่บานไว้ระบายโดยที่การลบออกเพียงแค่เอาฝ่ามือถูออกได้เลย

เมื่อลองใช้งานคร่าวๆการขีดเขียนทำได้ดีมีหน่วงไม่ทันไปหน่อยแต่ก็ไม่น่าเกลียดหรือดูชัดเจนนักสิ่งที่น่าขัดใจเล็กน้อยคือระบบการวางมือตอนเขียนถ้าเอาสันฝ่ามือวางทั้งจอแล้วเขียนซึ่งเป็นท่าที่สบายสุดในการเขียนแบบแนวตั้งจะเขียนไม่ติดและหน้าจอเปื้อนแทนแต่ถ้าวางแค่นิ้วแล้วเหลือสันฝ่ามือไว้หน่อยจะเขียนได้ตามปกติซึ่งถ้าแก้ให้ระบบการวางมือแม่นยำกว่านี้จะใช้งานได้สะดวกแน่นอน

อีกความสามารถที่ได้เล่นแล้วชอบมาก คือการแชร์หน้าจอจาก Smartphone ที่รองรับความสามารถ Wi-Fi Direct สามารถส่งจอขึ้นไปบน Fl!P ได้เลย และสามารถเล่นเครื่องแบบสัมผัสจอ Fl!P ได้เลย เพียงแต่ห้ามดับจอตัวมือถือเท่านั้น ซึ่งการส่งขึ้นไป ทำได้ไวและเสถียรใช้ได้ แต่ถ้าเอามาเพื่อเล่นภาพเคลื่อนไหวหรือเกม อาจจะกระตุกไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของการส่งหน้าจอผ่าน Wi-Fi ระหว่างอุปกรณ์กัน

และหากไม่มีการใช้งานเกิน 2 ชั่วโมงหน้าจอจะดับตัวเองและไฟล์ที่มีการเขียนทิ้งไว้จะถูกบันทึกให้อัตโนมัติ

 

สรุป มันทำอะไรต่อได้มากกว่านี้อีก

เอาจริง ๆ กระดานที่มีแค่เขียน ๆ แบบ Samsung Fl!P ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีมากเลยนะ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันมีอะไรหลายอย่างที่ ใช้แล้วน่าจะทำนั่น นี่ได้อีกนะและถ้าทำได้มันจะสมบูรณ์ลงตัวเลยทีเดียว

ถ้าถามว่า 129,000 บาท น่าลงทุนไหม? ก็คงต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า รูปแบบการใช้งานที่ Fl!P ทำได้ตรงกับการใช้งานหรือไม่ติดความเป็นธรรมชาติของการใช้ปากกาเมจิเขียนจอหรือเปล่าฯลฯ

จะไปลองเต็ม ๆ มาเล่าให้ทีหลังนะครับ ทีมงานจะจองคิวเครื่องแล้วลองให้เต็ม ๆ ในเร็ว ๆ นี้นะครับ^^

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)