ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่ง ว่าต่อให้โตมามากแค่ไหน ความฝันในวัยเด็กก็ยังเป็นสิ่งที่หอมหวานและพาคลายเครียดได้อย่างดีโดยเสมอมา โดยเฉพาะกับวัยรุ่นยุค Gen Y สมัยนั้นเป็นยุคที่ไม่ว่าอะไรก็ดูน่ารัก หอมหวานไปซะทุกอย่าง แน่นอนครับ เกมที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งความฝันอันหอมหวานที่วัยรุ่น Gen Y น่าจะรู้จักกันเกือบทุกคน เพราะภาคแรกออกตั้งแต่ปี 2002 ลากยาวด้วยภาคยิบย่อยถึง 12 ภาค แต่ภาคที่ต่อจากภาค 2 ซึ่งออกเมื่อปี 2005 เพิ่งจะมาออกให้ได้เล่นกันในปีนี้ ใช่ครับ ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั่นคือ Kingdom Hearts 3 ที่เพิ่งออกวางตลาดไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานั่นเอง
พูดถึงเกมนี้หลายคนน่าจะมองภาพออกว่าความฝันอันหอมหวานของเกมนี้มันเป็นยังไง เพราะนี่คือเกมที่เคยทำยอดขายถล่มทลายไปกว่า 4.78 ล้านชุด ติดอันดับ Top 10 เกมขายดีตลอดกาลของ PlayStation 2 วันนี้เขากลับมาอีกครั้งกับการปิดตำนานไตรภาคที่กินเวลายาวนานกว่า 17 ปี ด้วยเนื้อเรื่องที่กาวกว่าเดิม เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม แต่จบด้วยการคลายปมที่ผูกกันมาตั้งแต่เด็กจนหมดสิ้น บอกได้คำเดียวว่าคนที่ติดตามซีรีส์นี้มาตลอดก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
แต่สำหรับคนที่ไม่เคยติดตามเกมนี้เลย เชื่อว่าต้องมีคำถามว่า “แล้วฉันจะเล่นทำไม?” อยู่ในหัวแน่นอน วันนี้แกดกวนลองแล้วเล่าขออาสาพาทุกคนมาคลายข้อสงสัย มาหาคำตอบร่วมกันครับว่า ทำไมคนที่ได้เล่นแม้เพียงแค่ “เกมมือถือ” เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็หลงรักเกมซีรีส์นี้แบบหัวปักหัวปำชนิดที่ถอนตัวไม่ขึ้นกันแล้ว
ตำนานปรำปรา สู่ความปรารถนาที่อยากให้เป็น
เนื้อเรื่องโดยรวมของเกมจะกล่าวถึงตำนานปรำปราที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยอดีตกาล ว่าด้วยเรื่องของ “Kingdom Hearts” ดินแดนอันบริสุทธิ์ที่สามารถชักนำได้ด้วย χ-Blade ตามที่ใจปรารถนา การที่จะดึงเอาพลังจาก Kingdom Hearts ออกมาใช้ได้ จะต้องใช้ “คีย์เบลด” (Keyblade) ซึ่งเป็นดาบบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากพลังใจและแรงปรารถนาของเด็ก ๆ แต่พลังใจและแรงปรารถนานั้น กลับถูกครอบงำด้วยคำว่า “ความโลภ” ความโลภที่ต้องการ Kingdom Hearts มาเป็นของตน จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของโลกมนุษย์อย่าง “สงครามคีย์เบลด” ซึ่งผลจากสงครามนั้น ทำให้ χ-Blade แตกออกเป็น 20 เสี่ยง แบ่งเป็นพลังแห่งแสงสว่าง 7 เสี่ยง และพลังแห่งความมืด 13 เสี่ยง และเมื่อไร้สื่อชักนำอย่าง χ-Blade Kingdom Hearts จึงหายไปจากโลกใบนี้ตลอดกาล
เวลาผ่านล่วงเลยมาหลายร้อยปี ชายปริศนาตนหนึ่งได้ออกมากล่าวถึงโลกอนาคตที่ไม่มีใครสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Kingdom Hearts อยู่บนโลกใบนี้ให้ชายผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า Xehanort ได้ฟัง พริบตาที่ Xehanort ได้ยินเช่นนั้น ความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาที่ต้องการสร้างโลกที่สมบูรณ์แบบ โลกที่ซึ่งแสงสว่างและความมืดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขจึงเกิดขึ้น ความก็เป็นเดือดเป็นร้อนตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงเด็กหนุ่มที่มีชื่อว่า Sora เด็กผู้ชายธรรมดา ๆ ที่ต้องการออกผจญภัยตามหาความฝันในโลกกว้าง แต่กลับถูกโชคชะตาเลือกให้เป็นผู้ถือคีย์เบลดเพียงเพราะว่า Sora เป็นผู้ที่มีหัวใจที่แสนจะบริสุทธิ์ และเลือกที่เดินตามทางแห่งแสงไปนั่นเอง และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมดของซีรีส์เกม Action กว่า 17 ปีเกมนี้
เกมอายุอานามขนาดนี้ ถ้าไม่เคยเล่นแล้วกระโดดมาเล่นภาคนี้เลยเราจะเข้าใจเนื้อเรื่องภาคนี้ หรือความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของตัวละครหรือไม่? บอกได้เลยครับว่า “ไม่รู้เรื่องแน่นอน” เรื่องนี้ Square Enix แก้เกมด้วยการวางจำหน่ายแพ็ครวมแบบ All-in-one 12 ภาครวมถึง Kingdom Hearts 3 บน PS4 (ราคา 3,290 บาท) ให้คนที่ไม่เคยได้เล่นเกมนี้ได้มาเล่นตามเนื้อเรื่องกันก่อน กับทำวิดีโอเซ็ต “Memory Archive” สรุปเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด จบภายในเวลาประมาณ 10 นาทีให้ได้ชมกัน (วิดีโอชุดนี้มีให้ในเกมเต็มด้วย ถ้าไม่ได้ดูไปก่อน ก็ไปเปิดดูในเกมได้ครับ)
แต่ถ้าใครดู 10 นาทีนี้แล้วไม่เข้าใจอยู่ดี… ใน YouTube ยังมีเกมแคสเตอร์ทำวิดีโอสรุปเนื้อเรื่องแบบละเอียดให้เราได้ดูด้วยครับ ^^”
ระบบเกมที่เอื้ออำนวยต่อผู้เล่น ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่
ระบบการต่อสู้พื้นฐานใน Kingdom Hearts 3 เรียกได้ว่าเป็นการ “ยำใหญ่” เกมทั้งตระกูลก็ว่าได้ รูปแบบหลัก ๆ ของเกมนี้จะเป็นเกมแนว Action Real-time RPG ซึ่งจะแตกต่างจากเกมแม่อย่าง Final Fantasy ที่ส่วนใหญ่เป็นแนว Turn-based และด้วยความที่เกมนี้ถูกออกแบบมาสำหรับ “เด็ก” เล่น ระบบจึงถูกพัฒนาออกมาให้ไม่ซับซ้อนมากเหมือนเกม Action แบบอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกัน
การต่อสู้ส่วนใหญ่จะตัดเข้าให้เองเมื่อผู้เล่นเดินไปถึงจุดที่กำหนด ซึ่งผู้เล่นสามารถเปลี่ยนคำสั่งเหล่านี้ได้โดยการกดขึ้นหรือลง แล้วตามด้วยปุ่ม X เพื่อเรียกใช้คำสั่งนั้น ถามว่าคนที่ชิน Action แบบตลาดมาจะเล่นเกมนี้รอดมั้ย? บอกเลยว่ารอดครับ เพราะระบบเกมนี้ถูกออกแบบมาให้เล่นได้ง่ายถึงง่ายมาก ชนิดที่ว่าไม่ต้องปรับตัวจากเดิมเลย
เพราะนอกจากการเลือกคำสั่งแล้ว ผู้เล่นยังสามารถตั้งค่าคำสั่งลัดไว้ใช้งานได้เลย อีกทั้งยังสามารถให้เพื่อนรวมทีมอีกสองเกลออย่าง Donald Duck และ Goofy รวมถึงตัวละครอื่น ๆ ในซีนนั้น ๆ สามารถสู้หรือคอยช่วยเหลือร่วมกับเราได้ และยังสามารถตั้งรูปแบบการต่อสู้และการช่วยเหลือตัวละครต่าง ๆ ได้อย่างอิสระด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากระบบการต่อสู้แบบปกติแล้ว ภาคนี้ยังได้รวมเอากิมมิคของภาคยิบย่อยทั้งหลายมายัดรวมกันไว้ในเกมเดียวหมด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนร่างคีย์เบลดเป็น Second Form หรือร่างที่สอง หรือท่าไม้ตายใหญ่ ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องเล่นในสวนสนุก Disneyland เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อถูกยัดอยู่ใน Kingdom Hearts 3 แล้ว บอกเลยว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัวได้แบบพอดีมาก
อีกระบบที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือระบบการผจญภัยด้วยการขับยานอวกาศ Gummi Ship ภาคนี้นอกจากการต่อสู้บนพื้นดิน กลางอากาศ และใต้น้ำที่ทำออกมาได้ดีแล้ว ยังมีระบบการขับยานอวกาศแบบ 360 องศา สำหรับไว้ให้ผู้เล่นได้ใช้เดินทางไปดาวต่าง ๆ ในเกมนี้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 ดาว จากภาพยนตร์และแอนิเมชั่น 7 เรื่องของ Disney, Pixar และ Marvel ไม่ว่าจะเป็น Hercules, Tangled, Frozen, The Pirate of the Caribbean, Big Hero 6, Monster Inc. และ Toy Story เป็นต้น ซึ่ง 2 ใน 7 ของภาพยนตร์ที่นำมาทำเป็นฉากในเกม ยังเป็นเนื้อเรื่องแต่งขึ้นใหม่เพื่อเป็นรอยต่อระหว่างภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งเราไม่สามารถไปหาดูเนื้อเรื่องส่วนนี้เพิ่มได้จากที่ไหนอีก นอกจากการเล่นเกมนี้เท่านั้น
2 ใน 7 ก็คือด่าน Toy Box ที่เป็นรอยต่อระหว่าง Toy Story 2 กับ Toy Story 3 และด่าน San Fransokyo ที่เนื้อเรื่องจะโยงเข้าสู่ Big Hero 6 The Series ที่ออกอากาศทางช่อง Disney XD และ Big Hero 6 ภาคต่อที่จะออกฉายในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งทั้งสองด่านนี้เองก็ได้ทีม Production ของแต่ละภาพยนตร์ คือ Pixar Studios และ Marvel Entertainment มาช่วยวางเนื้อเรื่องให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาพยนตร์ภาคต่ออีกด้วย
นอกจากการขับยานเพื่อผจญภัยในดาวต่าง ๆ ทั้ง 9 แล้ว ภายในระบบการขับยานนั้น ยังมีระบบการต่อสู้อวกาศไว้ให้ผู้เล่นได้ตื่นตาตื่นใจก่อนเข้าแต่ละฉากต่อไปอีกด้วย และยังมีในส่วนของระบบการออกแบบยาน ระบบการอัพเกรดอาวุธ และท่าสุดท้ายของแต่ละยานไว้ให้ผู้เล่นได้เลือกปรับแต่งกันอย่างอิสระ ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ นอกจากค่าพลังที่ยานแต่ละระดับรับไว้ได้เท่านั้น
มินิเกมฆ่าเวลามีให้เล่นอีกเพียบ
นอกจากเกมหลักที่เราตะลุยไปในแต่ละดาว รวมถึงระบบการขับยาน 360 องศาสุดอลังแล้ว ในเกมนี้ยังมีมินิเกมเอาไว้ให้เราเล่นฆ่าเวลาได้อีกต่างหาก ชนิดที่ว่าหากเราเบื่อก็สามารถเรียกเกมเหล่านี้ขึ้นมาเล่นได้ตลอดเวลาเลย
มินิเกมในเกมนี้จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ มินิเกมใน 100 Acre Wood ที่มีฉากมาจาก Winnie-the-Pooh, เกมคลาสสิคและเกมคอนโซลที่ต้องเล่นผ่านโทรศัพท์, มินิเกมที่ซ่อนอยู่ในแต่ละด่าน และร้าน Le Grand Bistrot เป็นต้น
เริ่มกันที่กลุ่มแรก 100 Acre Wood กลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย 3 มินิเกมหลัก ๆ ซึ่งให้ของตอบแทนเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้เล่นเกม Le Grand Bistrot ไม่ว่าจะเป็นเก็บผัก เก็บผลไม้ หรือเก็บน้ำผึ้งให้ Pooh เป็นต้น ซึ่ง 3 เกมนี้จะปลดล็อกมาเล่นได้เลยเมื่อทำภารกิจในหนังสือ Winnie-the-Pooh จนสำเร็จ
กลุ่มที่ 2 จะเริ่มลำบากนิดนึง เพราะมินิเกมในกลุ่มนี้จะสามารถเล่นได้ ผู้เล่นก็ต้องหา “แผ่นเกม” มาปลดล็อกก่อน ซึ่งแผ่นเกมจะกระจายและซ่อนตัวอยู่ในทุก ๆ ดาวที่ผู้เล่นสามารถไปได้ รวมถึงในดาว Twilight Town เมืองหลักของเกมนี้เป็นต้น มินิเกมเซ็ตนี้เราสามารถเล่นฆ่าเวลายามเบื่อได้เลย เพียงแค่เรียก Gummi Phone ขึ้นมา
ขึ้นชื่อว่าเป็นเกม Classic เกมกลุ่มนี้จะเล่นเหมือนกับตอนเล่นเกมสมัยเครื่องหน้าจอขาวดำเด๊ะ ๆ นั่นคือหลัก ๆ ใช้ปุ่ม D-Pad ในการควบคุม และมีปุ่ม Action เพียงปุ่มเดียว (หรือสองปุ่ม) เพื่อเรียกการกระทำเท่านั้น ถือว่าเล่นได้ง่าย ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ แถมยังฆ่าเวลาสบาย ๆ ยามเบื่อครับ หรือจะให้บุตรหลานเล่นเกมส่วนนี้เพื่อฝึกพัฒนาการเค้าก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเกมถูกออกแบบมาให้เล่นได้ง่ายอยู่แล้ว แม้ว่าเป็นเด็กเล็กเล่นก็ตาม
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มมินิเกมที่กระจายและซ่อนตัวอยู่ในทั้ง 7 ดาวของโลก Disney ซึ่งผู้เล่นสามารถเข้าไปเล่นเพื่อรับวัตถุดิบชั้นสูงสำหรับสร้างอาวุธ หรือวัตถุดิบสำหรับทำอาหารได้เลย เพียงแต่มีข้อแม้ว่าผู้เล่นจะต้องจบเนื้อเรื่องของแต่ละดาวไปแล้ว (ไม่ต้องถึงขั้นจบเกม) ถึงจะสามารถย้อนกลับมาเล่นมินิเกมในกลุ่มนี้ได้ หรือถ้าผู้เล่นหาเจอในระหว่างที่ยังไม่จบเนื้อเรื่อง ก็สามารถกดเล่นมินิเกมเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน เรียกว่าสะดวกสบายหลายต่อกันเลยทีเดียว
สุดท้ายก็เป็นมินิเกมร้านอาหาร Le Grand Bistrot ของเจ้าหนู Remy แห่ง Ratatouille ซึ่งผู้เล่นสามารถมาเข้าครัวทำอาหารเพิ่มค่าสถานะต่าง ๆ ได้จากที่นี่ โดยมีข้อแม้ว่าผู้เล่นจะต้องมีวัตถุดิบสำหรับทำอาหารก่อน ถึงจะสามารถปลดล็อกแต่ละสูตรในแต่ละคอร์สได้
อาหารในเกมนี้จะแบ่งออกเป็น 5 คอร์ส 20 เมนูเหมือนร้านอาหารหรูระดับมิชลินสตาร์เลย นั่นคืออาหารเรียกน้ำย่อย ซุป จานหลักปลา จานหลักเนื้อ และของหวาน และยังมีเมนูพิเศษที่ผู้เล่นสามารถทำได้เมื่อมีวัตถุดิบครบอีกหลายจาน ซึ่งแต่ละจานก็จะเพิ่มค่าสถานะต่าง ๆ ให้ตัวละครทั้ง 3 ได้แบบชั่วคราว ซึ่งจะช่วยอย่างมากในการต่อสู้กับบอสที่ไม่สามารถโค่นลงได้อย่างง่าย ๆ
ส่งท้าย “ไม่ใช่แค่เกมมีเนื้อเรื่อง แต่เป็นเกมฆ่าเวลาที่สามารถเล่นได้เรื่อย ๆ”
ผมใช้เวลาเล่นเกมนี้แบบเก็บรายละเอียดให้มากพอที่จะเขียนรีวิวนี้ได้ไปเกือบ ๆ 5 วัน บอกเลยครับว่าเกมนี้เป็นเกมที่ไม่ว่าใครก็เล่นได้จริง ๆ เพราะระบบเกมถูกวางออกมาอย่างง่ายดาย เล่นได้ในทุกมุมทุกมิติ เพียงแต่ข้อเสียของเกมนี้มีเพียงอย่างเดียว คือเนื้อเรื่องที่ผู้เล่นต้องรู้ภาพรวมมาก่อน ถึงจะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในภาคนี้ได้
และอีกข้อเสียหนึ่งที่เรียกว่าหายไปอย่างน่าเสียดาย (และเป็นข้อเสียที่แฟนเกมนี้รุมโจมตีหนักด้วย) นั่นคือเกมภาคนี้ไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกมแม่อย่าง Final Fantasy แม้แต่น้อย ใช่ครับ เกมนี้จริงๆ เป็น Spin-off ของ Final Fantasy เกมหนึ่งที่ Disney Japan มาขอร่วมอาศัยด้วย แต่ดันทำเกมออกมาแล้วดีจนโตไปไกลกว่าที่ Square Enix คาดไว้ ก็เลยยกขึ้นมาเป็น Flagship Franchise อีกตระกูลหนึ่งของบริษัท และมีภาคยิบย่อยออกไปกว่า 12 ภาคให้เราได้เล่นกัน
การที่ไม่มี Final Fantasy มาอยู่ในเกมนี้ถือเป็นเรื่องดีไหม มันก็ตอบได้สองแง่ โอเค อย่างน้อยเกมก็จบเนื้อเรื่องในส่วนต้นได้อย่างสวยงาม แม้ไม่มี Final Fantasy มาคอยช่วยผลักดันให้มีแฟน ๆ Final Fantasy เข้ามาเล่น กับอีกประเด็นคือฐานแฟนคลับเกมนี้ก็แน่นพอที่จะทำให้เกมเติบโตไปได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่ง Final Fantasy อีก แต่อีกแง่คือ Sqaure Enix เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์กับเกมนี้ไปเต็ม ๆ 2 ปี (เปิดตัวปี 2013) ยังไม่รวมเหตุการณ์เปลี่ยนเอนจินหลักมาเป็น Unreal Engine 4 ซึ่งต้องใช้เวลารื้อเกมทำใหม่อีก 3 ปี สรุปแล้วแค่เกมภาคเดียวก็ใช้เวลาไปแล้วกว่า 5 ปี ประเด็นนี้ให้พูดแบบสั้น ๆ ก็คือ “ทำไม่ทัน” ตามความต้องการนั่นเอง เพราะการจะใส่ดาวแต่ละดาวต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนว่าจะคุ้มกับเวลาที่เสียไปหรือไม่ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว การมีดาวของ Disney แค่ 7 ดาว แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ Kingdom Hearts 3 สามารถพัฒนาต่อไปจนเสร็จ โดยไม่ไถลไปไกลจนถึงช่วงที่ PlayStation 5 หรือ Xbox Next เปิดตัว
แต่ข้อดีของเกมนี้ (ซึ่งน้อยกว่าข้อเสียที่เขียนมาทั้งหมดอีก) ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า โอเค ผมเสียเงินไป 2,890 บาท แบบไม่เสียดายเงินที่จ่ายไปเลย คือภาษาและคำศัพท์ที่เกมใช้นั้นสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในแต่ละช่วงของเนื้อเกมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการใช้ภาพยนตร์ของ Disney มาทำเป็นโครงทั้งเรื่อง ยอมรับเลยว่าใน Kingdom Hearts ทำออกมาได้ดีจนน่ากลัวเลยทีเดียว ชนิดที่ว่าบางฉากของเกมนี้ทำออกมาได้ดีกว่าเกมเดี่ยว ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนั้นทั้งเกมอีก เรียกได้ว่านี่อาจจะเป็นข้อดี และจุดแข็งเพียงเรื่องเดียวของ Kingdom Hearts ที่ทำให้แฟน ๆ เหนียวแน่นไปกับซีรีส์นี้ได้จนถึงทุกวันนี้…
นี่ยังไม่รวมถึงมินิเกมที่ Kingdom Hearts 3 อัดมาอย่างเต็มที่ ชนิดที่ว่าสามารถเล่นฆ่าเวลาได้สบาย ๆ แบบว่าเราเบื่อ ๆ มาจากงาน ก็มาเปิดเล่นฆ่าเวลาแก้เบื่อได้สบาย ชนิดที่ว่า.. สบายจนรู้สึกตัวอีกทีก็จะหมดไปอีกวันนึงไปแล้ว กาวจริง ๆ เกมนี้ ฮา~
เอาเป็นว่า… Kingdom Hearts 4 บน PlayStation 5 (หรือ 6 .. 7 .. อะไรก็ตาม) …. ผมซื้อแน่นอนครับ 😀