เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่า ร่างกายของเราถูกอุปกรณ์เทคโนโลยียึดครองไปแล้ว ครั้งหนึ่ง เราใส่แว่นตา กำไล นาฬิกาข้อมือ เพื่อความสวยงาม การแต่งตัว การใช้งาน แต่ตอนนี้สิ่งที่เราเคยใส่เพื่อการแต่งตัว กลายเป็นใส่แล้ว สามารถเพิ่มจุดประสงค์เพื่อตัวเองได้มากขึ้น ง่ายที่สุดก็นาฬิกาข้อมือ ที่จากอุปกรณ์บอกเวลา ไม่จะว่าเป็นแบบไหน ทรงไหน ตอนนี้พื้นที่หน้าปัดนาฬิกา กลายเป็นเหมือนจอที่สองของ Smartphone ที่ใช้อยู่ พื้นที่นาฬิกาข้อมือเดิม ไม่ได้ตายตัวด้วยเข็ม ตัวเลข อีกต่อไป พื้นที่เดิม เพิ่มเติมคือ อ่าน รับทราบข้อมูล ในแง่มุมต่าง ๆ ของการใช้งาน ณ เวลานั้นได้ ถึงนาฬิกาข้อมือจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนได้ใส่ แต่ผมรู้สึกได้ว่า นาฬิกาข้อมือไฮเทคเหล่านี้ ทำให้คนที่ไม่ใส่นาฬิกา ก็ต้องใส่เพราะเห็นถึงคุณประโยชน์ในสิ่งที่ทำได้ ที่น่าสนใจคือ ถ้านับเวลาช่วงที่อุปกรณ์สวมใส่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตแบบช้า ๆ แต่กลมกลืนไปเรื่อย ๆ ก็มากกว่า 5 ปี ขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่ใส่แล้ว ทำได้ดีบ้าง ไม่ได้บ้าง จนเริ่มพัฒนาจนทำได้ดีขึ้น แม่นยำขึ้น ใช้งานได้ยาวนานขึ้น รวมถึงราคาที่มีหลากหลายมากขึ้น จนตลาดอุปกรณ์สวมใส่ กลายเป็นเค้กก้อนใหม่ของวงการ ที่เป็นไปได้ทั้ง โตขึ้นหรือเล็กลงก็ได้
กลับมาที่พระเอกของบทความนี้กัน ครั้งนี้เป็น Samsung ที่นอกจากมือถือที่สามารถทำตลาดจนยืนหยัดได้แล้ว อุปกรณ์สวมใส่ ก็คืออีกตลาดที่ Samsung อาจทำให้ส่งเสริมกับสิ่งมือถือที่ตัวเองทำได้ดีแล้ว การสร้างระบบนิเวศทางใดทางหนึ่ง ให้ลูกค้าสามารถใช้สินค้าทุกแขนงของแบรนด์ตัวเองได้ หรือถึงสินค้าหลักอย่างมือถือไม่ได้ไปโดนใจลูกค้าคนนั้น แต่สินค้าในระบบนิเวศอื่น สามารถไปใช้งานได้ หรือได้ใจลูกค้าคนนั้น ก็ช่วยเพิ่มโอกาสที่มองเห็น มองไม่เห็น ให้กับสินค้าอื่น ๆ หรือไปที่สินค้าหลักอย่างมือถือก็เป็นได้ ครั้งนี้ ผมได้ลองใช้ Samsung Galaxy Watch Active 2 นาฬิการุ่นใหม่จาก Samsung ที่ถือเป็นก้าวใหม่ของนาฬิกาแบบ Smart Watch จากค่ายนี้ เอาจริง ๆ ขอสารภาพด้วยความสัตย์จริงเลยว่า พอได้เห็น ผมต้องอ่านซ้ำใหม่ว่า “นี่รุ่นใหม่ใช่ไหม” เพราะมันเงียบมาก ถ้าเอานาฬิกาแนวนี้กับตลาดรวม ๆ แล้ว คู่แข่งทั้งสองฝั่งของ Samsung ดูจะได้รับพื้นที่สื่อฯ ที่ดีกว่าด้วยซ้ำ แต่…มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่จะออกมาแล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจ หรือจะเงียบกว่าเพื่อนในตลาด

ประสบการณ์ 7 วัน กับ Galaxy Watch Active 2 ขนาด 40mm สายหนังสีดำ ซึ่งแน่นอนว่า ของที่ได้รับมาลอง อันนี้ก็เลือกไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว บางกิจกรรมก็จะลุยไปด้วยกันกับสายหนังนั่นละครับ ^^””” แต่ลุยเสร็จ ก็เช็ดอย่างดี สภาพไม่บุบสลาย หรือเป็นอะไรแน่นอน สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือการหาคำตอบว่า นอกจาก Apple Watch ที่ผมคุ้นเคย พอใจในแบบการใช้งานทุกวัน ทุกเวลา และถ้าว่ากันจริง ๆ Samsung ทำ Galaxy Active Watch Active 2 ก็ทำมาในทิศทางที่มาในแนวเดียวกับ Apple Watch เช่นกัน
7 วันที่อยู่ด้วยกัน มันก็เป็นแบบที่เลื่อนลงไปอ่านได้เลยครับ : )
ส่องรอบตัว

แรกเห็นของ Galaxy Watch Active 2 ถ้าไม่บอกว่านี่คือรุ่นใหม่ ผมก็แอบคิดว่าผมได้ Galaxy Gear สักรุ่นมาลองอยู่ แต่เผอิญว่า Samsung ไม่ได้ใช้ชื่อ Gear ในการทำตลาดอุปกรณ์สวมใส่แล้ว แซวกันเล็กน้อย เข้าเรื่องนะครับ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ชอบพวก Gadget อุปกรณ์สวมใส่ต่าง ๆ เพราะหลายตัวที่มี ใส่แล้วดูไฮเทคจ๋า ไม่ก็ดูแมนจ๋า สาวจ๋าไปเลย งานออกแบบโดยรวมของ Galaxy Watch Active 2 จึงได้ใจผม เพราะมันดูกลาง ๆ เป็นนาฬิกาที่ Unisex ไม่แสดงออกว่าไฮเทคจ๋าเกินไป ดูแล้วกลมกลืนกับชีวิตประจำวันพอสมควร ยิ่งเป็นนาฬิกาข้อมือทรงกลมด้วย ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกถูกใจในแรกเห็นง่ายขึ้นด้วย สัดส่วนของหน้าปัด ข้อสาย ดูสมดุลกัน ไม่เหมือนนาฬิกาแนวนี้ที่เป็นทรงกลม ที่หลายยี่ห้อสายจะเล็ก แต่หน้าปัดใหญ่โตเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้ดูดีไม่สุดนั่นเอง แต่ละส่วนของนาฬิกาเรือนนี้มีดังนี้

หน้าปัดนาฬิกาหลักเป็นทรงวงกลม มีก้านยื่นออกมาสำหรับต่อกับสายนาฬิกา หน้าปัดของ Galaxy Watch Active 2 มีให้เลือก โดยขนาดที่อยู่ในบทความนี้ คือ หน้าจอของนาฬิกาเป็น Super AMOLED ควบคุมทิศทางด้วยการรูดขอบจอรอบ ๆ เหมือนกับการไถ Click Wheel ใน iPod สมัยก่อน หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าขอบจอมีการปาดกระจกให้ลาดลงไปเล็กน้อยด้วย โดยหน้าจอสามารถแยกการแตะสัมผัส หรือลงน้ำหนักเพื่อกดจอได้

สันขอบของตัวเรือน (หากใส่กับข้อมือซ้าย) ฝั่งขวาจะมีปุ่มควบคุมการใช้งานสองปุ่ม ปุ่มด้านบนเป็นปุ่มถอยกลับ ใช้ทั้งการออกจากเมนู/กลับไปหน้าปัดนาฬิกา/หยุดการทำงานหรือออกจาก App ที่ใช้งาน ส่วนปุ่มด้านล่าง เป็นปุ่มเปิด ปิดเครื่อง/เข้าเมนู/ออกจากการใช้งานแบบกลับมาหน้าปัดนาฬิกาทันที/กดสามครั้งใช้งาน Bixby ระหว่างทั้งสองปุ่มนี้ จะเป็นที่อยู่ของไมค์สนทนา ส่วนสันขอบตัวเรือนฝั่งซ้าย จะเป็นลำโพงของเครื่อง หากสังเกตดี ๆ ด้านบนของสันขอบด้านบน จะเป็นช่องสำหรับใช้เพื่อการ Service

ด้านหลังของตัวเรือน เป็นตัวอ่านอัตราการเต้นของหัวใจ ทำงานด้วยแสงสีเขียวส่องลงผ่านชั้นผิวหนัง โดยผิวด้านหลังทั้งหมด ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดูดกับแป้นชาร์จไฟกลับ

ในส่วนสายนาฬิกา ทุกสายที่ใช้กับ Galaxy Watch จะมีสลักปลดอยู่ด้านในของสายส่วนที่สัมผัสกับข้อมือ เพียงดันสลักในทิศระนาบจากขวาไปซ้าย ก็ปลดสายเพื่อเปลี่ยนได้ด้วยตัวเองทันที


พอจับมาขึ้นข้อ เนื่องจากเป็นเรือนขนาด 40mm กับข้อมือผู้ชายแบบผม รวมถึงส่วนตัวผมชอบใส่นาฬิกาค่อนข้างใหญ่หน่อย ผมจะรู้สึกว่ามันเล็กไปนิด แต่กับผู้ชายหลายคนที่รักความเนี๊ยบหน่อย ขนาด 40mm ก็เข้าขั้นพอดีกับหลายคนอยู่ น้ำหนักตอนอยู่ที่ข้อ ก็จัดว่าดีมาก เบากำลังดี แต่ไม่ใช่เบากลวง สิ่งเดียวที่ทำให้ผมยังยิ้มไม่สุดกับนาฬิกาเรือนนี้ คือผิวสัมผัสของสายหนังที่ได้รับมาลอง ไม่อยากใช้คำว่า “เหมือนของถูก ๆ” แต่มันรู้สึกแบบนี้จริง ๆ นะครับ ซึ่งก็ย้อนกลับไปย่อหน้าที่แล้วว่า ศักยภาพแบบ Samsung ทำให้ดีกว่านี้ไม่ยากแน่นอน ไหน ๆ เขียนมาถึงเรื่องสายแล้ว ก็อยากบอกว่า ปรับปรุงวิธีการถอดเปลี่ยนสายจะดีมาก แกะง่าย แต่ใส่กลับยาก ถ้ารีบ ๆ คือเสียเวลายิ่งกว่าเดิม ที่เหลือโดยสรุป ก็ หน้าตาอะผ่านละ แต่สัมผัส ความแพง อันนี้ยังต้องปรับกันอีกนะครับ
ลองใช้งาน




หน้าปัดนาฬิกาหลัก ตั้งค่าด้วยการกดลงไปหน้าจอสักครู่ จะเป็นการสลับเลือกรูปแบบหน้าปัด ในบางหน้าปัด ก็สามารถแต่ถ้าให้ง่ายและทำได้ทันใจ แนะนำให้ตั้งค่าผ่าน Galaxy Wearable ในมือถือของเรา เพราะโหลดหน้าปัดใหม่ ตั้งรายละเอียดหน้าปัด จบในที่เดียวเลย
หน้าจอของนาฬิกา เป็น Super AMOLED ที่ถ้ามองแว็บแรกแบบผ่าน ๆ จะเหมือนใช้มือถือ Galaxy รุ่นที่คุ้นเคย แต่พอมองอย่างตั้งใจ หน้าจอให้ความรู้สึก “ไม่คม” ไม่ว่าจะมองตรง หรือมองในมุมไหนก็ตาม ในส่วนของสีหน้าจอ แอบจืดไปสักหน่อย ทำให้ภาพรวมเมื่อเทียบกับนาฬิกาแนวเดียวกันของตลาด ถ้าอัดให้จอคมกว่านี้ สีมีความเที่ยงตรงกว่านี้ จะสมบูรณ์ขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ดีที่สุดของหน้าจอ Galaxy Watch Active 2 คือมุมมองหน้าจอที่ดูได้ชัดเจนทุกมุม รวมถึงการอ่านในที่กลางแจ้งที่ทำได้ดี ไม่มีอาการจอสะท้อนจนดูไม่ได้ ส่วนการตอบสนองนั้น เรื่องแตะ เรื่องปัด ไม่มีปัญหาเลย มีอย่างเดียวคือ การตอบสนองในการ “กด” ที่ยังไม่สามารถแยกน้ำหนักได้แม่นยำดีนัก กดเบาหรือหนักไปก็ไม่ติด ต้องเล็งน้ำหนักให้พอดีจริง ๆ ถึงสามารถตอบสนองการกดได้


การแจ้งเตือน จะแสดงตามลำดับขวาสุด=ล่าสุด แล้วไล่จากขวาไปซ้ายเรื่อย ๆ จนสุด หากต้องการลบการแจ้งเตือนออก ในหน้าการแจ้งเตือน ให้ปัดจากล่างขึ้นบนได้เลย หรือเลื่อนไปซ้ายสุด เพื่อล้างทิ้งทั้งหมดได้เช่นกัน หากต้องการดู App ที่เปิดไว้ทั้งหมด ให้กดปุ่มเมนูหนึ่งครั้ง เมนูแอพล่าสุด จะแสดงรายการแอพที่ใช้งานทั้งหมด สามารถเลือกปิดทีละตัว หรือสั่งปิดทั้งหมดจากในนี้ได้ทันที ส่วนเมนูลัดในฝั่งปัดขวาไปซ้าย (นับจากหน้าปัดนาฬิกา) สามารถตั้งได้จาก App หลักของเครื่อง หรือ App ที่ลงต่างหาก โดยเมนูลัดที่ตั้งค่า จะแสดงผลเสมือนเข้าใช้ App นั้นแล้ว



ระบบโทรศัพท์ รุ่นที่เอามาลอง เป็นรุ่นรองรับ Cellular แบบ Esim หากนาฬิกาเชื่อมกับโทรศัพท์อยู่ นาฬิกาจะเลือกให้เราใช้งานกับโทรศัพท์เป็นหลักก่อน หากนาฬิกาหลุดจากระยะเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ สามารถรับสาย โทรออกผ่านนาฬิกาได้โดยตรง รวมถึงใช้ลำโพงกับไมค์ฯ ของนาฬิกาในการสนทนาได้ โดยในการใช้งาน ไมค์ฯ ให้เสียงที่คู่สายได้ยินชัดเจน เมื่อใช้สนทนาในระยะยกข้อมือทำมุม 90 องศา และลำโพงสนทนา หากใช้เสียงตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไป จะใช้ได้ยินชัดเจนเช่นกัน


ทุก App ที่เป็น chat / ข้อความ สามารถอ่านข้อความหรือบทสนทนาจากนาฬิกาได้โดยตรง แสดงผลเป็นแนวตั้งจากบนลงล่าง สามารถตอบกลับได้ทั้งแบบ พิมพ์ผ่านแป้นแบบแนวมือถือปุ่มกด แบบพิมพ์ด้วยเสียง



Galaxy Store สำหรับเลือกและโหลด App โดยสามารถติดตั้ง อัปเดต ผ่านนาฬิกาได้โดยตรง ใช้ได้ทั้ง Wi-Fi และ Cellular ในการโหลด หรือติดตั้งผ่าน Galaxy Wearable จากมือถือที่ใช้งานก็ได้


ผู้ช่วยคำสั่งเสียงใน Galaxy Watch Active 2 ก็ต้องเป็น Bixby ที่ตั้งค่าครั้งแรก ด้วยการกดปุ่มเข้าเมนูติดกัน 3 ครั้ง หรือแตะเข้าไปในไอค่อน Bixby ในเมนูรวม App ทั้งหมด เลือกภาษาทีใช้งาน (ยังไม่รองรับภาษาไทย) หลังจากนั้นแล้ว จะกดเมนูสามครั้งเรียกมาใช้งาน หรือยกนาฬิกาขึ้นมาดู แล้วพูดว่า “Hi Bixby” ก็ได้ทั้งคู่เช่นกัน


นาฬิกามีระบบค้นหาโทรศัพท์ ด้วยการสั่งให้โทรศัพท์เล่นเสียงแบบยาว ๆ ซึ่งเสียงที่เล่นจากตัวมือถือ ดังระดับ น่าจะหาเจอได้ไม่ยาก จุดนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบกว่าวิธีหามือถือจากนาฬิกาของ Apple Watch ที่เสียงที่เล่นจะเป็นแบบสั้น ๆ การหาโทรศัพท์ของ Galaxy Watch Active 2 ถือว่ามีโอกาสหาเจอได้ง่ายกว่า




จุดขายสำคัญเรื่องการออกกำลังกาย ใน Galaxy Watch Active 2 ระบบมีรูปแบบการคำนวณการออกกำลังกายแบบสำเร็จรูป ค่อนข้างครอบคลุม ละเอียด ตรงกับแนวการออกกำลังกายที่ใช้ตามฟิตเนส รวมถึงการออกกำลังกายหลัก ๆ เพียงแค่เลือกรูปแบบการออกกำลังกาย กดเริ่มต้น นาฬิกาจะคำนวณเวลาที่ใช้ อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงแคลลอรี่ที่ใช้งาน ขณะออกกำลังกาย สามารถควบคุมการเล่นเพลงได้ หากข้อมูลที่แสดงไม่พอกับหน้าจอเดียว สามารถปัดจากขาวไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา เพื่อดูข้อมูลประกอบส่วนอื่นได้



สิ่งที่ยอดเยี่ยมในการใช้นาฬิกาเรือนนี้ออกกำลังกาย คืออัตราการเต้นของหัวใจ ที่ยกมาดูทุกครั้ง มีการตรวจวัดที่ค่อนข้างตรงกับความรู้สึกที่ตัวผมกำลังเป็นอยู่ ชุดเมนูการออกกำลังกายละเอียดมาก ตั้งค่าเก็บไว้สัก 2-4 อย่างที่ออกกำลังกายประจำ ๆ จัดว่าสะดวกมาก แต่สิ่งที่อยากให้แก้ไขโดยด่วน คือการทำงานของ Gyroscope ไม่ว่าจะการยกข้อมือที่ตอบสนองไม่ค่อยได้ดั่งใจ ยกมาดูช้อมูล แต่ข้อมือไม่นิ่ง ก็ดับจอทิ้งแบบเสี้ยววินาที หรือกระทั้งคนถนัดซ้ายที่ใส่นาฬิกาที่ข้อมือขวา การทำงานของนาฬิกาจะเห็นได้ชัดเลยว่า ตอบสนองไม่ได้ดั่งใจยิ่งกว่าใช้กับข้อมือซ้าย และที่เห็นแล้วทำให้ต้องไปแก้โดยด่วน คือเมื่อเอามาใช้กับการวิ่ง ระยะทาง ข้อมูลความเร็ว ออกมาเร็วกว่าความเป็นจริงไปพอสมควร ใครที่วิ่งเป็นประจำ จะมีความเร็วส่วนตัวที่รู้จังหวะอยู่แล้วว่า เราวิ่งประมาณนี้ ควรจะเร็วแค่ไหน แต่นาฬิกาเรือนนี้ จับระยะทาง ความเร็ว “เกินกว่าความเป็นจริง” ไปพอสมควร ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะดีขึ้นเมื่อมีการปรับการทำงานของ Gyroscope ให้แม่นยำกว่านี้


แบตเตอรี่ของนาฬิกา ความจุ 247 mAh ในสเปคแจ้งว่าใช้ได้มากกว่า 43 ชั่วโมง หากใช้แบบโหมดประหยัดพลังงาน จะได้มากกว่า 95 ชั่วโมงขึ้นไป ในกล่อง จะได้สายชาร์จหนึ่งเส้น ไม่ได้ให้หัวปลั๊กชาร์จมา ใช้ชาร์จร่วมกับหัวปลั๊กชาร์จมือถือ หรือกับแบตเตอรี่พกพาก็ได้ ในการชาร์จนาฬิกาจากแบตเตอรี่หมดไปถึง 100% จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที (ที่ชาร์จ 10W) แต่ถ้ามีเวลาน้อย เช่นออกกำลังกายเสร็จ เอาไปชาร์จระหว่างอาบน้ำ แต่งตัว เตรียมไปทำงานต่อ ระยะเวลา 30 นาทีที่ชาร์จ แล้วไปทำธุระ ก็ได้แบตเตอรี่กลับมาอย่างน้อย 20-30% ถือว่าพอมีพลังงานไปใช้งานต่อได้ทั้งวัน
สิ่งที่น่าสังเกตของนาฬิกาเรือนนี้ คือขณะใช้งานอยู่ที่ข้อมือ การลดลงของพลังงานจะค่อนข้างน้อย แต่ถ้าถอดวางไว้เฉย ๆ การลดลงของแบตเตอรี่จะมากเป็นพิเศษ ในการชาร์จไฟกลับ ที่ชาร์จที่มีแรงดันไฟสูง ๆ บางครั้งอาจทำให้นาฬิการ้อนจนไม่สามารถชาร์จไฟได้ โดยรวมแล้ว การใช้พลังงานของ Galaxy Watch Active 2 ถือว่าทำได้พอสำหรับการใช้ให้ครบทั้งวันแบบเช้ายันค่ำ ปรับแค่การใช้พลังงานตอนที่ไม่ใช้งานให้ดีกว่านี้ ก็น่าจะเป็นนาฬิกาที่ใช้งานได้ตามประสิทธิภาพอย่างไม่น่าห่วงแน่นอน
สรุป
"แนวทางอะ มาถูกแล้ว ใส่ใจที่รายละเอียด จะเป็นตัวเลือกที่ใช่เอง"

ผมพยายามลบ ๆ แก้ ๆ ข้อความในการลองแล้วเล่าครั้งนี้พอสมควร เอาจริง ๆ เวลาเจอจุดที่ผมไม่พอใจในการใช้งาน ผมแอบผสมอคติกับประสบการณ์ที่ผ่านมาพอสมควร ซึ่งที่จริง ทุกอย่างก็ก้าวไปไกลพอสมควรแล้ว ในวันที่เทคโนโลยีทุกอย่าง มีต้นแบบให้กันและกันไปทำต่อในแนวทางตัวเดียว ผมจึงหวังว่า Galaxy Watch Active 2 จะทำออกมาแบบที่ ดีไม่แพ้ตลาด หรือดีกว่าตลาด ซึ่งถ้าว่ากันในภาพรวมของนาฬิกาเรือนนี้ มันมีทั้งจุดที่ดีไม่แพ้ตลาด หรือดีกว่าตลาด และมีบางจุดที่ทำผมเกาหัว หน้าผากกับคิ้วชิด ว่าเอาแบบนี้จริงซิ?
ก่อนอื่นเลย Galaxy Active Watch 2 ทำสิ่งที่ถูกใจกับคนส่วนใหญ่ของโลก คือการออกแบบนาฬิกาให้เป็นทรงหน้าปัดแบบกลม สัดส่วนตัวเรือนโดยรวม เชื่อว่าถูกใจกับคนส่วนใหญ่ งานออกแบบก็ไม่มีปัญหา ใส่แล้วไม่ทำให้รู้สึกว่า ใส่นาฬิกาไฮเทคจนเกินไป มันยังเหลือความเรียบ ความเป็นนาฬิกาข้อมือแบบที่ดูกำลังดี ไม่ไฮเทคหรือลุย ๆ แมน ๆ จนเกินไป ดูใส่ได้ทุกโอกาส ซึ่งเป็นจุดที่ขอให้รักษาความดีตรงนี้ไว้ แต่ถ้าให้สวยจบจริง ๆ แก้สัดส่วนของข้อรัดสายให้สอดคล้องกับความหนาตัวเรือนกว่านี้สักหน่อย เพื่อให้เวลาใส่ใช้งาน ช่องว่างระหว่างตัวเรือนกับข้อสาย แนบชิดกับช้อมือผู้สวมใส่มากกว่านี้สักหน่อย การใช้วัสดุ หน้าตาของสายนาฬิกา มองดี ๆ ก็พัฒนามาในทางที่ถูกแล้ว ขาดแค่อารมณ์ของการสัมผัสแล้วรู้สึกว่า “แพง” เชื่อว่าระดับทีมพัฒนาของ Samsung แล้ว ทำให้ดีกว่านี้ได้แน่นอน


แต่ปัญหาจริง ๆ ของนาฬิกาเรือนนี้ คือ ”ประสบการณ์การใช้งาน” เริ่มที่หน้าตาเมนู โดยรวมที่ค่อนข้างปรับตัว ใช้ความคุ้นเคยพอสมควร ไม่ว่าจะการจัดวางตำแหน่ง การเข้า ออก เลือก หรือจดจำตำแหน่งในการใช้งาน ทุกอย่างใช้เวลาปรับตัวที่มากไปหน่อย ไหน ๆ Samsung สามารถแปลงโฉมหน้า Android ที่ดูแข็ง ๆ ให้กลายเป็น One UI ที่เป็นมิตรมากขึ้น ใช้ง่ายได้แล้ว ทำไม Tizen ในนาฬิกา ที่สามารถคุมทุกอย่างเองได้ตั้งต้น ให้กลายเป็นหน้าตาเมนูทุกสัดส่วนที่ดีกว่านี้ไม่ได้ละ? ลองไปรื้อแบบใส่ใจ จริงจัง ดูครับ แล้วอะไร ๆ จะดีกว่านี้มากแน่นอน เมนูว่ายากแล้ว เจอการทำงานของเครื่องที่ดูไม่สอดคล้องกับการใช้งาน ไม่ว่าจะอาการ Gyroscope ในนาฬิกาทำงานไม่แม่นยำ จนส่งผลต่อการยกข้อมือมาดู การตอบสนองขณะออกกำลังกายที่ไม่แม่นยำในแง่การเคลื่อนไหว ทั้งที่ตัวอ่านการเต้นหัวใจ ทำได้ดี แสดงข้อมูลแบบทันทีได้แล้วแท้ ๆ นี่รวมไปถึงคุณภาพของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะหน้าจอ การจัดการพลังงาน รวมถึงอาการชาร์จไม่เข้าเพราะร้อนเกินไปแบบง่าย ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเป๊ะของคุณภาพตัวเครื่อง ยังทำได้ดีกว่านี้อีก


ท้ายสุดนี้ ทุกวันนี้นาฬิกาแนวนี้ ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่มากขึ้น มีคนใส่ใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ที่ผมไม่แน่ใจคือ ใส่ใช้งานกันแบบจริง ๆ หรือแทบไม่ได้ใช้อะไรเลยเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ คนที่ทำนาฬิกาแนวนี้ แล้วขายดีสุด ซึ่งผมก็ใส่อยู่ทุกวัน ยังทำให้ผมแอบตั้งคำถามเล็ก ๆ ถึงความเป็นชิ้นเป็นอันในการใช้งานได้ในบางเวลา ถ้าไม่เฉพาะเรื่องไปเลย บางทีไม่ใส่หรือไม่มี ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับชีวิต หาก Samsung อยากสร้างตลาดอุปกรณ์สวมใส่ให้แข็งแรง เรื่องที่พอจะทำได้ง่ายที่สุดตอนนี้ คือการพัฒนา Software ให้ประสบการณ์ใช้งานออกมาดีกว่านี้ อ่านง่ายกว่านี้ เป็นประโยชน์กว่านี้ จูงใจนักพัฒนาให้มากกว่านี้ เพื่อสะสมบารมี ในวันที่ Hardware ทำได้ดีทุกด้าน อุปกรณ์สวมใส่ Samsung จะมีฐานตลาดที่ดีพร้อมด้วยตัวเอง หรือถ้าสองอย่างแรกยังยากไป ลองเก็บงานวัสดุ งานสาย งานออกแบบ ให้ยกระดับมากขึ้น แต่ยังสามารถควบคุมต้นทุนในการขายให้ไม่มากไปกว่านี้ได้ ก็จะทำให้อุปกรณ์สวมใส่จาก Samsung มีฐานแฟนใช้งานที่ดีขึ้น เรื่องนี้ Apple Watch พิสูจน์มาแล้ว สายนาฬิกาที่เต็มบ้านของใครหลายคน ทำให้การเลิกใช้ Apple Watch เป็นเรื่องคิดหนักพอสมควร

การสร้างของให้ดี มีคนใช้งาน อาจต้องแลกกับการลงทุน เข้าเนื้อ และขวากหนามกันบ้าง แต่เชื่อเถอะครับ ผู้บริโภคอย่างผม และอีกหลายคน อยากมีตัวเลือก อยากเห็นตลาดร้อนแรง แข่งขัน เลือกแบบลำบากใจได้จะยิ่งดีมาก หวังว่า ในรุ่นหน้า ถัดไป หรือจากนี้ไป เรื่องที่ผมจะได้เขียน คือพัฒนาการที่ดี หรือทำให้รู้สึกได้ว่า ตลาดนี้ ไม่ได้ถูกกินรวบด้วยนาฬิการาคาเบาไปเลย เฉพาะทางไปเลย หรือกลาง ๆ แต่อำนาจตลาดเยอะแบบ Apple Watch เช่นกัน
แอบมองอยู่ห่าง ๆ เสมอนะครับ : )