ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าทุกคนได้สังเกตเห็นถึงกระแสและความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่มีความรุนแรงมากจนถึงปัจจุบัน ใช่ครับ ที่กำลังพูดถึงอยู่ คือกระแสของคำว่า E-Sport และ PC Gaming ที่มาแรงมากในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้เห็นคือผู้ผลิตทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายต่างกระโดดลงสนาม E-Sport และ PC Gaming กันอย่างล้นหลาม เริ่มตั้งแต่รายเล็ก ๆ ในโซนเอเชีย ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ในฝั่งอเมริกาอย่าง Dell EMC เองก็มีสนใจในตลาดนี้ไม่แพ้กัน และยังคงมีสินค้าออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
Dell EMC เริ่มต้นการบุกตลาด Gaming จากการเข้าซื้อกิจการของ Alienware ทั้งบริษัทเมื่อปี 2006 เพื่อนำผลิตภัณฑ์สายเกมมาเสริมในพอร์ตที่เดิม Dell เน้นอุปกรณ์และคอมพิวเตอร์ประเภทใช้งานในองค์กรและธุรกิจเป็นหลัก และมี Studio กับ XPS เสริมในตลาดกลุ่ม Workstation รองลงมา นับจากนั้น Dell เริ่มบุกตลาด Consumer อย่างจริงจังด้วยการออกผลิตภัณฑ์สาย Inspiron และแตกไลน์ Inspiron Gaming ออกมาเสริมในตลาด Gaming ที่งบน้อยและไม่สามารถเข้าถึง Alienware ได้ แต่การออกผลิตภัณฑ์สำหรับตลาด Entry Level (ต่ำกว่า 30,000 บาท) แล้วข้ามไป Premium Level (80,000 บาทขึ้นไป) เลย ทำให้ Dell ไม่มีผลิตภัณฑ์ช่วง Midtier ออกวางจำหน่ายแข่งกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เน้น Midtier ก่อน ดังนั้นในปี 2017 เราจึงได้เห็น Dell ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ Inspiron G มาอุดตลาดนี้ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “G Series” ในปี 2018

ผลิตภัณฑ์ Dell G Series มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสองรุ่น คือ Dell G3 ที่เน้นความบางและความสะดวกสบายในการพกพา แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยสเปคและประสิทธิภาพที่รุนแรงสำหรับการเล่นเกม และ Dell G7 ที่จะได้เห็นในลองแล้วเล่าครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ตัวบนสุดของ G Series ซึ่งเน้นความดุดันทั้งด้านสเปค และดีไซน์ชนิดที่เทียบเท่า Alienware เลยก็ว่าได้ แต่ก็ยังแฝงไปความเป็นไลฟ์สไตล์ในงานออกแบบ และการปรับบางส่วนของเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยทั่ว ๆ ไป
ในวันที่ลงบทความนี้ Dell G7 ผ่านการปรับสเปคมาแล้วเมื่อต้นปี 2019 โดยมีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ตัวเครื่องและพอร์ตต่าง ๆ เล็กน้อย และเปลี่ยน GPU เป็น GeForce RTX ซึ่งประสิทธิภาพอาจจะไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก แต่ได้คุณสมบัติการทำ Ray Tracing เพิ่มเข้ามา ฉะนั้นลองแล้วเล่าในครั้งนี้ อาจจะดูช้าไปมาก ก็ต้องขออภัยมาล่วงหน้า ณ ที่นี้ด้วยครับ
ก่อนจะเข้าเรื่อง ก็ต้องขอขอบคุณทาง Dell Thailand ที่มอบ Dell G7 มาให้ได้ลองแล้วเล่าในครั้งนี้ด้วยเช่นกันครับ
ส่องดีไซน์รอบเครื่อง

มาเริ่มกันที่ดีไซน์รอบเครื่องก่อนดีกว่า Dell G7 2018 ตัวนี้มาพร้อมกับดีไซน์ที่ออกจะโฉบเฉี่ยวตั้งแต่แรกสัมผัส มีการเล่นสี เล่นขอบ ตัดขอบให้ดูดุดัน แต่ก็ยังคงแฝงไปด้วยดีไซน์ที่ดูแล้วไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ Gaming จ๋ามากนัก และที่โดดเด่นไปกว่าใคร Dell G Series น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวเดียวของ Dell ที่ใช้โลโก้ Dell บนฝา Clamshell เป็นสีน้ำเงิน แทนสีเงินที่ใช้ในตระกูลอื่น ๆ

แถบสีดำด้านหลังตัวเครื่องนั้น ดูเผิน ๆ อาจจะไม่มีอะไร แต่ข้าง ๆ มันคือช่องระบายลมร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานตัวเครื่อง ซึ่งบอกเลยว่ามีความร้อนที่สูงพอสมควร ชนิดที่ว่าเอาแก้วมัค Starbucks มาวาง สามารถอุ่นแก้วและเครื่องดื่มให้พออุ่นได้เลย

พอร์ตส่วนใหญ่ของตัวเครื่องจะรวมอยู่ที่ฝั่งขวาทั้งหมด โดย G7 2018 ให้ USB-A 3.1 3 พอร์ต (อยู่ซ้ายอีก 1) กับ Thunderbolt 3, HDMI, RJ-45 (พอร์ตแลน) และ Combo Jack 3.5mm อย่างละ 1 พอร์ต ส่วนช่องเสียบสายไฟและ SD Card อยู่ด้านขวาทั้งหมด ส่วนแถบสีดำด้านหน้าที่ตัดเฉียงลงนั้น เป็นที่อยู่ของลำโพงหลักของเครื่อง และตรงกลางมีการแซะร่องสำหรับใช้เปิดหน้าจอขึ้นมาใช้งาน

เมื่อเปิดฝาขึ้นมา เราจะเจอกับหน้าจอใหญ่ขนาด 15 นิ้ว เป็นหน้าจอ IPS แบบ Anti-glare ลดแสงสะท้อนระหว่างการใช้งาน พร้อมคีย์บอร์ดแบบ Full-size และ Touchpad ที่ตัดขอบเพชรด้วยสีน้ำเงินเป็นอย่างดี มุมขวาบนของเครื่องเป็นตัวอ่านลายนิ้วมือแบบ Touch ID บน MacBook รองรับการใช้งานร่วมกับ Windows Hello ทำให้สามารถปลดล็อกเครื่องได้ภายในเสี้ยววินาทีนับตั้งแต่เปิดเครื่องขึ้นมาเลย

แกนพับของ G7 2018 ถูกออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่ และมีความหนืดในการใช้งานเป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความคงทนในขณะที่เปิดหน้าจอได้อย่างดีเยี่ยม แต่ในขณะเดียวกันนั้น ความหนืดของแกนพับ ทำให้ต้องใช้แรงในการเปิดจอขึ้นมาพอสมควร เมื่อหักลบแล้วแกนพับอาจจะไม่ได้เสียง่าย ๆ แต่จุดที่จะเสียได้ง่ายกลับเป็นส่วนของหน้าจอแทน เพราะตัวหน้าจอเองก็ไม่ได้มีแผ่นกระจกมาปิดทับเพื่อเพิ่มความคงทนให้กับหน้าจอเช่นกัน
ลองใช้งาน... เอ้ย เล่นเกมจริง

ก่อนจะเริ่มส่วนนี้ เรามาดูสเปคตัวที่ได้มารีวิวก่อนดีกว่า ตัวนี้เป็น G7 15 7588 (W56791807TH) มีสเปคหลัก ๆ ดังนี้
- CPU: Intel Core i7-8750H ความเร็ว 2.2 GHz Boost ได้สูงสุดถึง 4.1 GHz
- GPU: NVIDIA GeForce GTX 1060 Max-Q พร้อมแรม GDDR5 6 GB
- แรม: 16 GB DDR4
- พื้นที่เก็บข้อมูล: SSD 256 GB แบบ m.2 และ HDD 1 TB ความเร็ว 5400 รอบต่อนาที

เมื่อดูเผิน ๆ แน่นอนว่า G7 2018 ตัวนี้มีสเปคอยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับค่าตัว 48,900 บาท ถือว่าสเปคที่ได้กับราคาคุ้มมากที่สุดในกลุ่ม Midtier Level เพราะเมื่อเทียบกับราคาระดับเดียวกัน Segment เดียวกัน คู่แข่งอาจให้ GeForce GT รุ่นตัดสเปค แทนการให้ GeForce GTX Max-Q แบบเต็ม ๆ
เชื่อว่าอ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนคงจะสงสัยว่า GeForce GTX Max-Q คืออะไร ทำไมถึงดีกว่า? คำตอบก็ง่าย ๆ ครับ Max-Q เป็นสายแยกของ GeForce GTX ตัวเต็มที่ NVIDIA ทำออกมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความบางของตัวเครื่อง และลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็นเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คทั่ว ๆ ไปที่ใส่ GeForce GTX เกรด Desktop ลงมาจัง ๆ ฉะนั้นผลที่ได้คือตัวเครื่องจะมีความบางที่บางลงมากจนถึงขั้นสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพเองก็ไม่ได้ตกลงแถมยังดีกว่ารุ่นตัดสเปคถึงสามเท่า

ต้องบอกว่าเป็นโชคดีของผมที่ผมมี PC ที่ใช้ GeForce GTX 1060 ตัวใหญ่เทียบกัน บอกได้เลยว่าประสิทธิภาพด้านการเล่นเกมที่ G7 2018 ให้นั้น ไม่ต่างจาก PC เลยแม้แต่น้อยเลย โดยเมื่อเทียบจากเกม Black Desert ด้วยการตั้งค่าระดับเดียวกัน (Remaster) ผลที่ได้แทบไม่ต่างกันเลย คือตัวเครื่องส่งผลให้เกมมีความลื่นไหลเหมือนกัน ดันเฟรมเรตได้สูงถึง 60 เฟรมต่อวินาทีเช่นกัน นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า GeForce GTX Max-Q ทำออกมาได้ดีและใช้ได้เต็มประสิทธิภาพไม่แพ้ฝั่ง Desktop แม้แต่น้อย

ในส่วนของการเล่นเกมอื่น ๆ เช่น Overwatch หรือ Blade & Soul ตัวเครื่อง G7 2018 ก็สามารถแสดงประสิทธิภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการหมกเม็ด หรือแสดงอาการกระตุกให้เห็น โดยเฉพาะเมื่อลงดันเจี้ยนใหญ่ใน Blade & Soul ตัวเครื่องแทบไม่แสดงอาการกระตุกจากการมีผู้เล่นอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากเลย ซึ่งถ้าเป็นแบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้กราฟิกการ์ดรุ่นต่ำกว่า อาจจำเป็นต้องปิดการแสดงผลผู้เล่นออกไปเพื่อลดการประมวลผลตัวเครื่องให้กลับมาอยู่ในระดับที่สามารถเล่นได้แบบปกติแทน

ถ้าจะถามต่อว่าทำไม G7 2018 ถึงรักษาทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพเอาไว้ได้แบบชนิดที่ไม่เกรงใจรุ่นราคา 80,000 อัพ… ความลับของ G7 2018 ก็คือซอฟต์แวร์ชุด GeForce Experience ตัวนี้นั่นแหละครับ ซึ่งเจ้า GeForce Experience ตัวนี้จะช่วยในการปรับแต่งเกมให้มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยังรักษาประสิทธิภาพ และการประหยัดพลังงานเอาไว้อย่างครบถ้วน นั่นหมายความว่าต่อให้เกมจะมีคุณภาพที่ดีเท่าไหร่ GeForce Experience ก็สามารถช่วยให้รักษาทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพของตัวเกมเอาไว้ได้อย่างครบครันเพียงแค่คลิกเดียว
แล้วการใช้งานทั่ว ๆ ไปล่ะ?

ด้วยกลุ่มเป้าหมายของ Dell G Series ที่ต้องการตอบสนองต่อกลุ่ม Semi-Hardcord Gamers ที่ต้องการความแรงเพื่อการเล่นเกม แต่ไม่ทิ้งการใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้ว บอกได้เลยครับว่ายังไงตัวนี้ก็ครบเครื่องกว่า Gaming PC แน่นอน หลัก ๆ คงเป็นเรื่องของ Windows 10 ที่มีทุกอย่างให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว และเมื่อมาอยู่บน SSD ทำให้ Windows 10 ยิ่งทำงานเร็วเข้าไปใหญ่ ชนิดที่ว่าเคยชินความเร็วจาก Windows ตัวเก่า ๆ หรือจากฝั่ง macOS มาก่อน ก็ปรับตัวได้ไม่ยาก แต่อย่างไรเสีย G7 2018 ยังมีจุดแข็งที่เหนือกว่า PC Gaming รายอื่น ๆ อย่างชัดเจนอีกสองเรื่องด้วย
อย่างแรกคือคีย์บอร์ดของ G7 2018 ที่ใช้คีย์บอร์ดแบบเดียวกับที่ใช้ใน Studio XPS สมัยก่อน ไม่ใช่คีย์บอร์ดแบบแมคคานิคที่กดแล้วต้องมีเสียงดังแป้ก ๆ ทุกครั้งเหมือนคอมสายเกมตัวอื่น ๆ ฉะนั้นแล้ว ในแง่ของการใช้งานและการพิมพ์สัมผัสย่อมทำได้ดีกว่า PC กลุ่มเดียวกันอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกัน Touchpad ขนาดใหญ่ก็เป็นแบบเดียวกับสาย MacBook ทำให้ไม่จำเป็นต้องมี Scrollbar ด้านข้างเพื่อเลื่อนเนื้อหาขึ้นลงอีกต่อไป เรียกว่าใช้งานได้สะดวกสบายกว่าเดิมแบบเห็น ๆ
สิ่งที่ขัดใจจากคีย์บอร์ดมีเพียงอย่างเดียว คือ G7 ออกแบบให้คีย์บอร์ดเป็นช่องระบายความร้อนจากการใช้งานด้วย ฉะนั้นเวลาใช้งานหนัก ๆ คีย์บอร์ดจะค่อนข้างร้อนมาก และจะมีลมเป่าขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อเร่งระบายความร้อนออกไปให้ได้มากที่สุด

อีกอย่างที่ดีกว่าคือโซลูชัน My Dell ที่คอยตรวจสอบการใช้งาน รายงานสถานะตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์อัพเดตที่จำเป็น และปรับจูนตัวเครื่องอัตโนมัติ ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่อุปกรณ์บางอย่างต้องอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ จากเดิมที่เราต้องไปนั่งไล่หาเฟิร์มแวร์เพื่อมาติดตั้งในเว็บไซต์ของผู้ผลิต My Dell จะช่วยจัดการดาวน์โหลดมาเตรียมไว้ให้เอง และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทำการติดตั้งและรีสตาร์ทเครื่องต่อไป

หรือในกรณีที่ตัวเครื่องมีปัญหาจนต้องเรียกช่างเข้ามาดูแล ด้วยประกันแบบ On-site Service ของ Dell เราเพียงแค่โทรติดต่อศูนย์บริการพร้อมแจ้ง Express Service Code เท่านั้น ช่างสามารถสั่ง Remote มาตรวจสอบอาการเบื้องต้น และจัดเตรียมอะไหล่ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการให้บริการต่อไปได้ทันที เรียกว่าสะดวกสบาย แถมยังหายห่วงเรื่องการบริการได้เลย
สรุป "นี่คือโน้ตบุ๊คสายเกมที่ไม่ได้มีดีแค่อย่างเดียว"

หากมองหาโน้ตบุ๊คเกมที่ไม่ใช่มีดีแค่การเล่นเกมนั้น ถ้ามองหาจากแบรนด์อื่น ๆ น่าจะหาได้ยาก แต่สำหรับ G7 2018 ถือว่าทำมาได้ลงตัวและน่าสนใจมากเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ และยี่ห้ออื่น ๆ ใน Segment เดียวกัน ในแง่ประสิทธิภาพคงไม่ต้องพูดถึงมาก แต่ในแง่ของการใช้งานในภาพรวมที่ไม่ใช่แค่เล่นเกมอย่างเดียว เมื่อเทียบแบรนด์อื่น ๆ แล้ว G7 2018 เหนือกว่าอย่างชัดเจน
ด้วยความที่ G Series ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในด้านไลฟ์สไตล์เป็นหลัก สิ่งที่ Dell นำเสนอออกมาแม้จะเป็นคอมพิวเตอร์เฉพาะกลุ่ม แต่ภาพรวม Dell ยังคงรักษามาตรฐานที่ทำไว้กับ Studio XPS ได้อย่างเต็มที่ ฟีเจอร์หลายต่อหลายอย่างที่ Dell เพิ่มมาใน G7 2018 ก็ตอบสนองต่อการใช้งานแทบทุกส่วน โดยเฉพาะเรื่องของตัวอ่านลายนิ้วมือที่ทำให้ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และอ่านได้ค่อนข้างแม่นยำ ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ทำได้ดีกว่าตัวอื่น ๆ แบบเห็น ๆ กันเลยทีเดียว

เมื่อมีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย เพราะข้อเสียสองอย่างที่เจอจาก G7 2018 ตัวนี้ อย่างแรกคือตัวเครื่อง “ค่อนข้างหนัก” ด้วยน้ำหนักตัวสูงถึง 2.3 กิโลกรัม ถ้ารวม Adaptor แล้วก็น่าจะฟาดไปเกือบ ๆ 4 กิโลกว่า เรียกว่าสะพายทีหลังเกือบหัก ข้อนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการพกพาที่ดีพอ (ที่ G3 ทำได้ดีกว่า) แต่ถ้ามองในแง่ของการใช้งานเป็น Desktop Replacement ถือว่า G7 2018 มาถูกทาง สามารถต่อสายทิ้งเป็น Desktop ไว้ที่บ้านได้เลย กับอีกข้อคือ G7 2018 ไม่ได้ให้ Windows 10 มาด้วย (ตัวเครื่องมาพร้อมกับ Ubuntu อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการ Windows ก็ต้องซื้อเพิ่ม) ซึ่งข้อนี้จะไม่เป็นปัญหามากเลยถ้าการติดตั้ง Windows บน SSD สามารถทำได้ง่าย แต่สำหรับ G7 ที่ผมเจอช่วงแรก เจอปัญหาตัวติดตั้งมองไม่เห็น SSD ต้องรีสตาร์ทกันอยู่หลายครั้งถึงจะเห็น ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากให้กระโดดไปซื้อ G7 2019 ที่มาพร้อมกับ Windows 10 เลยจะสะดวกกว่ามาก แต่ถ้างบมีจำกัดจริง ๆ ก็สามารถซื้อ G7 ตัวนี้แล้วไปซื้อ Windows เพิ่มเอาทีหลังได้ เพราะยังไงเดี๋ยวนี้ราคา Windows ก็ไม่ได้แพงมากเหมือนสมัยก่อนแล้วล่ะครับ
สเปคปี 2018 กับราคา 48,900 บาท น่าเกลียดมั้ยถ้าซื้อตอนนี้ บอกเลยว่าไม่น่าเกลียด แถมยังเซฟเงินได้อีกสองหมื่นแบบสบาย ๆ เพราะด้วยราคาของปี 2019 ที่แอบกระโดดไปไกล(นิดนึง) (69,990 บาท) การซื้อรุ่นที่มีสเปคต่ำกว่าหนึ่งสเตปถือว่าพอทดแทนกันได้ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ใช้งานกันสัก 3-5 ปีก็คุ้มกับเงินที่เสียไปแล้ว และสเปคเครื่องเองก็ออกแบบมาให้ใช้งานได้นานเช่นกัน ฉะนั้นด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ บวกกับบริการหลังการขายของ Dell บอกเลยว่าซื้อตอนนี้ยังไงก็คุ้ม
เว้นซะแต่ว่า ถ้าอยากได้ Ray Tracing จริง ๆ อันนั้นก็ต้องยอมกัดฟันซื้อ G7 2019 แทนนั่นแหละครับ 😛