ลองแล้วเล่า

ลองแล้วเล่า : AirPods (2nd Gen) “หูฟังไร้สายในอุดมคติที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น”

“งานออกแบบที่ห่วยที่สุดของ Apple”
“เด๋อ อุบาวท์ ไม่มีสายคล้องคอ”
“ใช้งานจริงไม่ได้หรอก แค่แฟนซี”
“สิ้นคิดมาก เอา EarPods มาตัดสาย”
“ปรับเสียงไม่ได้ หล่น หาย จบ”
“กล่องไหมขัดฟัน”
ฯลฯ

นี่คือเสียงตอบรับแรกที่ผมจำได้ในวันที่ AirPods เปิดตัวตอน 7 กันยายน 2016 เป็นการเปิดตัวที่เสียงล้อเลียนจัดว่าแรงใช้ได้ หูฟังหน้าตาแบบ EarPods ที่แถมมากับ iPhone แต่ตัดสายทิ้งออกไป แต่ในกระแสล้อเลียน ก็พ่วงมาด้วยความอยากได้ อยากเป็นเจ้าของเหมือนกัน และทันทีที่วางขาย ก็ทำส่ิงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นั่นคือการขาดตลาดแบบรุนแรงมาก มากระดับที่ สั่งวันนี้ มีอย่างน้อยหลักเดือน ถึงส่งของให้ได้ อาการขาดตลาดนี้ลากยาวไปถึง 1 ปีเต็ม ๆ แถมในปีที่ผ่านมา AirPods มีของเข้าร้านแค่ไหนก็ขายหมด จนถึงช่วงที่ข่าวลือเริ่มออกมาแล้วว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมานะ แต่ก็ไม่ได้กระทบยอดขาย AirPods รุ่นแรก ที่วางขายร้านไหน ราคาเต็ม ราคาโปรฯ ราคาหิ้ว ก็ขายหมดเสมอ

อันที่จริง รุ่นที่ 2 เหมือนจะได้ออกมาแล้วตอนที่ iPhone X / iPhone 8 เปิดตัว รวมถึง AirPower แท่นชาร์จไร้ายที่ในวันเปิดตัว มี AirPods ที่วางชาร์จในวีดีโอเปิดตัวด้วย แต่หลังเปิดตัว มันก็หายเงียบไปพร้อมกับ AirPower จนกระทั้งข่าวลือในหลายสำนักเริ่มมาหนักเอาช่วงปลายปีที่ผ่านมา แล้วช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา AirPods รุ่น 2 ก็ออกมาตามที่ข่าวลือหลุดมาจริง ๆ

เอาเข้าจริง ๆ สิ่งที่เซอร์ไพรส์สุดในการออก AirPods รุ่นใหม่ คือการออกรุ่นที่ไม่รองรับชาร์จไร้สาย มาเสริมกับรุ่นตลับชาร์จไร้สาย สเปคที่ไปเน้นเรื่องความรวดเร็วในการเชื่อมต่อ แต่สิ่งที่ผมอยากได้ที่สุดจาก AirPods รุ่นใหม่ กลับไม่มี นั่นคือ Gesture ในการปรับเพิ่ม/ลด เสียง โดยตรงจากหูฟัง เพราะการสั่งปรับเพิ่ม/ลด เสียงผ่าน Siri ในรุ่นแรก มันใช้ทุกเวลาไม่ได้ และเชื่อว่าเรื่องการปรับเสียง น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้จาก AirPods เหมือนที่ผมอยากได้

ด้วยความที่ AirPods ใหม่ หน้าตาเหมือนเดิม น่าจะทำให้คนส่วนใหญ่จะคิดว่า AirPods รุ่น 2 ก็เหมือนเดิม หรืออะไรก็ตามที่บอกว่า “ไม่มีอะไรใหม่” ยิ่งกับรุ่นสานต่อความสำเร็จด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ ตัดสินว่า “ไม่มีอะไรใหม่” ง่ายขึ้นไปอีก แต่หลังจากที่ผมลองใช้ ผมอยากบอกว่า โปรดอย่าพึ่งตัดสินว่า มันไม่มีอะไรใหม่ ถึงจะแกะมาชาร์จไฟ เอานิ้วโป้งดีดตลับ หยิบหูออกมาใส่ ใช้ เหมือน AirPods ที่เคยใช้มา แต่มันมีบางสิ่งที่พิเศษขึ้น…ความพิเศษที่ว่า ลองเลื่อนลงไปอ่านต่อดูได้เลยครับ

ส่องรอบตัว

ตอนแรก…ผมกะว่าจะไม่เขียนถึงว่า แต่ละส่วนมีอะไร เพราะมองแว็บแรก ก็เหมือนของเดิมทุกอย่าง แต่ก็ควรเขียนไว้ดีกว่า แต่ก่อนจะเล่าถึงแต่ละส่วน ขอเล่าถึงจุดแตกต่างของรุ่นแรกกับรุ่น 2 ดังนี้

  1. มิติของตลับ กว้าง ยาว สูง หนา ไม่ว่าจะรุ่นปกติ / รุ่นตลับชาร์จไร้สาย ทุกส่วน เท่ากันกับรุ่นแรก เคส อุปกรณ์เสริมที่ใช้ร่วมกับรุ่นแรก ใช้กับรุ่นใหม่ได้เกือบทั้งหมด (เกือบทั้งหมดเพราะอะไร เหตุผลอยู่ในข้อถัด ๆ ไป)
  2. ปุ่มสำหรับ Reset หรือสั่งเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ Apple สำหรับรุ่นแรก / รุ่นที่สองแบบตลับปกติ จะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม ส่วนรุ่นตลับชาร์จไฟไร้สาย จะอยู่ค่อนไปตรงกลางของด้านหลัง และสำหรับด้านหลัง บานพับของรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนเป็นโลหะแบบด้าน (รุ่นแรกเป็นแบบขัดเงา)
  3. ไฟสถานะแบตเตอรี่ของตลับ จะย้ายมาอยู่ด้านหน้าตลับ ส่วนรุ่นแรกกับรุ่นสองแบบตลับปกติ จะยังอยู่ระหว่างที่เก็บหูทั้งสองข้างในตลับเหมือนเดิม 
  4. ที่หูฟังทั้งสองข้างของรุ่นใหม่ จะมีการพิมพ์รหัส Serial ของหูแต่ละข้าง โดยที่ใต้ฝาตลับ ในรุ่นใหม่จะมีการพิมพ์รหัส Serial ของตลับไว้ด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นแล้ว ถ้าซื้อรุ่นตลับปกติมา ก็จะแยกไม่ออกว่า เรากำลังใช้รุ่นใหม่อยู่หรือเปล่า เพราะทุกรายละเอียดของตลับกับหูฟัง เหมือนกันหมด แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าซื้อรุ่นตลับชาร์จไร้สายมา แล้วใส่เคสไป ก็จะแยกไม่ออกในสายตาคนอื่นว่าเราใช้รุ่นใหม่อยู่หรือเปล่าเช่นกัน สำหรับรายละเอียดแต่ละส่วนของ AirPods ใหม่มีดังนี้

ด้านหน้าตลับ มีการกัดร่องสำหรับใช้นิ้วในการดันขึ้น เพื่อเปิดฝาออกด้วยมือเดียวได้ โดยในรุ่นตลับชาร์จไร้สาย จะยกไฟสถานะแบตเตอรี่จากใต้ฝา มาไว้ที่ด้านหน้าตลับแทน

ด้านหลังของตลับ ส่วนที่เป็นสีเงินนั้น คือแกนของฝาตลับ โดยด้านหลังของตลับ จะมีปุ่มสำหรับเปิดการเชื่อมต่อแบบตั้งค่าด้วยตัวเอง แต่สำหรับรุ่นตลับชาร์จไร้สาย เมื่อกดปุ่มด้านหลังตลับ จะเป็นการเช็คสถานะแบตเตอรี่ที่เหลือในตลับ ส่วนด้านล่างของตลับ จะเป็นช่องชาร์จไฟแบบ Lightning

ฝาตลับแบบแม่เหล็ก เปิดด้วยการดีดนิ้วเดียวได้ ส่วนหูฟังทั้งคู่ ตัวตลับใช้แม่เหล็กดูดที่ฐานของหูฟัง ทำให้หากเผลอคว่ำตลับ หูฟังก็ไม่หล่นออกมาจากการเผลอเรอ

สิ่งที่เปลี่ยนไปของภายนอกที่ชัดที่สุด คือน้ำหนักของรุ่นตลับชาร์จไร้สาย จะหนักกว่าเล็กน้อย แบบไม่อ่านสเปกก็สัมผัสได้ตอนถือว่า มีน้ำหนักกว่า AirPods แบบตลับปกติ สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของการใช้งาน คือน้ำหนักของหูฟังแต่ละข้างอยู่ที่ 4 กรัมก็จริง แต่ทันทีที่หยิบมาสวมหูใช้งาน ใส่แล้วมั่นคง แต่ถ้าเหงื่อออกจนท่วม ใส่เพื่อคาดิโอหนัก ๆ ความมั่นใจในการเกาะหู อาจลดลงไปตามสภาพผิวหนังในรูหูด้วย ใครที่ใส่รุ่นแรก แล้วสามารถวิ่งหรือออกกำลังกายได้ โดยไม่ต้องคอยดันหูฟังกลับเข้าไป จัดว่าน่าอิจฉามากครับ (เพราะผมทำไม่ได้) ทั้งนี้ ใครที่มีปัญหาเรื่องรูหูเล็กหรือใหญ่จนใส่ EarPods / AirPods แล้วไม่พอดี ใส่แล้วหลุดง่าย ๆ ซึ่งมีคนส่วนน้อยเป็นอยู่ ก็คงต้องพึ่งยางคล้องหูฟังเพื่อไปดันใบหูด้านในแบบตอนใช้งานรุ่นแรกเช่นกัน

บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจาก AirPods รุ่นแรกที่ใช้งานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา วัสดุพลาสติกภายนอก เป็นแบบขัดเงาแบบเดียวกับหัวปลั๊กของสินค้า Apple ฉะนั้นแล้ว การเก็บในกระเป๋ากางเกง กระเป๋าถือ ฯลฯ ที่มีฝุ่น การเช็ดถูด้วยผ้าที่มีฝุ่นติดในผ้า ย่อมได้ริ้วรอยขนแมวทันทีที่แกะกล่องมาใช้ ทางเดียวที่จะรักษาได้คือ ใช้ตามปกติ แต่ดูแลความสะอาดให้ดีที่สุด ทั้งตัวอาจเป็นรอยขนแมว แต่มองดี ๆ จะไม่น่าเกลียดมากนัก แต่เท่าที่ใช้แบบใส่เคสแล้วไม่ค่อยถอดออกมา สภาพโดยรวม ถือว่าโทรมน้อยกว่าการใช้งานแบบไม่ใส่อะไรเลย ฉะนั้น ใครรู้ตัวว่าเป็นขาลุย ควรจับใส่เคสได้เลย

ในขณะเดียวกัน เวลาเปิดฝาใช้งาน หากสะดวก ควรปัด เช็ดทุกวันก่อนนอนสักรอบ เพราะทันทีที่เราเห็นคราบสกปรกดำ ๆ ติดข้างในฝา รอบฐานช่องเก็บหูฟัง มันจะกลายเป็นคราบฝังที่เช็ดไม่ออกถาวรเอาได้ แนะนำให้ติดสติ๊กเกอร์ป้องกันคราบสกปรกในฝา และเมื่อใช้งานไปนาน ๆ อย่าลืมหาไม้จิ้มฟันกับทิชชู่ มาแคะเอาคราบขี้หูของเราออกไปบ้าง เพื่อให้เสียงที่ฟัง ได้ยินชัดเต็มที่ด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว รุ่นที่ 2 ของ AirPods มีภายนอกที่ไม่ต่างกับรุ่นแรก อุปกรณ์เสริมพวกเคส ฟิล์มกันรอยด้านใน ก็ใช้ร่วมกันได้ ยกเว้นรุ่นตลับชาร์จไร้สาย ที่หนักขึ้นเล็กน้อย ใส่กับเคสบางแบบ ตำแหน่งปุ่มด้านหลังอาจไม่พอดีสักเล็กน้อย แต่ที่ชอบที่สุดในการใช้งาน คือน้ำหนักของก้านหูทั้งสองข้างที่เบา สมดุลต่อการใส่แล้วเคลื่อนไหวศีรษะมากขึ้น ถือเป็นเสน่ห์ที่ทำให้​ AirPods ได้รับความนิยม รวมถึงขนาด น้ำหนักตลับกำลังดีต่อการพกพา หยิบใช้ง่าย เสน่ห์เหล่านี้ ก็ยังไม่เปลี่ยนไปในรุ่นใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

ลองใช้งานจริง

ผมแอบเสียดายที่ Apple ไม่ใส่ Gesture ปรับเสียงอะไรมา ในรุ่น 2 เรื่องปรับเสียง คือสิ่งเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกรัก AirPods รุ่นแรกไม่เต็มร้อยซะที รุ่นใหม่ก็ยังต้องพึ่งพาเรื่องปรับเสียงผ่าน Siri เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเปลี่ยนจากต้องเคาะเรียกก่อน เป็นการสั่งผ่าน “หวัดดี Siri” หรือ “Hey Siri” ในภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ซึ่งการสั่งผ่านคำสั่งเสียง ผมรู้สึกว่า มันไม่ตอบโจทย์เวลาใช้งานในที่สาธารณะได้จริง แต่พอใส่หูฟัง แล้วใช้งานจริงแล้ว AirPods รุ่น 2 มันให้สิ่งเล็ก ๆ แต่ยกระดับจากรุ่นแรกหลายเรื่อง

เริ่มที่จุดขายอย่างชิป H1 ที่ให้การเชื่อมต่อหรือสลับอุปกรณ์ทำได้เร็วขึ้น จากการลองใช้งาน การตอบสนองเรื่องการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะอยู่สภาพแวดล้อมแบบไหน การเชื่อมต่อ AirPods กับอุปกรณ์ที่ใช้งาน ไม่ว่าจะ iPhone / iPad / Apple Watch / Mac สามารถเชื่อมต่อหลังจากใส่หูเข้าไปในรูหูเราที่ 1-3 วินาที และสลับอุปกรณ์ในความเร็วเฉลี่ย 3-4 วินาที ถ้าเป็น iOS แค่ลาก​ Control Center แตะเข้าไปช่องสถานะการเล่นเพลง / วีดีโอ ณ ปัจจุบัน แล้วแตะไอค่อน AirPlay แล้วเลือก AirPods ที่ใช้งานได้เลย

เอาเข้าจริง 3-4 วินาที เป็นเวลาที่ผมค่อนข้างผิดหวัง เพราะหวังว่า ไม่ว่าจะเป็นการใส่หูเพื่อใช้งาน สลับอุปกรณ์ ผมคาดหวังว่าจะใช้เวลาแค่ 1-2 วินาทีเท่านั้น แต่กับ 1-3 วินาที สำหรับการใส่หู สลับอุปกรณ์ที่ 3-4 วินาทีที่ AirPods รุ่น 2 มีความหมายอย่างหนึ่ง เพราะในการใช้งานหลายสภาพแวดล้อม ที่อาจมีปัจจัยที่ทำให้ AirPods เกิดอาการเพี้ยนในการสลับอุปกรณ์ หรือเชื่อมต่อไม่ติด AirPods ก็สามารถใช้เวลาในการเชื่อมต่อหรือสลับอุปกรณ์ ด้วยเวลาเฉลี่ยเท่าเดิมในทุกสภาพแวดล้อม ต่างกับรุ่นแรก ที่บางครั้งมีอาการสลับอุปกรณ์ไม่สำเร็จ หรือต้องเลือกซ้ำไม่ต่ำกว่า 2-3 รอบ เพื่อให้ AirPods สลับอุปกรณ์สำเร็จ หรือบางทีก็ต่อได้แค่ข้างเดียว หรือต่อไม่ได้เลยจนต้องเอาใส่กลับตลับสักรอบ แล้วค่อยหยิบมาเชื่อมต่อใหม่

โดยสรุปแล้ว รุ่น 2 ได้แก้ปัญหาความเสถียรของการเชื่อมต่อ การสลับอุปกรณ์ เสถียร รวดเร็วแบบลืมรุ่นแรกไปได้เลย

คุณภาพเสียง

คุณภาพเสียง? สำหรับผมแล้ว รุ่นแรกคือหูฟังไร้สายที่ให้เสียงได้ดี แบบครอบคลุมกับการฟังเพลง / ดูวีดีโอ / คุยโทรศัพท์ แต่ถ้าเป็นความเห็นคนอื่น มีตั้งแต่ “เสียงเหมือนหูฟัง EarPods ที่แถมมา” ไปจนถึง “ชอบมาก” แต่ผมเชื่อโดยลึก ๆ ความสำเร็จของยอดขายที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็คือคุณภาพเสียงของ AirPods ต้องดีในระดับพึงพอใจประมาณหนึ่ง ช่วงที่รุ่น 2 วางขายในต่างประเทศช่วงแรก ๆ คนที่ซื้อไปก่อน มีความเห็นเรื่องคุณภาพเสียงแตกเป็นสองทาง บ้างก็บอกว่า “ไม่ได้เปลี่ยนไป” กับ “ก็ดีขึ้นนี่” สำหรับความเห็นผม เพลงที่ผมใช้ฟังประจำเวลาเดินทาง จะถูกฟังผ่าน AirPods เป็นหลัก เพลงไหนที่ผมชอบมาก ถึงมากสุด ๆ ผมมักหาโอกาสฟังผ่านไฟล์เสียงที่ดีที่สุด การให้เสียงที่ดีที่สุด เท่าที่ปัญญากับโอกาสผมจะหาได้ ซึ่งนั่นทำให้ผมเห็นศักยภาพของ AirPods รุ่น 2 ออกมาเป็นข้อสรุปว่า

ก่อนอื่น ขอยืนพื้นการทดสอบว่า ไฟล์ที่ใช้ฟัง รับชม คือไฟล์ลิขสิทธิ์ที่ได้รับการแปลงให้เหมาะสม และมีคุณภาพต่อการใช้งาน ไม่ใช่การฟังแบบสตรีมใน App บางตัว / แปลงเพลงด้วย Bitrate สูงมาก ๆ ปรับแต่งตามใจฉัน เมื่อเข้าใจตรงกันตามนี้แล้ว เริ่มเลยนะครับ ในการฟังเพลง ความแตกต่างจากรุ่นแรก คือเสียงทุกย่านที่เคยได้ยิน มีความละเอียดมากขึ้น ใสมากขึ้น ตัวอย่างที่อยากยกให้เห็นภาพก็คือ ถ้าฟังเพลงร็อคที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นหลังเป็นออเครสตร้า ถ้าหูฟังไม่ดี เราจะได้ยินดนตรีหลักแค่ กลอง เบส กีตาร์ ของ Band หลัก ที่กำลังเล่นอยู่รวมกับเสียงร้อง ซึ่ง AirPods รุ่นแรก สามารถให้รายละเอียดของเพลงในส่วนเสียงกลาง ไม่ว่าจะเสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรีได้ครบ เพียงแต่ เสียงดนตรีที่เป็นพื้นหลัง รวมถึงคอรัสที่ร้องรวมกับเสียงหลัก อาจได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่กับรุ่น 2 เราสามารถซึมซับรายละเอียดเล็ก ๆ ของเพลงโปรดที่เราฟังได้ดีขึ้น ถึงจะไม่ถึงขั้นแยกตำแหน่งได้ว่า เครื่องดนตรีชิ้นนี้ ถูกตั้งไว้ตรงไหนตอนอัดเพลง นักร้องกำลังหายใจแบบไหน หรือกำลังเปล่งเสียงคำออกมาแบบไหน แต่ได้ขนาดนี้ เรียกว่ามีพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้นแล้ว

อีกจุดที่แสดงให้เห็นว่า AirPods รุ่น 2 ดีขึ้น คือการแยกเสียงซ้าย ขวา ในแบบสเตอริโอ แยกได้เนี๊ยบกริ๊บมากขึ้น เพลงที่บันทึกไว้ เครื่องดนตรีหรือเสียงร้อง ให้ออกฝั่งไหน อีกฝั่งจะเงียบแบบสนิทกว่ารุ่นแรกมากขึ้น การแยกเสียงซ้ายขวาได้แบบนี้ หูฟังไร้สายที่เป็นเทคโนโลยียุคนี้เหมือนกันหลายรุ่น ยังไม่สามารถจัดเสียงซ้าย ขวา ให้เงียบได้แบบนี้ด้วยซ้ำ

โดยคุณงามความดีแล้ว ถ้ารุ่นแรกให้เสียงดีไม่แพ้หูฟังสายได้ รุ่น 2 คือการทำให้ดีเท่าหูฟังสายชั้นดีหลายรุ่นมากขึ้น การให้เสียงกลางที่ชัดเจนขึ้น แน่นขึ้น ทำให้ทุกแนวเพลงที่ชอบ ไม่ว่าจะเน้นไปทางไหน ทุกอย่างคม แน่น ให้อารมณ์เพลงที่ดีขึ้น รวมถึงรายละเอียดที่สามารถเข้าถึงได้ดีขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่ AirPods รุ่น 2 ทำได้ดีกว่ารุ่นแรก

แต่…จุดอ่อนสำคัญของรุ่นแรกที่ผมไม่ชอบ ก็ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของรุ่นนี้เช่นกัน ในช่วงเสียงต่ำมาก เสียงสูงมาก หรือเสียงที่มีการเปลี่ยนย่านแบบฉับพลันในบางแนวเพลง เสียงที่ขับออกมา เหมือนเกิดอาการเร่งไม่ออก จนหูฟังเหมือนเอาไม่อยู่ ฉะนั้นแล้ว ถ้าเพลงแนวที่เน้นเสียงต่ำทุ้มหนัก ๆ อาจรู้สึกเหมือนมันยังไม่กลมกล่อมพอ ในขณะที่เสียงสูงหนัก ๆ อาจรู้สึกเหมือนเสียงกำลังแตก ทั้งที่มันควรมีความแน่นหลงเหลือไว้สักหน่อย แต่ในเมื่อรุ่น 2 ให้เสียงกลางที่ดีขึ้นอย่างที่กล่าวในย่อหน้าที่แล้ว มันเลยพอจะลดปัญหาเสียงสูงมากกับต่ำมากได้บ้าง ฉะนั้นแล้ว ในรุ่นถัดไป ถ้ารับมือเสียงต่ำมากกับสูงมากได้ดีกว่านี้ จะช่วยล้างความเชื่อที่ว่า หูฟังไร้สายเสียงไม่ดีเท่าหูฟังแบบสายได้มากกว่านี้แน่นอน

ในส่วนการปรับเสียงจากหูฟัง หลายคนอาจผิดหวังที่หูฟังต้องสั่งงานผ่าน “หวัดดี Siri” หรือ “Hey Siri” แต่จากที่ลองใช้ดู พอสั่ง “หวัดดี Siri เสร็จ” ให้เว้นวรรคหนึ่งวินาที แล้วสั่งต่อได้เลย ไม่ว่าจะ “เพิ่มเสียง” “ลดเสียง” “เพลงก่อนหน้า” “เพลงถัดไป” “เพลงนี้เพลงอะไร” ฯลฯ เวลาสั่ง “หวัดดี Siri” ขณะฟังเพลง ถ้าสั่งติด จะมีจังหวะที่หน่วงเพลงให้เบาลง เมื่อสั่งงานเสร็จ การตอบสนองจะเกิดขึ้นทันที และฟังเพลงต่อได้เลยอย่างไม่สะดุด ซึ่งการใช้งานโดยรวม เป็นธรรมชาติดีมาก แต่ถ้าใช้งานในสภาพแวดล้อมนอกบ้าน ต้องใช้เสียงที่ดังขึ้นประมาณหนึ่งเพื่อสั่งงาน แล้วปัญหาก็คือ เราไม่รู้ว่า ตัวเองต้องใช้เสียงดังแค่ไหนในการสั่ง​ “หวัดดี Siri” หูฟังที่ใส่อยู่ ทำให้เราไม่สามารถรู้ระดับเสียงของตัวเองได้ว่า เราพูดดังพอที่จะสั่ง Siri ได้ไหม พูดแล้วดันเบาไป Siri ไม่มา แต่พอดังระดับให้ Siri ทำงาน ก็อาจดังจนทำให้คนรอบข้าง หันมามองเราแทน เรื่องนี้ อยากให้ Apple เพิ่ม Gesture การเคาะแบบสามที เป็นการปรับเสียง หรือถ้าอยากให้ใช้คำสั่งเสียง ไมค์ฯ ต้องทำงานสัมพันธ์กับการจับเสียงในทุกสภาพแวดล้อมให้มากกว่านี้ แต่รวม ๆ ถือว่าสะดวกกว่าการเคาะเรียก Siri รุ่นแรก แล้วเอาโควต้าในการเคาะเพื่อสั่งงานของหูซ้ายกับขวา ไปปรับแต่งใช้งานกับสิ่งที่เราได้ใช้บ่อย ๆ ดีกว่า

ในการใช้ดูวีดีโอ เช่นเดิมครับ ทำความเข้าใจเหมือนเดิมว่า วีดีโอที่ใช้ทดสอบ มีการบันทึกเสียงมาดีพอ ไม่ใช่การสตรีม หรือผ่านการแปลงแบบปรับแต่งตามใจฉัน เข้าใจตามนี้แล้ว ก็เริ่มที่การชมภาพยนตร์ สิ่งที่ดีของรุ่น 2 คือความแม่นยำของเสียงที่ตรงกับการเล่นวีดีโอมากขึ้น แต่ความแม่นยำนี้ ต้องสัมผัสแบบตั้งใจเล็กน้อย เพราะรุ่นแรกถ้าเชื่อมต่อเรียบร้อย สัญญาณรบกวนน้อยหรือสงบพอ ก็ใช้ได้แม่นยำไม่แพ้กัน สำหรับรุ่น 2 ฉากในภาพยนตร์ที่ใช้มีเสียงแต่ง เช่นการระเบิด การแปลงร่างของตัวละคร ฯลฯ อาจมีจังหวะที่เหมือนหูฟังรับมือไม่ไหว เนื่องจากเสียงเหล่านี้ มีความถี่ที่โดดไปจากปกติ แต่อย่างน้อย การที่เสียงกลางแน่นขึ้น ก็ให้ความสมจริงที่ดีขึ้นกว่ารุ่นแรกอย่างสัมผัสได้ ถ้าเป็นการชมวีดีโอแนว รายการสัมภาษณ์ สารคดี หรือวีดีโอที่ถ่ายทำ ตัดต่อ แบบไม่ได้ทำอะไรพิเศษกับเรื่องเสียง AirPods รุ่น 2 ใช้อานิสงค์ของเสียงกลางที่ดีขึ้น ทำให้การรับชมวีดีโอเหล่านี้อย่างมีอรรถรสมากขึ้นไปด้วย ในส่วนการเล่นเกม หากไม่เปิดเสียงดังเกิดไป การให้เสียงดนตรีประกอบ เสียงเอฟเฟกต์ของเกมนั้น ๆ ทำได้แม่นยำกว่ารุ่นแรก เสียงแน่นกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเปิดเสียงดังมาก ดนตรีบางจังหวะกับเสียงเอฟเฟกต์บางครั้ง อาจเหมือนแตกพร่าไปเล็กน้อย เอาเป็นว่าโดยรวม ถ้าจะใช้ AirPods รุ่น 2 เป็นหูฟังเพื่อการดูหนัง ซีรีส์ วีดีโอใน Youtube และเล่นเกม ขณะนั่งรถไฟฟ้า รถติดแบบหาอนาคตไม่ได้ คุณภาพที่ได้ หายห่วงทั้งในแง่ความเสถียรและคุณภาพเสียงแน่นอนครับ

ในการสนทนา ทำความเข้าใจเหมือนเดิมว่า ในการสนนา ไม่ว่าจะเป็นการโทรบนเครือข่าย / โทรบนสัญญาณอินเตอร์เน็ต ความคมชัดที่ได้ยิน หรือคู่สายได้ยิน มีปัจจัยที่ทำให้คุณภาพการสนทนาออกมาไม่เต็มที่ได้ เริ่มที่การใช้งานโทรศัพท์ ไม่ว่าจะโทรผ่านอะไรก็ตาม สิ่งที่ AirPods รุ่น 2 ยังรักษาไว้ได้ดี คือไมค์ฯ สนทนา ในรุ่นแรก รับเสียง ตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้ค่อนข้างดีแล้ว ในรุ่น 2 ยังรักษาความดีนี้ไว้ได้ ตัวอย่างที่ลองทำแล้วถามคู่สายสนทนาคือ นั่งคุยโทรศัพท์ด้วย​ AirPods รุ่น 2 แบบเปิดพัดลมเบอร์แรงสุดจ่อเข้าหน้าตรง ๆ เสียงสนทนาของรุ่น 2 สามารถตัดเสียงลมที่พุ่งเข้าใส่ได้มากกว่ารุ่นแรก แบบที่คู่สายสามารถแยกออกได้ว่า ใช้รุ่นแรกหรือรุ่น 2 มาคุยสายอยู่ แต่ถ้าเอาไปใช้งานในที่ชุมขน เช่นนั่งรถสามล้อที่กำลังซิ่ง มอไซค์รับจ้าง ยืนข้างถนนที่เสียงดังแบบเต็ม ๆ คู่สายของเรา อาจได้ยินเสียงรบกวนรอบ ๆ แบบพอจับได้ว่า เราไม่ได้อยู่ที่ห้องแน่ ๆ แต่ก็ไม่แย่จนถึงขั้นรบกวนการใช้สนทนาของเราเช่นกัน โดยรวมแล้ว AirPods รุ่น 2 มีพัฒนาการของไมค์ฯ สนทนาที่ดีขึ้น แต่ถ้าทำให้การรับเสียงผู้ใช้งานแม่นยำกว่านี้ ตัดเสียงรบกวนได้เก่งกว่านี้อีก ก็จะสมบูรณ์แบบมากเช่นกัน

แบตเตอรี่

AirPods รุ่น 2 ให้แบตเตอรี่ที่ตลับความจุ 398 mAh ส่วนหูแต่ละข้าง มีแบตเตอรี่อยู่ 93 mWh โดยการชาร์จไฟเข้าผ่านช่อง​ Lightning เส้นเดียวกับที่ชาร์จ iPhone เมื่อแบตเตอรี่เต็มทั้งเคสและหูฟัง หยิบออกมาใช้ได้ประมาณนี้

  • ฟังเพลง (แบบต่อเนื่องจนมีหูข้างใดข้างหนึ่งดับไปเอง) : 4 ชั่วโมง 20 นาที -> 5 ชั่วโมง 30 นาที
  • ดูภาพยนตร์ / วีดีโอ (แบบต่อเนื่องจนมีหูข้างใดข้างหนึ่งดับไปเอง) : 3 ชั่วโมง 20 นาที -> 4 ชั่วโมง
  • คุยโทรศัพท์ (ใช้หูทั้งสองข้างพร้อมกัน+ผ่านเครือข่าย+ต่อเนื่องจนมีหูข้างใดข้างหนึ่งด้บไปเอง) : 2 ชั่วโมง 45 นาที -> 3 ชั่วโมง 30 นาที

*ผลทดสอบเวลา : หมดเร็วสุด->หมดช้าสุด

เวลาที่ได้ทั้งหมดนี้ แปรผันตามการใช้งาน ณ เวลานั้น สามารถดึงหูข้างใดข้างหนึ่งให้แบตเตอรี่หมดไวกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน โดยภาพรวมแล้ว AirPods รุ่น 2 ให้การใช้งานแบตเตอรี่โดยรวมที่ไม่ต่างจากรุ่นแรก ในการใช้งานบางจุด ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นแรกด้วยซ้ำ เชื่อว่าถ้าได้ลองใช้ แล้วเทียบกับรุ่นแรกที่ยังสภาพแบตเตอรี่เต็มเหมือนกัน จะรู้สึกด้วยซ้ำว่า AirPods รุ่น 2 ใช้งานได้ทนขึ้น ทั้งที่ระยะเวลาโดยรวม แทบไม่ได้แตกต่างจากรุ่นแรกมากนัก หากใช้งานแบบ นั่งรถไฟฟ้าแบบ ต้นสายไปสุดสาย สักรอบ / ฟังขณะเวลางาน กะเช้า กะบ่าย แบบฟังบ้าง เก็บบ้าง ถ้าการใช้งานวนไปในลักษณะนี้ ไฟในตลับที่เต็ม 100% จะใช้งานประมาณ 2 วัน ซึ่งไม่ต่างกับรุ่นแรกเช่นกัน

ในส่วนการชาร์จไฟกลับ ลำดับที่ไฟจะเต็มก่อนเมื่อมีการชาร์จไฟไม่ว่าด้วยวิธีไหน ไฟจะเข้าตลับก่อน ถ้าชาร์จไฟกลับแบบใช้สาย Lightning ผ่านที่ชาร์จแบบ 5w หากเริ่มต้นตั้งแต่แบตเตอรี่ที่ต่ำกว่า 10% ช่วง 30 นาทีแรก ตลับจะมีไฟเข้าไม่ต่ำกว่า 70% แน่นอน และใช้เวลาประมาณ 45-60 นาทีขึ้นไป จึงได้แบตเตอรี่ที่เต็ม 100% ทั้งเคสและหูฟัง ฉะนั้น ถ้าใช้ที่ชาร์จ 12W / 18W หรือไวกว่านั้น ก็จะลดเวลาลงไปได้ต่ำกว่า 60 นาทีแน่นอน หากใช้ที่ชาร์จแบบไร้สายที่รองรับ 7.5W ชาร์จตลับที่แบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 10% ไปจนเต็ม 100% สามารถใช้เวลาที่ดีกว่า 5W ขึ้นมาเล็กน้อย สามารถชาร์จให้เต็ม 100% ในเวลาไม่เกิน 60 นาที ส่วนการใช้งานหูฟัง ถ้าหูฟังแบตเตอรี่หมด แล้วใส่กลับลงตลับ สำหรับรุ่น 2 สามารถใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็สามารถได้แบตเตอรี่เต็มหูฟัง 100%

โดยสรุปแล้ว การใช้พลังงานของ AirPods ถ้าจับเวลาเป็นตัวเลขแล้ว อาจไม่เห็นความแตกต่างที่ก้าวกระโดด แต่ถ้าวัดกันทางความรู้สึก การใช้พลังงานของหูฟังทำได้ดีขึ้น หมดช้าลงกว่าเดิมทางความรู้สึก ระยะเวลาการใช้งาน AirPods รุ่น 2 ถือว่ายังรักษามาตราฐานไว้ได้ เพิ่มเติมคือใช้พลังงานได้เสถียรขึ้นนั่นเอง

สรุป

“ถ้า AirPods คือต้นแบบของการทำหูฟังไร้สายแบบ ไร้สายจริง ๆ AirPods รุ่น 2 คือต้นแบบของการทำประสบการณ์หูฟังไร้สายที่สมบูรณ์”

ตอนที่ได้ลองใช้ AirPods รุ่นแรก มันไม่ใช่หูฟังที่สมบูรณ์แบบอะไร หลายมุมที่คนคาดหวัง ค่อนไปทางธรรมดาด้วยซ้ำ เสียง? ก็ดี แต่ไม่ใช่ดีเลิศเท่าที่บรรดาหูทองทั้งหลายชอบ ความสามารถ? ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการฟัง ราคา? มีสินค้า​ Apple ชิ้นไหนที่ไม่โดนบ่นว่า “แพง” บ้าง แต่สิ่งที่ AirPods มอบให้ คือต้นแบบของการทำหูฟังไร้สายแบบ ไร้สายจริง ๆ ไม่ว่าจะขนาดที่เล็กแบบพกพาไปไหนได้โดยไม่รู้สึกเกะกะ ใช้งานได้อิสระ ไม่มีสายอะไรมาเหนี่ยวรั้งหูซ้ายหูขวา ระยะเวลาใช้งานเทียบกับขนาดตัวหูฟัง ถือว่าใช้งานจริงได้ ฟังตอนเดินทาง ฟังตอนทำงานได้ ชาร์จกลับเร็วทั้งตัวหูฟังและตลับ ความต้นแบบของ AirPods เมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้ผมคิดว่า ไม่น่าจะนานเกินรอ แบรนด์อื่น ๆ ที่ทำหูฟังไร้สายมาก่อน / ทำหูฟัง / ทำสินค้า IT น่าจะทำตามได้ไม่ยากแน่นอน

แต่ในความเป็นจริง 2 ปีที่ผ่านไป ยังไม่มีแบรนด์ไหน สามารถเลียนแบบเสน่ห์สำคัญของ AirPods ได้ครบทั้งหมดซะที จริงอยู่ ความสามารถหรือคุณภาพเสียง ทำให้เหนือกว่าแล้ว แต่เสน่ห์จริง ๆ ของ AirPods ไม่ว่าจะเรื่องขนาด กายภาพของตลับ การใช้งาน การเก็บหูฟัง การสวมใส่ที่สวมใส่ง่าย การใช้พลังงานต่อขนาดตัวที่สมเหตุสมผล ยังไม่มีแบรนด์ไหน สามารถทำได้เท่า หรือทำได้ดีกว่า เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หูฟังแนวไร้สายของทุกแบรนด์ ตลับเป็นทรงตลับยา ฝาตลับเป็นตัวล็อคที่ต้องใช้สองมือแกะเป็นหลัก / เก็บหูฟังแบบวางเฉย ๆ ไม่มีแม่เหล็กล็อคให้ลงเบ้าตลับหรือกันหล่น / ถ้าหูฟังใช้งานได้เท่า AirPods ตลับก็จะแบตเตอรี่น้อยกว่า AirPods หรือถ้าตลับชาร์จได้นาน ตัวหูฟังใช้งานต่อรอบ ก็ต้องทำได้น้อยกว่า​ AirPods นั่นเท่ากับ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกแบรนด์ยังไม่สามารถลอกเสน่ห์สำคัญเหล่านี้ได้สำเร็จ ทั้งที่ไม่น่ายาก แถมน่าจะต่อยอดได้ดีกว่านี้ (ถ้ามีแบรนด์ไหนที่ทำทรงเล็กกว่า กายภาพตลับดีกว่า แบตเตอรี่ทั้งตัวตลับและหูฟัง เทียบขนาดต่อแบตเตอรี่แล้ว ใช้ได้นานกว่า ฝากบอกผมด้วยนะครับ เพราะผมคิดไม่ออกจริง ๆ)

AirPods รุ่น 2 ถ้าพูดกันตรง ๆ ในรีวิวนี้ “ผมคงไม่ซื้อ” เพราะ AirPods รุ่นแรกที่ใช้อยู่ สิ่งที่ทำได้หลัก ๆ มันก็ดีพอสำหรับการใช้งานในแต่ละวันอยู่แล้ว เรื่องการเชื่อมต่อเร็วขึ้น / การชาร์จไร้สาย เป็นสิ่งที่ ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ที่ต้องซื้อ เพราะรุ่นแรกที่ใช้งานมา 2 ปี ออกอาการแบตฯ เสื่อมแบบใช้งานไม่ได้อีกเลย แล้วชีวิตประจำวันผม หูฟังที่ใช้แล้ว คล่องตัวสุด ก็ต้อง AirPods เท่านั้น การได้อยู่กับรุ่น 2 แบบจริงจัง ทำให้ความคิดหนึ่งของผมเปลี่ยนไปพอสมควร ความใหม่ของ​มัน คือการแก้จุดอ่อนสำคัญ ๆ จากรุ่นแรก จนถ้ามีรุ่นแรกอยู่ แล้วสภาพยังเต็มร้อย ผมคงยอมขายมือสองเพื่อสมทบทุนมาซื้อรุ่นใหม่แน่ ๆ

การที่ Apple เน้นเรื่องการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น เสถียรขึ้น คือการแก้ปัญหาสำคัญของหูฟังไร้สายทั้งวงการ แน่นอนว่า ต่อให้เสียงดีแค่ไหน แต่การเจอปัญหา สัญญาณขาด หยิบใช้งานแล้ว เชื่อมต่อช้า หรือไม่เชื่อมต่อเอาดื้อ ๆ หรือจะสลับอุปกรณ์ แต่ก็สลับได้ช้า หรือไม่ค่อยได้ คือการทำให้ประสบการณ์หูฟังไร้สายแย่ลง การยกระดับสเปคส่วนนี้ของ​ AirPods รุ่น 2 คือการทำให้มั่นใจได้ว่า หูฟังจะพร้อมใช้งานเสมอ ส่งต่อผลพลอยได้สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานขึ้น เพราะทุกการกระตุกขณะใช้งาน ทุกความพยายามของการเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ คือการใช้พลังงานอย่างเสียงเปล่า เมื่อชไม่เสียเปล่ากับการกระตุก แบตเตอรี่ในการใช้งานก็ดีขึ้น เมื่อการเชื่อมต่อเสถียร คุณภาพเสียงที่ได้รับจากการฟัง ก็ราบรื่นขึ้น ต่อให้คุณผู้อ่านเอารุ่นใหม่ไปฟัง แล้วบอกว่า “เสียงไม่ได้เปลี่ยนไป” แต่ที่มั่นใจได้มากขึ้นคือ ฟังแล้วจะรื่นรมณ์เพราะมันเสถียร

นอกจากเชื่อมต่อได้ดีแล้ว ส่วนตัวผมขอลงความเห็นเรื่องคุณภาพเสียงของ AirPods รุ่น 2 ว่า ทำออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิมในแง่รายละเอียด จุดที่ไม่ชอบและรอการทำให้ดีขึ้นจากรุ่นที่ 2 ก็ยังมีอยู่เช่นกัน อย่างแรก การใช้งาน “หวัดดี Siri” ในการปรับเสียง จริงอยู่ว่าเป็นวิธีการที่ดี แต่การเอยปากคำว่า “หวัดดี Siri ปรับเสียง” ขณะนั่งรถไฟฟ้าหรือท่ามกลางผู้คน คงดูเขิน ๆ ให้คนรอบข้างมองเราแบบงง ๆ หาก Apple อยากให้ AirPods เรียบง่าย รองรับแค่การเคาะเป็นหลัก ลองเพิ่มการเคาะสามที แบบตั้งค่าเลยว่า เคาะสามทีหูข้างซ้าย คือเพิ่มเสียง ข้างขวาคือลดเสียง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการปรับเสียงให้คล่องตัวขึ้น หรือถ้าอยากให้สั่งผ่าน Siri จริง ๆ ไมค์ของ AirPods ต้องสามารถจับเสียงเจ้าของหูฟังแม่นยำกว่านี้มาก ๆ เพราะเวลาพูด “หวัดดี Siri” ขณะใส่หูฟังทั้งสองข้าง คนใส่จะไม่รู้ระดับเสียงที่ตัวเองพูดว่า เบาหรือดังพอที่จะสั่งไหม รวมถึงเสียงของ Siri ที่ตอบรับในหูฟัง ควรปรับให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมกว่านี้ เพราะการใช้งานจริง เสียงของ Siri เวลาใช้งานในที่ชุมชน ถือว่ายังดังไม่พอในการใช้งาน อีกจุดที่ต้องปรับให้ดีขึ้น คือไมค์ฯ ของหูฟัง การรับเสียงผู้ใช้ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมใช้งานเป็นอย่างไร ควรรับเสียงในระดับที่ผู้ใช้งาน สามารถสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเพิ่มเสียงตัวเองในการพูดจนเกินไป ในขณะที่การตัดเสียงรบกวน การแยกแยะเสียงที่ไม่ใช่เสียงเจ้าของหูฟัง น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ก็เป็นการบ้านให้ Apple ทำยังไงก็ได้ ให้ไมค์ฯ ที่ปลายหูฟัง สามารถทำให้ผู้ใช้งาน พูดคุยแบบไม่ต้องตะเบ็งเสียงไปที่ปลายสาย หรือตะเบ็งเสียงเรียก Siri ท่ามกลางผู้คนมากมาย และทำให้คู่สายรู้สึกได้ว่า กำลังคุยอย่างสงบ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ผู้ใช้งานอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย

ถ้าคิดว่า “เอา AirPods แน่ ๆ” หรือมี AirPods รุ่นแรกอยู่แล้ว แต่จะซื้อรุ่นใหม่ดีไหม? ผมขอเขียนแบบนี้ละกัน

  • ถ้าซื้อมาเพื่อใช้งานระหว่างเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ มีการเดินทางที่แน่นอนว่า ไปไหน กลับไหน ใช้งานร่วมกับ iPhone ของตัวเองหนึ่งเครื่อง อาจมี iPad หรือไม่มีเลย ถ้าใช้รุ่นแรกอยู่ แล้วความฟิตของแบตเตอรี่ยังดีอยู่ ยังไม่ต้องเปลี่ยนไปรุ่น 2 ก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มี รุ่น 2 แบบตลับปกติ คือตัวเลือกที่ดีที่สุด
  • ถ้าเป็นแฟน Apple แบบ มีทั้ง Mac / iPhone / iPad รวมกันคนเดียวหลายเครื่อง ถ้ามีรุ่นแรกอยู่ การไปรุ่น 2 ไม่ว่าจะแบบตลับปกติ หรือตลับไร้สาย คือการเติมเต็มประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน แก้ปัญหาสลับอุปกรณ์ที่น่าหงุดหงิดให้หายไป 
  • ถ้ายังไม่เคยมี AirPods แต่อยากซื้อ รุ่นตลับปกติ คือตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในส่วนตัวผม เพราะรุ่นตลับชาร์จไร้สาย หากต้องมีแท่นชาร์จเพิ่มหนึ่งแท่น เพื่อชาร์จหูฟัง แล้วต้องจัดที่วางกันใหม่ หาปลั๊ก หรือดูเป็นภาระ การชาร์จผ่านสายรอบละ 45 นาทีต่อวัน ดูจะเป็นทางที่สะดวก ใช้ได้คล่องตัวแบบไม่ต้องห่วงแบตเตอรี่ไม่พอในแต่ละวันแน่นอน อีกอย่างหนึ่ง ส่วนต่าง 1,290 บาท เอาไปซื้อเคสใส่ AirPods หรืออุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ก็ดูเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่า แต่ถ้ารักความสะดวกจริง ๆ เจ็บแต่จบกับรุ่นตลับชาร์จไร้สายไปเลยละกันครับ

ท้ายสุดนี้ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าผู้อ่านคนไหนอ่านถึงตรงนี้ ก็ยังยืนยันว่า AirPods เป็นของที่ไม่สมราคา หรือยังไงก็ไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต่อให้ไม่ชอบ ก็คงต้องยอมรับกันจริง ๆ นั่นคือโลกของหูฟังแบบไร้สาย ก้าวหน้า คึกคักมากขึ้น เพราะ AirPods คือตัวละครสำคัญที่ทำให้วงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ การเป็นต้นแบบของสินค้าทั้งวงการ บางครั้งไม่ต้องดีที่สุด ขอแค่ทำถูกต้องกับคนส่วนใหญ่ เมื่อคำตอบถูกต้อง คนที่เก่งในด้านไหนเป็นพิเศษ ก็สามารถจับไปต่อยอดได้เอง ความสำเร็จของ AirPods คงไม่ต้องหาอะไรมาวัด เพราะเชื่อว่า ผู้อ่านน่าจะเห็นได้จากชีวิตประจำวัน ที่ในหูของหลายคน คือ​ AirPods และสิ่งเดียวที่ผมหวังต่อไปจากนี้ จะได้เห็นแบรนด์หูฟัง แบรนด์สินค้า IT อื่น ๆ สามารถเอาเสน่ห์ของ​ AirPods ไปพัฒนาต่อให้มีความเป็นตัวเอง ทำได้ดีกว่าทั้งคุณภาพเสียง การใช้พลังงาน ในอนาคตต่อไปจากนี้

และหวังว่าในอีกไม่นานต่อไปจากนี้ ผมจะได้เจอหูฟังไร้สายที่พูดได้ว่า “มีเสน่ห์กว่า​​ AirPods” จริง ๆ ซะที เพราะไม่งั้นแล้ว โลกใบนี้คงสนุกน้อยลงในความรู้สึกผมแน่นอนครับ

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^