ลองแล้วเล่า

ลองแล้วเล่า : Detroit: Become Human “เมื่อ AI ขอเรียกร้องความเป็นมนุษยชน”

เวลาเราอ่านข่าวสารในโลก IT ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย หัวข้อที่คนสนใจส่วนใหญ่ นอกจากเรื่องอุปกรณ์หรือ Gadget ใหม่ ๆ แล้ว ในยุค 2018 นี้ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเรื่อง Machine Learning เป็นอีกกลุ่มหัวข้อที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะ AI และ ML ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ และถ้า AI มาถึงจุดที่สามารถสื่อสารและแสดงอารมณ์กับมนุษย์ได้แบบเดียวกับที่เวลาคนปกติคุยกัน มันจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ต่อไป?

ย้อนกลับไปช่วงปี 2012 เราได้เห็น Tech Demo ตัวหนึ่งของ PlayStation 3 ที่โชว์แนวคิดของโลกยุคอนาคตที่ AI พัฒนาไปไกลจนถึงขั้นที่สามารถพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ขึ้นมาได้จริง ๆ ครั้งนั้นแนวนิดนี้เป็นเพียงแค่ Demo ที่โชว์ประสิทธิภาพที่แท้จริงของ PS3 แต่มันก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้พัฒนาเป็นเกมออกมาจริง ๆ จนออกมาเป็น Detroit: Become Human เกมยอดฮิตติดลมบนของ พ.ศ. นี้

ผมเองก็ติดตามเกมนี้มาตั้งแต่สมัยเปิดตัวที่งาน E3 ปี 2016 และเห็นว่าแนวคิดน่าสนใจมาก ในวันที่เกมวางขาย ก็ไม่รอช้าจัดเอามาเล่นให้หนำใจก่อนมาเขียนเป็น “ลองแล้วเล่า” ในครั้งนี้ แนวคิดที่ว่าจะอันตรายขนาดไหน เราลองมาดูกันต่อดีกว่าว่าเหตุการณ์ที่เกมสมมติขึ้นมานั้น จะส่งผล หรือ “เป็นคำเตือน” อะไรให้กับโลกในยุคปัจจุบันกันบ้าง

เนื้อเรื่องแบบย่อๆ

เนื้อเรื่องเล่าไปในยุคปี 2038 (20 ปีให้หลัง นับจากปี 2018) โดยใช้เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นฉากหลัก ยุคนี้ยังเป็นยุคที่สภาพบ้านเมืองไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าไหร่นัก แต่ที่ต่างออกไปคือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในยุคนั้น เติบโตขึ้นไปไกลมาก ถึงขั้นที่สามารถพัฒนาออกมาเป็นหุ่นยนต์เพื่อใช้งานได้จริง โดย Cyberlife เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยี AI และ Android ที่กำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้ (สภาพบริษัทฯ คล้าย ๆ Google นั่นแหละครับ)

Android ในยุคนี้ สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ทุก ๆ อย่าง และสามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้เต็ม 100% ปี 2038 จึงเป็นปีที่คนชั้นกลาง และคนยากคนจน จะไร้งานทำทั้งหมด ก่อให้เกิดการต่อต้านการพัฒนาและใช้ Android ขึ้น ครอบครัวที่ใช้ Android จะถูกสังคมดูถูกและเหยียดหยามว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้มนุษยชาติสิ้นอำนาจลง และอำนาจทั้งหมดก็จะถูกบัญญัติใหม่โดย Android ที่มนุษย์เป็นคนพัฒนาขึ้นเอง

เราจะได้รับบทเป็น Android 3 ตัว 3 บทบาท คือ Markus (รับบทโดย Jeese Williams นักแสดงและนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนชื่อดัง) หุ่นยนต์ดูแลคนไข้ของศิลปินชื่อดัง, Kara (รับบทโดย Valorie Curry) หุ่นยนต์แม่บ้านธรรมดา ๆ ตัวหนึ่ง และ Connor (รับบทโดย Brian Dechart นักแสดงชื่อดังจากซีรีส์ True Blood) หุ่นยนต์สืบสวนต้นแบบที่รัฐบาลสั่งให้ Cyberlife พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้แทนเจ้าหน้าที่ตำรวจในอนาคต

ตัวละครทั้งสามตัวนี้จะมีจุดเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด และเนื้อเรื่องหลังจากนี้จะไม่ตายตัวอีกต่อไป เพราะนี่คือจุดเด่นใหญ่ที่สุดของเกมนี้ นั่นคือ “ผู้เล่น” จะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครเหล่านี้ และทุกการกระทำของผู้เล่นหลังจากนี้ จะเปลี่ยนเรื่องราวของเกมได้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง

เนื้อเรื่องที่ไม่ตายตัว แต่มีเส้นบาง ๆ บังคับไว้

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าเกมนี้เป็นเกมที่เนื้อเรื่องของเกมไม่ได้ตายตัว ทุกการกระทำของผู้เล่นสามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องของตัวเกมได้ทั้งหมด การตัดสินใจที่พลาดแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว ก็สามารถพลิกเนื้อเรื่องส่วนหลังของเกมได้ทั้งหมดเลย แล้วคำถามคือ เกมสามารถทำแบบนี้ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ ตัวเกมจะมีระบบที่ชื่อว่า Flowchart ซึ่งเป็นระบบที่จะแยกเนื้อเรื่องในแต่ละภารกิจออกเป็นส่วน ๆ และทุกส่วนล้วนมีความสัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด การที่เราเลือกผิดแม้แต่ตัวเลือกเดียว แม้จะมีโอกาสเล็กน้อยที่ทำให้เนื้อเรื่องเป็นไปตามความต้องการของเราได้ แต่ส่วนใหญ่เนื้อเรื่องล้วนเปลี่ยนไป ไม่ดีก็ร้ายได้เลย

และที่สำคัญคือเราสามารถดูสถิติของเพื่อนที่เล่นเกมนี้ได้ด้วยว่าเพื่อนของเราเลือกไปทางไหนมากที่สุด โดยเปอร์เซนต์ที่นำมาคิด จะเป็น Trigger ครั้งแรกที่เข้าถึง Event ครั้งนั้น เช่น จากภาพด้านบน ผมเลือกใช้ปืนยิง Android ให้ตกตึกไป ตัวเกมก็จะเก็บ Event นี้เอาไว้เป็น Trigger แรกที่เราสามารถเข้าถึงได้เป็นต้น

แต่ข้อเสียอย่างแรงของระบบนี้ คือการมี Flowchart ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าถ้าเราพลิกสถานการณ์จุดนี้ ก็ทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนได้ และที่สำคัญคือเราจะรู้ว่าในแต่ละภารกิจมีจุดจบทั้งหมดกี่แบบ แม้ข้อดีคือทำให้เราอยากรู้ว่าจุดจบแบบที่ต่างออกไปนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็นั่นแหละครับ ความรู้สึกก็เหมือน ๆ กับถูกสปอยหนังมาแล้ว และมันก็เลยเกิดคำถามย้อนกลับมาว่า แล้วเราจะเล่นอีกเพื่อรู้เนื้อเรื่องส่วนนั้นทำไม? (ถ้าไม่ใช่เพื่อการสะสมถ้วย Trophy?)

อีกจุดที่ทำให้เนื้อเรื่องสามารถเปลี่ยนได้ ก็คือการกระทำของเราต่อตัวละครทั้ง 3 ตัว ตามเนื้อเรื่องของเกม Android ในเกมนี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมดสองประเภท คือ Android ที่เป็น Machine คือรับคำสั่ง ประมวลผล และปฏิบัติตาม กับ Android ที่เป็น Devient คือ Android ที่มีอารมณ์ มีจิตใต้สำนึกเป็นของตัวเอง และพร้อมแหกทุกกฎของโลก Android สำหรับ 3 ตัวละครหลักนั้น Markus จะถูกแกนเรื่องบังคับให้เป็น Devient ในตอนต้นเกมอยู่แล้ว  Kara เองก็สามารถเลือกได้ว่าจะเป็น Devient หรือ Machine แต่จุดที่สำคัญคือ Connor เราจะได้เล่น Connor ในฐานะ Machine แต่การกระทำของเรากับ Connor จะมีสิ่งที่เรียกว่า “Software Instability” หรือซอฟต์แวร์ไม่เสถียรเกิดขึ้น ถ้าเราเล่น Connor ที่รับคำสั่งมาประมวลผลตลอด ความเสถียรก็จะคงที่ แต่ถ้าเราเล่นให้ Connor รู้สึกสับสนทางอารมณ์ ในช่วงท้ายเราก็จะสามารถเปลี่ยน Connor ให้กลายเป็น Devient ได้ ทั้งสองตัวเลือกนี้ล้วนส่งผลต่อเนื้อเรื่องท้ายเกมแทบทั้งสิ้น

เมื่อค่าความไม่เสถียรถึงระดับที่กำหนด Connor ก็เป็น Devient ได้

ไม่ใช่แค่เรื่อง คุณ "ก็ชี้เป็นตาย" ให้สังคมได้

เรื่องของ Detroit: Become Human ไม่ใช่แค่เรื่องของ Android เพียงสามตัวเท่านั้น แต่เนื้อเรื่องหลักช่วงท้ายอันเป็นที่มาของหัวเรื่องของลองแล้วเล่าในครั้งนี้ คือการที่เนื้อเรื่องของเกม จะเป็นเรื่องของการ “เรียกร้องอิสรภาพและสิทธิมนุษยชนของ Android” ปลดแอก Android จากการเป็นเครื่องมือและเครื่องรับแรงกดดันของมนุษย์ และให้ Android เป็นอิสระและมีอำนาจทางประชาธิปไตยเฉกเช่นกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป

เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิง แต่มันมีทฤษฎีสนับสนุนที่ว่าโลกของเทคโนโลยีจะเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวทุก ๆ สองปี และเมื่อย้อนกลับไป เราก็เห็นกันมาแล้วว่าโลกของ IT มันเติบโตขึ้นทุก ๆ สองเท่าจริง ๆ เอาเรื่องใกล้ ๆ ตัวอย่าง iPhone เราเห็นรุ่นใหม่ Apple ก็เทียบกับรุ่นที่แล้วว่าดีขึ้นเป็นเท่าตัวตลอด และนับประสาอะไรกับ AI ที่นับวันยิ่งเก่งกาจเป็นทวีคูณ ล่าสุดในงาน Google I/O 2018 เราก็เห็นความสามารถของ AI ที่ Google พัฒนาให้ถึงขั้นที่สามารถสื่อสารและใส่อารมณ์กับคนจริง ๆ ได้ แค่นี้เราก็นึกภาพออกแล้วว่า โลกในอนาคตที่ AI มีบทบาทในทุกภาคส่วนนั้น มันน่ากลัวขนาดไหน?

ย้อนกลับมาที่เกม ตลอดเวลาที่เราอยู่ในเกมนี้ เราจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับบุคคลและตัวละครรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง แต่ในช่วงท้าย ๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิสัมพันธ์กับสังคม” เกิดขึ้น ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น สังคมรับได้หรือไม่ และสังคมพร้อมที่จะเปิดใจให้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นหรือเปล่า? แล้วถ้ามันเกิดขึ้น มันจะส่งผลอย่างไรกับสังคมต่อไป?

คำถามทั้งหมดคงไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง ถ้าเราเลือกแนวทางที่เป็นสันติวิธี พูดคุยด้วยเหตุผล เรียกร้องด้วยความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราก็สามารถกำหนดชะตาของสังคมให้คล้อยตามเราได้ แต่หากเราเดินทางสายที่ต้องการปฏิวัติ ใช้ความรุนแรงเข้าใส่ สังคมก็เลือกปฏิบัติให้เราเป็นศัตรูของมนุษยชาติได้เช่นเดียวกัน

ในเกมจะมีสิ่งที่เรียกว่า Public Opinion หรือความเห็นของส่วนรวม เกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ นั่นคือสิ่งที่เราทำลงไป สังคมเห็นดีงามกับเราด้วยหรือไม่ โดยจะเริ่มจากความสับสนและหวาดระแวง (เพราะเราเล่นแฮคระบบถ่ายถอดสดของสถานีโทรทัศน์มาเรียกร้องสิทธิ) ถ้าเราเลือกดำเนินเนื้อเรื่องด้วยสันติวิธีมาตลอด ความเห็นของส่วนรวมก็สามารถแปรเปลี่ยนให้มาอยู่ข้างเราได้ แต่ถ้าเราเลือกเป็นศัตรูเมื่อใด ความเห็นของส่วนรวมก็สามารถแปรพักตร์เป็นศัตรูได้เช่นเดียวกัน

ส่งท้าย

ผมเชื่อว่าหลายคนไม่ได้มองเกมนี้ไว้ในสายตาตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพราะด้วยชื่อของ Quantic Dream ที่เน้นเกมแนวเล่าเรื่องแบบเล่าไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีฉากแอคชันที่หวือหวาน่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่พอถึงวันวางขายจริง เกมนี้กลับได้กระแสที่ดีมาก ถือได้ว่าเป็นเกมน้ำดีม้ามืดที่สร้างสีสันในช่วงกลางปีได้ดีพอสมควร ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น บวกกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และเราสามารถเข้าถึงเรื่องได้จริง ๆ เลยทำให้เกมนี้ขาดตลาดไปนานพอสมควรในช่วงแรกที่วางจำหน่าย ผมเองกว่าจะได้แผ่นมาเล่นก็ต้องรอจนกว่าล็อตสองวางจำหน่ายแล้ว ถึงจะได้มา

ยอมรับว่าเล่นเกมนี้วนไปนานพอสมควรกว่าจะได้มาเขียนเป็น “ลองแล้วเล่า” ให้ได้อ่านในครั้งนี้ ความรู้สึกของผมคงไม่มีอะไรมาก นอกจากกำลังดูหนังชั้นดีที่เล่าเรื่องในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้ ใช่ครับผมใช้คำไม่ผิด 20 ปี ฟังดูเผิน ๆ เหมือนจะนาน แต่เอาจริง ๆ เวลามันผ่านไปเร็วมากจนไม่ทันได้ตั้งตัว และมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาให้เราได้ตื่นเต้นกันอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต้องอื่นไกล ที่ผ่านมาเราเห็น AI พัฒนาไปค่อนข้างไกลพอสมควร นับจากวันแรก ๆ ที่คำว่า AI เริ่มเข้ามาในชีวิต AI ในวันนั้นยังเป็นเพียงแค่คำสั่งเล็ก ๆ ที่เข้ามาช่วยแปรผันค่าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ แต่วันนี้ เราได้เห็น AI ก้าวไปไกลมากกว่านั้น เราได้เห็น AI เล่นโกะชนะแชมป์โลกแล้ว ได้เห็น AI เอาชนะแชมป์โลก DotA 2 มาแล้ว ได้เห็นหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารกับคนจริง ๆ ได้แล้ว ได้เห็น AI ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้คาดเดาได้ว่า โลกแบบ Detroit: Become Human จะเกิดขึ้นจริง ๆ กับสังคมเราในไม่ช้า และเชื่อครับว่าถึงตอนนั้น สถานการณ์บ้านเมืองเราจะยิ่งกว่าสถานการณ์สมมติในเกมแน่นอน

อีกสิ่งที่ได้เห็นจาก Detroit: Become Human นอกจากเรื่อง AI แล้ว ก็เป็นเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติและแบ่งชนชั้น แม้ในเกมจะไม่ได้เล่าแบบละเอียด แต่ตัวละครหลักก็มีความนึกคิดเป็นของตัวเองได้เช่นเดียวกันว่า ทำไมสังคมถึงต้องแบ่งชนชั้นระหว่างคนกับ Android ภาพที่ Markus มองทั้งในช่วงที่เป็น Machine กับช่วงที่เป็น Devient ก็สามารถสื่อสารได้ดีว่า การแบ่งชนชั้นระหว่างกันนั้น ย่อมสร้างผลเสียขนาดไหน และทำไมถึงต้องมีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับ Android เกิดขึ้น

สำหรับผม เกมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่ยกขึ้นหิ้งไว้ในใจเป็นที่เรียบร้อย และเชื่อว่าคนที่ได้เล่นจริง ๆ ก็จะเก็บเกมนี้ไว้ในหิ้งเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับ Connor ที่กลายเป็น Android เบอร์ 1 ในหัวใจสาว ๆ ทั้งสาวแท้และสาวเทียมในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

38872939_217510132258240_5311840587610062848_o

ส่งท้ายถึง Connor ทั้งที เราก็เลยนำสิ่งดี ๆ มาฝากผู้อ่านทุกท่านเช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นโอกาสที่พิเศษมาก ๆ สำหรับแฟน ๆ Connor และ Detroit: Become Human ในไทยโดยเฉพาะ เพราะว่า Bryan Dechart และ Amelia Rose Blaire สองนักแสดงจาก Detroit: Become Human จะเดินทางมาร่วมเป็นแขกพิเศษที่จะมาร่วมสร้างสีสันภายในงาน PlayStation Experience 2018 South East Asia – Bangkok ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 สิงหาคมนี้ ที่ GMM Live House ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์อีกด้วย

ภายในงานนอกจากจะได้ทดลองเล่นเกมใหม่ ๆ ของ PlayStation 4 ที่จะเปิดตัวและวางจำหน่ายในครึ่งปีหลัง 2018 – ต้นปี 2019 แล้ว ภายในงานยังจะได้ Meet and Greet ร่วมกับผู้กำกับเกม และนักแสดงผู้รับบทบาทภายในเกมอีกมากมาย รวมถึงยังได้รับชมมินิคอนเสิร์ตจากวง Slot Machine และร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานรับของรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกมากมาย คนที่สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าร่วมงานได้ที่บูธ Thai Ticket Major บริเวณหน้างานได้เลย และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงาน PlayStation Experience 2018 South East Asia – Bangkok ได้ที่เฟสบุ๊ก PlayStationThai โอกาสดี ๆ แบบนี้ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ 😀

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)