สักประมาณ 5 ปีที่แล้ว…สิ่งหนึ่งที่ตามมากับอายุที่มากขึ้น การใช้ชีวิตแบบวัยทำงาน นั่นคือควา”อ้วน” อันที่จริง นี่ไม่ใช่รีวิวสร้างกล้าม สุขภาพ แต่เชื่อเถอะครับ อายุมากขึ้น ความเครียด อาหารที่อร่อย การนั่ง ๆ นอน ๆ ทำให้สุขภาพถดถอยลงได้ สัญลักษณ์ที่ง่ายที่สุดที่บอกว่ามันมาแล้ว ก็คือไขมันที่กำลังกองอยู่ที่หน้าท้องของเรานี่แหละครับ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่หนีไม่พ้นเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไขมันหน้าท้อง ความแข็งแรงของร่างกาย ทุกอย่างไม่ได้ดีจนเริ่มส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นไปเรื่อย ๆ
การลุกมาออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร นอนให้เพียงพอ มันปรับพฤติกรรมชีวิตในหลายด้าน ช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริง ๆ ครับ ไม่ใช่แค่สุขภาพ แต่มันรวมถึงความมั่นใจในตัวเอง เป็นระเบียบมากขึ้น หลายสิ่งในชีวิตผมเปลี่ยนไปในทางที่ดี ถึงจะเล็กน้อย แต่มันทำให้ผมเชื่อว่า เมื่อผมไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เรื่องอื่น ๆ ผมก็ต้องทำได้เช่นกัน ถึงตอนแรกสุด ผมขอแค่สุขภาพดีขึ้น ผอมลง นอนหลับง่ายขึ้น ก็พอแล้ว แต่ยิ่งทำ มันยิ่งท้าทายให้เราไปได้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ เป้าหมายตัวผมเอง คือการมีหุ่นที่ดี แข็งแรง แบบที่ผู้ชายสักคนควรมีครับ
ในเมื่อผมเป็นคนชอบ Gadget แน่นอนว่าการไปยิม ของที่ต้องมีแน่ ๆ ก็คือหูฟังสำหรับฟังเพลง แรก ๆ ก็หูฟังแถมในกล่อง iPhone แต่มันก็ทำอะไรไม่สะดวกเพราะสาย จนมาถึงหูฟัง Bluetooth แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี ถึงไม่มีสาย แต่คุณภาพเสียงก็ไม่ใช่ว่าจะรับได้เท่าไหร่ ยิ่งเป็นหูฟังไร้สายเพื่อการออกกำลังกาย สิ่งที่ผมต้องเจอคือ ถ้าใส่สบาย เคลื่อนไหวดี เสียงจะไม่ถูกใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าเสียงถูกใจ ก็ต้องไปตกม้าตายเรื่องกายภาพการใช้งาน เรียกว่า สิ่งที่ลงตัวทั้งเสียง การใช้งาน ต้องชั่งเอาว่าจะเอาทางไหนเป็นพิเศษ หูฟังออกกำลังกายที่ผมรู้สึกว่าลงตัวเป็นการส่วนตัว จึงเป็นตระกูล Powerbeats โดยรุ่นแรกยังเป็นแบบสาย เรื่องเสียงไม่ต้องเล่า เพราะไม่น่านึกถึงอะไรทั้งสิ้น รุ่น 2 ทำออกมาในรูปแบบหูฟังไร้สาย พอจะใช้ในภาพรวม มีสายคล้องหลังให้เกาะคอเล็กน้อย คุณภาพเสียงพอคุยกันได้ แต่ปัญหาสำคัญคือ งานประกอบแย่มาก บางท่านซื้อปุ๊ป พังคากล่องเลยก็มีให้เห็นมาแล้ว ในรุ่น 3 ที่ตอนนี้ก็ยังจำหน่ายอยู่ ปรับปรุงเรื่องงานประกอบให้ดีขึ้น คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น ใส่ W1 Chip แบบ AirPods รุ่นแรก ทำให้รุ่น 3 เป็นอะไรที่ตอบโจทย์มากสำหรับคนใช้ iPhone ที่อยากได้หูฟังออกกำลังกาย หรือใช้งานฟังเพลงขณะเดินทางแบบไม่พกพาง่าย

พอโลกหมุนมาถึงยุค True Wireless ความนิยมของ AirPods ในรอบสองปีที่ผ่านมา จุดกระแสให้คนยอมรับการใช้งานหูฟังไร้สายมากขึ้น เทคโนโลยี Bluetooth ที่มาถึงจุดที่เชื่อมต่อเสถียร มีคุณภาพเสียง ใช้พลังงานน้อย ในขณะที่ราคาก็อยู่ในจุดที่พอจับต้องได้ มองกลับมาที่ Powerbeats แล้ว ผมก็มีคำถามในใจเล็ก ๆ ว่า “หูฟังแบบไร้สาย คือหูฟังแนวเดียวกับ AirPods แต่ทำมาเพื่อการออกกำลังกาย “แล้วทำไม Beats ไม่ทำซะที?” โอเค…หลายคนใช้ AirPods ในการออกกำลังกาย ผมคนหนึ่งที่อยู่ในจำพวก รอบเดียวก็เกินพอแล้ว สภาพเหงื่อของผม สามารถทำให้หูฟังหลุดจากเบ้าหูในเวลาอันสั้นได้
การได้เห็น Powerbeats Pro ออกมาเป็นข่าวลือ จนมาถึงข่าวที่ยืนยันได้ เป็นความรู้สึกที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอจะเป็นเจ้าของ เรียกว่าวางขายปุ๊ป ผมต้องได้มาใช้ให้ได้เลย พอได้เป็นเจ้าของจริง ประสบการณ์ใช้งานกว่าหนึ่งเดือน ไม่ว่าจะเวลาเข้ายิม หรือใช้ชีวิตประจำวัน รวมกับผ่านงานวิ่ง 10K กับ Half Marathon มาแล้วอย่างละหนึ่งงาน เป็นต้นทุนเนื้อหาที่จะเอามาเล่าให้ฟังกัน มันคือความสมหวังผสมผิดหวัง ที่ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองเลื่อนลงไปอ่านกันดูได้เลยครับ : )
ส่องรอบตัว

ก่อนจะเล่าถึงตัวหูฟัง สิ่งแรกที่ไม่เล่าถึงคงไม่ได้จริง ๆ คือกล่องของ PowerBeats Pro ที่ทั้งกล่อง มีจุดเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ประทับใจในแรกเห็น นั่นคือฟอนท์คำว่า “POWERBEATS PRO” สีเงิน ตัวหนา ๆ ที่เขียนอยู่หน้ากล่องใต้รูปหูฟัง เอาตามตรง ทุกบรรจุภัณฑ์ของหูฟัง Beats ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีเอกลักษณ์ มีความน่ามอง แต่เอกลักษณ์ ความน่ามองเหล่านี้ พังทลายในความรู้สึกของผมทันที เป็นกล่องหูฟัง Beats ที่สวยน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีแบรนด์นี้มา ถ้าทำได้ ช่วยลบหรือเปลี่ยนฟอนท์คำว่า Powerbeats Pro ให้มันดูเข้าท่ากว่านี้ จะเป็นพระคุณและเคารพลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ที่ยังอุดหนุนด้วยดีเสมอมา
สำหรับกล่องของ PowerBeats Pro รอบกล่องจะเป็นกระดาษหุ้ม ให้ตัดพลาสติกด้านที่มีฉลากภาษาไทย แล้วเคาะเบา ๆ ให้กล่องไหลออกมา จากนั้น ก็เปิดฝากล่องแบบยกขึ้นตามปกติ ตลับหูฟังจะอยู่ในกล่องเป็นด่านแรก เมื่อหยิบออกมา แล้วยกถาดที่รองรับตลับขึ้น จะเจอกับสายชาร์จแบบ Lightning สีดำ โดยส่วนหัวกับปลาย เป็นพลาสติกสีเงา แนวเดียวกับสายชาร์จ MicroUSB ของ Samsung ที่ชอบแถมมาให้ รวมถึงจะมีจุกหูฟังตามขนาดสำหรับเปลี่ยนให้เข้ากับสรีระของผู้ใช้งานอีกหนึ่งชุด และมีคู่มือพร้อมสติกเกอร์ Beats ให้มาอีกหนึ่งแผ่นด้วย
จุดสังเกตสำคัญของ Powerbeats Pro คือ ถ้าจะซื้อของใหม่เอี่ยม สติกเกอร์ที่อยู่ใต้ฝาที่เขียนว่า “Open to pair” ต้องปิดสนิท ไม่มีฟองอากาศ ไม่เบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าไม่เห็นสติกเกอร์นี้ ให้สงสัยไว้ก่อนได้เลยว่าไม่ใช่ของมือหนึ่งละ สำหรับรายละเอียดหน้าตาของ Powerbeats Pro ทั้งหมด มีดังนี้

ตลับของ Powerbeats Pro เป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบทรงโค้งแบบฝาหอย โดยฝาด้านบนจะมีโลโก้ Beats อยู่ ส่วนด้านล่าง จะถูกปาดให้เป็นแนวราบเพื่อให้วางกับโต๊ะได้

ถ้าหันโลโก้ให้เป็นตัว b อย่างถูกต้อง ร่องสำหรับเปิดฝาตลับ จะหันหน้าเข้าหาตัวพอดี ถ้ามองดี ๆ ใต้ร่องสำหรับเปิดฝาตลับ จะมีไฟสถานะที่ทำงานแบบเดียวกับใน AirPods นั่นคือ เขียว=ชาร์จ / ขาว=พร้อมใช้งาน / แดง=ชาร์จไฟกลับหูฟัง หรือแบตเตอรี่โดยรวมกำลังจะหมด

ส่วนด้านหลังของตลับเมื่อหันตัว b ให้คว่ำ จะเป็นช่องสำหรับชาร์จไฟเข้าตลับ+หูฟังผ่านหัวแบบ Lightning ที่ชาร์จ iPhone

เมื่อเปิดตลับออกมา หูฟังจะวางไว้แบบเทด้านหน้าลงตลับ โดยส่วนปลายก้านหูฟังจะหันเข้าหาเรา เมื่อยกหูฟังออกมาทั้งสองหู ถ้าสังเกตุดี ๆ จะมีปุ่มกดกลม ๆ หนึ่งปุ่มอยู่ใต้ฐานวางหูฟัง ปุ่มนี้ เมื่อกดค้างจนไฟตลับขึ้นสีขาวกระพริบ หูฟังจะอยู่ในสถานะพร้อมเชื่อมต่อ ซึ่งใช้กับการเชื่อมต่อกับ Android หรือระบบปฎิบัติการอื่น ที่ไม่ใช่ iOS

ในส่วนหูฟัง หูซ้ายกับขวาจะวางอยู่ตามตำแหน่งในตลับ นั่นคือ หยิบข้างไหนออกมา ใส่กับหูข้างนั้น โดยรายละเอียดของหูฟังทั้งสองข้าง จะเหมือนกัน นั่นคือโลโก้ b คือปุ่มควบคุมเพลง กดหนึ่งครั้งคือ เล่นหรือหยุด กดสองครั้งคือข้ามไปเพลงถัดไป กดสามครั้งคือกลับไปเพลงที่ผ่านมา ด้านบนของหูฟัง เป็นปุ่มทรงยาว ปุ่มด้านบนคือเพิ่มเสียง ปุ่มล่างคือลดเสียง โดยด้านในของหูฟัง จะมีอักษรระบุว่า R คือขวา L คือซ้าย ซึ่งใกล้ ๆ จุกหูฟัง จะมีแถบพลาสติกอยู่ แถบนี้คือเซ็นเซอร์ที่จับว่า หูฟังถูกใส่อยู่ที่หูหรือไม่ การเล่นเพลงจะเริ่มให้อัตโนมัติเมื่อใส่หูฟัง รวมถึงหยุดให้อัตโนมัติเมื่อถอดหูฟังออก หรือหูฟังหลุดออกจากหู และส่วนด้านล่างของหูฟัง จะมีแถบเงินกลม ๆ ซึ่งเป็นหน้าสัมผัสในการล็อคกับตลับ รวมถึงชาร์จไฟจากตลับเข้าหูฟัง และสังเกตุดี ๆ ข้าง ๆ แถบหน้าสัมผัสสีเงิน จะมีช่องไมค์สนทนาเป็นรูเล็ก ๆ อยู่ข้าง ๆ

สิ่งแรกที่เห็นแล้ว รู้สึกอุทานออกมาทันทีที่เห็น นั่นคือขนาดของตลับหูฟังที่ “ใหญ่มาก!!!” ถ้าเทียบกับหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ด้วยกันทั้งตลาด ไม่ว่าจะเพื่อการฟังทั่วไป หรือรวมถึงออกกำลังกาย เล่นกีฬาด้วยแล้ว Powerbeats Pro จัดว่าใหญ่มาก อุ้งมือผู้ชายอย่างผม ยังถือแล้วแทบจะล้น ลืมอุ้งมือผู้หญิงหรือผู้ชายที่ตัวเล็กไปได้เลย มันอาจดูพอดีกับอุ้งมือของฝรั่งหุ่นไซส์ The Rock มากกว่าเอเชียแบบผม ถ้าว่ากันตามตรง มันใหญ่เกินไปที่จะพกพา ใหญ่ระดับที่ จะใส่กระเป๋ากางเกง กระเป๋าถือ / สะพาย / เป้ ก็รู้สึกว่ากินพื้นที่ไปมาก ต่อให้เป็นกระเป๋าใหญ่เพื่อใส่ของไปออกกำลังกาย ยังมีอารมณ์แอบไม่อยากพกไป ถึงพอเข้าใจได้ว่า ทรงของหูฟังค่อนข้างตายตัว แต่ควรเหลามิติของตลับให้กำลังดีกว่านี้ แล้วมันจะดูน่าใช้ขึ้น เพราะด้วยขนาดแล้ว ความรู้สึกที่ผมมีต่อตลับที่ใหญ่ขนาดนี้ มันทำให้ผมอยากเปิดเพลงจังหวะเบา ๆ กลิ่นอายเครื่องเป่า แล้วหยิบตลับนี้มาถูตามตัวเหมือนโฆษณาสบู่ หรือไม่ ก็เปิดเพลงประกอบหนังแปลงร่าง มดแดง มดเขียว แล้วชูตลับขึ้น วาดไปมาแบบกำลังแปลงร่างด้วยตลับหูฟังอันนี้ มากกว่าพกไปใช้งานแบบจริงจัง….
ฝาตลับหูฟัง จำเป็นต้องเปิดด้วยสองมือเท่านั้น เพราะถ้าเอาอุ้งมือรองตลับ แล้วพยายามเอานิ้วโป้งดันฝา ด้วยขนาดของตลับที่ใหญ่เกินอุ้งมือ อาจเปิดไม่ได้หรือช่วยส่งให้ตลับร่วงพื้นแทนเอาได้ ฝาตลับมีน้ำหนักในการเปิดที่ค่อนข้างหนักสู้มือเล็กน้อย การปิดกลับที่ดูดด้วยแม่เหล็กแบบ AirPods ปิดด้วยการผลักลงได้เลย ดูดปิดสนิทได้ดีมาก ซึ่งทั้งการเปิด ปิด มันไม่ได้มีปัญหา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าประทับใจ นั่นคือจังหวะที่ฝาตลับเปิดสุด ฝาตลับสามารถโยกแยกได้ ให้ความรู้สึกของการประกอบที่ไม่แน่นหนาพอ ในช่วงวันแรกที่ใช้งาน ฝาตลับไม่มีอาการหลวมอะไร แต่ยิ่งใช้ไป มันเริ่มหลวมแบบชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ ควรปรับปรุงอย่างยิ่ง

การวางหูฟังกลับ ถ้าหยิบใช้งานแล้ว มองไปที่ตลับที่ว่างเปล่า อาจมีอาการงงตอนจะเอาหูฟังใส่กลับตลับได้ว่า “จะวางกลับอย่างไร” ซึ่งผมก็แอบเป็นในการใช้สองครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็เข้ามือตามปกติ น้ำหนักที่แม่เหล็กดูดหูฟังไว้ ทำมามั่นใจมาก เมื่อเปิดฝา คว่ำตลับ แล้วเขย่าดู แม่เหล็กดูดหูฟังให้ไม่หล่นตามแรงเขย่าได้ดีมาก รวมถึงน้ำหนักในการหยิบออกจากหูฟังที่สู้มือเล็กน้อย เมื่อวางหูฟังกลับลงตลับ ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งดี ๆ ที่ได้มาจาก AirPods มา แต่มีจุดหนึ่งที่พลาดอย่างไม่น่าอภัยมาก นั่นคือการวางหูฟังกลับลงไป มีโอกาสที่หน้าสัมผัสสีเงินของหูฟัง จะไม่ล็อคกับตลับ ต่อให้ปิดฝาไปแล้ว โอกาสที่จะไม่สนิทก็เกิดขึ้นได้ และนั่นทำให้การเปิดใช้งานครั้งต่อไป แบตเตอรี่จากตลับ จะไม่ชาร์จเข้าหูฟัง และสถานะของหูฟังที่มือถือ จะแจ้งว่าหูฟังไม่ถูกใส่ลงตลับอย่างเรียบร้อยด้วย ฉะนั้นแล้ว เวลาใส่หูฟังกลับลงตลับแล้ว แนะนำให้กดหูฟังให้แนบสนิทกับตลับสักรอบ เพื่อความชัวร์ว่าเป็นการใส่เรียบร้อยจริง ๆ
ถ้าว่ากันตรง ๆ เก็บหูฟังด้วยแม่เหล็ก แต่มีโอกาสไม่ลงล็อคในตลับ…ดูไม่เข้าท่าเอาซะเลย…

เมื่อหยิบหูฟังมาสวมใส่ วิธีใส่ที่ง่ายที่สุดคือ เอาปลายก้านคล้องหู สอดเข้าไปก่อน พร้อมกับให้พลาสติกส่วนด้านในหูฟัง ถูไปกับใบหูด้านใน เมื่อดันก้านคล้องหูให้ล็อคกับใบหูด้านในเรียบร้อย ส่วนหูฟังจะไหลเข้าไปในรูหูโดยอัตโนมัติเอง สามารถใส่ได้ทั้งแบบ ดันให้ก้านคล้องหูทัดกับหูไปเลย หรือถ้ารู้สึกว่าการทัดกับหูอึดอัดไป สามารถคล้องแบบให้ส่วนโค้งของก้านคล้องหูทิ้งน้ำหนักล็อคใบหูด้านในก็ได้ ซึ่งทั้งสองแบบ เมื่อลองใส่ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวเร็ว ๆ อย่างการวิ่ง ก็ทำหน้าที่ได้แน่นหนาดี ทั้งนี้ สำคัญสุดของการสวมใส่ คือตัวจุกหูฟังต้องพอดีกับรูหู แล้วทีนี้จะใส่หูแบบทัดกับหู หรือทิ้งน้ำหนักก้านคล้องหู ก็คล่องตัวอย่างมั่นใจแน่นอน แต่ทั้งนี้ ด้วยสรีระส่วนตัวของผม เป็นคนที่ใบหูไม่กางมาก ต้องใส่แว่นสายตา ทำให้การสวมใส่ Powerbeats Pro ยังเจอปัญหาหูฟังเบียดกับขาแว่นตา ช่วงใช้แรก ๆ มีความรู้สึกอึดอัดไปบ้าง แต่ยิ่งใช้ไป ก็หามุมที่พอดีกับตัวเองได้ ใช้งานนาน ๆ โดยไม่รู้สึกรำคาญได้ (ส่วนตัวถนัดใส่แบบดันให้ทัดหูไปเลย) ฉะนั้นแล้ว ควรได้ลองใส่ก่อนซื้อ เพราะมันช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ถ้าถามว่า โดยรวมดีไหม? ข้อนี้ Powerbeats 2 กับ 3 Wireless แอบทำได้ดีกว่าในแง่สวมใส่ แต่ไม่ใช่ว่า Powerbeats Pro ใส่ไม่ดี มันก็ทำได้ดีตามจุดประสงค์หลักของมัน นั่นคือการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว หลากหลาย เกาะหูได้ดี น้ำหนักกำลังดีที่ไม่สร้างภาระเมื่อใส่นาน ๆ แต่จุดต่างทางความรู้สึก คือสรีระของใบหูผู้ใช้งาน หากเลือกจุกหูฟังให้พอดี ความกระชับในการสวมใส่โดยรวม ก็น่าจะทำได้แน่นหนาตามที่ตั้งใจไว้ ถ้าเอาให้ชัวร์ อาจต้องเอาจุกแบบฟองน้ำมาใช้ เพื่อเพิ่มความชัวร์ในการใส่ใช้งานให้มั่นใจมากขึ้นเช่นกัน

วัสดุของตลับ ตัวหูฟัง รวมถึงองค์ประกอบทั้งหมดของหูฟังทุกส่วน ยังเหมือนกับ Powerbeats 3 Wireless ไม่ว่าจะเนื้อพลาสติกที่เคลือบสีมาโทนเดียวกัน หากใช้งานแบบไม่ได้รักษาความสะอาดดี ๆ พลาสติกจะเปลี่ยนสภาพเป็นสีเงา หรือมีรอยด่างขาวที่ตัวเนื้อพลาสติกได้ แต่…ที่น่าพูดถึงมากกว่าวัสดุ คืองานประกอบของตัวหูฟัง เริ่มที่จุดแรกที่น่าเป็นห่วง เพราะ Powerbeats 2 / 3 Wireless ส่วนที่อยู่ระหว่างหูฟังกับบอดี้หลัก มักมีปัญหาหักออกจากกัน เพราะส่วนนี้ใช้กาวประกอบกัน เมื่องานออกแบบของ Powerbeats Pro ส่วนบอดี้หลักกับหูฟัง ยังเป็นการเชื่อมติดกัน ผมก็แอบไม่ไว้ใจในเรื่องความแข็งแรงส่วนนี้ อย่างต่อมา ปุ่มกดทั้งหมดบนตัวหูฟัง หาความสม่ำเสมอไม่ได้ ปุ่มควบคุมหลักที่เป็นตรา b นั้น น้ำหนัก ระยะยุบ ถ้ากดเต็มนิ้วปกติ ไม่มีปัญหา แต่มันจะมีปัญหาตอนอยากปรับหูฟังให้กระชับ ปุ่มมีน้ำหนักที่นิ่มเกินไป กลายเป็นว่า นิ้วโป้งไปโดนปุ่มโดยง่าย หรือเวลาวิ่ง แล้วอยากกดปุ่มหูฟังเพื่อเปลี่ยนเพลง ไม่มีความแม่นยำในการกดใช้งานให้ได้ดั่งใจเอาซะเลย ในขณะที่ปุ่มปรับเสียงนั้น ตอนแกะกล่องมาใช้ครั้งแรก หูซ้ายปุ่มหลวม แต่พอกดใช้ไปสักพัก ก็เข้าที่แน่นตามปกติ ฉะนั้นแล้ว การผลิตในอนาคต โปรดใส่ใจในงานประกอบของ Powerbeats Pro ให้มากกว่านี้ ด้วยราคาที่จ่ายไป ถ้าประกอบมาแบบนี้ ตรง ๆ ครับ เสียดายเงิน!!!

โดยสรุปแล้ว จุดที่ทำให้ผมชอบถึงชอบมาก ๆ คือหน้าตาหูฟัง การสวมใส่ ตรงกับจุดประสงค์หลักที่เน้นใช้งานกับการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือการเคลื่อนไหวในแต่ละวันที่เน้นความมั่นใจ แต่ทั้งนี้ ขอให้ลองก่อนซื้อ เนื่องจากสรีระใบหู สามารถเป็นจุดตัดสินความชอบของเราได้เลย เรื่องต่อมาที่ผมทั้งรักทั้งเกลียด คือขนาดของตลับ เชื่อเลยว่าไล่แขกในสัมผัสแรกได้หลายคน เพราะมันใหญ่ระดับที่ไม่น่าพก ขนาดตัวผมเองเป็นคนสะพายกระเป๋าไปไหนมาไหนเป็นประจำ ยังรู้สึกว่าเปลื้องพื้นที่ในการพกพามาก ยิ่งถ้ากับคนที่คิดว่าจะซื้อมาใช้เป็นหูฟังตัวเดียว ใช้ทุกโอกาส ก็คงต้องตอบตัวเองให้ชัดเจนก่อนซื้อว่า รับได้กับขนาดของมันไหม? แต่จุดที่รู้สึกไม่ดีจริง ๆ มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือตัวล็อคหูฟัง ที่อาจไม่ดูดหูฟังให้ล็อคแบบ 100% ในจังหวะเดียว ด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่อยู่กับ Apple แล้ว ไม่ควรอย่างยิ่งที่เป็นแบบนี้ อย่างต่อมาคือปุ่มกดบนหูฟัง น้ำหนัก ระยะยุบ หาความแม่นยำไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับตอนปรับตำแหน่งให้หูฟังเข้าที่กับหู หรือกับการรีบกดด้วยความจำเป็นจากวิธีการออกกำลังกาย ซึ่งถ้าว่ากันจริง ๆ ขอแค่ให้ปุ่มแน่นหนากว่านี้สักหน่อย ก็จะลงตัวเอง
ฉะนั้นแล้ว ถ้าลองแล้วใส่ได้ดี ขอให้ทำความคุ้นเคยกับปุ่มสักพัก รวมถึงคอยกดหูฟังให้ล็อคตลับเวลาเก็บ แรก ๆ อาจไม่ค่อยชินหน่อย แต่สักพัก สิ่งน่ารำคาญเหล่านี้ จะเป็นเรื่องปกติที่ไม่รู้สึกอะไรไปเองครับ : )
ลองใช้งานจริง

Powerbeats Pro เป็นหูฟังไร้สายแบบ True Wireless (ไม่มีสายระหว่างหู) ออกแบบมาให้เชื่อมต่อกับ iOS ได้ง่ายแบบเดียวกับ AirPods (ใช้ H1 Chip เช่นเดียวกับ AirPods รุ่น 2) เพียงแค่เปิดฝาตลับ ส่วน iPhone เปิด Bluetooth ทิ้งไว้ ที่หน้าจอ iPhone จะขึ้น Animation ต้อนรับ แตะที่เชื่อมต่อ (Connect) รอสักครู่ ก็จะเชื่อมต่อให้เรียบร้อย

หากใช้ Android ให้เปิดการค้นหาของ Bluetooth ที่มือถือเป็น “มองเห็นอุปกรณ์” แล้วกดปุ่มที่อยู่ระหว่างหูฟังจนกว่าไฟสีขาวที่ตลับขึ้นเป็นกระพริบถี่ ๆ ที่ตัวมือถือ ก็จะพบชื่อของหูฟัง Powerbeats Pro แล้วแตะเชื่อมต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้ตัวหูฟังสามารถรองรับทุกความสามารถของ Android ไม่ว่าการให้เสียงด้วยระบบต่าง ๆ หรือการกดปุ่มใช้งานร่วมกับ Google Assistant ฯลฯ

เมื่อ Powerbeats Pro จัดการการเชื่อมต่อด้วย H1 Chip แบบเดียวกับ AirPods 2 แน่นอนว่า ถ้าใช้ร่วมกับ iPhone / iPad / Mac ทุกอย่างจะง่าย เพราะเลือกเชื่อมต่อจากไอค่อน AirPlay ได้เลย เรื่องการเชื่อมต่อ ทำเอาผมเซอร์ไพรส์มาก เพราะทุกอย่างตรงกันข้ามกับ AirPods 2 อย่างยิ่ง ตอนเชื่อมต่อระหว่างหูฟังกับ iPhone ใช้เวลาราว 4 วินาทีตามปกติ ฟังเพลง ใช้งานได้เสถียร ไม่มีอาการสัญญาณขาด ๆ หาย ๆ ไม่ว่าจะตอนเปียกเหงื่อออกกำลังกาย หรืออยู่ท่ามกลางผู้คนที่คลื่นรบกวนสูงแน่ ๆ แต่ที่ไม่ปกติก็คือตอนสลับอุปกรณ์ระหว่าง iPhone ไป iPad หรือ Mac หรือ Apple Watch มักมีอาการต่อไม่ติด/ใช้เวลาเชื่อมต่อนานผิดปกติ และที่หนักที่สุดคือ ใช้อยู่กับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ iPhone แต่หลุดการเชื่อมต่อกลับไปจับกับ iPhone โดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้เลือก หรือเวลาใช้งานกับ App / การโทรผ่าน 3rd Party App บน iPhone แล้วหูฟังไม่สามารถเชื่อมต่ออัตโนมัติเพื่อใช้งานให้สอดคล้องกับ App นั้น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ค่อนข้างน่าผิดหวังมาก อย่างไรก็ตาม หวังว่า Beats จะออกอัปเดตแก้ปัญหานี้โดยด่วน

เมื่อ Powerbeats Pro จัดการการเชื่อมต่อด้วย H1 Chip แบบเดียวกับ AirPods 2 แน่นอนว่า ถ้าใช้ร่วมกับ iPhone / iPad / Mac ทุกอย่างจะง่าย เพราะเลือกเชื่อมต่อจากไอค่อน AirPlay ได้เลย เรื่องการเชื่อมต่อ ทำเอาผมเซอร์ไพรส์มาก เพราะทุกอย่างตรงกันข้ามกับ AirPods 2 อย่างยิ่ง ตอนเชื่อมต่อระหว่างหูฟังกับ iPhone ใช้เวลาราว 4 วินาทีตามปกติ ฟังเพลง ใช้งานได้เสถียร ไม่มีอาการสัญญาณขาด ๆ หาย ๆ ไม่ว่าจะตอนเปียกเหงื่อออกกำลังกาย หรืออยู่ท่ามกลางผู้คนที่คลื่นรบกวนสูงแน่ ๆ แต่ที่ไม่ปกติก็คือตอนสลับอุปกรณ์ระหว่าง iPhone ไป iPad หรือ Mac หรือ Apple Watch มักมีอาการต่อไม่ติด/ใช้เวลาเชื่อมต่อนานผิดปกติ และที่หนักที่สุดคือ ใช้อยู่กับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ iPhone แต่หลุดการเชื่อมต่อกลับไปจับกับ iPhone โดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้เลือก หรือเวลาใช้งานกับ App / การโทรผ่าน 3rd Party App บน iPhone แล้วหูฟังไม่สามารถเชื่อมต่ออัตโนมัติเพื่อใช้งานให้สอดคล้องกับ App นั้น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ค่อนข้างน่าผิดหวังมาก อย่างไรก็ตาม หวังว่า Beats จะออกอัปเดตแก้ปัญหานี้โดยด่วน

คุณภาพเสียงของ Powerbeats Pro ? ประเด็นนี้ ผมสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะก่อนจะได้สัมผัสตัวจริง มีรีวิวหลายสำนักของต่างประเทศ ยกให้มันเสียงดีกว่า AirPods 2 ฉะนั้น ก่อนจะเล่าถึงประเด็นนี้ ขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ถ้าหวังว่าจะมีบุคลิกแนวเดียวกับ B&O E8 / Sennheiser Momentum True Wireless / Master & Dynanic MW07 รวมถึง Sony WF-1000XM3 หรือหูฟังแนว True Wirless ที่วางบุคลิกเน้นคุณภาพเสียงทั้งหลายแล้วละก็ ปิดรีวิวนี้ไปได้เลยครับ ผมเชื่อว่าถ้าใครชอบบุคลิกเสียงของหนึ่งในสี่รุ่นที่ผมเอยชื่อมา พอมาฟัง Powerbeats Pro เชื่อว่าถอดลงตลับแล้วไม่เจอกันอีกแน่นอน
ถ้าเอาคำตอบว่า ดีกว่า AirPods 2 ไหม? ถ้าฟังแบบตั้งใจสุด ๆ สิ่งที่ Powerbeats Pro ทำได้ดีกว่า AirPods 2 คือความแน่นของย่านเสียง ไม่ว่าจะสูง กลาง ต่ำ มีน้ำหนักที่ชัดเจนกว่าเล็กน้อย อาการเสียงสูงกับต่ำ แล้วหูฟังแอบไปไม่สุดที่เจอใน AirPods 2 ซึ่งเจอได้ในการดูภาพยนตร์หรือเล่นเกม จะไม่เจอใน Powerbeats Pro แต่ถ้าฟังแบบไม่สังเกตอะไร เสียงของคู่นี้ ก็แทบไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Powerbeats ทำผลงานได้แน่นกว่า น่าจะเป็นเพราะการใช้จุกแบบ In-ear ที่อากาศเข้าหูน้อยกว่า ทำให้ได้ยินเสียงได้ครบกว่า เพราะถ้าฟังในห้องเงียบแบบสลับหูกันฟัง เสียงแบบฟังผ่าน ๆ ไม่ได้ห่างจนแตกต่างมาก โดยสรุปประเด็นนี้ ผมไม่คิดว่า AirPods 2 จะด้อยกว่าเลย ต่อให้ฟังแบบสลับหูฟังในเพลงเดียวกัน ความดังที่เท่ากันด้วยก็ตาม

แต่ถ้าถามเอาหูฟังแนวเล่นกีฬาที่เป็นหูฟังไร้สาย หรือไร้สายแบบจริง ๆ ทั้งหลาย มากองรวมกัน Powerbeats Pro ยืนหนึ่งแถวหน้าสุดได้เลย สิ่งหนึ่งที่ผมฝันถึงหูฟังไร้สายที่ใช้ตอนออกกำลังกาย คือคุณภาพเสียงที่ดีแบบฟังในชีวิตประจำวันได้ เพราะที่ผ่านมา ตัวไหนเสียงดี มักสวมใส่ไม่ดี ตัวไหนสวมใส่ดี เสียงก็มักจะไม่ดีเท่าที่ควร แต่ Powerbeats Pro สามารถรวมคำว่า ใส่ได้ดี กับเสียงใช้การได้เป็นที่เรียบร้อย ยิ่งถ้าใช้ Powerbeats 2 / 3 Wireless อยู่ด้วย เมื่อได้ฟัง Powerbeats Pro แล้ว จะรักได้ไม่ยาก เสียงไม่แห้ง แตก ตะเบ็งดังอย่างเดียวแบบแต่ก่อนอีกต่อไป ฉะนั้นแล้ว ถ้าคุณผู้อ่านคิดเหมือนผมว่า หูฟังเล่นกีฬาที่ใส่ดี เสียงไม่ถูกใจ ส่วนที่เสียงถูกใจรับได้ ก็ดันใส่ไม่ดี ไปเอา Powerbeats Pro มาได้เลยครับ นี่แหละครับ หูฟังเล่นกีฬาที่ ใส่ดีจริง และคุณภาพเสียงใช้การได้จริง ๆ
การใช้พลังงาน

แบตเตอรี่ของ Powerbeats Pro ตัวหูฟังทั้งคู่ รองรับการใช้งานได้สูงสุด 9 ชั่วโมง ส่วนตลับรองรับการชาร์จไฟกลับสูงสุด 24 ชั่วโมง โดยชาร์จหูฟังในตลับแค่ 5 นาที สามารถใช้งานหูฟังได้นาน 1ชั่วโมง 30 นาที โดยการชาร์จไฟทั้งหมด ทำผ่านสาย Lightning ได้เลย ในการใช้งานจริง สมมติว่าใช้งานในยิม เวลาที่เริ่มตั้งแต่ปิดประตูล็อกเกอร์ เปิดเพลง เริ่มไปวอร์มสัก 15 นาที เล่นสัก 6-8 ท่า จะเซอร์กิต มี superset หรืออะไรก็ตาม แลัวจบด้วยคาดิโอตามถนัดอีกสัก 45 นาทีเป็นอย่างน้อย ทั้งหมดนี้ แบตเตอรี่ของ Powerbeats Pro ลดลงไปเต็มที่ไม่เกิน 30% แน่นอน และช่วงไปอาบน้ำ แต่งตัว เวลาที่ผ่านไประหว่างนี้ ก็เพียงพอให้แบตเตอรี่หูฟังกลับมาเต็ม 100% ได้เช่นกัน ในการนำไปใช้ดูภาพยนตร์ หรือคุยโทรศัพท์ ถ้ามากกว่า 4 ชั่วโมงต่อเนื่องขึ้นไป จะสัมผัสได้เลยว่า ให้การใช้งานได้นานกว่า AirPods 2 และตลอดช่วงเวลาที่ใช้งาน ไม่ว่าจะฟังเพลง / คุยโทรศัพท์ / รับชมภาพยนตร์ แบตเตอรี่สามารถใช้งานต่อเนื่องโดยเฉลี่ยนแถว 7-9 ชั่วโมงได้จริงทุกการใช้งานในภาพรวม
เอาเป็นว่า ผมสามารถทิ้งตลับไว้ที่ฝากกระเป๋าที่งานวิ่ง ไปวิ่งให้จบแล้วกลับมารับกระเป๋า หูฟังก็มีพลังงานเหลือใช้ หรือทิ้งตลับไว้ในตู้ล็อกเกอร์ที่ยิม ก็อยู่ยิมเล่น ๆ สักครึ่งวันได้ โดยที่แบตเตอรี่หูฟังไม่หมดไปก่อนออกกำลังกายเสร็จแน่นอนครับ
ในส่วนการชาร์จ หากใช้ร่วมกับที่ขาร์จ 5W ของ iPhone ถ้าชาร์จจากตลับเหลือน้อยกว่า 10% ให้ชาร์จทิ้งไว้สัก 1 ชั่วโมง จะได้แบตเตอรี่ในตลับมากกว่า 60% และหากใช้งานกับหัวปลั๊ก 10W / 18W หรือมากกว่านั้น ช่วง 80% จะใช้เวลาสั้นลงตามแต่หัวชาร์จที่ใช้งาน ฉะนั้นแล้ว ถ้าใช้งานแบบรอบละ 4 ชั่วโมง วันละ 2-3 รอบ แนะนำให้ทุกสองวัน นำมาชาร์จตลับไว้สัก 1 ชั่วโมง การใช้งานหูฟังก็จะต่อเนื่องโดยไม่เจอปัญหาแบตเตอรี่ไม่พอใช้แน่นอน
สรุป

“ความคาดหวัง คือคำตอบของทุกคำถาม”
นี่คืออีกครั้งที่ผมไม่สามารถใช้คำตอบของคำว่า “ดี” “ใช่” “ไม่ดี” “ไม่ใช่” กับของชิ้นนี้ได้เลย ถ้าต้องสรุปให้ฟังจริง ๆ ผมก็ต้องย้อนถามความคาดหวังของคุณผู้อ่านที่สนใจ Powerbeats Pro ว่าอยากได้เพราะอะไร ถ้าอยากได้เป็นหูฟังไร้สายแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญที่ต้องรับได้คือ “การพกพา” ขนาดของตลับ คืออุปสรรคอย่างยิ่ง ไม่เป็นมิตรกับทุกกระเป๋ากางเกง ขนาดในกระเป๋าสะพายหรือกระเป๋าถือ ยังดูจะกินที่ไปพอสมควร ถ้ารับได้ในจุดนี้ อย่างอื่น ไม่ว่าจะคุณภาพเสียง การใช้งาน ก็เป็นสุขได้ตามปกติแน่นอน
ถ้าซื้อมาใช้สำหรับวันออกกำลังกาย ไม่ว่าจะด้วยกิจกรรมไหนก็ตาม ให้ลองสวมใส่ก่อนว่า พอดีกับโครงสร้างใบหูเราทั้งหมดแค่ไหน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว น่าจะไม่มีปัญหากับการสวมใส่ ส่วนตัวผมใส่แว่นตาด้วยแล้ว ก็สามารถใช้งานได้ โดยไม่เคลื่อนหรือทำให้รำคาญขณะใช้งาน เป็นหนึ่งในหูฟังเพื่อการออกกำลังกายที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งเรื่องการสวมใส่ การใช้งาน คุณภาพเสียง และแน่นอนว่า ถ้ามองความคาดหวังอยู่ที่คุณภาพเสียงเป็นหลัก ก็ต้องถามกลับว่า รู้สึกอย่างไรกับคุณภาพเสียง AirPods ถ้าคุณภาพเสียง AirPods อยู่ในจุดที่รับได้ คุณภาพเสียงของ Powebeats Pro ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ชอบ อันนี้จะอยู่กันยากละครับ

ถ้าว่ากันด้วยภาพรวม ผมให้คุณงามความดีของ Powerbeats Pro ที่ความตรงจุดในการใช้งาน หูฟังไร้สายเพื่อการออกกำลังกายที่ดี ใส่แล้วต้องแน่น น้ำหนักสมดุล และไม่ก่อความรำคาญในระยะเวลายาว ๆ ซึ่ง Powerbeats Pro ตอบโจทย์ตรงนี้ครบทั้งหมด ไม่ว่าตัวผม หรือคนที่ผมให้ยืมใส่ใช้งาน ต่างก็ให้ความพอใจในประเด็นนี้กันหมด ในขณะที่คุณภาพเสียง ถ้ามองแค่ว่า “หูฟังไร้สายเพื่อการออกกำลังกาย” ในอดีตที่ผ่านมา มีที่เสียงดีกว่า Powerbeats Pro แน่นอน แต่เสียงของ Powerbeats Pro ก็ไม่ได้อยู่ในจุดขี้เหร่ หรือสอบไม่ผ่านเลยแน่นอน แถมเอาจริง ๆ ถ้าใครชอบออกำลังกายด้วยเพลงที่จังหวะสนุก เร้าใจ ความเป็น Beats ที่ฟังอะไรก็สนุก (แบบอุปทานไปเองหรือเปล่าก็ไม่รู้) ก็ยังคงมีในหูฟังรุ่นนี้เช่นกัน และอย่างสุดท้ายที่ผมให้เป็นความดีแบบมาก ๆ คือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ตามสเปค 9 ชั่วโมง ในขณะที่การชาร์จไฟช่วง 10-30 นาที ทำให้ตลับมีไฟพร้อมใช้แบบทั้งวันได้สบาย ทั้งหมดนี้จึงเป็นคุณงามความดีที่ทำให้ผมรักและใช้ Powerbeats Pro ในการออกกำลังกายทุกวันนี้

แต่จุดที่ควรปรับปรุงหลัก ๆ ก็มีนะครับ แถมค่อนข้างแรงมากซะด้วย อย่างแรกสุดคืองานประกอบในภาพรวม ไม่ว่าฝาตลับที่ยิ่งใช้ยิ่งไม่มั่นคง ปุ่มต่าง ๆ บนหูฟัง ที่ไม่ให้ความรู้สึกมั่นคง น้ำหนักการยุบของปุ่มควบคุมเพลงที่ค่อนข้างจม ไม่แน่นมากพอ ทำให้กดไม่แม่นยำเวลารีบ ๆ เรียกว่าเป็นจุดที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ดี มากกว่าความใหญ่ของตลับ ที่ดูเป็นข้อจำกัดของการออกแบบไปเลย และยิ่งเอาราคา 8,990 บาท มาเทียบกับภาพรวมแล้ว ทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าคุณภาพงานประกอบออกมาแบบนี้ ถือว่า “แพงเกินไป” ถ้าเป็นไปได้ ในล็อตถัด ๆ ไปหลังจากนี้ ขอให้เน้นงานประกอบให้รัดกุมขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างจะสมบูรณ์ขึ้นทันที นอกนั้นแล้ว ผมขอให้เพื่อความหยืดหยุ่นของตัวหูฟัง ให้สามารถปรับมิติการคล้องในส่วนต่าง ๆ ได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะก้านคล้องหู ที่อยากให้ปรับได้ละเอียดกว่านี้ หรือตัวเบ้าหูฟัง ที่หากรองรับการขยับสักเล็กน้อย เพื่อให้ใส่ได้ลึกสุด ๆ ยิ่งกว่านี้ ก็จะช่วยให้เข้ากับสรีระหูของผู้ใช้ได้ยอดเยี่ยมกว่านี้แน่นอน และถ้าเป็นไปได้…ราคาขายของ Beats จากผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย ก็ยังเป็นจุดอ่อนที่แก้ยากหน่อย ด้วยต้นทุน ภาษี ฯลฯ ถ้ากดลงได้มากกว่านี้ จะทำให้แข่งขันกับตลาดง่ายกว่านี้อีกมาก เพราะไม่งั้นแล้ว ผมคงบอกตรง ๆ ว่า ไปหาของหิ้วจากต่างประเทศ ดูจะคุ้มราคากว่าการซื้อกับตัวแทนจำหน่ายในไทยครับ
ท้ายสุดนี้ Powerbeats Pro สอนให้ผมเข้าใจถึงการปรับตัว ถึงจะคาดหวังมาแค่ไหน สุดท้าย มันจะมีบางจุดให้เราตอบตัวเองตรง ๆ ว่า เราจะปรับตัวเพื่ออยู่กับมัน หรือจะปล่อยผ่าน แล้วหาสิ่งที่ตรงใจกับเราต่อไป….